ปัจจัยความสำเร็จ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้"อยู่ที่ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นสำคัญ


ผมมีโอกาสไปเยี่ยมติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู็" ที่โรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตของจังหวัดเชียงใหม่ช่วงที่ผ่านมา พบความจริงที่น่าจะเป็นบทสรุปถึงปัจจัยความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายเรื่องนี้ ที่สำคัญที่สุดว่า น่าจะอยู่ที่ภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษา โดยเฉพาะในประเด็นความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และการเป็นผู้นำในการคิดเชิงกลยุทธ์ อย่างที่เราพูดกันเสมอว่า "ไม่มีโรงเรียนใดที่เยี่ยมแล้วผู้บริหารแย่"

ไปครั้งนี้ผมได้พบผู้บริหารสถานศึกษาที่มีภาวะผู้นำในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ที่น่ายกย่องหลายคน แต่ผมจะขอยกตัวอย่างนำมาเล่าให้ฟังเพียง 2 ท่านเท่านั้น ที่เป็นผู้บริหารโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดเล็กสุด กล่าวคือ
โรงเรียนที่ 1 คือโรงเรียนบ้านเวียงฝาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ สังกัด สพป.เชียงใหม่ เขต 3 เป็นโรงเรียนอนุบาลประจำอำเภอฝาง มีนักเรียนเฉพาะชั้น ป.1-ม.3 รวม 760 คน ผู้บริหารโรงเรียนคือ ดร.เจษฎาภรณ์ รอบคอบ ผู้บริหารหนุ่มไฟแรง ที่ตระหนักในนโยบายอย่างมากโดยเห็นว่าสอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง และทำให้นักเรียนสนุกกับกิจกรรมการเรียนรู้ ดร.เจษฎาภรณ์ได้ใช้การบริหารเชิงรุก เชื่อมโยงกับการบริหารตามวงจร PDCA ตลอดแนวอย่างเป็นรูปธรรม ได้เตรียมความพร้อมในทุกมิติอย่างเป็นลำดับขั้นตอน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักแก่บุคลากรและเครือข่่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยความเต็มใจและเห็นคุณค่า ได้นำครูให้ร่วมกันกำหนดแผนปฏิทิน และ Road Map ไว้ตลอดแนว กำหนดเป้าหมายนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาแต่ละคนว่าต้องได้ "1 ดนตรี 1 กีฬา 1 ภาษา 1 อาชีพ" และเพิ่มเรื่องคุณธรรมความดี เพื่อให้ครบทั้ง 4 H โดยจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมทุกอณูที่สร้างแรงบันดาลใจ(inspiration) แก่เด็ก ทำทุกอย่างที่มีความหมาย แม้แต่การปิดประตูโรงเรียนไม่ให้มีรถเข้ามา ด้วยเหตุผลว่านี่คืออาณาจักรการเรียนรู้ของผู้เรียน ไม่ให้มีสิ่งใดเข้ามารบกวนสมาธิการเรียนรู้ของเด็ก จัดกิจกรรมเชื่อมโยงสิ่งที่เคยทำแล้วสู่โครงสร้างและตารางกิจกรรมอย่างยืดหยุ่นและบูรณาการ ระหว่างจัดการเรียนรู้ก็มีการสะท้อนความรู้ให้เกิดความแตกฉานและได้ความรู้เพิ่มขึ้น มีการ AAR ระหว่างบุคลากรด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ ทำไปเรียนรู้ไปแล้วก็ปรับไป โดยผู้บริหารใช้วิธี “ทำให้ดู กู่ให้ตาม” ส่วนในประเด็นที่ผู้ปกครองกังวนว่านโยบายนี้จะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนต่ำ ผอ.ดร.เจษฎาภรณ์ก็แก้โดยจัดกิจกรรมทบทวนความรู้ตามความต้องการจำเป็นของนักเรียนรายกลุ่มรายคนอย่างต่อเนื่องด้วย ภาพความสำเร็จที่ก่อตัวให้เห็นในการเริ่มดำเนินกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”ที่ปรากฏให้เห็น คือ ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ครูสนุก เด็กสนุก และได้สาระ มีการบริหารจัดการเชื่อมโยงกิจกรรมในแต่ละระดับชั้นที่ต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ


โรงเรียนที่ 2 คือโรงเรียนบ้านดงป่าหวาย อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ สังกัด สพป.เชียงใหม่ เขต 4 เป็นโรงเรียนเล็กๆ ที่เดิมมีนักเรียนเพียง 42 คน ต้องเข้าร่วมโครงการยุบรวมโรงเรียน แต่พอ ผอ.ประคอง พิไรแสงจันทร์ ผอ.หนุ่มวัย 40 ต้นๆย้ายมาเป็นผู้บริหาร ได้นำคณะครูและชุมชนปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนในทุกรูปแบบ เริ่มจากพาไปศึกษาดูงานโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จ เชิญวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถมาให้ความรู้และผู้บริหารนำปลุกจิตสำนึกแก่เครือข่ายทุกภาคส่วน แล้วร่วมกันกำหนดเป้าหมายการจัดการเรียนรู้เชิงรุกที่เน้นการให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยครูเป็นผู้คิดและจัดกิจกรรมต่างๆกระตุ้นให้นักเรียนปฏิบัติ ด้วยทักษะกระบวนการเรียนรู้ 8 ขั้นคือ 1)กำหนดเป้าหมาย 2)การแสวงหาความรู้ 3)การคิด ถาม ทำความเข้าใจ 4)การสรุป วางแผนและนำเสนอ 5)การประยุกต์ใช้ 6)การสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรม 7)การประเมินและพัฒนาคุณค่า และ 8)การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม และมีเป้าหมายร่วมกันว่าจะ “รัก ศัทธา เพิ่มคุณค่า เคารพ และขอบคุณ” โดยผู้บริหารจะคอยเป็นโค้ช ให้กำลังใจ และแสวงหาทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ ด้วยการไปนำเสนอแผนงานและภาพความสำเร็จให้เขาเห็น ก็ได้รับการสนับสนุนทั้งงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ แรงงาน แรงความคิดกันอย่างล้นหลาม ทำให้ทุกฝ่ายเกิดแรงบันดาลใจ ผนึกพลังผสานร่วมพัฒนาโรงเรียนกันอย่างเต็มกำลังความสามารถ พัฒนาได้เพียง 1 ปี ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนจากเคยอยู่อันดับ 100 กว่าๆของ สพป. กลายเป็นมาอยู่อันดับที่ 4 ของ สพป.ทำให้ผู้ปกครองเชื่อมั่นในคุณภาพของโรงเรียน จากเดิมมีนักเรียน 42 คน ปัจจุบันมีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 81 คนหลุดพ้นจากการถูกยุบโรงเรียนแล้ว และพอนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”เข้ามา ทั้ง ผอ.และครูรวมทั้งคณะกรรมการสถานศึกษาต่างเห็นว่าสอดคล้องกับสิ่งที่ตนเองทำมาอยู่แล้ว และเป็นการเติมเต็มช่วยเพิ่มสีสันการพัฒนาให้มีคุณค่ายิ่งขึ้น จึงอาสาขอเป็นโรงเรียนนำร่องพัฒนาได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยภาคีทุกภาคส่วนมาร่วมกันเตรียมความพร้อม ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมเชื่อมโยงกิจกรรมสู่โครงสร้างและตารางเรียนอย่างยืดหยุ่น ลงตัว มั่นใจ เกิดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นมา อาทิ คนค้นคน ทักษะชีวิต กีฬาสร้างสุข ติดปีกการเรียนรู้ เสริมพลังธรรมสร้างคน เป็นต้น โดยบูรณาการทั้ง 4H และองค์ความรู้ในสาระการเรียนรู้ต่างๆไว้อย่างพร้อมมูล


เห็นหรือยังว่าผู้บริหารสถานศึกษาเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนนโยบายทุกด้าน ในการบริหารเชิงพื้นที่ และถ้าโชคดีได้รองผู้บริหารและหัวหน้าทีมงานวิชาการที่เข้มแข็ง รวมทั้งได้เขตพื้นที่การศึกษาช่วยสนับสนุนเป็นกำลังใจ รับรองว่าไปได้โลด ผมไม่อยากพูดถึงบางโรงเรียนซึ่งยังมีผู้บริหารที่ขาดภาวะผู้นำ ขาดวิสัยทัศน์และแรงบรรดาลใจ ที่จะนำ สร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วม ยังทำตามแนวทางที่ สพฐ.กำหนด ติดยึดรูปแบบอย่างขาดจิตวิญญาณ เมื่อถามถึงปัญหาก็จะอ้างแบบเดิมๆคือ ขาดงบประมาณ ขาดคน แต่ไม่เคยบอกว่าขาดภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงและการคิดเชิงกลยุทธ์
หวังว่าเรื่องราวที่ผมเล่ามานี้จะเป็นบทเรียนสำหรับการคัดเลือกคนที่จะมาเป็นผู้บริหารได้บ้างนะครับ

หมายเลขบันทึก: 598186เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2015 08:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2015 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจมากครับ

ดนตรี กีฬา ภาษา อาชีพ

เอาอาชีพมาเพิ่มครับ

บูรณาการกับวิชาอื่นได้ด้วย

https://www.gotoknow.org/posts/598002

https://www.gotoknow.org/posts/597661

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท