..........ในท่ามกลางสังคมที่ค่อนข้างเหือดแห้งแล้งน้ำใจลงไปทุกวันดังที่ใครๆ ก็อาจรู้สึกเช่นนี้เหมือนกัน มีข่าวร้ายรายวันให้ได้ยินได้ยลกันทุกรูปแบบ ทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์บ้าง ทางทีวีบ้าง หรือทางโลกออนไลน์ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นช่องทางสื่อสารที่รวดเร็วทั่วถึงที่สุด และข่าวสารส่วนมากล้วนนำมาซึ่งความสลดหดหู่ใจ หรือทำให้พลอยเศร้าใจกับสภาพสังคมที่เป็นอยู่เหลือเกิน สังคมที่ความเมตตาหวังดีถดถอย สังคมที่ความรักสมานฉันท์อ่อนด้อย สังคมที่ความซื่อสัตย์สุจริตลดน้อย สังคมที่น้ำใจต่ำถอยลงเรื่อยๆ ภาพแห่งการทำร้ายชีวิตผู้อื่นอย่างโหดเหี้ยมดุจดังเป็นมดแมงถูกสื่อสารออกมาอย่างต่อเนื่อง ภาพแห่งการทุจริตโกงกินอย่างไม่มียางอายของคนหลายคนทั้งคนใหญ่คนโตและคนทั่วๆไป ภาพแห่งคนที่เสวยสุขจากวัตถุนิยมจนไม่นิยมบุญกุศลหรือสนใจใยดีความทุกข์ยากของผู้อื่น และอีกหลายๆ ภาพที่ถูกประทับไว้ในความทรงจำโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เพราะโลกยุคสื่อสารไร้พรมแดนจึงถูกจัดให้อย่างต่อเนื่องและยากปฏิเสธ เลยต้องจำใจต้องจดจำ
..........แต่อย่างไรก็ตาม แม้ภาพที่ตรงกันข้ามกันกับข้างต้น เราอาจจะไม่ค่อยได้เห็นผ่านสื่อสารมวลชนบ่อยครั้งนัก ก็มิได้หมายความว่า โลกใบนี้จะไม่มีที่ยืนให้กับภาพแห่งความดีเสียทีเดียว คงมีอีกหลายภาพที่ยังไม่ได้ถูกถ่ายทอดสู่สาธารณะ ใช่ไหม? แต่คงไม่ดีเลยหากปล่อยให้สาธารณะเต็มไปด้วยภาพเชิงลบ เพราะนั่นคือโอกาสจะทำให้จิตใจผู้คนในสังคมติดลบลงทุกวัน จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่วันนี้ ใครมีภาพดีๆ ควรนำมาเผยแพร่ เพื่อสร้างกระแสแห่งความดีให้รับทราบและเก็บไว้เป็นภาพในใจที่ดีทั่วๆ กัน สังคมจะได้มีพลังด้านบวกมาคอยค้ำยันให้ยืนหยัดดำรงสันติสุขอยู่ได้นับนาน
..........วันนี้จึงอยากบอกว่า ผู้เขียนได้เห็นภาพดีๆ และรับทราบเรื่องราวอันน่าประทับใจที่อดไม่ได้ที่จะต้อง “บอกต่อ” นั่นก็คือเรื่องราวของเยาวชนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับทราบเมื่อคืนวันที่ 18 กันยายน 2558 ณ วัดพระงาม (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม โดยได้รับแจ้งจากอาจารย์ที่ปรึกษาของเยาวชนกลุ่มนั้นซึ่งกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (เหล่าว่าที่คุณครูสังคมในอนาคต) โดยการนำของนางสาว ภิญญารัตน์ จันทะคัด สาวน้อยจากร้อยเอ็ด เดินทางไกลมาจากแดนอีสานเพื่อมาเอาปริญญา และอยู่ใกล้แม่ซึ่งมาทำงานเป็นแม่บ้านอยู่ กทม. (เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยเกี่ยวกับชีวิตสาวน้อยคนนี้) แต่ขอพักเรื่องราวของเธอเท่านี้ จะขอเอาเรื่องวันนี้ที่เกี่ยวกับเธอมาบอกเล่ากันก่อน
..........เรื่องมีอยู่ว่า มีคุณลุงท่านหนึ่งชื่อลุงผิน ใจทัน อายุ 77 ปี ชาวตำบลหนองดินแดง นครปฐม ทราบจากคำบอกเล่าย้อนรอยถอยหลังจากวันนี้ไปเมื่อหลายปีที่ผ่านมา(เท่าที่บอกเล่ากันน้อยนิด) ว่า ลุงผินเป็นคนรับจ้างขับรถทัวร์มาช้านาน ได้แต่งงานมีครอบครัวอยู่กินกันที่จังหวัดตราดระยะหนึ่ง จนถูกภรรยาขอเลิกราและไล่ออกจากบ้าน จึงต้องจากจรกลับมาอยู่นครปฐม เมื่อกลับมาที่บ้าน (เล่ากันว่า) ลุงมีที่ดินอยู่ส่วนหนึ่งที่หนองดินแดง แต่ถูกญาติใช้ปลูกบ้านเสียเรียบร้อยแล้ว พอกลับมามีที่ก็เหมือนไม่มีเพราะมีผู้อื่นครอบครองไปหมดเกลี้ยง แรกๆ เขาก็ให้อยู่ด้วย ทำทีเหมือนจะดูแลกัน แต่ด้วยลุงอายุมาก บางทีก็เครียดและอาจจะบ่นใส่กันบ้าง จนมีปัญหากันและในที่สุดลุงถูกเขาไล่ออกจากบ้าน ต้องตกระกำลำบากหอบสังขารยามแก่มาอยู่วัดเสน่หา เมืองนครปฐม อาศัยวัดและโรงอาหารของโรงเรียนเป็นที่หลับนอนไปวันๆ ช่วยงานวัด ช่วยกวาดวัดตอบแทนค่าที่นอนที่กินอยู่เนืองๆ กลางวันก็มักหอบหมอนหอบผ้ามานั่งมานอนส่งรอยยิ้มให้กับทุกคนบริเวณร้านเซเว่นข้างแยกวัดเสน่ห์
..........ด้วยร้อยยิ้มที่บริสุทธิ์ ด้วยสายตาที่ไม่เป็นพิษภัยกับใครของลุงผิน และด้วยสังขารที่โรยรา มือขาที่หมดพลัง หลายคนเห็นแล้วอดใจไม่ได้ที่จะหยิบยื่นอาหารมากบ้างน้อยบ้าง ขนมนมเนยตามอัตภาพของผู้ให้ จนบางคนติดเป็นนิสัย มาเซเว่นแห่งนี้หรือเดินผ่านไปมาก็ต้องแบ่งปันอาหารหวานคาวให้ลุงเสมอๆ หนึ่งในนั้นก็คือ ภิญญารัตน์ (สาวน้อยร้อยเอ็ด) ที่อดใจไม่ได้มักจะนึกถึงภาพปู่ย่าที่อยู่แดนไกล เชื่อมโยงจนแทบน้ำตาไหลด้วยความสงสารลุง “หากเป็นปู่ของเราล่ะ จะปล่อยให้อยู่อย่างนี้ได้หรือ? เราไม่ได้มีอะไรเท่าไรหรอก แต่ก็พอแบ่งปันได้เพื่อให้ลุงมีกินและอยู่รอดในแต่ละวัน” ด้วยคิดอย่างนี้ แต่ล่ะวัน อย่างน้อยน้ำสักขวด ข้าวสักกล่องหรือขนม นม ผลไม้ เท่าที่พอหยิบยื่นได้ก็ไม่นิ่งดูดาย ภิญญารัตน์ขวนขวายนำมาให้ลุงผินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นับตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ตอนเข้าเรียนใหม่ๆ ที่ราชภัฏนครปฐมจนปัจจุบัน ก็ได้พบลุงและดูแลลุงมาเท่าที่ดูแลได้อย่างมิขาดสาย และยิ่งกลายเป็นสายใยแห่งความผูกพัน
..........จนมาวันหนึ่ง ลุงผินได้หายไปจากที่นั่งที่นอนข้างเซเว่น ไม่มีลุง ไม่เห็นลุง พาใจหาย “ลุงไปไหนแล้วค่ะ” คือ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจของภิญญารัตน์ จนได้คำตอบจากคนแถวนั้นว่ามีรถมูลนิธิฯ มารับลุงไปโรงพยาบาลนครปฐม เพราะลุงเขามีโรคประจำตัว แล้วอัมพาตจับ แข็งไปทั้งตัว เมื่อทราบดังนั้น ภิญญารัตน์ก็พยายามติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับลุง จนกระทั่งวันหนึ่งได้รู้ว่าลุงเป็นคนไข้อนาถา ไม่มีใครดูแล เธอจึงนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะความผูกพันและห่วงใย ผนวกกับความสงสารลุงจึงชวนเพื่อนๆ หลายคนไปเยี่ยมเยียน และแล้วก็มิได้ไปแค่เยี่ยม เพราะด้วยสภาพที่ไร้ญาติดูแล ทำให้กลุ่มหนุ่มสาวที่ไปเยี่ยมต้องตกลงกันว่า “เราจะช่วยกัน” วนเวียนกันมาดูแลลุง มิเท่านั้น ก็ยังพยายามสื่อสารให้ผู้คนในโลกออนไลน์ได้รับรู้ผ่านเพจ “ข่าวสารนครปฐม” จนมีผู้คนที่รับทราบและรู้จักลุงหลายคน มาร่วมด้วยช่วยกัน ซื้อข้าวของที่จำเป็นมาให้ เช่น กระดาษชำระ และอื่นๆ ทำให้ภิญญารัตน์กับเพื่อนต่างพลอยสุขใจที่ข่าวสารที่สื่อไปมีการตอบรับเป็นสายธารน้ำใจที่งดงาม อดตื้นตันใจไม่ได้ในยามที่กลับจากไปเรียนหนังสือที่ราชภัฏมาดูแลลุงที่โรงพยาบาลแล้วเห็นข้าวของวางไว้ข้างเตียง เพราะมีผู้มีน้ำใจนำมาวางไว้ และยิ่งส่งเสริมกำลังใจในการทำความดีให้ทุกคนได้อย่างดี
..........แต่อนิจจา ห้วงเวลาแห่งการดูแลของกลุ่มหนุ่มสาวชาวราชภัฏนครปฐมก็มีแค่ 19 วันเท่านั้น ลุงผินได้ลาจากโลกนี้ไปด้วยภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ ปอดติดเชื้ออย่างรุนแรง ทุกคนต่างสลดใจกับการจากลา แต่ทว่ามีใช่เท่านั้น ด้วยลุงไม่มีญาติมาดูแล จึงเกิดคำถามขึ้นว่า “จะทำอย่างไรดี?” ใครจะจัดการศพของลุง ถามไปสืบมา การจะนำร่างกายอันไร้วิญญาณออกจากโรงพยาบาลก็ต้องมีญาติมาลงนาม หากไม่มีก็ต้องเอาศพฝัง มันเลยแทบกลายเป็นความผิดหวังจากที่ตั้งใจไว้ว่าจะนำร่างของลุงผินออกมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่ต้องกลายเป็นนำร่างไปฝังแทนหากไม่มีญาติมารับ ขณะนั้น ถือว่ายังโชคดีที่มีคนใจดีทราบเรื่องราวของลุง อยากช่วยส่งลุงสู่สุคติพยายามติดต่อคนช่วยออกค่าใช้จ่ายในการจัดงานให้ ขาดเพียงขอแค่ญาติมาลงนามรับศพลุงไป เลยเป็นที่มาของการค้นหาญาติว่าอยู่แห่งใด ขอได้โปรดมาช่วยรับลุงออกไปจากโรงพยาบาลด้วยเถิด จนในที่สุดก็ได้ทราบที่อยู่ของญาติคุณลุงที่หนองดินแดงนั่นเอง โดยมีคนใจดีช่วยแจ้งให้ญาติทราบความตั้งใจของเหล่าหนุ่มสาวที่เฝ้าดูแลลุงอยู่จนวาระสุดท้าย ว่าต้องการเพียงให้ญาติมาลงนามรับศพออกไป แต่เมื่อญาติของลุงมาลงนามตามเงื่อนไข ก็มีเสียงยืนยันอย่างชัดเจนจากลุงผู้เป็นญาติของลุงผินว่า “ลุงรับไม่ไหวหรอกน่ะ ลำพังลุงก็ต้องทำมาหากินเลี้ยงตัวไปวันๆ จะให้ไปจัดการงานศพคงทำไม่ได้” ทำให้กลุ่มหนุ่มสาวชาวราชภัฏ ยิ่งต้องคิดตระหนักต่อไปว่า นับจากร่างอันไร้วิญญาณของลุงออกจากโรงพยาบาลไปนี้ คือ ภาระ หน้าที่และจิตอาสาของพวกเรา (ซึ่งยังต้องไปเรียนอยู่ทุกวัน) ที่จะต้องมารับบทบาทเป็นญาติของลุงผิน จัดการงานศพของลุงให้ลุล่วงให้ได้ เป้าหมายเพื่อส่งบุญกุศลหนุนนำให้วิญญาณที่ละร่างของคุณลุงไปสู่สุคติ
.......... “จะไว้วัดไหน จะไว้กี่วัน จะเริ่มยังไง ใครจะช่วยเรา ...” คำถามมากมายเกิดขึ้นทั้งในใจและในวงเจรจาของกลุ่มหนุ่มสาวเกือบ 5 ชีวิต จนได้ข้อสรุปว่า “นำลุงไปวัดพระงามกัน พวกเราจะช่วยกันจัดการงานศพลุงเอง ไหนๆ ดูแลกันมาแล้วก็ให้มันถึงที่สุด” ผู้เขียนจนขณะนี้ การจัดการงานศพของลุงผิน ใจทัน ผ่านมาได้ 2 คืนแล้ว เด็กๆ บอกว่า คืนนี้ มีคนมาเยอะ รู้สึกปลื้มใจมาก การสูญเสียชีวิตของลุงมิได้เสียเปล่า ตื้นตันใจที่เห็นผู้คนมากหน้าหลายตาที่รับรู้ข่าว ต่างไม่ใช่ญาติพี่น้องของลุงผิน แต่เป็นญาติธรรมผู้ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนมีน้ำใจงดงาม มาร่วมฟังสวดพระอภิธรรม บ้างมาไม่ได้ก็แจ้งขอร่วมบุญผ่านทางเฟสบุ๊ค บ้างมาได้ก็ร่วมด้วยช่วยกันน่าชื่นใจ ทั้งพระสงฆ์ ครูอาจารย์ ญาติมิตรพี่น้อง เพื่อนพ้องของเหล่านักศึกษาเอง และคนที่รู้จักลุงผิน เมื่อได้ยินข่าวก็มากัน แม้ไม่มากล้นศาลา(เล็กๆ) แต่ก็มากพอที่จะทำให้กลุ่มหนุ่มสาวกลุ่มนี้ที่มีจิตอาสาช่วยจัดการชีวิตลุงทั้งก่อนตายและหลังตาย ได้มีกำลังใจก้าวไปในเส้นทางความดีนี้ต่อ อย่างน้อยก็จนวันสุดท้ายที่ร่างกายอันปราศจากวิญญาณของลุงจะถูกเผาไปตามกำหนดหมายวันอาทิตย์ที่ 20 เวลา 15.30 น. ณ ฌาปนสถานวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร
..........ที่เล่ามาทั้งหมด สรุปว่า ชีวิตคนเราทุกคน ไม่ว่าอยู่ในบ้านหรือไม่มีบ้านอยู่ ล้วนมีความตายเป็นที่สุด หนีไม่พ้นแม้แต่คนเดียว และที่สำคัญห้วงเวลาแห่งการมีชีวิตอยู่ เราอยู่อย่างไรและเราได้ทำอะไรให้โลกดู นี่คือสิ่งน่าคิด กลุ่มนักศึกษาหนุ่มสาวชาวราชภัฏนครปฐมกลุ่มนี้ นำโดยนางสาวภิญญารัตน์ จันทะคัด คืออีกแบบอย่างชีวิต ที่ไม่คิดแต่เพียงอยู่เสวยหรือแสวงหาสุขส่วนตนเองเท่านั้น ยามที่เห็นชีวิตอื่นเดือดร้อนหรือลำบาก การหยิบยื่นโอกาสแห่งการเป็นผู้ให้กับตนเองนับเป็นสิ่งมีค่ามหาศาล เพราะนั่นคือการสืบสานปณิธานความดีทั้งที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอน ทั้งที่พระผู้เป็นพ่อแห่งแผ่นดินทรงเป็นแบบอย่างให้ ทั้งที่พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดได้เป็นต้นแบบแห่งการให้อะไรมากมายแก่เรา การให้ จึงเป็นบารมีธรรมที่ส่งเสริมการเข้าถึงอริยธรรม เป็นจริยธรรมที่ส่งเสริมความมีวัฒนธรรม เป็นหลักธรรมที่นำมาซึ่งความสุขและความรัก เชื่อมสมานหัวใจของผู้คนจากมิใช่ญาติให้สนิทยิ่งกว่าญาติ จากที่ไม่ใช่มิตรกลับเป็นยิ่งกว่ามิตร กลุ่มหนุ่มสาวเหล่านั้น คือ ผู้สร้างพลังเชิงบวกให้สังคม สร้างภาพที่งดงามให้โลกใบนี้น่าอยู่ สร้างกระแสแห่งน้ำใจให้ผืนแผ่นดินนี้ชุ่มฉ่ำ ควรค่าแก่การยกย่องชื่นชมให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ดีของสังคมตลอดไป การจากไปของลุงผินครั้งนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า ลุงผินจากไป ไม่ผ่านไป “เสียเปล่า” แน่นอน
..........จึงขอคารวะในน้ำใจอันสูงส่ง และขออวยพรให้การดำเนินการส่งลุงผินสู่สุคติผ่านไปด้วยดี อีกทั้งขอจงโปรดรักษาความดีนี้ไว้ตราบนานเท่านาน เพราะในโลกใบนี้ยังต้องการคนดีมีน้ำใจ มีจิตอาสามาเป็นพลังเชิงบวกอีกเกินคณา และขออนุโมทนาสาธุการกับทุกท่านที่มีส่วนร่วมด้วยช่วยกันในกาลครั้งนี้ด้วย (เด็กๆ ฝากขอบพระคุณพี่ตี๋ ชมรมสองล้อใจบุญ เกื้อหนุนผู้ยากไร้ ซึ่งเป็นคนช่วยออกค่าใช้จ่ายในงานทั้งหมดมาด้วยนะครับ ...สาธุ สาธุ สาธุ) ท้ายสุดนี้ขอให้โลกใบนี้จงมีสันติสุขด้วยพลังแห่งความดีตลอดไปเทอญฯ
*ขอขอขอบคุณข้อมูลเรื่องราวนี้จาก...บุคคลต้นเรื่อง....นางสาวภิญญารัตน์ จันทะคัด นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
น้ำใจของเด็กสาวชาวร้อยเอ็ดคนหนึ่ง ส่งต่อความดีงามไปสู่เพื่อนๆนักศึกษาและสังคมนครปฐม เธอทำความดีมาหลายปี เพราะเชื่อมั่นในคุณค่าของความดี แม้เธอจะยากจน แต่เธอมีน้ำใจอันยิ่งใหญ่ เธอช่วยคุณตาผู้ยากไร้และไร้บ้านจนวาระสุดท้ายของชีวิตคุณตา เธอและเพื่อนๆช่วยจัดงานศพให้ อนุโมทนาสาธุกับเธอนะคะ อนุโมทนาสาธุค่ะ ทุกคน
น่าชื่มชมกลุ่มเด็กเขานะครับ จากความตั้งใจและศรัทธาที่จะทำเพื่อคนๆหนึ่งถึงแม่เขาจะจากไปแล้วแต่ความทรงจำดีๆๆของชีวิตจะตรึงใจเราไปอีกนาน สังคมต้องการคนอย่างหนูๆ นะครับ ทำความดีอย่าท้อแท้นะ เทวดาท่านรับทราบอยู่เสมอ.
ขอชื่นชมจริงๆ ทุกวันนี้หาเยาวชนแบบนี้ยาก
ขอจงเป็นแบบอย่างแห่งความดีตลอดไป
ขอชื่นชมการทำความดีของนักศึกษา
เสียดายไม่ทราบข่าว
ขอบคุณอาจารย์และน้องนางสาวภิญญารัตน์ จันทะคัด มากครับ
ที่ทำเรื่องดีๆ