ผลของการนำระบบบริหารผลการปฏิบัติงานมาใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน ของพนักงานราชการทั่วไป ในสังกัดกรมควบคุมโรค


อิทธิพัทธ์ สมจู

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ผลของการนำระบบบริหารผลการปฏิบัติงานมาใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน ของพนักงานราชการทั่วไป ในสังกัดกรมควบคุมโรค ใช้วิธีการวิจัยสนามการและวิจัยเอกสาร เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง กลุ่มตัวอย่างได้แก่ พนักงานราชทั่วไป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ระบบบริหารผลการปฏิบัติงานและการประเมินผลการปฏิบัติงาน ในกรมควบคุมโรค จำนวน 5 คน ผลการศึกษาพบว่า การนำระบบบริหารผลการปฏิบัติมาใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน มีประเด็นสำคัญที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ 5 ประการ คือ ปัญหาการกำหนดค่าเป้าหมายตัวชี้วัด ปัญหาการเชื่อมโยงผลของการประเมินผล ปัญหาการขาดแรงจูงใจในการทำงาน ปัญหาการสื่อสารและการทำความเข้าใจ ปัญหาจากผู้ประเมิน

บทนำ

" ภายหลังการปรับเปลี่ยนโครงสร้างส่วนราชการตามการปฏิรูประบบราชการ ในปี พ.ศ. 2545 ได้นำระบบลูกจ้างสัญญาจ้างเดิมมาปรับปรุงรูปแบบการจ้างงานเป็นระบบพนักงานราชการ และเมื่อระบบพนักงานราชการได้ถูกนำมาดำเนินการในส่วนราชการต่างๆแล้ว ทำให้ระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน ซึ่งหมายถึง การบริหารแบบบูรณาการที่มุ่งเน้นผลการปฏิบัติงานของบุคคลในองค์กร เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ถูกนำมาใช้ในระบบพนักงานราชการด้วย โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้การประเมินผลการปฏิบัติงานสามารถวัดและประเมินผลการปฏิบัติงานได้อย่างจริงจัง ทำให้เกิดความชัดเจน ความยุติธรรม ความเป็นธรรม และป้องกันผู้ประเมินไม่ให้ใช้ความรู้สึกส่วนตัวในการประเมิน "

นอกจากนี้แล้วระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน จะช่วยชี้และสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานราชการ ทำให้เห็นประสิทธิภาพของระบบพนักงานราชการซึ่งถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการของระบบพนักงานราชการ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ศึกษามีความสนใจ ต้องการศึกษาแนวทาง รูปแบบ และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงาน ปัญหาและอุปสรรคของระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนศึกษาแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาการนำระบบบริหารผลการปฏิบัติงานมาใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน

วัตถุประสงค์การวิจัย

เพื่อศึกษาแนวทาง รูปแบบ และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงาน ปัญหาและอุปสรรคของ นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค และแนวทางการปรับปรุงและพัฒนา การนำระบบบริหารผลการปฏิบัติงานมาใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน

ขอบเขตของการวิจัย

ขอบเขตด้านเนื้อหา การศึกษานี้จะศึกษาเกี่ยวกับผลของการนำระบบบริหารผลการปฏิบัติงานมาใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน แนวทาง รูปแบบ และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงาน ปัญหาและอุปสรรค แนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค แนวทางการปรับปรุงและพัฒนาการนำระบบบริหารผลการปฏิบัติงานมาใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน

ขอบเขตด้านสถานที่ การศึกษานี้จะศึกษาเฉพาะกรมควบคุมโรค เท่านั้น

ขอบเขตด้านเวลา ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2556 – มกราคม 2557

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

ทำให้ทราบแนวทาง รูปแบบ และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงาน ปัญหาและอุปสรรคของ นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค และแนวทางการปรับปรุงและพัฒนา การนำระบบบริหารผลการปฏิบัติงานมาใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน

ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง

ประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ เรื่อง แนวทางการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการ พ.ศ. 2554 (2554) กำหนดแนวทางการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการไว้ดังนี้

ข้อ 3 การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการที่ส่วนราชการจะใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารพนักงานราชการและนำผลประเมินไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในเรื่องต่างๆ แล้วแต่กรณี ดังนี้ (1) การเลื่อนค่าตอบแทน (2) การเลิกจ้าง (3) การต่อสัญญาจ้างและ (4) อื่นๆ

ข้อ 4 การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการ มี 2 ประเภท ดังนี้

(1) การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการทั่วไป

(2) การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการพิเศษ

ข้อ 5 ให้ส่วนราชการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงาน ภายใต้หลักการที่จะประเมินผลการปฏิบัติงานบนพื้นฐานของผลสำเร็จและผลสัมฤทธิ์ของงาน โดยส่วนราชการกำหนดตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานที่มีความชัดเจน

ข้อ 6 การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการทั่วไป ให้ประเมินจากผลงานของพนักงานราชการผู้นั้น โดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของงานและพฤติกรรมในการปฏิบัติงาน โดยกำหนดให้มีสัดส่วนของผลสัมฤทธิ์ของงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

(ก) การประเมินผลสัมฤทธิ์ของงาน ให้พิจารณาจากองค์ประกอบ ดังนี้ (1) ปริมาณผลงาน (2) คุณภาพผลงาน (3) ความรวดเร็วหรือความตรงต่อเวลา (4) การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

(ข) การประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติงาน ให้ส่วนราชการกำหนดสมรรถนะที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานที่ส่งผลต่อความสำเร็จของงาน และระบุพฤติกรรมกรรมบ่งชี้ที่พึงประสงค์ของแต่ละสมรรถนะ แล้วให้ประเมินพฤติกรรมที่แสดงออกในการปฏิบัติงานจริงของพนักงานราชการเปรียบเทียบกับสมรรถนะและพฤติกรรมบ่งชี้ที่กำหนด

ในแต่ละรอบการประเมิน ให้ส่วนราชการนำผลคะแนนการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการมาจัดกลุ่มตามผลคะแนนเป็น 5 ระดับ คือ ดีเด่น ดีมาก ดี พอใช้ ต้องปรับปรุง โดยกำหนดช่วงคะแนนประเมินของแต่ละระดับผลการประเมิน ดังนี้

ดีเด่น 95 – 100 คะแนน

ดีมาก 85 – 94 คะแนน

ดี 75 – 84 คะแนน

พอใช้ 65 – 74 คะแนน

ต้องปรับปรุง น้อยกว่า 65 คะแนน

แบบประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการทั่วไป ส่วนราชการอาจพิจารณาใช้ตามแบบแนบท้ายประกาศนี้ หรืออาจปรับใช้ตามความเหมาะสมของลักษณะงานและวิธีที่ส่วนราชการเลือกใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการก็ได้ ทั้งนี้ การประเมินดังกล่าวต้องครอบคุลมงาน/ภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ความสำเร็จของงาน ผลผลิต หรือผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการปฏิบัติงาน และตัวชี้วัดการปฏิบัติงาน

ข้อ 7 การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการทั่วไป ให้ดำเนินการตามวิธีการดังต่อไปนี้

(1) ช่วงเริ่มรอบการประเมิน ให้ส่วนราชการกำหนดเป้าหมายผลสำเร็จของงานในภาพรวมของส่วนราชการที่จะมอบหมายให้พนักงานราชการปฏิบัติ จากนั้นให้ผู้บังคับบัญชา/ผู้ประเมิน และพนักงานราชการแต่ละคน ร่วมกันวางแผนปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและ/หรือความสำเร็จของงานซึ่งพนักงานราชการผู้นั้นต้องรับผิดชอบในรอบการประเมินนั้น โดยกำหนดดัชนีชี้วัดหรือหลักฐานบ่งชี้ความสำเร็จของงานอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งระบุพฤติกรรมในการทำงานที่คาดหวังด้วย

(2) ในระหว่างรอบการประเมิน ให้ผู้บังคับบัญชา/ผู้ประเมินติดตามความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติงานตาม (1) รวมทั้งคอยให้คำปรึกษาแนะนำและช่วยเหลือในการแก้ไขในการปฏิบัติงาน เพื่อให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายและผลสำเร็จของงานที่กำหนด

(3) เมื่อครบรอบการประเมิน ให้ผู้บังคับบัญชา/ผู้ประเมินดำเนินการ ดังนี้

(3.1) ประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ส่วนราชการกำหนด

(3.2) จัดทำบัญชีรายชื่อพนักงานราชการตามลำดับคะแนนผลการประเมิน

(3.3) เสนอบัญชีรายชื่อพนักงานราชการตามลำดับคะแนนผลการประเมินให้คณะกรรมการกลั่นกรองการประเมินผลการปฏิบัติงาน พิจารณาตามมาตรฐาน ความโปร่งใสและเป็นธรรมของการประเมิน ก่อนที่จะเสนอผลการประเมินต่อหัวหน้าส่วนราชการเพื่อนำไปใช้ในการบริหารงานบุคคลต่อไป

(3.4) แจ้งผลการประเมินโดยตรงแก่พนักงานราชการ และให้คำปรึกษาแนะนำแก่พนักงานราชการ เพื่อแก้ไขปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น

ข้อ 8 ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการทั่วไป ปีละ 2 ครั้ง ตามปีงบประมาณ คือ

ครั้งที่ 1 ประเมินผลในช่วงการปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึง 31 มีนาคม ปีถัดไป

ครั้งที่ 2 ประเมินผลในช่วงการปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 30 กันยายน ปีเดียวกัน

ข้อ 10 พนักงานราชการทั่วไปผู้ใดซึ่งผู้บังคับบัญชาได้ประเมินผลการปฏิบัติงานแล้วมีคะแนนเฉลี่ยของผลการประเมินผลการปฏิบัติงาน 2 ครั้งติดต่อกันต่ำกว่าระดับดี ให้ผู้บังคับบัญชาทำความเห็นเสนอหัวหน้าส่วนราชการเพื่อพิจารณาสั่งเลิกจ้างต่อไป

ฐิติมา สุพะรัง (2552) ได้ศึกษาระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลการศึกษาพบว่า การใช้ระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพบปัญหาและอุปสรรคด้านความไม่ชัดเจนของนโยบายจากส่วนกลาง/ผู้บริหาร ซึ่งควรส่งเสริมนโยบายด้านการบริหารบุคคลที่ทีความชัดเจนจากองค์กรส่วนกลาง/ผู้บริหารขององค์กร

ชณิกามาศ เนตรจุ้ย (2552) ได้ศึกษาการบริหารผลการปฏิบัติงานภาครัฐ : กรณีศึกษากรมที่มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ผลการศึกษาพบว่า นโยบายการบริหารผลการปฏิบัติงานไปปฏิบัติยังไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ในการสะท้อนถึงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากขาดการเชื่อมโยงในระดับนโยบายและการกำหนดกลยุทธ์ของแต่ละกรมให้สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน

สุดถนอม ตันเจริญ (2551) ได้ศึกษาระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ผลการศึกษาพบว่า หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลงานที่ไม่ชัดเจนซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การตัดสินผลการปฏิบัติงานไม่เป็นที่ยอมรับ

วิธีดำเนินการวิจัย

1. ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวิธีการวิจัยดังนี้

1.1 การวิจัยสนาม ด้วยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง หรือการสัมภาษณ์แบบเป็นทางการ

1.2 การวิจัยจากข้อมูลที่มีการบันทึกไว้แล้วโดยผู้อื่น โดยศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารผลการปฏิบัติงานและการประเมินผลการปฏิบัติงาน

2. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

2.1 ประชากร ได้แก่ พนักงานราชการทั่วไปในสังกัดกรมควบคุมโรค

2.2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เป็นการเลือกตัวเอย่างโดยกำหนดคุณลักษณะของประชาที่ต้องการศึกษา(วิโรจน์ ก่อสกุล, 2555, หน้า 37) จึงใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 5 คน

3. วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากภาคสนาม โดยวิธีการสัมภาษณ์ โดยผู้ศึกษาเลือกวิธีการสัมภาษณ์ตามวัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย

4. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง

5. วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัยนำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างมาจัดจำแนกเป็นประเด็นๆ เรียงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลในแต่ละประเด็นโดยใช้วิธีการ “ตีความ” ตามหลักการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ

ผลการวิจัย

จากการสัมภาษณ์สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้

1. ปัญหาและอุปสรรคของการนำระบบบริหารผลการปฏิบัติงานมาใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน ของพนักงานราชการทั่วไป ในสังกัดกรมควบคุมโรค ประกอบด้วย

1.1 ปัญหาการกำหนดค่าเป้าหมายตัวชี้วัด ในแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ มีระดับความยากง่ายที่ไม่เป็นมาตรฐาน ทำให้ค่าคะแนนที่ได้ออกมาสูงเป็นส่วนใหญ่ และไม่สะท้อนผลการทำงานที่เกิดขึ้นจริง

1.2 ปัญหาการเชื่อมโยงผลของการประเมินผลไปยังการเลื่อนเงินเดือนค่าตอบแทน ไม่เป็นไปตามผลการประเมินที่ได้จริง เพราะถูกจำกัดด้วยกรอบวงเงินในการเลื่อนเงินเดือนค่าตอบแทน ส่งผลให้เมื่อพิจารณาการเลื่อนเงินเดือนค่าตอบแทน มีการปรับลดคะแนนการประเมินผลเพื่อให้คะแนนการประเมินผลสอดคล้องและตรงกับกรอบคะแนนร้อยละการเลื่อนเงินเดือนค่าตอบแทน

1.3 ปัญหาการขาดแรงจูงใจในการทำงาน ซึ่งเกี่ยวเนื่องมาจากข้อกำหนดในการเลื่อนเงินเดือนค่าตอบแทนของพนักงานราชการ

1.4 ปัญหาการสื่อสารและการทำความเข้าใจ ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ปฏิบัติงาน

1.5 ปัญหาจากผู้ประเมินใช้ความรู้สึกและดุลยพินิจของตนเองในการประเมินมากกว่าการประเมินที่เน้นผลงาน

2. แนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการนำระบบบริหารผลการปฏิบัติงานมาใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน ของพนักงานราชการทั่วไป ในสังกัดกรมควบคุมโรค ประกอบด้วย

2.1 ควรกำหนดเกณฑ์การกำหนดค่าเป้าหมายตัวชี้วัด ในแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ ให้มีระดับความยากง่ายที่เป็นมาตรฐาน ทำให้ค่าคะแนนที่ได้สะท้อนผลการทำงานที่เกิดจริง

2.2 ควรแก้ไขวิธีการเชื่อมโยงผลของการประเมินผล ไปยังการเลื่อนเงินเดือนค่าตอบแทน ให้เป็นไปตามผลการประเมินที่ได้จริง และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของสำนักงาน ก.พ.

2.3 ควรปรับปรุงการสร้างแรงจูงใจในการทำงานซึ่งเกี่ยวกับการเลื่อนเงินเดือนค่าตอบแทน การให้รางวัล หรือสิ่งจูงใจของพนักงานราชการให้ดีขึ้น ทำให้พนักงานมีความสุขมีความพึงพอใจนำไปสู่การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ

2.4 ควรปรับปรุงการสื่อสารและการทำความเข้าใจระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ปฏิบัติงาน ให้ผู้บังคับบัญชาได้สร้างความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงานได้เห็นข้อดีและความสำคัญของการประเมินผลการปฏิบัติงาน

2.5 ควรชี้แจงและเน้นย้ำให้ผู้ประเมินใช้ดุลยพินิจที่มีความเป็นธรรมในการประเมินที่เป็นไปตามประกาศหรือหลักเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรคกำหนด โดยมุ่งเน้นการประเมินที่เน้นผลงานเป็นสำคัญ

บทสรุปและข้อเสนอ

ผลการวิจัยครั้งนี้สรุปได้ว่า ปัญหาและอุปสรรคของการนำระบบบริหารผลการปฏิบัติงานมาใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน ของพนักงานราชการทั่วไป ในสังกัดกรมควบคุมโรค เกิดจากปัญหา 5 ประการ คือ 1) ปัญหาการกำหนดค่าเป้าหมายตัวชี้วัด 2) ปัญหาการเชื่อมโยงผลของการประเมินผล 3)ปัญหาการขาดแรงจูงใจในการทำงาน 4) ปัญหาการสื่อสารและการทำความเข้าใจ และ5) ปัญหาจาก ผู้ประเมิน สอดคล้องกับ สุดถนอม ตันเจริญ (2551) ได้ศึกษาระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์

เพราะฉะนั้นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค รวมถึงแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนา ของการนำระบบบริหารผลการปฏิบัติงานมาใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน ของพนักงานราชการทั่วไป ในสังกัดกรมควบคุมโรค ก็คือ กรมควบคุมโรค ควรที่จะจัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดค่าเป้าหมายตัวชี้วัด ค่าน้ำหนัก ค่าเป้าหมายในแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ ให้มีระดับความยากง่ายที่เป็นมาตรฐาน ทำให้ค่าคะแนนที่ได้สะท้อนผลการทำงานที่เกิดจริง และนำไปใช้ให้เป็นแนวทางเดียวกันทั้งส่วนราชการ ควรพัฒนาหลักคิดและวิธีการเชื่อมโยงผลการประเมินผลการปฏิบัติงานไปยังการเลื่อนเงินเดือนค่าตอบแทน ให้เป็นไปตามคะแนนผลการประเมินที่ได้จริง และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของสำนักงาน ก.พ. ควรปรับปรุงการสร้างความยุติธรรม ความเสมอภาค และการสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงานราชการ ในเรื่องการเลื่อนเงินเดือนค่าตอบแทน การให้รางวัล หรือจัดสรรสิ่งจูงใจ เพื่อให้พนักงานราชการรู้สึกมีความสุข มีความมั่นคง และมีความความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน จนนำไปสู่การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ ควรปรับปรุงกระบวนการ/วิธีการ ในการสื่อสารและการทำความเข้าใจระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ปฏิบัติงานควรชี้แจงและเน้นย้ำให้ผู้ประเมินใช้ดุลยพินิจที่มีความเป็นธรรมในการประเมินที่เป็นไปตามประกาศหรือหลักเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรคกำหนด โดยมุ่งเน้นการประเมินที่เน้นผลงานเป็นสำคัญ กรมควบคุมโรค ควรสนับสนุนให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการใช้ระบบบริหารผลการปฏิบัติและการประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นประจำทุกปี เพื่อทบทวนปัญหา ติดตามการดำเนินงาน การรับฟังข้อเสนอแนะ และแนวทางการพัฒนาในข้อบกพร่อง และเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นไปในเชิงนวัตกรรม ควรจัดให้มีการศึกษาดูงานส่วนราชการที่ประสบความสำเร็จในการใช้ระบบบริหารผลการปฏิบัติและการประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ เปิดมุมมอง และกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ จนนำมาสู่การพัฒนาการดำเนินงานในระดับที่สูงขึ้น นำมาซึ่งผลประโยชน์ในด้านการจัดการ งบประมาณ และทรัพยากรบุคคล

บรรณานุกรม

กรมควบคุมโรค. (2555). ประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการทั่วไปกรมควบคุมโรค ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 (ประกาศลงวันที่ 24 ตุลาคม 2555). นนทบุรี: ผู้แต่ง.

คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ. (2554). ประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชกาเรื่อง แนวทางการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการ พ.ศ. 2554 (ประกาศลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554). กรุงเทพมหานคร: ผู้แต่ง.

ชณิกามาศ เนตรจุ้ย. (2552). การบริหารผลการปฏิบัติงานภาครัฐ : กรณีศึกษากรมที่มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ. ดุษฎีนิพนธ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ฐิติมา สุพะรัง. (2552). ระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหิดล.

วิโรจน์ ก่อสกุล. (2555). เอกสารประกอบการบรรยายกระบวนวิชาระเบียบวิธีวิจัยทางรัฐประศาสนศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง, โครงการรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต.

สุดถนอม ตันเจริญ. (2551). ศึกษาระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานของสถาบันอุดมศึกษาใน ประเทศไทย : ศึกษาเฉพาะกรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์. ดุษฎีนิพนธ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

สำนักนายกรัฐมนตรี. (2547). ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยพนักงานราชการ พ.ศ. 2547. กรุงเทพมหานคร: ผู้แต่ง.

หมายเลขบันทึก: 598791เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2015 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ธันวาคม 2015 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท