เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง : ๒๕. ย้อนอดีตสู่อนาคต



บันทึกชุด “เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ๒๖ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Transformative Learning in Practice : Insight from Community, Workplace, and Higher Education เขียนโดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor and Associates ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2009

ภาค ๕ ของหนังสือ เป็นเรื่องการทบทวนสะท้อนคิด มีบทเดียวคือบทที่ ๒๔

ตอนที่ ๒๕ นี้ ได้จากการตีความบทที่ 24 Looking Forward by Looking Back : Reflection on the Practice of Transformative Learning เขียนโดย Edward W. Taylor และ Jodi Jarecke

สรุปได้ว่า การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงใช้ได้ผลในหลากหลายบริบท หลากหลายลักษณะของผู้เรียน และหลากหลายประเด็นของการเรียนรู้ โดยมีลักษณะร่วมของการบรรลุ คือหลุดพ้นจากพันธนาการเดิมๆ ในชีวิต

เป็นบทใคร่ครวญสะท้อนคิดจากการอ่านบทก่อนหน้าในหนังสือเล่มนี้ทั้งหมด ซึ่งมีการนำเอาการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงไปใช้ในหลากหลายบริบท หลากหลายกลุ่มบุคคล หลากหลายเป้าหมาย และหลากหลายวิธีการ รวมทั้งใช้ใน e-Learning ผู้เขียนบอกว่า แม้ การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงมีธรรมชาติ “จำเพาะบริบท” (context-specific) แต่ก็สามารถสรุปลักษณะร่วม ได้ ๖ ประการตามหัวข้อต่อไปนี้


เป็นกระบวนการที่มีเป้าหมายและเรียนรู้จากการปฏิบัติ

เป้าหมายดังกล่าวมีสองชั้น คือเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลง กับเป้าหมายที่ทักษะของการเรียนรู้ แบบใหม่ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ในลักษณะที่เกิดการ “ผุดบังเกิด” หรือหลุดจากพันธนาการของความคิด เดิมๆ ที่เรียกว่าออกจากเปลือกไข่ (tostan) การเรียนรู้แบบนี้ เป็นการเรียนรู้ที่ลึก ที่มีการเอื้ออำนาจส่วนบุคคล หรือทางสังคม

เป้าหมายที่สำคัญคือ ไม่ใช่เรียนเพื่อรู้ หรือเข้าใจ แต่เป็นการเรียนเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง และ เปลี่ยนแปลงเพื่อนร่วมเรียนในกลุ่ม

ไม่ใช่เรียนเพื่อให้เข้าใจตามที่ตำราบอก หรือตามกระแสสังคม แต่เรียนเพื่อให้เกิดสำนึกรู้ หรือเข้าใจความหมายใหม่ ตามที่เกิดขึ้นจากภายในตนเอง จากการปฏิบัติและใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง ทั้งโดยตนเอง และโดยการเสวนากลุ่ม โดยมี “คุณอำนวย” ช่วยสร้างกระบวนการและเอื้ออำนวยบรรยากาศ ที่เป็นอิสระ โดยเครื่องมือสำคัญตัวหนึ่งคือ CMM (Coordinated Management of Meaning)

การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) เป็นสิ่งที่บันดาล หรือกำหนดวิธีการสร้าง ให้เกิดไม่ได้ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนเอง แต่ “คุณอำนวย” ก็ต้องเตรียมตัวและวางแผนมาก ในการสร้างโอกาสให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายที่กำหนด หัวใจคือ heuristic ซึ่งหมายถึงวิธีการกระตุ้นให้ผู้เรียน ค้นคว้าด้วยตนเอง และบรรลุความรู้ความเข้าใจด้วยปัญญาญาณ (intuition) การเดาอย่างมีหลักการ (educated guess) และสามัญสำนึก (common sense)

การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา ค่อยๆ สั่งสม แต่ไม่ใช่กระบวนการป้อนความรู้ และไม่เป็นขั้นตอน ในทางตรงกันข้าม เป็นกระบวนการที่กลุ่มผู้เรียนมีเป้าหมายร่วมกัน เข้าสู่กระบวนการ ค้นหาผ่านการปฏิบัติและใคร่ครวญไตร่ตรองทำความเข้าใจร่วมกัน ในบรรยากาศของความเคารพและไว้เนื้อ เชื่อใจต่อกันและกัน ร่วมกันเรียนรู้อย่างอดทนผ่านสภาพของความขัดแย้ง ความสับสน หรือความไม่ชัดเจน จนในที่สุด บรรลุการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง


เผชิญหน้าอำนาจและยอมรับความแตกต่าง

สภาพความเป็นจริงอย่างหนึ่งในชีวิตของคนเรา คือเราตกอยู่ภายใต้อำนาจกดทับในหลากหลายมิติ และมิติที่สำคัญในเรื่องการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงคือ อำนาจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง

วัฒนธรรมกระแสหลักในสังคมหนึ่งๆ มีแนวโน้มจะกดทับวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มด้อย (ได้แก่ประเด็น เชื้อชาติ วัฒนธรรม เพศ ชนชั้น เพศสภาพ และผมเติมศาสนา และภูมิลำเนา ด้วย) และหลายๆ ประเด็น เป็นเรื่องที่ “เขาไม่พูดกัน” คือยอมรับอย่างไม่กล้าตั้งข้อสงสัย สภาพดังกล่าวเป็นอุปสรรค ต่อการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง

เนื่องจาก “การตั้งคำถามอย่างจริงจัง” (critical inquiry) เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของการเรียนรู้ สู่การเปลี่ยนแปลง จะตั้งคำถามอย่างจริงจังได้ ต้องมีบรรยากาศของอิสรภาพ กล้าที่จะพูดจากใจ กล้าที่จะท้าทายความคิดความเชื่อเก่าๆ (ท้าทายอย่างสุภาพ และด้วยความเคารพ) และหากบรรยากาศ ของการเรียนรู้นั้น มีการรับฟัง และยอมรับความแตกต่าง โอกาสที่จะบรรลุการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ก็จะง่ายขึ้น

ที่กล่าวข้างบน เป็นทฤษฎี แต่ในความเป็นจริง มี “พลวัตอำนาจ” (power dynamics) อยู่รอบๆ ตัวเรา เป็นอำนาจแห่งการกดทับ จึงเป็นหน้าที่ของ “คุณอำนวย” ที่จะสร้างสภาพบรรยากาศใหม่ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ สู่การเปลี่ยนแปลง

วิธีหลีกเลี่ยงอำนาจกดทับนั้น ที่ได้ผลมากอย่างหนึ่ง คือใช้เรื่องเล่าเร้าพลัง (storytelling) ที่เป็นเรื่องจริง ที่เกิดขึ้นกับตน เล่าเหตุการณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้น โดยไม่ตัดสิน เปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมกลุ่มช่วยกัน ใคร่ครวญไตร่ตรองตีความ ทำความเข้าใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจจากเรื่องราวที่เล่า เพื่อจะร่วมกันหาทาง หลุดพ้นจากกรอบอำนาจนั้น ซึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ และการปฏิบัติ เกี่ยวกับอำนาจกดทับในสังคม


เป็นกระบวนการแห่งจินตนาการ

การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงตามแนวทางของ Mezirow ได้รับคำวิพากษ์ว่ามีจุดอ่อนที่อยู่บนฐาน ของเหตุผลมากเกินไป โดยที่จริงๆ แล้วการเรียนรู้ไม่ได้มีเฉพาะมิติด้านความคิดหรือเหตุผล (cognition) และการเรียนรู้ที่ไม่ใช่กระแสหลัก เน้นที่มิติด้านอารมณ์และจิตวิญญาณ ซึ่งหมายความว่า สื่อเพื่อการเรียนรู้ สู่การเปลี่ยนแปลง ต้องมีเรื่อง ภาพฝัน (image) สัญญลักษณ์ พิธีกรรม ความเพ้อฝัน และจินตนาการ ด้วย โดยผมขอเติม ความฝันหรือเจตจำนง หรือแรงบันดาลใจ เป็นสื่อของการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงด้วย

จะเห็นว่า การยึดติดอยู่กับการเรียนรู้ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำที่แสดงข้อมูลและเหตุผลเท่านั้น เป็นตัวอุปสรรคที่ปิดกั้นการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้แบบคับแคบนี้ มักเน้นความรู้สำเร็จรูป ที่มีผู้กำหนดไว้แล้วอย่างตายตัว ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งของการปิดกั้นการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง

นำไปสู่การทำความเข้าใจเรื่อง “การเรียนรู้” ในอีกมิติหนึ่ง ที่แตกต่างจากที่เราคุ้นเคย ว่าเป็น กระบวนการที่ผู้เรียนเอาตัวเข้าไปสัมผัสสภาพนั้นๆ ในชีวิตจริง สัมผัส “ชีวิตในรูปแบบใหม่” (new way of being) และตีความอธิบายออกมาเป็นถ้อยคำ จนในที่สุดเกิดตัวตนใหม่

เครื่องมือที่เอ่ยถึงในหนังสือได้แก่ ภาพต่อ (pictorial collage), เรื่องเล่า (เล่าเป็นคำพูด หรือเป็นบันทึกความในใจ ก็ได้), การแสดงบทบาทจำลอง (role play), การแสดงละคร (theatre), และกิจกรรมผ่อนคลายในรูปแบบต่างๆ (ศิลปะ, การเขียนเชิงสร้าสรรค์, ดนตรี, และการเคลื่อนไหวร่างกาย) ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ผ่านช่องทางใหม่ๆ ได้แก่ ผ่านทางหัวใจ วิญญาณ อารมณ์ ร่างกาย และปฏิสัมพันธ์ กับผู้อื่น

ผมขอเพิ่มเติมว่า กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ในมิติใหม่นั้น ต้องตามด้วยการร่วมกันตีความหาความหมาย โดยการใคร่ครวญสะท้อนคิด (critical reflection) ร่วมกันอย่างลึกซึ้ง


นำผู้เรียนรู้สู่ชายขอบ

ตามปกติ หลักการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงเน้นบรรยากาศที่คนรู้สึกปลอดภัย เป็นอิสระ ที่จะสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดที่มาจากใจของตน แต่ก็มีอีกแนวหนึ่งของการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ที่เป็นบรรยากาศตรงกันข้าม คือผู้เรียนรู้ถูกผลักไปจนสุดขอบของ “พื้นที่ปลอดภัย” (comfort zone) เพื่อเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ที่ตนไม่คุ้นเคย

แนวทางเช่นนี้ “คุณอำนวย” ต้องมีความเจนจัดมาก และพร้อมที่จะเผชิญสภาพของความปั่นป่วน ในวงเรียนรู้ ที่ผู้เรียนบางคนรู้สึกว่าถูกท้าทายหรือถูกลบหลู่ และเกิดการต่อต้าน

แต่นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อความเชื่อเดิมๆ ของตนถูกท้าทาย คนเราย่อมเกิดความสับสน ความอึดอัด และต่อต้าน ดังนั้น “คุณอำนวย” ต้องมีศาสตร์และศิลป์ ในการผลักนักศึกษาไปสู่ขอบของ ความเคยชิน หรือความเชื่อเดิมของตน โดยที่ไม่สูญเสียสมดุลของบรรยากาศการเรียนรู้ ณ ขอบฟ้านั้น เมื่อมีพลังของการไตร่ตรองใคร่ครวญสะท้อนคิด มาผลักออกไปอีกเพียงเล็กน้อย ผู้เรียนก็หลุดสู่ การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ หรือเกิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง

เครื่องมือที่ช่วยให้ผู้เรียนดำรงสมดุลอยู่ได้ ณ จุดชายขอบ มีหลายอย่าง เช่น การฝึกปฏิบัติ ด้านจิตวิญญาณ การมีความผูกพันกับสิ่งที่ทรงพลัง รวมทั้ง การฟัง


เป็นเครื่องมือฝึกฝนการใคร่ครวญสะท้อนคิด

ตลอดทั้งเล่มของหนังสือเล่มนี้ ยกการไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection) เป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อเชื่อมโยง เนื้อหาวิชา เข้ากับประสบการณ์ชีวิตของตน และเข้ากับความรู้เดิมของตน การไตร่ตรองสะท้อนคิดที่มีพลังยิ่งกว่า คือการไตร่ตรองสะท้อนคิดอย่างยิ่งยวด (critical reflection) คือมีการตั้งคำถามที่ท้าทายความคิดความเชื่อเดิมของตน ที่อาจก่อความรู้สึกไม่สบายใจหรือขัดแย้ง

การใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างยิ่งยวด จะมีพลังต่อเมื่อมีการปฏิบัติหรือการทำกิจกรรมร่วมกันมาก่อน หรือมีการสานเสวนามาก่อน การศึกษาหรือการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการไตร่ตรองสะท้อนคิดคือการเรียนเป็นกลุ่ม ทำงานหรือทำกิจกรรมร่วมกัน มีการเขียนบันทึกการเรียนรู้หรือความในใจ มีกิจกรรมเชิงศิลปะ รวมทั้งสุนทรียสนทนา

เขาบอกว่าการเรียนรู้ผ่านการไตร่ตรองสะท้อนคิดนี้ ยังมีลู่ทางทำวิจัยได้อีกมาก


เรียนและสอนโดยสร้างรูปแบบ

การสร้างรูปแบบ (modeling) เป็นวิธีการที่ครูใช้ ทั้งในการทำเป็นตัวอย่างแก่ศิษย์ และในขณะเดียวกัน ใช้ในการเรียนรู้ของตัวครูเองด้วย เพื่อบรรลุเป้าหมาย “การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” การสร้างรูปแบบ ช่วยให้ศิษย์ได้สัมผัสสิ่งที่เป็นรูปธรรม

เนื่องจากการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง เน้นการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ โดยใช้เครื่องมือที่หลากหลาย ก่อนที่อาจารย์จะให้นักศึกษาปฏิบัติ ตนเองต้องปฏิบัติได้เสียก่อน นั่นคือการสร้างรูปแบบของอาจารย์ โดยนัยนี้ อาจารย์จึงสร้างเครื่องมือขึ้นใช้เพื่อปฏิบัติให้ได้ผลดี เช่นเพื่อให้ทำ “การไตร่ตรองสะท้อนคิดอย่างยิ่งยวด” (critical reflection) ได้ อาจารย์คิดเครื่องมือ critical incident questionnaire ขึ้นใช้ ผู้เขียนท่านอื่นไม่ใช่แค่มอง การสร้างรูปแบบ เป็นเครื่องมือของการเรียนรู้ แต่มองเป็นเครื่องมือของการดำรงชีวิตอยู่ในโลกด้วยซ้ำ

การสร้างรูปแบบไม่เพียงช่วยให้นักศึกษาได้เฝ้าสังเกตอาจารย์ปฏิบัติ แต่ยังช่วยให้นักศึกษา เชื่อมโยงทฤษฎีกับปฏิบัติเข้าด้วยกัน

แต่การสร้างรูปแบบก็อาจมีผลลบด้วย คืออาจทำให้นักศึกษาเกิดความไม่สบายใจ และความไม่แน่ใจ

อาจารย์ไม่สามารถสอนโดยไม่สร้างรูปแบบ จุดสำคัญคือรูปแบบของอาจารย์สะท้อนอะไร ตรงกับความคาดหวังของนักศึกษาในการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงหรือไม่

รูปแบบที่สำคัญคือ การฟังอย่างเคารพ ทั้งด้วยท่าที และด้วยถ้อยคำ ครูสามารถสร้างบรรยากาศ ของการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงได้ และหากอาจารย์ปฏิบัติไปในทางตรงกันข้าม ก็อาจเกิดบรรยกาศ ของการกดขี่ และทำให้ผู้เรียนเงียบงัน

รูปแบบที่สำคัญคือ ความถ่อมตัวอย่างยิ่งยวด (critical humility) ซึ่งหมายถึงการเปิดใจว่าความรู้ เป็นสิ่งที่ครึ่งๆ กลางๆ ไม่สมบูรณ์ และมีวิวัฒนาการ แม้เราจะมีความมั่นใจและใช้ความรู้นั้นในการปฏิบัติ คือมีทั้งความมั่นใจและไม่มั่นใจในความรู้ที่มีอยู่ในเวลาเดียวกัน


สรุป

การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน และมีส่วนที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจอีกมาก ส่วนที่กล่าวมาแล้วในหนังสือเล่มนี้ยังเป็นเพียงส่วนผิว จุดที่ควรทำความเข้าใจต่อไปอีกมีมากมาย เช่น วิธีผลักผู้เรียนไปที่ขอบของการเรียนรู้ จะจัดการเรียนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ในการเรียนที่มีเป้าหมาย ชัดเจนได้อย่างไร ในการเรียนที่มีเป้าหมายชัดเจน ครูและนักเรียนจะดำเนินความเท่าเทียมกัน และสมดุลแห่งพลังอำนาจระหว่างกันได้อย่างไร เป็นต้น


วิจารณ์ พานิช

๙ มี.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 594212เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2015 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2015 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ในงานบังคับการตามสิทธิทางกฎหมาย การสร้างพื้นที่การจัดการความรู้แบบนี้ดูจะยากมาก การเปิดพื้นที่ก็อาจต้องใช้อำนาจ และการหารือก็ต้องใช้ตรรกวิทยาทางกฎหมายที่หนักหนา และปฏิเสธไม่ได้ ไม่สรุป ไม่กดดัน เจ้าของปัญหาก็จะถูกละเมิดสิทธิต่อไป เข้าไม่ถึงสิทธิต่อไป ...... บ่นค่ะ อ่านแล้วอยากทำ แต่ก็ทำไม่ค่อยได้ อย่างที่เคยเห





พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท