​การผ่อนคลายหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑



เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๕ ก.ค. ๕๘ คณะครูโรงเรียนเพลินพัฒนา ๑๓ คน ได้มีโอกาสไปทำหน้าที่อำนวยการในจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการผ่อนคลายหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ที่ทางคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดขึ้นที่ห้องภาณุรังษี โรงแรมรอยัลริเวอร์ จ.กรุงเทพฯ

ในงานนี้ที่มีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา อาทิ ผู้อำนวยการสถานศึกษาและครูของโรงเรียนทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่จาก ๔ ภูมิภาค ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา นักการศึกษาและศึกษานิเทศก์ จำนวน ๑๕๐ คน


ที่มาของการผ่อนคลายหลักสูตรแกนกลางฯ


นักวิชาการของคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ นำโดย ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ได้นำเสนอแนวทางในการผ่อนคลายการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาของโรงเรียนมีความคล่องตัวขึ้นโดยไม่ต้องรอการยกร่างหลักสูตรใหม่ ใน ๒ ประเด็น คือ

๑. การผ่อนคลายจำนวนชั่วโมงที่สอนในแต่ละกลุ่มสาระ แต่ละชั้นปีให้สถานศึกษากำหนดจำนวนชั่วโมงเองตามสภาพปัญหาและบริบทของตน แต่ต้องมีจำนวนชั่วโมงรวมครบถ้วน และจำนวนวันที่จัดการศึกษาคือ ๒๐๐วันต่อปี ครบถ้วน

๒. การผ่อนคลายการวัดผลทุกตัวชี้วัดของสาระ กลุ่มสาระในแต่ละชั้นเป็นรายปี ให้เป็นการวัดผลรวมให้ครบทุกตัวชี้วัด เมื่อครบชั้นปีที่ ๓ ตามช่วงชั้น

ในการรับฟังความคิดเห็นแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา กลุ่มศึกษานิเทศก์ กลุ่มผู้อำนวยการโรงเรียน และกลุ่มครู ซึ่งคุณครูจากเพลินพัฒนาได้เข้าไปทำหน้าที่เป็นคุณอำนวย คุณลิขิตประจำกลุ่ม ทั้งส่วนของการเขียนผังความคิด และการบันทึกรายละเอียด


ผู้เข้าร่วมประชุมทุกกลุ่มเห็นด้วยกับการผ่อนคลายการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ ทั้งสองประเด็นเพราะจะทำให้โรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการทางวิชาการให้สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพของผู้เรียนและบริบทของชุมชนที่แตกต่างกัน เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียนโดยตรง ครูสามารถบูรณาการสาระการเรียนรู้ โดยไม่ต้องกังวลที่จะต้องจัดการเรียนการสอนแต่ละสาระวิชาให้ครบชั่วโมงตามที่หลักสูตรบังคับทุกสาระ การผ่อนคลายการวัดผลทุกตัวชี้วัดซึ่งมีจำนวนพันกว่าตัว และซ้ำซ้อนอยู่ในหลายส่วนนั้น จะเอื้อให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถบูรณาการวิชาต่างๆ ได้ ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่สามารถกำหนดจุดเน้นในสาระวิชาสำคัญๆ ของโรงเรียนได้


ผลดีของการผ่อนคลายหลักสูตร

การผ่อนคลายจำนวนชั่วโมงสอนแต่ละกลุ่มสาระนั้นในทางปฏิบัติมีความเป็นไปได้เพราะจำนวนชั่วโมงที่กำหนดไว้ในหลักสูตร สามารถนับชั่วโมงได้จากทั้งในห้องเรียนและหรือนอกห้องเรียน และการยืดหยุ่นของจำนวนชั่วโมงที่สอนในแต่ละสาระนั้นถือเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์ให้กับสถานศึกษาในการจัดปรับเปลี่ยนเวลาให้สาระต่างๆ ตามปัญหาหรือตามจุดเน้นของโรงเรียนได้

ครูสามารถคิดรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ ๆ เพื่อสนองต่อลักษณะและความต้องการของผู้เรียน รวมทั้งสอดคล้องกับจุดเน้นของแต่ละสถานศึกษาตามความต้องการของชุมชน พ่อแม่ ผู้ปกครองและชุมชน

ครูและสถานศึกษา สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้หลากหลายมากขึ้น ตามความต้องการของผู้เรียน

เกิดเครือข่าย กลุ่มหรือชุมชนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิชาชีพครู เพราะครูต้องมาทำงานวิชาการร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งกันและกัน

ครูสามารถคิดรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ ๆ โดยไม่ยึดติดกับตัวชี้วัดหรือวิธีการนับเวลาเรียนตามแบบเดิม

เปิดโอกาสให้ครูสามารถสอนแบบบูรณาการได้ เพราะการวัดประเมินเป็นรายวิชามีความยุ่งยากในทางเอกสาร ทำให้ครูไม่อยากสอนเชิงบูรณาการ เพราะมีความยุ่งยากในเรื่องการวัดผลตามตัวชี้วัด

การมีตัวชี้วัดหลักเฉพาะที่เป็นตัวชี้วัดที่มีลำดับขั้นของเกณฑ์ขั้นต่ำที่นักเรียนแต่ละคนควรมีในแต่ละสาระวิชาและตามจุดเน้นของแต่ละสถานศึกษา เปิดโอกาสให้ครูสามารถสอนแบบบูรณาการได้


ข้อเสนอแนะแนวทางการผ่อนคลายหลักสูตร

ผู้เข้าร่วมประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการไว้ ดังนี้

๑) ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการให้มีการผ่อนคลายหลักสูตรฯ

๒) ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กำหนดแนวทางหรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจน

๓) ให้ยกเลิกข้อ ๒ ของเอกสารหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ระบุว่า “ผู้เรียนต้องได้รับการประเมินทุกตัวชี้วัดและผ่านเกณฑ์ตามที่สถานศึกษากำหนด” ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้สถานศึกษาขนาดเล็กหรือในชนบทที่มีครูไม่ครบชั้น ครูไม่เพียงพอ และที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนให้ครบทุกตัวชี้วัดได้ ให้สามารถดำเนินการจัดการเรียนตามตัวชี้วัดได้ตามสภาพจริง

๔) การผ่อนคลาย หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้นำตัวชี้วัดของสาระ กลุ่มสาระในแต่ละชั้นปี ไปไว้ในภาคผนวก เพื่อไม่ให้เป็นการบังคับใช้ (แต่ขณะเดียวกัน สถานศึกษาก็สามารถดึงตัวชี้วัดที่เหมาะสมมาใช้ได้)

๕) ให้มีการวัดและประเมินผลผู้เรียน ๒ ระดับ คือ

(๑) ระดับห้องเรียนและโรงเรียนให้เป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่จะทำการวัดผล โดยเน้นการวัดผลหลากหลายวิธี และวัดผลเป็นระยะ เพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้เรียน

(๒) ระดับชาติให้ สทศ. ทำหน้าที่วัดคุณภาพผู้เรียน ชั้นป.๓, ป.๖, ม.๓, ม.๖ ตามที่ระบุไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑ หน้า ๓๙ – ๒๒๗ และแจ้งผลการวัดให้แก่สถานศึกษา เขตพื้นที่ ต้นสังกัด รัฐบาล และประชาชน เพื่อได้ทราบและพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้ได้มาตรฐานต่อไป

๖) สทศ. และ สพฐ. ที่เป็นหน่วยงานกลางต้องมีความชัดเจนในการระบุทิศทางในการสอบ สทศ. จะต้องออกข้อสอบที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดของโรงเรียน รวมทั้ง สพฐ. ต้องมีวิธีการเชื่อมต่อช่วงชั้นให้ชัดเจน

๗) สมศ. ต้องปรับแนวทางในการประเมินให้สอดคล้องกับแนวทางการผ่อนคลายหลักสูตรฯ นี้ ทั้งนี้เพื่อให้ศึกษานิเทศก์สามารถนิเทศให้แก่สถานศึกษาในแนวทางเดียวกันกับการประเมินของ สมศ.

๘) หากมีการปรับเปลี่ยนเรื่องตัวชี้วัดให้ผ่อนคลายลงควรดำเนินการให้สอดคล้องกันไปตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ระดับชั้นมัธยมศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนไม่ขาดโอกาสในการศึกษาต่อในแต่ละระดับ เพราะหากไม่สอดคล้องกันและไม่ยืดหยุ่นให้เทียบโอนกันได้ จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการยื่นเอกสารเพื่อการศึกษาต่อ

๙) ให้กำหนดตัวชี้วัดหลักที่เหมือนกันทั่วประเทศ โดยเป็นตัวชี้วัดที่มีลำดับขั้นของเกณฑ์ขั้นต่ำที่นักเรียนแต่ละคนควรมีในแต่ละสาระวิชา และตามจุดเน้นของแต่ละสถานศึกษา

๑๐) เอกสารการประเมินผล และการบริหารหลักสูตร (ใบประเมินผลการเรียน ปพ.๑) ต้องใช้วิธีการที่หลากหลายและยืดหยุ่น สพฐ. ต้องชี้แจงแนวปฏิบัติ และดำเนินการออกหลักเกณฑ์และวิธีการส่งเสริมแนวทางการผ่อนคลายนี้ ทั้งนี้ เกณฑ์การจบหลักสูตรต้องปรับให้สอดคล้องกับหลักสูตรสถานศึกษาที่หลากหลาย

๑๑) ผู้บริหารสถานศึกษาต้องแม่นยำและชัดเจนในการกำหนดคุณลักษณะเด็กที่สถานศึกษาต้องการ โดยจะต้องให้เด็กมีความรู้จริง มีคุณธรรม และนำไปสู่การนำไปใช้ชีวิตจริง

๑๒) การบริหารจัดการสถานศึกษาควรมีการตั้งเป้าหมายร่วมกันระหว่างผู้บริหารและครู ทั้งในเรื่องนโยบาย แนวทางการดำเนินงาน และการใช้กระบวนการติดตาม การนิเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการจัดการศึกษาในสถานศึกษา

๑๓) ต้องพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูที่สามารถสร้างครูให้มีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางที่แตกต่างไปตามบริบทของแต่ละชุมชน แต่ละท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งครูจะต้องไม่สอนเชิงกลไกที่เป็นสูตรสำเร็จตามที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน


............................................


งานวันนี้สำเร็จลงได้ด้วยดี พวกเราที่เป็นคณะทำงานยินดีที่ได้นำความรู้ความสามารถในเรื่องการจัดการความรู้ที่มีอยู่ออกมารับใช้ประเทศชาติ และ ที่ทำให้ปลื้มใจกันมากไปกว่านั้นก็คือคำชมจาก ศ.ดร. อุทุมพร จามรมาน ที่ว่า....

"ได้เห็นความเป็นครูเพลินฯ ที่ชอบเขียน mind map บ่งบอกความเป็นครูเพลินฯ นะเนี่ย ดีนะ ดี"

ในขณะที่พูดก็ยิ้มๆ แล้วหันไปมอง ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาที่ยังยืนอยู่แถวๆ นั้น แล้วก็หันกลับมามองครูเพลินต่อ เหมือนจะเป็นการบอกเล่าให้กลุ่ม ผอ.ที่ยืนอยู่ได้รับรู้ด้วย :)


เย็นวันนั้น คุณสิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ ส่งรูปที่ลงในบันทึกนี้มาให้และเขียนบอกมาว่า " งานวันนี้สร้างสรรค์ดีนะคะ ขอบคุณน้องทุกคน"





หมายเลขบันทึก: 593162เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2015 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2015 12:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมขอเสนอว่า เมื่อผ่อนคลายกระบวนการไปแล้ว ควรขอให้ครูแต่ละคนเขียน AAR 1 หน้า ตอนสิ้นปี ว่ามาตรการนี้ช่วยให้ learning outcome ของ นร. ดีขึ้นอย่างไร พร้อม evidence

และให้ ผอ. โรงเรียน และ ผอ. เขตการศึกษา ทำเช่นเดียวกัน

วิจารณ์

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ


ขอบพระคุณที่กรุณาเสนอแนะค่ะ หนูจะเสนอทางสภาการศึกษาเอาไว้ว่าให้ดำเนินการเรื่องนี้ทันทีที่เป็นไปได้ค่ะ

ขณะนี้ทางสภาการศึกษา นำเรื่องเสนอรัฐมนตรีแล้ว และ กำลังรอให้ สพฐ. นำเรื่องเข้า กพฐ. ตามระเบียบวาระของกฎหมาย แต่ยังไม่อาจทราบได้ว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และเมื่อไรค่ะ


ด้วยความเคารพ

ครูใหม่


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท