ที่พักพิงสุดท้าย


รถแทกซี่ขับพาพวกเราลัดเลาะไปตามถนนลาดยางมะตอยที่ดูราบเรียบ สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้เขียวชอุ่มและไม่นานนักฝนก็เทกระหน่ำลงมา ทำให้รู้สึกชุ่มฉ่ำและหายร้อนไปชั่วขณะหนึ่ง ระยะทางจากโรงพยาบาลจนถึงจุดหมายของการเยี่ยมบ้านของเราวันนี้ ดูเหมือนจะใกล้แต่พอถึงทางเข้าหมู่บ้าน แล้วเราโทรสอบถามลูกชายคนไข้แจ้งว่าอีกประมาณสองกิโลเมตร ทันทีที่รถจอดเทียบชายคาบ้าน ตัวบ้านเป็นบ้าน ชั้นเดียวใต้ถุนสูง มุมหนึ่งของชั้นล่างของบ้านกั้นให้เป็นห้องนอน แต่เมื่อพวกเราเดินเข้าไปเพื่อจะไปพบกับคนไข้ของเรากลับทำให้เราถึงกับผงะกับสภาพภายในห้องที่เต็มไปด้วยสิ่งของรกรุงรังวางเกะกะโต๊ะข้างเตียง ไม่มีแม้แต่ทางที่จะเดิน ยิ่งไปกว่านั้น บริเวณรอบๆยังเต็มไปด้วยฝุ่นเกรอะ เดินเข้าไปรู้สึกอึดอัดหายใจไม่ออก

ทีมวันนี้ประกอบไปด้วยพยาบาลหลักสูตร BCCPN รุ่นที่ 8 คนไข้เป็นคุณยาย วัย79ปีป่วยด้วย มะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามที่ทีมได้รับปรึกษาให้เข้ามาร่วมดูแลคุณยายตั้งแต่อยู่ในโรงพยาบาล ในช่วงแรกที่ทีมเข้ามา คุณยายมีอาการไม่สุขสบายจากอาการหายใจไม่อิ่มจากภาวะที่มีน้ำในปอดในช่วงแรกที่ยังสามารถรับประทานยาทางปากได้คุณยายรับประทานมอร์ฟีนขนาดที่จัดอาการอาการหายใจไม่อิ่มซึ่งเริ่มต้นให้ขนาดน้อยกว่าที่ใช้สำหรับจัดการความปวด 50 % ส่วนอาการอื่นๆ ได้แก่ท้องผูก และอาการคลื่นไส้อาเจียนก็ได้จัดการด้วยยาตามลำดับหลังจากจัดการอาการไม่สุขสบายให้คุณยายได้สำเร็จแล้วเราได้ประเมินปัญหาและความต้องการด้านจิตใจและจิตสังคม รวมทั้งด้านจิตวิญญาณด้วย ทำให้ทราบว่าคุณยาย มีสามีแล้วและสามียังมีชีวิตอยู่แต่แยกกันอยู่และมีลูกชายคนเดียวและผู้ดูแลหลักคือลูกชายคนนี้ซึ่งแวะเวียนหาข้าวหาน้ำมาให้ทุกวัน การวางแผนล่วงหน้าในผู้ป่วยระยะท้ายก็เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่เราต้องทำร่วมกับคนไข้และครอบครัว ในกรณีของคุณยายก็เช่นเดียวกันเราได้นัดหมายลูกชายเพื่อพูดคุยสื่อสารค้นหาเป้าหมายการดูแล(goal of care)และรวมไปถึงการวางแผนล่วงหน้า(Advance care plan)ข้อสรุปที่ได้จากการพูดคุยกับลูกชาย

  • ครอบครัวรับทรายว่าคุณยายเป็นมะเร็งระยะลุกลามและมีเวลาอยู่อีกไม่นานแต่คุณยายทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็งปากมดลูกแต่ไม่ทราบว่าโรคมีการลุกลามและอยู่ในระยะท้าย
  • ครอบครัวอยากให้คุณยายทราบเพื่อจะได้วางแผนและบอกกล่าวในสิ่งที่ค้างคาใจหรือสิ่งไหนที่ต้องการให้ลูกทำให้ แต่ไม่ทราบจะบอกอย่างไรต้องการให้ทีมที่มีความเชี่ยวชาญและมีทักษะที่นุ่มนวลในการบอก
  • สถานที่สุดท้ายที่จะให้คุณยายจากไปลูกชายต้อการทำตามประสงค์ของคุณยายที่เคยบอกไว้ว่าอยากกลับบ้านและคิดว่าถ้าหากคุณยายทราบว่าตัวเองมีเวลาไม่นานคุณยายคงขอกลับบ้าน
  • ถึงที่สุดแล้วให้คุณยายจากไปโดยไม่มีเครื่องพันธนาการใดใด ไม่ว่าจะเป็นการใส่ท่อช่วยหายใจ การปั๊มหัวใจและไม่ต้อการการล้างไตถ้ามีภาวะไตวาย ไม่ขอเพิ่มยากระตุ้นความดันกรณีความดันต่ำ ขอให้คุณยายจากไปตามธรรมชาติและขอให้ทีมจัดการอาการด้วยยาในระยะท้ายหากคุณยายไม่สุขสบาย
  • สถานที่เสียชีวิตต้อการให้เป็นไปตามความประสงค์ของคุณยายคือที่บ้าน

เมื่อได้ข้อสรุปดังนี้สิ่งที่ทีมได้ดำเนินการต่อคือการบอกความจริงกับคุณยายว่าโรคหมดทางรักษา และในที่สุดหลังบอกความจริงคุณยายต้องการกลับบ้านทีมจึงได้เตรียมแผนการจำหน่าย

  • โดยการให้ยาเพื่อจัดการอาการ คุณยายเริ่มกลืนยาลำบากแล้ว ยาที่ให้กลับบ้านจึงปรับวิถีทางให้ยาเป็นให้ต่อเนื่องทางใต้ผิวหนังโดยให้คุณหมอปรับยาให้โดยใช้มอร์ฟีนร่วมกับยานอนหลับ การช่วยจัดการอาการหายใจลำบากมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวลหรือกลัว จะช่วยได้มากโดยเลือกใช้เป็นลำดับแรก(first line therapy)โดยใช้ร่วมกับยามอร์ฟีน จะได้ผลดีมากกว่าการให้ มอร์ฟีนเพียงอย่างเดียว โดยสามารถผสมเข้าไปใน ไซริงค์ เดียวกันได้

2.ประสานส่งต่อเครือข่ายการดูแลต่อเนื่องใกล้บ้านคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกศรี เพื่อผสมยาและต่อยาให้คุณยายต่อเนื่องทุกวันและประเมินอาการเปลี่ยนแปลง

ในที่สุดคุณยายก็ได้กลับบ้านและทีมได้ให้ความมั่นใจกับครอบครัวว่าจะติดตามดูแลต่อเนื่องและลงเยี่ยมบ้านและหลังจากที่คุณยายกลับบ้านได้ประมาณ 1 สัปดาห์ เราจึงลงเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินอาการรวมทั้งเพื่อให้เห็นสิ่งแวดล้อมและบริบทของคุณยายและในครั้งแรกที่ลงไป เราได้ประสานเครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกศรีเยี่ยมบ้านร่วมกันด้วยเพื่อสื่อสารอีกครั้งถึงแผนการดูแลคุณยาย หลังจากประเมินอาการแล้วพบว่าคุณยายสุขสบายดี ภายใต้การควบคุมอาการที่ต้องบอกว่าเอาอยู่ และรับรู้ว่าพวกเรามา พวกเราได้ช่วยกันทำแผล ช่วยเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะ สำรวจบริเวนแทงเข็มมีลักษณะบวมแดงจึงเปลี่ยนที่แทงให้ใหม่ แต่ความรู้สึกของเราหลังกลับไปถึงโรงพยาบาล คือภารกิจทางใจที่ยังไม่แล้วเสร็จ “วันนี้หลังเยี่ยมบ้านคุณยาย มีคำถาม ในใจหลังจากที่เห็นสภาพเรือนตายที่ไม่ต่างอะไรกับรังหนูรกรุงรัง มองหันไปทางไหนก้อดูไม่โสภา ที่นอน หมอน มุ้ง เต็มไปด้วยฝุ่นเกรอะอากาศแทบจะไม่ระบายเลย แต่ถ้ามองถึงความต้องการของคุณยาย แก ก้อต้องการกลับ ถ้าถาม ว่านี่เป็นที่ที่ดีที่สุดสำหรับ ยายแล้วหรือยัง...ถ้ามองในมุมของทีมสุขภาพ ในทางกายภาพและสิ่งแวดล้อมแล้วไม่ใช่เลย แต่ เอาเถอะนะคะไหนๆยายก้อได้กลับบ้านแล้ว เราก้อคงได้ ทำหน้าที่ สนับสนุนเท่าที่จะเป็นไปได้ในบทบาททีม palliative care อย่างน้อยยายก้อโชคดีที่ลูกชายไม่ทิ้งยาย และยังได้ทีม รพสต. ที่ประสานปุ๊บ เขาลงมาทันที รอ เกาะติด สถานการณ์คุณยาย อย่างต่อเนื่อง และทำอย่างไรไม่ให้คุณยายทุกข์ทรมาน ก่อนลมหายใจสุดท้ายจะมาถึง” และเป็นอย่างนั้นจริงเมื่อเรื่องราวของคุณยายรับทราบถึงอาจารย์หมอศรีเวียง อาจารย์ขอลงไปดูด้วยตัวเอง และแล้วในที่สุดวันที่ลงเยี่ยมบ้านครั้งที่สองพวกเราทีมพยาบาลหลักสูตร BCCPN รุ่น 8 ก็เตรียมการอุปกรณ์การทำความสะอาดบ้านครบครัน พร้อมเต็มที่สำหรับยกเครื่องที่พักพิงสุดท้ายของคุณยายให้ แจ่มแจ๋ว แต่สิ่งที่พวกเราทำได้เมื่อลงไปอีกครั้งคือการได้อาบน้ำเช็ดตัวเปลี่ยนผ้าถุง ปัดกวาดที่นอนและเก็บสิ่งของบนเตียงที่คิดว่าไม่จำเป็นออก ปูที่นอนให้ เรียบตึง นอกเหนือจากนี้เราไม่สามารถทำได้ และอาจารย์ หมอศรีเวียงประเมินอาการขอคุณยายพร้อมกับสื่อสารกับลูกชายว่าคุณยายเหลือเวลานับวันแล้วขอให้ทุกคนเตรียมการ ก่อนที่เราจะลากลับ ผู้ดูแลที่มาช่วยลูกชายดูแลคุณยายได้บอกกับเราด้วยน้ำเสียงติดตลกสำเนียงโคราช ว่า “เวลาฉันจะตายให้มาทำให้ฉันแบบนี้หน่อยเด้อ”

หมายเลขบันทึก: 597263เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2015 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2015 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

-สวัสดีครับ

-ตามมาให้กำลังใจคุณยายครับ

-การลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของผู้ป่วยเป็นกิจกรรมที่น่าชื่นชมมาก ๆ ครับ

-บ่อยครั้งที่เห็นทีมงานสาธารณสุขออกเยี่ยมบ้าน..ประทับใจครับ

-ขอบคุณครับ..

เห็นภาพการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจเลยครับ

ขอบคุณมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท