150 ปีเมืองมหาสารคาม : อีกหนึ่งผลพวงงานวิชาการรับใช้สังคม (หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน)


เกิดการบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้กับกิจกรรมนอกชั้นเรียนของนิสิตจากชมรม "ชมรมกาแฟถึก" ในสังกัดสโมสรนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ ภายใต้ชื่อโครงการ “หนึ่งชมรมหนึ่งชุมชน” ถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบการบูรณาการการเรียนรู้ระหว่างกิจกรรมในหลักสูตรและกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ลงตัว นิสิตสามารถจัดทำ "แผนที่อาหาร" ในย่านเทศบาลเมืองมหาสารคามควบคู่ไปกับการสะท้อนข้อมูลอันเป็น "พื้นที่อาคารเก่า" (อาคารไม้-อาคารดิน) ที่ควรค่าต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟู

โครงการวิจัยเรื่อง “สร้างอัตลักษณ์ด้านประวัติศาสตร์ย่านเมืองเก่าของเทศบาลเมืองมหาสารคามโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม" เป็นงานวิชาการรับใช้สังคมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งดำเนินการในปีงบประมาณ 2557 โดยต่อยอดมาจากโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน (งานบริการวิชาการแก่สังคม) เมื่อปีงบประมาณ 2556 ในชื่อ โครงการ “ส่งเสริมอัตลักษณ์ของเมืองด้วยอุปกรณ์ประกอบถนนเทศบาลเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม”

ผลของการเรียนรู้คู่บริการพบว่า กระบวนการค้นหาและสร้างอัตลักษณ์ จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากคนทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องอันจะนำมาซึ่งการสร้างสำนึกร่วมกันทางด้านประวัติศาสตร์เมืองมหาสารคาม โดยทางชุมชนเมืองร่วมกับภาคประชาสังคมต่างมีพร้อมที่จะให้ความร่วมมือและเข้ามามีส่วนร่วมกับการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง จึงมีข้อเสนอให้มีการดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “การสร้างอัตลักษณ์ด้านประวัติศาสตร์ย่านเมืองเก่าของเทศบาลเมืองมหาสารคาม โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมเมืองมหาสารคาม” ขึ้น ซึ่งครอบคลุมพื้นที่การศึกษาย่านเมืองเก่าเทศบาลเมืองมหาสารคาม จำนวน 10 ชุมชน



ภาพรวมกิจกรรม

การขับเคลื่อนงานวิจัยมุ่งการดำเนินงานตามหลักคิดของการเรียนรู้คู่บริการ และการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ผ่านระบบและกลไกอันเป็นเครื่องมือสำคัญๆ ทั้งการสัมภาษณ์ สำรวจ ประชุม-เสวนา (โสเหล่) การทำแผนที่วัฒนธรรม การทำเส้นเวลาประวัติศาสตร์ (timeline) การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ทุกกระบวนการเน้นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเป็นหัวใจหลัก ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ ดังนี้

  • เวทีเสวนา (โสเหล่) สืบค้นเรื่องราวเมืองมหาสารคาม
  • การวาดภาพจากเรื่องเล่าและความทรงจำเมืองมหาสารคาม
  • การแสดงภาพถ่ายเมืองมหาสารคาม
  • การเขียนเรื่องเล่าและความทรงจำเมืองมหาสารคาม
  • การจัดนิทรรศการแสดงผลงาน-สะท้อนข้อมูลเมืองมหาสารคาม



ภาพรวมการขับเคลื่อนมีจุดน่าสนใจหลายประเด็น เช่น การทำงานร่วมกับ "ภาคประชาชน" อย่างกว้างขวางและมีพลังอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับเครือข่ายกลุ่ม "ฮักแพงเบิ่งแญงคนสารคาม" และเครือข่ายอื่นๆ เช่น เทศบาลเมืองมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม สภาวัฒนธรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด เด็กและเยาวชนที่ประกอบด้วยแกนหลักจากโรงเรียนผดุงนารี โรงเรียนสารคามพิทยาคม และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จนในที่สุดเกิดการรวมกลุ่มในชื่อ "New Generation ฮักแพงเบิ่งแญงเมืองมหาสารคาม"

การผนึกกำลังเรียนรู้ร่วมกันอย่างหลากหลายเช่นนี้ ก่อเกิดมรรคผลให้ได้ข้อมูลคืนกลับมาอย่างหลากหลายมุมมอง ทำให้รับรู้ว่าผู้คนจากเมืองมหาสารคามและจากต่างเมืองมองความเป็นเมืองมหาสารคามอย่างไรกันบ้าง




การเกิดประโยชน์ร่วมกันแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

1.ระดับมหาวิทยาลัย

1.1 เกิดการบูรณางานวิจัยร่วมกับภารกิจด้านการบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน (เรียนรู้คู่บริการ) ดังนี้

1.1.1 งานบริการวิชาการแก่สังคม (โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน) ได้แก่ โครงการแนวทางการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม เพื่อส่งเสริมการรับรู้อัตลักษณ์เทศบาลเมืองมหาสารคาม (สาขาสถาปัตยกรรมเมืองและชุมชน) โครงการออกแบบและพัฒนาเรขศิลป์เพื่ออัตลักษณ์เมือง กรณีศึกษาเทศบาลเมืองมหาสารคาม (สาขานฤมิตศิลป์) โครงการแนวทางการจัดภูมิสถาปัตยกรรมในชุมชนเมือง และพื้นที่กิจกรรม ลานบ้านลานเมือง เพื่อส่งเสริมการรับรู้อัลักษณ์เทศบาลเมือง

1.1.2 งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (โครงการหนึ่งคณะหนึ่งศิลปวัฒนธรรม,โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งวัฒนธรรม) ได้แก่ โครงการเผยแพร่ภูมิทัศน์และสถาปัตยกรรมชุมชนเมืองด้วยภาพถ่ายจากอากาศยาน เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชนเมืองมหาสารคาม (สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์) โครงการแนวทางการศึกษาภูมิทัศน์วัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์เทศบาลเมืองมหาสารคาม (สาขาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์) โครงการการศึกษาภูมิปัญญางานหัตถกรรมท้องถิ่นเพื่อออกแบบและพัฒนาของที่ระลึกส่งเสริมอัตลักษณ์จังหวัดมหาสารคาม (สาขานฤมิตศิลป์)


1.2 เกิดการบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้กับกิจกรรมนอกชั้นเรียนของนิสิตจากชมรม "ชมรมกาแฟถึก" ในสังกัดสโมสรนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ ภายใต้ชื่อโครงการ “หนึ่งชมรมหนึ่งชุมชน” ถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบการบูรณาการการเรียนรู้ระหว่างกิจกรรมในหลักสูตรและกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ลงตัว นิสิตสามารถจัดทำ "แผนที่อาหาร" ในย่านเทศบาลเมืองมหาสารคามควบคู่ไปกับการสะท้อนข้อมูลอันเป็น "พื้นที่อาคารเก่า" (อาคารไม้-อาคารดิน) ที่ควรค่าต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟู

1.3 เกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะอัตลักษณ์ความเป็นนิสิต (ผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ด้วยการนำองค์ความรู้ไปสู่การบริการสังคม โดยมีอาจารย์และปราชญ์ชาวบ้าน หรือชุมชนเป็นครูและห้องเรียนสู่การเรียนรู้ความเป็นวิชาชีพและวิชาคน

1.4 เกิดพื้นที่การศึกษาวิจัยและการฝึกประสบการณ์ด้านวิชาชีพของนิสิตบนฐานวัฒนธรรม เสมือนกระบวนการ “ลูกฮัก” ในชุมชน



2.ระดับชุมชน และภาคีเครือข่าย

2.1 เกิดกระบวนการชำระประวัติศาสตร์เมืองมหาสารคามแบบมีส่วนร่วมในอีกวาระหนึ่ง จนนำมาสู่วาทกรรม หรือแผนพัฒนาจังหวัด “นำฮอย 150 ปีเมืองมหาสารคาม”

2.2 เกิดกระแสการตื่นตัวว่าด้วยการรับรู้ “ตัวตนความเป็นเมืองมหาสารคาม” ในมิติต่างๆ ทั้งที่เป็นสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ฯลฯ

2.3 เกิดชุดความรู้และข้อมูลที่เป็นปัจจุบันผ่านการรับรู้ของภาคส่วนต่างๆ อย่างหลากหลายมิติ เช่น

2.3.1 การรับรู้พื้นที่เชิงอัตลักษณ์ในระดับจังหวัด คือความเป็นตักสิลานคร พระธาตุนาดูน
ปูทูลกระหม่อม ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง

2.3.2 การรับรู้พื้นที่เชิงอัตลักษณ์ในระดับเทศบาล คือ หอนาฬิกา พระพุทธกันทรวิชัย กุดนางใย คลองสมถวิล สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ แก่งเลิงจาน

2.3.3 การรับรู้พื้นที่เชิงอัตลักษณ์ในชุมชนตลาดเก่า/เมืองเก่า เช่น บ้านดิน บ้านไม้ งานงิ้ว

2.4 เกิดการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชนกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดในชื่อ “"New Generation ฮักแพงเบิ่งแญงเมืองมหาสารคาม"

2.5 เกิดคลังข้อมูลหลากรูปแบบในเชิงสาธารณะ ทั้งที่เป็นภาพถ่าย เรื่องเล่า นิทรรศการ หนังสือ ระบบสารสนเทศ ผลิตภัณฑ์




การเกิดการเรียนรู้ร่วมกันและเกิดผลงานวิชาการ

1.เกิดการพัฒนาร่วมกันทุกระบบในจังหวัดเนื่องในวาระ “นำฮอย 150 เมืองมหาสารคาม” ผ่านกิจกรรมและโครงการอย่างหลากหลาย เช่น คนดีเมืองมาสารคาม ของดีเมืองมหาสารคาม สถานที่สำคัญในเมืองมหาสารคาม ประเพณีและวัฒนธรรมในเมืองมหาสารคาม

2.เกิดหนังสือเรื่องเล่าในชื่อ “365 วัน 365 เรื่องเมืองมหาสารคาม : เรียงร้อยเรื่องราว เพื่อความรู้และความรัก”

3.เกิดนิทรรศการเคลื่อนที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ ความทรงจำ เมืองมหาสารคามในชื่อ “๑๕๐ ปีเมืองมหาสารคาม : วันเวลาเมืองนี้ยังช้าอยู่”

4.หนังสือสารคดี/คลิปวีดีทัศน์ “ของดี 150 เมืองมหาสารคาม”

5.จดหมายข่าว มมส งานวิชาการรับใช้สังคมในชื่อ “มมส : สืบฮอยตา วาฮอยปู่ 150 ปีเมืองมหาสารคาม”

6.เกิดเวทีสัมมนาวิชาการว่าด้วยเรื่องราว “150 ปีเมืองมหาสารคาม”

7.เกิดแผ่นพับ “ชวนเบิ่งเมืองเก่า เลาะหาแนวกิน” (Street Cluture) ที่ประกอบด้วยถนนวัฒนธรรม ถนนโบราณ ถนนอาหารอร่อย และถนนที่กำลังจะสูญสลายไป



การเกิดผลกระทบกับสังคมที่ประเมินได้

1.ผลพวงของการเรียนรู้คู่บริการในแบบบูรณาการโครงการวิจัยเรื่อง “สร้างอัตลักษณ์ด้านประวัติศาสตร์ย่านเมืองเก่าของเทศบาลเมืองมหาสารคามโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม" ร่วมกับภารกิจด้านการเรียนการสอน การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ก่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวในวงกว้างเกี่ยวกับการรับรู้ “ตัวตนเมืองมหาสารคาม” จนกลายเป็นวาระ หรือ “แผนยุทธศาสตร์ในระดับจังหวัด” เนื่องในวาระ 150 เมืองมหาสารคาม ซึ่งมีการกระตุ้นเตือน และกำหนดให้แต่ละหน่วยงาน หรือแต่ละภาคส่วนจัดกิจกรรมรองรับวาระอันทรงเกียรติของจังหวัดร่วมกัน

2.เกิดการบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้ของนิสิตผ่านประเพณีนิยมในสถานศึกษา เช่น โครงการลอยกระทงภายใต้ชื่องาน"เอ้กระทงสมมาแม่นที ร่วมฉลอง 150 ปี เมืองมหาสารคาม มอลุ่มน้ำชีสืบตำนานคืนเดือนเพ็ญ”

3.เกิดพิธีเททองพระกันทรวิชัย รุ่นพิเศษ 150 ปี มหาสารคาม เพื่อสนับสนุนการบูรณะองค์พระธาตุนาดูน การจัดตั้งมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยจังหวัดมหาสารคาม

4.เกิดนโยบายเชิงรุกว่าด้วยการสืบค้นสิ่งดีงามเพื่อการเชิดชูในระดับจังหวัด เช่น คนดี 150 เมืองมหาสารคาม ของดี 150 ปีเมืองมหาสารคาม



หมายเหตุ

ต้นเรื่อง : อาจารย์เมธี พิริยการนนท์
เรียบเรียง : พนัส ปรีวาสนา
ภาพ : ทีมหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน นิสิตคณะสถาปัตย์กรรมศาสตร์ ณรงค์ฤทธิ์ ยืนยง

เครดิตภาพและศึกษาเพิ่มเติม :https://www.facebook.com/groups/580395168661514/ (new generation#ฮักแพงเบิ่งแยงเมืองมหาสารคาม)

และhttps://www.facebook.com/NaHxy150MeuxngMhasarkham (นำฮอย ๑๕๐ ปีเมืองมหาสารคาม)..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/585765


หมายเลขบันทึก: 593214เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2015 08:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2015 08:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มีนวัตกรรมเกิดใหม่ในวงการวิจัย

ที่นิสิตและชุมชนมีส่วนร่วม

ให้รู้อัตลักษณ์ของมหาสารคาม

ขอบคุณมากครับสำหรับบันทึกดีๆ

ขอบคุณ อ.ขจิต ฝอยทอง มากๆ ครับ

บันทึกนี้ ไม่มีอะไรมากครับ เขียนขึ้นเพื่อสังเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดจากงานวิชาการรับใช้สังคมที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ขับเคลื่อนผ่านหลักคิด "เรียนรู้คู่บริการ" ...

ซึ่งก็น่ายินดีครับ เกิดมิติที่น่าสนใจทั้งการเรียน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงแบบมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคประชาสังคม และเดือนนี้แหละครับที่เป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลอง 150 ปีเมืองมหาสารคาม

ที่ผมสนใจมากจนอดที่จะหยิบจับมาเขียนย้อนหลังไม่ได้เลยก็คือการขับเคลื่อนของนิสิต "ชมรมกาแฟถึก" นั่นแหละครับ งบประมาณน้อยนิด แต่ทำงานได้อย่างอลังการมากๆ

ผลงานของนิสิต ได้จุดกระแสการตื่นตัวและการรับรู้ของชุมชนได้ค่อนข้างดี แม้กระทั่งในเวทีงานงิ้วประจำปี ก็ได้มีเวทีพูดถึงเรื่องราวเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม ....ก่อนจะขยายวงมาสู่มหกรรมใหญ่ในงานกาชาดปีที่ผ่านมา นั่นเอง...








ขอบพระคุณครับ พี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

การงานในครั้งนี้ คือจุดยืนการศึกษารับใช้สังคมในนิยามของ "มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" ซึ่งบูรณาการผ่านภารกิจหลัก 4 ประการของมหาวิทยาลัยไปสู่การรับใช้สังคม เสมือนการพัฒนาผ่านระบบและกลไกทางการศึกษาบนฐานของการมีส่วนร่วม....

ขอบพระคุณที่แวะมาให้กำลังใจครับ





พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท