มาช่วยกันฟื้นฟูชาวนาไทยกันเถอะ


มาช่วยกันฟื้นฟูชาวนาไทยกันเถอะ

12 พฤศจิกายน 2558

สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ชาวนาคือ ผู้ทำนาปลูกข้าว(ให้เรากิน)... เสียงเพลงอมตะของคาราบาว [2] ยังแว่วอยู่ในหูของหลาย ๆ คน พอได้ฟังเพลง เย็นสบายชาวนาของท้าวบัวเงิน สปป. ลาว [3] พลันให้คิดถึงอดีต “ชาวนาไทย” เมื่อ 30 ปีก่อนขึ้นมาในใจทันที ด้วยหลายอย่างมันได้สาบสูญไปแล้ว วันนี้ลองมาดูวิถีชีวิตของชาวนาไทยปัจจุบันในอีกมุมมองหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ได้คิด หรือคิดไม่ถึง

ข้อมูลสํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2557) ประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ทำนา 149 ล้านไร่ (ร้อยละ 46) มีชาวนาเกือบสี่ล้านครัวเรือน เป็นการทำนาในเขตชลประทาน 29.6 ล้านไร่ (ร้อยละ 19) เป็นพื้นที่นาน้ำฝน (นอกเขตพื้นที่ชลประทาน) 109 ล้านไร่ (ร้อยละ 73) [4]

ผลผลิตข้าวปี 2555 ในนาราษฎร์ ภาคอีสานและภาคเหนือ เฉลี่ย 614 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์เปรียบเทียบขาวดอกมะลิ 105 (471 กิโลกรัมต่อไร่) ร้อยละ 30 และให้ผลผลิตสูงสุดในภาคอีสานที่จังหวัดสุรินทร์ 628 กิโลกรัมต่อไร่ ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงรายผลผลิต 768 กิโลกรัมต่อไร่ [5] ข้อมูลการผลิตเดิมเขตชลประทาน 550 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 450 กิโลกรัมต่อไร่ พื้นที่นอกเขตชลประทาน ผลผลิตต่ำเพียง 350 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อเทียบกับเวียตนามที่ได้ผลผลิตเฉลี่ย 910 กิโลกรัมต่อไร่ ถือว่าผลผลิตข้าวไทยต่ำมาก [6]

แบ่งชาวนาเป็นสองกลุ่ม

อันว่าชาวนาไทยนั้น แยกประเภทให้ง่ายต่อความเข้าใจเป็น 2 เขต หรือ 2 กลุ่มที่สำคัญ คือ (1) ชาวนาในเขตพื้นที่ชลประทาน ส่วนใหญ่จะหมายถึงชาวนาในภาคกลาง เป็นเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด พื้นที่ปลูกทั้งหมด 7.5 ล้านไร่ [7] (ร้อยละ 25 ของเขตพื้นที่ชลประทาน) สำหรับในภาคอื่นมีน้อย เป็นกลุ่มชาวนาที่สามารถทำนาได้ถึงปีละสามสี่หน เนื่องจากมีน้ำทำนาได้ตลอดทั้งปี และ (2) ชาวนานอกเขตพื้นที่ชลประทาน ส่วนใหญ่จะหมายถึงชาวนาในภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ชาวนากลุ่มนี้จะทำนาปีใช้พันธุ์ข้าวไวต่อช่วงแสง เพียงปีละหนึ่งหนเท่านั้น ซึ่งมีจำนวนชาวนาที่มากกว่ากลุ่มแรก ฉะนั้น เมื่อหมดฤดูทำไร่ทำนา ชาวนาก็ไม่มีงานทำ ต้องออกไปรับจ้าง ขายแรงงานตามต่างจังหวัด และกรุงเทพมหานคร สำหรับนาน้ำฝนภาคอีสานนิยมปลูกข้าวเจ้าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ในพื้นที่นาลุ่ม และปลูกพันธุ์ กข 15 ในพื้นที่นาดอนและค่อนข้างดอน

ชาวนาปัจจุบันแตกต่างจากชาวนาสมัยก่อน

ชาวนาสมัยก่อนอยู่กับธรรมชาติ มีทุกอย่างอยู่ตามธรรมชาติ ทำนาเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่พึ่งพิงสิ่งใดมากดังเช่นปัจจุบัน เช่นมีแรงงาน มีวัวควาย มีที่นา ต่อมาเมื่อมีระบบพาณิชย์นิยมหรือลัทธิบริโภคนิยม (Mercantilismor Consumerism) [8] แผ่ขยายเข้ามาตามระบบทุนนิยม (Capitalism) [9] ทำให้มีเน้นการผลิตเพื่อขาย ทำให้มีการทำนาเชิงพาณิชย์มากขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้ปริมาณมาก ๆ ขายได้เงินมาก ๆชาวนาจึงมีวิถีชีวิตที่ค่อย ๆ ห่างไกลออกจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการใช้เงินทุนทั้งหมดในทุกขั้นตอนการผลิต มีการพึ่งปัจจัยการผลิตอื่นที่มากขึ้น ที่นาก็ต้องเช่า การจ้างแรงงานทำนา ไม่ใช้วัวใช้ควาย มีการใช้เครื่องจักร เครื่องกล รถไถก็ต้องใช้น้ำมัน ต้องใช้สารเคมียาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช ปุ๋ยเคมี ไม่มีปุ๋ยคอกปุ๋ยธรรมชาติ เพราะวัวควายก็ไม่มีไม่ใช้ ไม่มียุ้งฉางไว้เก็บข้าวมากเหมือนดังแต่ก่อน เพราะมีรถเกี่ยวข้าวมาเกี่ยวข้าวและบรรทุกข้าวเปลือกไปส่งขายโรงสีทั้งหมดโดยเฉพาะชาวนาภาคกลางที่มีการใช้ต้นทุนการผลิตที่สูง ที่ต้องจ่ายในทุกขั้นตอนการผลิต

ที่สำคัญก็คือ ชาวนาที่เป็นนายทุนเจ้าของที่นาจำนวนมากมักไม่ได้ทำนาเอง แต่เป็นชาวนาแบบใช้เงินทุนในการบริหารจัดการ เป็นลักษณะการจ้างเขาทำนา หรือหากทำนาเองก็จะเช่านาผู้อื่นหรือเป็นชาวนารับจ้าง ฯลฯ เป็นต้น โดยเฉพาะการทำนาในเขตพื้นที่ชลประทานภาคกลางเขตลุ่มเจ้าพระยา

ชีวิตชาวนาสมัยใหม่ยิ่งจนหนัก

ชาวนาถือว่าจนมาตลอดตั้งแต่อดีต ดังคำกล่าวที่ว่า “ทุกข์ยากไร้ วัวควายเต็มใต้ถุนบ้าน” ปัจจัยการผลิตสมัยก่อนมีพร้อมทั้งแรงงาน วัวควาย ที่นา ไม่มีการใช้สารเคมี ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง มียุ้งฉางไว้เก็บข้าวไว้กิน เหลือกินจึงขายเอาเงินมาใช้จ่าย ในน้ำมีปูปลา หากินกับสัตว์พืชผักตามธรรมชาติ ปลูกพืชผักไว้กินเอง ไม่มีความเดือดร้อนใด จะขาดแคลนก็เพียงเงินทองที่ไม่มีมากมายเหมือนเศรษฐีเท่านั้น แม้ชาวนาแต่ก่อนจะจนไม่มีเงินทอง แต่ก็มีความสุขตามอัตภาพ ซ้ำยังสามารถส่งลูกหลานไปศึกษาเล่าเรียนในเมืองจบมามีความรู้ ทำงานเป็นเจ้าคนนายคนมากมาย ก็ด้วยพ่อแม่ชาวนาจน ๆ นี่แหละ

แต่ชาวนาสมัยใหม่มีการปลูกข้าวเชิงพาณิชย์ กล่าวคือ การปลูกข้าวให้ได้มากที่สุดเพื่อขายเท่านั้นเมื่อข้าวราคาตก ก็มีผลกระทบต่อรายได้ และการดำรงชีพของชาวนา ดังมีคำกล่าวที่ว่า “ทำนาปีเหลือแต่หนี้กับซัง ทำนาปรังเหลือแต่ซังกับหนี้” เพราะชาวนายิ่งทำนามากก็จนมาก เพราะต้องใช้เงินทุนทั้งหมดในทุกขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็ไม่เหลือเงิน เพราะต้นทุนการผลิตที่สูง เช่น ข้าวที่นิยมปลูกภาคอีสาน ข้าวหอมดอกมะลิ 105 ข้าว กข 15 ข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ปกติข้าวเปลือกกิโลกรัมละ 12 บาท เมื่อสีเป็นข้าวขาวจะมีราคาที่สูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 40 บาทขึ้นไป แม้มีมูลค่าที่สูงขึ้น แต่เมื่อคำนวณหักลบต้นทุนแล้วอาจไม่คุ้มทุนที่ได้จ่ายไปมากแล้ว

การทำนาในภาคอีสานแถบทุ่งกุลาร้องไห้ ส่วนใหญ่เป็นนาปี ทำนาเพียงปีละหนึ่งครั้ง เดิมชาวนาจะปลูกข้าวไว้พอกิน ไม่ขาย ต่อมานิยมปลูกข้าวหอมดอกมะลิไว้ขาย เพราะพื้นที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวหอมมะลิ ที่มีกลิ่นหอมอ่อน ทานอร่อย

แต่ในเขตพื้นที่ชลประทานแถบภาคกลาง 22 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ชาวนาในจังหวัดสิงห์บุรี สุพรรณบุรี จะมีการทำนากันตลอดทั้งปี ปีละสามครั้ง และจะทำถึงสี่ครั้งเมื่อข้าวมีราคา เป็นการทำนาเพื่อขายเท่านั้น สำหรับข้าวที่รับประทานกลับไปซื้อจากชาวนาภาคอีสาน เพราะชาวนาภาคกลางขายข้าวที่ผลิตได้ทั้งหมด และข้าวอีสานอร่อยกว่า ปลอดสารพิษมากกว่าข้าวภาคกลาง

มาปลูกข้าวที่ลดการพึ่งพากันเถอะ

ดังที่กล่าวแล้วว่าชาวนาภาคกลางมีสองประเภทคือ ชาวนาที่เป็นนายทุนเจ้าของที่นา และชาวนาเช่าที่นาหรือชาวนาที่รับจ้างเป็นแรงงานทำนา ฉะนั้น ชาวนาที่เป็นเจ้าของที่นาในเขตชลประทาน จึงเป็นการทำนาเชิงพาณิชย์ที่ “ทำทั้งปีหรือทำตลอดปี” ใช้เงินเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต มีการพึ่งพาต้นทุนการผลิตทุกอย่าง มีการใช้สารเคมี ไม่มีการควบคุมการใช้สารเคมี ไม่สนใจในเรื่อง “คุณภาพ” ไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทำแบบง่าย ๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มาก ๆ เพื่อขายได้ในราคาที่มาก จึงเป็นการผลิตที่ต้องรีบในการเร่งผลผลิตในเกือบทุกอย่าง

ชาวนาภาคกลางมีการใช้ต้นทุนการผลิตที่สูงดังกล่าวแล้ว ประกอบกับการเร่งรีบเก็บเกี่ยว ข้าวไม่สุก ทำให้ข้าวมีความชื้นสูง ราคาข้าวเปลือกจึงตก ปกติชาวนาจะรับเงินค่าขายข้าวในขั้นตอนสุดท้ายเท่านั้น ฉะนั้น กรณีที่ราคาข้าวตก ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ชาวนาต้องขาดทุน

ในกรณีที่เป็นชาวนาเช่าที่นาหรือชาวนาที่รับจ้างฯ นั้น ยิ่งมีภาระค่าใช้จ่ายที่หนักมากขึ้นอีกคือ “ค่าเช่านา”เพราะชาวนาเช่าไม่มีที่ดินของตนเอง ไม่ได้เป็นเจ้าของที่นาปัจจัยการผลิต สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นก็ต้องพึ่งพาการจ้างด้วยเช่นเดียวกับชาวนาที่เป็นนายทุนเจ้าของที่นา ฉะนั้นในเรื่องต้นทุนการผลิตข้าวจึงไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ชาวนายังไม่มียุ้งฉางของตนเอง ไว้เก็บผลผลิต จึงเป็นการผลิตเพื่อขายในเชิงพาณิชย์โดยแท้จริง

โครงการประกันราคาข้าวก็ดี โครงการรับจำนำข้าวก็ดี อาจเป็นการแก้ไขปัญหาที่ “ปลายเหตุ” ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือชาวนาที่แท้จริง เพราะ “ชาวนาภาคกลางเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่มิใช่ชาวนาในสายเลือดที่แท้จริง ผลประโยชน์จึงตกไปอยู่ที่นายทุนรับซื้อข้าว หรือนายทุนผู้ขายปัจจัยการผลิตหรือให้ทุนการผลิตเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะโครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นกลไกตามปกติของตลาด แต่เป็นการแทรกแซงกลไกของตลาด และมักมีการรั่วไหลทุจริตในโครงการเกิดขึ้นอยู่เสมอ

ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการผลิตของชาวนา

จากข้อมูลพบว่า ชาวนากว่าร้อยละ 80 ต่างปลูกข้าวไว้ขาย เพราะชาวนาไทย “ไม่มีกลไกการตลาด” [10] มาส่งเสริมวงจรการผลิตข้าวให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น สำหรับเกษตรกรชาวนาที่แท้จริงคือ ชาวนาภาคอีสานมีข้อเสนอทางรอดโดย “ให้มีการจำหน่ายข้าวเองและแปรรูปข้าวด้วย” เพราะชาวนาไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ ไม่ได้เป็นผู้แปรรูป เป็นเพียงผู้ผลิตข้าวเปลือกส่งพ่อค้าโรงสี ซึ่งเป็นนายทุน การส่งเสริมปรับเปลี่ยนให้ชาวนาเป็นผู้ประกอบการ เป็นการตัด “พ่อค้าคนกลาง” ต้องสร้าง “Brand” สินค้าข้าวของตนเองขึ้นมา เช่น ข้าวหอมดอกมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวปลอดสารพิษ ข้าวดำ ข้าวไรซ์เบอรรี่ ข้าววิตามิน ฯลฯ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น เป็นการพัฒนาสินค้าข้าวให้มี “คุณภาพ” โดยเฉพาะ “ข้าวหอมดอกมะลิ” ข้าวที่เหลือจากการเก็บไว้บริโภค ก็ขายให้ได้ราคา หรือมีการแปรรูป ในรูปของแป้ง อาหารประเภทแป้งต่าง ๆ เช่น ขนมจีน เส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนม ปาท่องโก๋ อาหารแปรรูปอื่น ๆ มีโรงสีของกลุ่มชาวนาเอง มียุ้งฉางรวมเพื่อเก็บผลผลิต มีการสร้างเครือข่ายการผลิต เครือข่ายการจำหน่าย การโฆษณา ฯลฯ รวมถึงการพัฒนา “การบรรจุภัณฑ์” ในรูปแบบแพ็คห่อที่สวยงาม เพื่อการจำหน่าย หรือของฝากของขวัญ น่าซื้อน่าทานแก่ผู้บริโภค เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าข้าวไปสู่ตลาดโลก

ประการที่สำคัญก็คือ การผลิตต้อง “Green & Clean” [11] ปลอดสารพิษ รักษ์สิ่งแวดล้อม มีการใส่ใจที่นาของตนเอง มีการพัฒนาปรับปรุงดิน ไม่ทำร้ายสภาพแวดล้อมให้เสื่อมสภาพ มีสารพิษ เป็นต้น

ความคาดหวัง

อยากให้สังคมชาวนาไทยทั้งเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ และคนชราได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เป็นสังคมที่เป็นสุข (Healthy Society) [12] มีสุขภาพจิตที่แข็งแรง เป็นพี่น้องรักใคร่กลมเกลียวกัน พึ่งพาช่วยเหลือค้ำจุนซึ่งกันและกัน อยากให้มีภาพบรรยากาศเก่า ๆ ที่ได้ “ตายไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว” ให้ฟื้นกลับคืนมา ในฤดูการทำนา มีวรรณกรรมที่สร้างสรรค์ศิลปะ เกิดวรรณกรรมพื้นบ้าน เพลงฉ่อย เพลงอีแซว หมอลำ เพลงลูกทุ่ง เพลงเกี่ยวข้าว เพลงรำวง มีประเพณีขอบคุณแม่พระโพสพ มีหุ่นไล่กา มีการลงแขกทำนา ทำบุญข้าว ทำขวัญข้าว เด็ก ๆ วิ่งเล่นกันในท้องนาท้องทุ่ง ฯ ซึ่งเป็นบรรยากาศเก่าเก็บในอดีตที่เลือนหายไป ด้วยการผลิตใน “เชิงพาณิชย์” ที่เน้นการผลิต ไม่ใส่ใจการผลิตการเกษตรที่มี “คุณภาพ” ลืมวัฒนธรรม ลืมสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนฯมาก ลืมธรรมชาติ ไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่เลี้ยงวัวควาย ไม่มีปุ๋ยคอก ชีวิตธรรมชาติแบบเดิม ๆ ที่สูญหายไปจะได้หวนคืนกลับมา ไม่เน้นเรื่องทุนนิยม ให้หันมาดำเนินชีวิตตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามหลักปรัชญา “เศรษฐกิจแบบพอเพียง” (Sufficiency Economy) [13]

อนึ่ง คนไทยมีวัตถุดิบมาก ควรมีกระบวนการในการเพิ่มมูลค่าสินค้าการผลิตด้วยการแปรรูปที่มากขึ้น ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นไม่มีวัตถุดิบเลย แต่กลับนำวัตถุดิบจากประเทศอื่นมาผลิต แปรรูปเป็นสินค้า ทำอาหาร ทำขนมขายจนมีชื่อเสียง หากเราไม่บริหารจัดการสินค้าโดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้จะย้อนกลับมาทำลายคุณภาพชีวิตของเราให้ด้อยลงในที่สุด เพราะ คนจนต้องซื้ออาหารที่ทำลายสุภาพราคาถูกที่มาจากขั้นตอนการผลิตที่ไม่ใส่ใจธรรมชาติ มีสารพิษตกค้างจากการใช้สารเคมี แต่คนรวยหรือคนที่มีรายได้ฐานะดีก็จะเลือกบริโภคสินค้าอาหารที่ใส่ใจธรรมชาติ ทานอาหารพืชผักปลอดสารพิษ ที่มีราคาค่อนข้างสูงกว่า

ผู้เขียนฝันใฝ่อยากเห็น โครงการเกษตรปราณีต 1 ไร่ไม่จน [14] (หรือเกษตรประณีต,สวนเกษตรในฝัน) โครงการ 1 ไร่ ได้ 1 แสน [15] (ข้าวอินทรีย์) โครงการเศรษฐกิจพอเพียง โครงการเกษตรแบบพอเพียง โครงการปลูกพืชผักปลอดสารพิษ โครงการสร้างยุ้งฉางรวม โครงการฟื้นฟูการเลี้ยงวัวเลี้ยงควายเพิ่มการมีปุ๋ยคอกมูลสัตว์ ฯลฯ ทั้งนี้เป้าหมายเพื่อสร้าง “สังคมผู้บริโภค” ให้มีมากขึ้น ให้มากกว่า “สังคมผู้ผลิต” เหมือนดังเช่นประเทศญี่ปุ่นปัจจุบัน ให้มีความสมดุลในอุปสงค์อุปทาน (Demand & Supply) โดยให้มีผู้บริโภคในปริมาณจำนวนที่มากขึ้น มิใช่มีแต่ผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าขึ้นมามากมายแต่ขายจำหน่ายไม่ได้เพราะไม่มีคุณภาพ ไม่ใส่ใจธรรมชาติ และไม่มีผู้บริโภค

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า มุมมองในแนวคิดนี้ คงเป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพชาวนาไทยให้ลืมตาอ้าปากได้ตามสมควร



[1] สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 7 วันศุกร์ที่ 13 - วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2558, หน้า 80, เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2] “หำเฮี้ยน” เพลงที่ถูกแบนในอัลบั้ม “อเมริโกย”, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 18 กุมภาพันธ์ 2557,

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000018943

[3] เย็นสบายซาวนา, ศิลปิน : ท้าวบัวเงิน, http://เพลง.meemodel.com/เนื้อเพลง/เย็นสบายซาวนา_ท้าวบัวเงิน

[4] การปฏิรูปชาวนาไทย, กลุ่มงานบริการวิชาการ 2, สำนักวิชาการ, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2557, http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nrcinf/nrc2557-article03.pdf

[5] อุไรวรรณ คชสถิตย์ และคณะ, ข้าวเจ้าหอมต้านทานต่อโรคไหม้ สำหรับนาน้ำฝนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี, ประชุมวิชาการข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2557, http://brrd.in.th/main/images/pdf/new_26062014a/2.26062014.pdf

[6] ยืน ภู่วรวรรณ, เรื่องข้าวตอนที่ 11, 23 กุมภาพันธ์ 2557, https://www.facebook.com/PraKoBatPantip/posts/742764535742999

[7] แคน ไทเมือง (นามแฝง), กรมชลแฉ นักการเมืองสั่งปล่อยน้ำทำแล้งซ้ำซาก ชาวนาไม่ฟังเสียงเตือน, 23 มิถุนายน 2558, http://chaoprayanews.com/blog/socialtalk/2015/06/23/กรมชลแฉ-นักการเมืองสั่ง/

[8] P. Rinchakorn, แนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของสำนักพาณิชย์นิยม, 11 พฤศจิกายน 2554, https://www.gotoknow.org/posts/467890

ลัทธิพาณิชย์นิยม (mercantilism) เกิดหลังปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในยุคการแสวงหาอาณานิคม มีเป้าหมายที่จะสร้างความเจริญมั่งคั่งและความเข้มแข็งให้แก่ประเทศของกลุ่มประเทศมหาอำนาจตะวันตก(ยุโรป)

& ลัทธิพาณิชย์นิยม, ในเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนไร้ขีดจำกัด, https://sites.google.com/site/deejaijungv5/laththi-tang-ni-dlk/laththi-pha-ni-chni

ลัทธิพาณิชยนิยม (Mercantilism) ลัทธินี้กำเนิดในคริศตวรรษที่ 16 จนถึงศตวรรษที่ 18 ลัทธินี้เชื่อว่า ประเทศจะร่ำรวยมั่งคั่งได้ต้องมีดุลการค้าเกินดุล ทั้งนี้เพราะถ้าประเทศเกินดุลการค้าก็จะมีทองคำไหลเข้าประเทศ

& ลัทธิบริโภคนิยม, วิทยานิพนธ์สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551, http://archive.lib.cmu.ac.th/full/T/2551/phil0351yc_ch2.pdf

& Panuwat Angkanakorn, InfoGraphic ใช้ชีวิต ไม่คิดบริโภคนิยม, 19 กุมภาพันธ์ 2557, https://www.youtube.com/watch?v=BgVJjyRelGw&app=desktop

บริโภคนิยม (Consumerism) หมายถึง การที่นิยมการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยหรือเกินความจำเป็น และก่อให้เกิดกิเลส คิดแต่เพียงว่าตัวเองได้สนองความต้องการเพียงครั้งคราวเท่านั้น เป็นการซื้อสินค้าตามกระแสนิยมเท่านั้น ชอบสิ่งที่แปลกใหม่ โดยไม่คิดว่าจะเกิดผลกระทบอะไร ชอบความสบาย จะเสียเงินเท่าไหร่ไม่ว่าขอให้สบายไว้ก่อน

& ลัทธิบริโภคนิยม เกิดจากอะไรและจะแก้ไขกันอย่างไร, ในเวบไซต์ชมรมศึกษาผลงานวิทยากร เชียงกูล

, 5 กันยายน 2551, https://witayakornclub.wordpress.com/2008/09/05/ลัทธิบริโภคนิยม-เกิดจาก/

ลัทธิบริโภคนิยม หมายถึงการนิยมบริโภคฟุ่มเฟือยเกินความต้องการที่จำเป็นในชีวิตและเกินกว่าฐานะรายได้หรือความสามารถในการผลิตของคนหรือของประเทศ เป็นลัทธิที่แพร่หลายในประเทศไทยมาก

[9] ทุนนิยม, วิกิพีเดีย, https://th.wikipedia.org/wiki/ทุนนิยม

ทุนนิยม (Capitalism) เป็นระบบเศรษฐกิจซึ่งเจ้าของเอกชนเป็นผู้ควบคุมการค้า อุตสาหกรรมและวิถีการผลิต โดยมีเป้าหมายเพื่อทำกำไรในเศรษฐกิจแบบตลาด คุณลักษณะสำคัญของทุนนิยม ได้แก่ การสะสมทุน ตลาดแข่งขันและค่าจ้างแรงงาน ในเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยทั่วไปภาคีในปฏิสัมพันธ์กำหนดราคาที่มีการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ สินค้าและบริการ

& ปณัย เจริญรัศมีเกียรติ และคณะ, ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยม(Laissez-faire or capitalism), ธันวาคม 2550, http://social-sk.blogspot.com/2007/12/laissez-faire-or-capitalism.html

เป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้เสรีภาพแก่เอกชนในการเลือกดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่ทว่าเสรีภาพดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย

& พัชรี สุวรรณศรี และสุภัทณี เปี่ยมสุวรรณกิจ, เศรษฐกิจโลก, ใน ประชาคมโลก (Global Community), คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, http://www.baanjomyut.com/library/global_community/03_2_1.html

ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี (Free Economy) หรือทุนนิยม (Capitalism). เป็นระบบเศรษฐกิจที่เอกชนเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต มีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ โดยที่รัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือแทรกแซงในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

& ประทีป วัฒนสิทธิ์. “ขอเสียงสนับสนุน การเสนอกฎหมาย 1 มาตรา ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”, 25 กุมภาพันธ์ 2555,

http://www.kroobannok.com/blog/48825

ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพการเลือกแนวทางการดำรงชีพ ในรูปแบบ ประชาธิปไตยระบบเศรษฐกิจวัตถุนิยม หรือ ประชาธิปไตยระบบเศรษฐกิจพอเพียงนิยม (Materialism or Consumerism and Sufficientism) โดยรัฐบาลต้องมีนโยบายส่งเสริมพัฒนาทั้งสองระบบเศรษฐกิจนี้อย่างเสมอภาคทัดเทียมกัน

[10] แก้วกานต์ กองโชค, คำให้การพยานปากเอก “ลวงชาวนา”,10 พฤศจิกายน 2558, http://www.siamrath.co.th/web/?q=ลวงชาวนา

[11] เกณฑ์การประเมินสาธารณสุขรวมใจลดโลกร้อน Green & Clean, งานอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา, 2555, http://ed2.surinpho.go.th/documents/1337929207_.doc

& การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม : เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology), 2557, www.environnet.in.th/2014/?p=8145&http://news.voicetv.co.th/business/75138.html

[12] ปัญหาที่ท้าทาย สุขภาพ, โรงเรียนคุระบุรีชัยพัฒนาพิทยาคม, 2557, http://schoolweb.eduzones.com/bow2013/content.php?view=20140916125839mEC4hIN

การปฏิบัติการอันจะให้ผลบวกต่อสุขภาพของประชาชนโดยการสร้างสังคมที่มีสุขภาพดี (Healthy society) การสร้างเมืองที่มีสุขภาพดี (Healthy city) การจัดที่ทำงานที่เอื้อต่อสุขภาพ (Healthy workplace) และการทำให้เป็นโรงเรียนเพื่อสุขภาพ (Healthy school) เป็นต้น

[13] จุมพล วิเชียรศิลป, แนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง (Sufficiency Economy), มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, http://www.stou.ac.th/Offices/rdec/nakornnayok/Main/NK-STOU_Porpeng/Data/แนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง.pdf

[14] เกษตรปราณีต คือ อะไร มีประโยชน์อย่างไร, นายคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้านผู้คิดทฤษฎีเกษตรประณีต,http://med.mahidol.ac.th/sites/default/files/public/pdf/310156-2.pdf

[15] โครงการ 1 ไร่ ได้ 1 แสน, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, http://infoservice.oae.go.th/index.php/rish-chanel-menu/150-project-rich-art & จริงหรือ ? ทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน, คมชัดลึก, 11 มกราคม 2558, www.komchadluek.net/detail/20150111/199209.html

หมายเลขบันทึก: 597267เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2015 03:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2016 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

-สวัสดีครับ

-วิถีชีวิตแบบไทย ๆ ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง

-แต่ก็น้อยลงไปทุกที หากไม่มีคนรุ่นหลังสืบรากสานเหง้าประเพณีอันดีงาม...

-ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดสิ่งดีๆ นี้ครับ..

"ทำไม่ได้" ..ได้แต่หวัง...การสวนทางระหว่างผู้ทำ..และผู้หวัง..(ที่ใช้คอมพิวเตอร์และเงินตราอำนาจ..)...ผู้ทำมีแต่ปากกับท้อง..ที่ถูกพันธนาการ..แถมด้วยการสูญพันธุ์..(ต่อเนื่อง)...

ปี 2559 ... ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมราว 130 ล้านไร่ อยู่ในเขตชลประทานราว 29 ล้านไร่ ที่เหลือเป็นการทำการเกษตรน้ำฝน ...

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์

25 สิงหาคม 2559

ที่มา : สยามรัฐรายวัน ศุกร์ที่ 2 กันายน 2559 หน้า 12

++++++++++++++++

เปรียบเทียบ ข้อมูลแตกต่างกันมาก ๆ ??? ...

ข้อมูลสํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2557) ประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ทำนา 149 ล้านไร่ (ร้อยละ 46) มีชาวนาเกือบสี่ล้านครัวเรือน เป็นการทำนาในเขตชลประทาน 29.6 ล้านไร่ (ร้อยละ 19) เป็นพื้นที่นาน้ำฝน (นอกเขตพื้นที่ชลประทาน) 109 ล้านไร่ (ร้อยละ 73) .....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท