ชีวิตที่พอเพียง 2592. การพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย


อคติส่วนตัวบอกผมว่า รากแก้ว ๓ รากสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนคือ ๑. คุณภาพคน ประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่สองอย่างราบคาบ แต่กลับฟื้นขึ้นมาดีกว่าประเทศชนะสงคราม ก็เพราะคุณภาพคน ๒. ระบบการเรียนรู้ เพื่อการเรียนรู้และปรับตัวตลอดไป ทั้งในระดับบุคคล องค์กร และประเทศ KM และการวิจัย เป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้ ๓. การจัดระบบต่างๆ ในสังคม ให้เป็นระบบที่เป็นประชาธิปไตย ซื่อสัตย์โปร่งใส ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ


หนังสือ Thailand’s Sustainable Development Sourcebook ให้ข้อมูลและข้อวิเคราะห์การพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย ในหลากหลายด้าน โปรดอ่านคำกล่าวในงานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ในค่ำวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ของ ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ตามลิ้งค์ที่ให้ไว้นะครับ จะได้สรุปโครงสร้างของหนังสือ

เรื่อง SDG เป็นเรื่องที่ซับซ้อน สถานะของ SDG ไทยก็ซับซ้อนมาก และพลิกผัน ตามในหนังสือเล่มนี้ และตามประสบการณ์ชีวิต เราเห็นชัดเจนว่า การพัฒนาเศรษฐกิจไทยประสบความสำเร็จในระดับมหัศจรรย์ในศตวรรษที่ ๒๐ แต่เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เพราะในศตวรรษที่ ๒๑ เรากลายเป็นประเทศที่การพัฒนาเศรษฐกิจตีบตัน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียยังไปได้สวย

ผมจึงรู้สึกว่า SDG มีมิติมากกว่าที่ฝรั่งบอกเรา และมากกว่าที่ระบุในหนังสือเล่มนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อผมอ่านลงลึกใน Part II ส่วน The Thai Society อ่านเรื่อง Education ในหน้า ๑๖๐ - ๑๖๕ และเรื่อง Health ในหน้า ๑๖๖ - ๑๗๑ ผมก็พบว่า เขาเขียนสรุปได้ดีมาก ตรงประเด็นและกระชับ แต่ในเรื่องการศึกษาผมคิดว่าเขาไปไม่ถึง root cause ของความอ่อนแอของระบบการศึกษาไทย หรือเขาอาจรู้แต่ไม่เขียนเพราะอ่อนไหวเกินไปก็ได้ โดยที่ผมตีความว่า เป็นเพราะมีครูนักการเมืองและนักแสวงประโยชน์ตน มากกว่าครูเพื่อศิษย์ และในหัวข้อย่อย Deep Divide ที่เขาบอกปัญหาความแตกต่างในคุณภาพของการศึกษาระหว่างโรงเรียนในเมืองกับในชนบทนั้น ผมไม่เห็นด้วย ผมเห็นว่า divide หรือความไม่เป็นธรรมในการศึกษาที่น่าห่วงที่สุดอยู่ในห้องเรียนนั้นเอง ที่วิธีจัดการเรียนรู้แบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีเด็กเก่งจำนวนน้อยคนในแต่ละห้องเรียนเท่านั้นที่บรรลุ mastery learning ทอดทิ้งเด็กส่วนใหญ่ในห้องให้ได้เพียง superficial learning ซึ่งถ้าครูเอาใจใส่ และมีทักษะจัดการเรียนรู้หลากหลายวิธีของ Active Learning เด็กเกือบทุกคนจะบรรลุผลการเรียนแบบรู้จริง

ผมมองว่า การศึกษาแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นรากเหง้าของความไม่ยั่งยืน หรือความอ่อนแอ ของสังคมไทยในอนาคต สร้างความอ่อนแอทางสังคมและเศรษฐกิจต่อไปอีก ๒ ชั่วคน หรือครึ่งศตวรรษ และวิธีที่รัฐบาลพลเอกประยุทธแก้ไขในปัจจุบัน ยังเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน เพราะไม่รู้ว่า “คัน” ตรงไหน หรือ “คัน” ผิดที่ จึงเกาผิดที่

ในหนังสือ ส่วนของการศึกษา หน้า ๑๖๔ ทั้งหน้าเป็นหัวข้อ Reality Checks บอกข้อท้าทายหรือปัญหาหลักๆ แต่ในส่วนของสาธารณสุข นอกจากหัวข้อ Reality Checks แล้ว ยังมีหัวข้อ Strengths and Weaknesses ที่หน้า ๑๖๘ อีกด้วย ส่วนนี้น่าอ่านยิ่งนัก

ที่หน้า ๓๗๘ - ๓๗๙ เป็นเรื่อง Countering Corruption ชี้ให้เห็นว่าปัญหาเรื้อรังด้านคอร์รัปชั่นในวงการเมือง และราชการไทย เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ACT) และ Collective Action Coalition against Corruption (CAC) ร่วมกันดำเนินการผมเคยบันทึกเรื่องนี้ไว้ ที่นี่

อคติส่วนตัวบอกผมว่า รากแก้ว ๓ รากสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนคือ

  • คุณภาพคน ประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่สองอย่างราบคาบ แต่กลับฟื้นขึ้นมาดีกว่าประเทศชนะสงคราม ก็เพราะคุณภาพคน
  • ระบบการเรียนรู้ เพื่อการเรียนรู้และปรับตัวตลอดไป ทั้งในระดับบุคคล องค์กร และประเทศ KM และการวิจัย เป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้
  • การจัดระบบต่างๆ ในสังคม ให้เป็นระบบที่เป็นประชาธิปไตย ซื่อสัตย์โปร่งใส ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ

ทั้งสามรากนี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นเนื้อเดียว หรือหนึ่งเดียว


วิจารณ์ พานิช

๓๐ ธ.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 600436เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2016 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2016 11:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท