เปลี่ยนอารมณ์ลูกก่อนปรับพฤติกรรม


ขอบพระคุณหนังสือที่ดีมากจากรักลูกกรุ๊ป Andrew Fuller (เขียน) อมรรัตน์ ศรีสุรินทร์ (แปล) วิธีสร้างเด็กดีภายใน 6 สัปดาห์, 2551. และประสบการณ์ของผู้ปกครองลูกวัยรุ่นที่มาปรึกษานักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมอย่างผม

Andrew Fuller ได้สรุปเรื่องสารเคมีในสมองอารมณ์ที่ส่งผลให้ลูกดื้อได้อย่างน่าสนใจและเน้นว่า "คุณจะไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมลูกจนกว่าคุณจะเปลี่ยนอารมณ์ของเขา (น.121)"

สารสื่อนำประสาทที่พ่อแม่อยากให้ลูกมีน้อยลง คือ อะดรีนาลีนและคอร์ติซอล

สารสื่อนำประสาทที่พ่อแม่อยากให้ลูกมีมากขึ้น คือ โดปามีนและซีโรโทนิน

1. อะดรีนาลีน (ฮอร์โมนสู้หรือหนี) เพิ่มขึ้นเมื่อลูกตื่นตัวมากเกินไป มีพลังงานมากจนถึงพฤติกรรมเหลวไหล มีปัญหาในการนอนหลับ เมื่ออารมณ์ไม่ดีก็จะวิ่งหนี หันเหความสนใจ ลังเลกับการลองทำสิ่งใหม่ๆ ดูวุ่นวายและทำงานไม่เสร็จ ทะเลาะขัดแย้งเล็กน้อย

วิธีการลดอะดรีนาลีน

  • การออกแบบกิจวัตรประจำวันที่ทำได้เป็นประจำในครอบครัว
  • การออกคำสั่งชัดเจนว่า "นี่คือวิธีที่ครอบครัวเราทำกันเป็นประจำ" สร้างความรู้สึกถึงสิ่งแวดล้อมในบ้านที่ปลอดภัยและมีเวลาเงียบๆ (ไม่ควรเร่งแข่งขันกับเวลา)
  • การใช้เวลาสบายๆ (ไม่กดดัน) แต่ละสัปดาห์ในการทำกิจกรรมจัดระเบียบ
  • ถ้าคุณทะเลาะกัน ให้หยุด และคิดแก้ไขปัญหา
  • คุณควรฝึกฟังมากกว่าพูด
  • เปิดเพลงที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลาย
  • นอนหลับให้เพียงพอ ดื่มน้ำเปล่าให้มาก และงดกาเฟอีนทุกประเภท

2. คอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) เพิ่มขึ้นเมื่อลูกสื่อสารความคิดเป็นคำพูดได้ลำบาก วิตกกังวลสูง โกรธง่าย ปกป้องตัวเอง ลำดับการกระทำก่อนหลังลำบาก

วิธีการลดคอร์ติซอล

  • การออกแบบกิจวัตรประจำวันที่ทำได้เป็นประจำในครอบครัว
  • การไม่พูดดูถูก ไม่ดุด่า ไม่ทำรุนแรง จนลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย
  • การดูแลไม่ให้ทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง การดื่มน้ำที่พอเพียง การใช้ไฟสีเหลืองนวลจากโคมไฟ (ดีกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์)

3. โดปามีน (ฮอร์โมนอารมณ์ดี) เพิ่มขึ้นเมื่อลูกพอใจและภูมิใจในตัวเอง มีแรงบันดาลใจ สนใจลองสิ่งใหม่ๆ ตื่นเต้นสนุกสนาน มีสมาธิ

วิธีการเพิ่มโดปามีน

  • การเคลื่อนไหวร่างกายให้เล่นกีฬาที่มีรูปแบบแน่นอน เช่น ว่ายน้ำ ปิงปอง ฯลฯ
  • การฝึกทักษะแก้ปัญหาที่ท้าทายในสถานการณ์ชีวิต เช่น เกมที่ท้าทาย ช่วยหาทางออกปัญหาครอบครัวบางเรื่อง
  • การทำกิจกรรมสนุกสนาน มีอารมณ์ขัน และมีเป้าหมายเชิงบวกในครอบครัว
  • การฝึกทักษะการเข้าสังคมที่เจอกลุ่มคนที่หลากหลาย เรียนรู้ทักษะใหม่ๆในเวลาดีๆของครอบครัว
  • การให้รางวัลที่เพิ่มแรงจูงใจหลังการทำกิจกรรมที่ดีงาม เช่น การให้ความสนใจในสิ่งที่ชอบและรักในตัวลูก
  • การให้ทานอาหารเสริมไทโรซีน โอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 รับประทานอาหารเช้าจำพวกโปรตีนมากกว่าคาร์โบไฮเดรต เลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้สารความหวานแทนน้ำตาลธรรมชาติ

4. ซีโรโทนิน (ฮอร์โมนต้านเศร้า) เพิ่มขึ้นเมื่อลูกสงบ สื่อสารได้ดี เริ่มทำสิ่งต่างๆตอนเช้าได้ดี ชอบคำชม สบตาดี อยากทำกิจกรรมของครอบครัว

วิํธีการเพิ่มซีโรโทนิน

  • การออกกำลังกายทุกประเภท
  • การได้รับคำชมอย่างอบอุ่น
  • การมอบหมายงานให้ลูกเลือกทำและรับผิดชอบ
  • การไม่บังคับทำตามตารางหรือกฎเกณฑ์
  • การไม่กดดันเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆ
  • การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ
  • การไม่ทานอาหารที่มีกาเฟอีนและน้ำตามเทียม
  • การพบจิตแพทย์และบุคลากรสุขภาพจิต เช่น นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคม

เคล็ดลับ 8 ประการที่ช่วยเปลี่ยนอารมณ์ให้ดีขึ้น

  1. การนอนหลับอย่างน้อยคืนละ 9 ชม. 15 นาที โดยงดมือถือ งดใช้คอมพิวเตอร์ งดดูทีวี และงดใช้อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ในห้องนอน หากนอนได้ไม่พอ ควรหาเวลางีบหลับสัก 90 นาที ที่ส่งผลให้จำกับเรียนรู้ได้ดี ไม่ออกกำลัง 2 ชม.ก่อนนอน ไม่ทานอาหารกาเฟอีนหลัง 4 โมงเย็น หากรู้สึกเหนื่อยล้าเย็นให้นอนพัก ให้นอนหลับในห้องที่อากาศไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป หากนอนไม่หลับให้อยู่บนเตียงในห้องมืด หากต้องการหาช่วงเวลาที่ตื่นตัวเรียนรู้ได้น้อยที่สุดและต้องการพักผ่อนมากที่สุด คือ เวลาเข้านอนแล้วนับไปอีก 12 ชม.
  2. อย่าให้ลูกดูหนังสือภายใต้แสงนีออนหรือแสงธรรมชาติที่ส่องจากเพดาน ควรใช้โคมไฟ ถ้าเป็นห้องเรียนควรใช้หลอด Full-spectrum ตลอดจนการทำกิจกรรมกลางแจ้งโดนแสงแดดบ้างก็ทำให้อารมณ์ดีขึ้น ขณะที่การลดแสงไฟ 2-3 ชม.ก่อนเข้านอนจะทำให้หลับดี
  3. การดื่มน้ำลดคอร์ติซอล เลือกทานมื้อเช้าด้วยโปรตีน (ลดคาร์โบไฮเดรต) เพิ่มสมาธิและความจำ ถ้ามีอาหารที่มีกรดอะมิโนทริพโตแฟน (เนื้อวัวไม่ติดมัน ไก่งวง อัลมอนด์) ก็จะเพิ่มซีโรโทนินและป้องกันซึมเศร้า ควรลดอาหารกาเฟอีนและน้ำตาลเทียม
  4. การเคลื่อนไหวโดนไม่บังคับ แต่สื่อสารกับลูกโดยธรรมชาติ เช่น แม่รู้ว่าลูกอารมณ์ไม่ดี แม่จะเดินไปห้องครัว เดินไปกับแม่แล้วบอกซิว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นต้น
  5. การฟังเพลงคลาสสิกหรือดนตรีอื่นๆ ที่มีหลักฐานการปรับคลื่นสมองอัลฟาให้สงบผ่อนคลาย (วันละ 1 ชม.ในเด็ก 4 ขวบ) พยายามหาเครื่องดนตรีที่ลูกชอบและเรียนรู้การเล่นเครื่องดนตรีทำให้แสดงอารมณ์ดี
  6. การดูทีวีบ้างช่วยให้เรียนดี จากงานวิจัยไม่ควรให้ดูทีวีในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่เกิน 2 ชม.ต่อวันในเด็ก 9 ปี ไม่เกิน 1 ชม. 30 นาที ต่อวันในเด็ก 13 ปี และไม่เกิน 30 นาทีต่อวันในเด็ก 17 ปี (ไม่เกิน 1.4 ชม.ต่อวัน หรือ 10 ชม.ต่อสัปดาห์ ในเด็ก 10-17 ปี)
  7. การเล่นวิดีโอเกมที่ผจญภัยเหมือนผู้ใหญ่ (ไม่ต้องมีผู้ใหญ่มาเล่นด้วย) ได้ทดสอบตัวเอง และเป็นส่วนหนึ่งของเพื่อนเยาวชน ก็ส่งผลดีได้ถ้าไม่เป็นกิจกรรมหลัก ควรให้ทำร่วมกับกิจกรรมที่หลากหลาย โดยจำกัดชั่วโมงการเล่นวีดีโอเกม ให้เล่นก่อนทานอาหารเพราะความหิวจะทำให้หยุดเล่นเอง ไม่ควรให้เล่นไปทานไป อาจต้องศึกษาเพิ่มว่าควรให้เล่นกี่ชม.ถึงจะเหมาะสมต่อวัย เท่าที่ดร.ป๊อปอ่านลิงค์ หรืออ่านเอกสารวิจัย คือ น้อยกว่า 1 ชม.ต่อวัน จะทำให้ลูกมีการปรับอารมณ์ต่อสังคมได้ดีกว่า ที่ไม่เหมาะสมคือ มากกว่า 3 ชม.ต่อวัน
  8. หมั่นสำรวจตัวคุณเองเสมอ เลิกคิดว่าคุณทำผิดทำให้ลูกดื้อ ควรดูแลตนเองให้อยู่ดี กินดี นอนหลับ
หมายเลขบันทึก: 592621เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2015 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2015 11:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณบันทึกสาระนี้มากเลยครับอาจารย์

..

จะเอาไปใช้ดูนะครับ

ยินดีและขอบพระคุณมากครับพี่แสงแห่งความดี

ขอบพระคุณมากครับสำหรับกำลังใจจากพี่บุษยมาศ คุณผักหวานป่า และคุณวินัย

อ่านแล้วรู้สึกว่าการที่เราเลี้ยงลูกๆด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา จะทำให้เราทำสิ่งที่ถูกต้องตามทฤษฎีนี้ไปโดยไม่รู้ตัวเลยนะคะ ยืนยันได้ว่ามีประโยชน์จริงๆค่ะ กิจกรรมต่างๆที่แนะนำไว้และเคล็ดลับที่มีในบันทึกนี้ บ้านพี่โอ๋เป็นเครื่องพิสูจน์พอจะได้นะคะว่า เราจะได้ผลผลิตที่เป็นคนมีความสุข อยู่ในสังคมได้แบบที่ทั้งให้และรับได้เหมาะสม เพราะพฤติกรรมดีๆที่สะสมติดตัวมานั้นช่วยได้มากทีเดียวค่ะ

เห็นด้วย ยินดี ชื่นชม กับครอบครับที่อบอุ่นของพี่โอ๋ พี่เล็ก น้องวันซ์ น้องเหน่น และน้องฟุง และขอบพระคุณพี่โอ๋มากๆครับผม ด้วยรักและคิดถึงเสมอครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท