การแสดงข้อมูลด้วยภาพ (Data visualization) กับทักษะในการรับรู้ข้อมูลด้วยภาพ


คนเรามีปฏิสัมพันธ์กับการแสดงข้อมูลด้วยภาพ (Data visualization) อย่างไร และทำไมความฉลาดในการรับรู้ข้อมูลด้วยภาพจึงสำคัญนัก

http://www.cilip.org.uk/cilip/blog/how-people-engage-data-visualisations-why-it-matters

บทความโดย เฮเลน เคนเนดี้ ศาสตราจารย์สาขาสังคมดิจิทัล ภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์


เราถูกทำให้เชื่อว่า การสื่อสารผลวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่ยากและซับซ้อน ควรนำเสนอออกมาเป็นภาพ (เช่น อินโฟกราฟิก แผนภูมิ แผนภาพ ไดอะแกรม กราฟ ฯลฯ) เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย เราจึงได้พบเจอกับการแสดงข้อมูลด้วยภาพอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ผ่านทางอินเทอร์เน็ต สื่อสังคม สื่อมวลชน และช่องทางอื่นๆ อีกมากมาย

แอนดี้ เคิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านการแสดงข้อมูลด้วยภาพ (http://www.visualisingdata.com/) เคยประมาณการไว้ว่า มีแผนภูมิ/แผนภาพกว่า 75 ชนิด ที่ถูกนำมาใช้เพื่อแสดงข้อมูลขนาดใหญ่ แต่มีอยู่ไม่กี่ชนิดที่เราทราบว่า แผนภูมิ/แผนภาพนั้น มีชื่อเรียกว่าอะไร

ด้วยเหตุนี้ ความฉลาดในการรับรู้ข้อมูลด้วยภาพ (Visualization literacy) จึงเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในยุคแห่งอภิข้อมูล (Big data times)

หากลองทบทวนวรรณกรรมทางด้านการแสดงข้อมูลด้วยภาพ โดยทั่วไปแล้ว เรามักจะพบแต่หนังสือ เว็บไซต์ ประเภท "ทำอย่างไร" จึงจะออกแบบการแสดงข้อมูลด้วยภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่งานวิจัยที่ศึกษาจากมุมมองของผู้ใช้/ผู้อ่านอินโฟกราฟิก แผนภูมิ/แผนภาพ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็น 1) ความสามารถในการจดจำข้อมูล (Memorability of data) 2) ความรวดเร็วในการทำความเข้าใจภาพ และ 3) การใช้ประโยชน์จากภาพเพื่อทำงานให้เสร็จ (Task completion) ตลอดจนการวัดองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านนั้น มีอยู่น้อยมาก (ผู้เขียนบทความแจกหัวข้อวิจัยให้ด้วย ดีจัง!)

ด้วยเหตุนี้ ศ.เฮเลน เคนเนดี้ และทีมวิจัย จึงพัฒนาโครงการวิจัยชื่อ "การมองเห็นข้อมูล" (Seeing Data Project) ขึ้นมา เพื่อศึกษาปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อการแสดงข้อมูลด้วยภาพ ทักษะที่จำเป็นต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับแผนภาพ รวมทั้ง บริบททางสังคมที่ส่งผลต่อกระบวนการสร้างปฏิสัมพันธ์ดังกล่าว

ข้อมูลจากโครงการวิจัย "การมองเห็นข้อมูล" ทำให้เราทราบปัจจัยที่ส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อการแสดงผลด้วยภาพ ปัจจัยเหล่านี้ ประกอบด้วย

1) เนื้อหาของข้อมูล หากเรามีความสนใจในเนื้อหาใดๆ อยู่ก่อนแล้ว เราก็จะทำความเข้าใจก้บภาพที่นำเสนอเนื้อหานั้นๆ ได้ดีขึ้น

2) แหล่ง/ตำแหน่งของข้อมูล หากแผนภาพจัดทำโดย หรือใช้ข้อมูลจากสื่อมวลชนที่เราดู หรืออ่านเป็นประจำอยู่แล้ว เราก็มักจะเชื่อถือภาพนั้นๆ ได้ง่าย

3) ความเชื่อ และความคิดเห็น เราจะนิยมชมชอบการแสดงผลด้วยภาพ ที่สื่อสารข้อมูลได้ตรงกับ หรือเข้ากันได้กับโลกทัศน์ (การมองโลก) ของเรา แต่หลายคนก็ชื่นชอบแผนภาพที่แสดงผลข้อมูลที่ค้าน-ขัดแย้งกับความเชื่อเดิมๆ ของตัวเอง

4) เวลา การแสดงผลด้วยภาพบางประเภท ไม่เหมาะกับผู้ใช้ที่มีเวลาเข้าดูจำกัด

5) องค์ประกอบของภาพ หากเจอกับองค์ประกอบในการออกแบบภาพแปลกๆ มากเกินไป หรือที่ไม่ค่อยคุ้นเคย เราก็มักจะไม่เสียเวลาไปกับการเพ่งดูภาพนั้นเป็นเวลานาน

6) อารมณ์ การแสดงผลด้วยภาพก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์ ถ้าเรารู้สึกสบสนงงงวยกับภาพ เราก็มักจะใช้เวลาดูภาพน้อย หรือพยายามน้อยลงในการทำความเข้าใจภาพนั้นๆ เรื่องราวเนื้อหาของข้อมูล สไตล์ในการออกแบบภาพ และปัจจัยอื่นๆ ล้วนส่งผลต่ออารมณ์ของผู้ดูภาพทั้งสิ้น

7) ความมั่นใจและทักษะ ความรู้สึกมั่นใจในทักษะที่เรามีอยู่แต่เดิมจะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการทำความเข้าใจกับภาพได้ดียิ่งขึ้นตามไปด้วย

นอกจากปัจจัยทั้ง 7 ข้อ แล้ว ผลจากโครงการวิจัย "การมองเห็นข้อมูล" ยังนำไปสู่การค้นพบทักษะเกี่ยวกับ "ความฉลาดในรับรู้ข้อมูลด้วยภาพ" จำนวน 4 ประการ ซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับ "การรู้สารสนเทศ" (Information literacy) เลยทีเดียว ทักษะทั้ง 4 ข้อ ประกอบด้วย

1) ทักษะทางภาษา ที่ทำให้เราสามารถอ่านข้อความที่ปรากฏในแผนภาพได้ และหลายคนก็มิได้มีภาษาแม่เป็นภาษาอังกฤษ

2) ทักษะทางคณิตศาสตร์และสถิติ หลายภาพหากจะเข้าใจ ผู้ดูต้องทราบการอ่านค่าเฉลี่ย การอ่านค่าบนกราฟ ฯลฯ ด้วย

3) ทักษะคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยให้เราปฏิสัมพันธ์กับภาพที่ปรากฏบนจอได้ อาทิ การคีย์ข้อความลงไปในภาพ

4) ทักษะการคิดวิพากษ์ หากมีทักษะนี้จะทำให้เราคิดต่อได้ว่า ข้อมูลอะไรที่ขาดหายไปในภาพ หรือมุมมองใดควรจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ของการเสนอผล เป็นต้น

หากผู้อ่านบทความนี้สนใจค้นคว้าเพิ่มเติม สามารถคลิกไปดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ของโครงการวิจัยได้ที่ http://seeingdata.org/ครับ

หมายเลขบันทึก: 596824เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2015 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2015 10:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จะสนใจมาก

จะตามไปอ่าน

ขอบคุณมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท