แนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของสำนักพาณิชย์นิยม


ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ รัฐต่าง ๆ ในยุโรปต่างก็เจริญเติบโตและต้องการที่จะแสวงหาอำนาจเพื่อการสร้างประเทศ ความปรารถนาในการที่จะแสวงหาอาณานิคมได้แผ่ขยายไปทั่ว และในการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะสามารถปกครองอาณานิคมตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของอาณานิคมได้อย่างเต็มที่ ประเทศนั้นก็จะต้องมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ในช่วงเวลาดังกล่าว ระบบเศรษฐกิจมีการใช้เงินตลอดจนธนาคารพาณิชย์และสถาบันการให้กู้ยืมก็ได้เริ่มมีการพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับให้การค้าดำเนินไปอย่างราบรื่น การขยายการค้าและการพาณิชย์ของแต่ละประเทศออกไปทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างประเทศมากขึ้นจนบางครั้งก็นำไปสู่สงครามและการสู้รบระหว่างกัน นโยบายของแต่ละประเทศจะมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศเพื่อนบ้าน สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดลัทธิพาณิชย์นิยม (mercantilism) ขึ้นซึ่งมีเป้าหมายที่จะสร้างความเจริญมั่งคั่งและความเข้มแข็งให้แก่ประเทศ มาตรการที่ใช้สำหรับการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมายของการเป็นประเทศที่เจริญมั่งคั่งและเข้มแข็ง ประกอบด้วยสาระสำคัญคือ

               ๑) โลหะมีค่าเป็นทรัพย์สินที่จะก่อให้เกิดความเจริญมั่งคั่งแก่ประเทศ ดังนั้น จึงเป็นทรัพย์สินที่พึงปรารถนาที่สุดของประเทศ

               ๒) ถ้าหากประเทศไม่มีทรัพยากรโลหะที่มีค่าเหล่านั้นอยู่เอง วิธีสำคัญที่จะให้ได้มาซึ่งโลหะมีค่านั้นก็โดยการค้า

               ๓) ในการที่ประเทศจะสะสมโลหะที่มีค่านี้ ดุลการค้าของประเทศจะต้องอยู่ในฐานะได้เปรียบกล่าวคือ สินค้าออกจะต้องมีมากกว่าสินค้าเข้า

               ๔) ประเทศอาณานิคมมีประโยชน์ทั้งในแง่ที่เป็นตลาดให้แก่สินค้าออกประเทศแม่ และเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบ ตลอดจนโลหะที่มีค่าให้แก่ประเทศแม่

               ๕) ประเทศอาณานิคมเป็นเพียงแหล่งป้อนวัตถุดิบให้แก่ประเทศแม่เท่านั้น ห้ามประเทศอาณานิคมทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตเพราะอาจจะเกิดผลเสียต่อตลาดในประเทศแม่ ตลอดจนทำให้อุปทานของวัตถุดิบหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว การค้าของประเทศของประเทศอาณานิคมอยู่ในอำนาจผูกขาดของประเทศแม่แต่เพียงผู้เดียว

 

             นักพาณิชย์นิยมนี้มีความเชื่อว่า ประเทศจะมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจก็ต่อเมื่อประเทศนั้น ๆ ขายสินค้าขาออกให้กับต่างประเทศเป็นมูลค่าที่มากกว่าการซื้อสินค้าขาเข้า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เศรษฐกิจของประเทศจะมั่งคั่งก็ต่อเมื่อประเทศนั้นมีดุลการค้าเกินดุล ทั้งนี้ เพราะเห็นว่าการที่ประเทศมีดุลการค้าเกินดุลนั้นจะทำให้มีทองคำและเงินตราไหลเข้าประเทศมาก ๆ ถือเป็นการส่งเสริมการจ้างงานภายในประเทศ เนื่องจากเมื่อประเทศมีปริมาณเงินหมุนเวียนมากจะทำให้การค้าเจริญ เมื่อการค้าเจริญการผลิตย่อมเพิ่มขึ้นตามมา ส่งผลให้เกิดการว่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในที่สุด ประชาชนก็จะมีความอยู่ดีกินดีเนื่องจากมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ นักพาณิชย์นิยมยังมีความเชื่อว่า การที่ประเทศจะบรรลุซึ่งการมีความมั่งคั่งคือดุลการค้าที่เกินดุลนั้น รัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทในการแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านการค้ากับต่างประเทศ กล่าวคือ รัฐจะต้องส่งเสริมให้มีการส่งออกให้มากพร้อมกับให้มีการจำกัดการนำเข้าสินค้ากับต่างประเทศ รัฐจะเป็นผู้กำหนดนโยบายการค้าและนโยบายด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ

 

            ลัทธิพาณิชย์นิยมส่งเสริมนโยบายใด ๆ ก็ตามที่จะช่วยให้ประเทศมีดุลการค้าที่ได้เปรียบ ดังนั้นนักพาณิชย์นิยมสนับสนุนนโยบายภาษีที่จะทำให้ประเทศมีดุลการค้าที่เกินดุล ที่เห็นได้ชัดเจนในเรื่องนี้ก็คือ โทมัส มัน (Thomas Mun ค.ศ. ๑๕๗๑-๑๖๔๑) ผู้ซึ่งเคยเป็นพ่อค้าในกรุงลอนดอน และเป็นผู้อำนวยการบริษัทอีสต์อินเดีย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการการค้าของประเทศอังกฤษหลายครั้งหลายหน ได้แสดงทัศนะไว้ในหนังสือที่เขาเขียนเรื่อง Englands Treasure by Forraign Trade ว่า “วิธีการธรรมดา ๆ ที่จะเพิ่มพูนทรัพย์สินและทรัพย์สมบัติให้แก่ประเทศของเราก็โดยการค้ากับต่างประเทศ ซึ่งเราควรระลึกถึงกฎข้อนี้ไว้ กล่าวคือ ขายให้แก่ชาวต่างชาติในแต่ละปีเป็นมูลค่าที่มากกว่าที่เราบริโภคจากเขา” และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้เขาได้เสนอให้มีการเก็บภาษีสินค้าเข้าในอัตราที่สูง แต่เก็บภาษีสินค้าออกในอัตราที่ต่ำ

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 467890เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2011 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 00:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท