​สะท้อนคิดการร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา



วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๘ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเมื่อเข้าประชุม ก็เกิดความสงสัย ว่าคณะกรรมการชุดนี้ (ซึ่งผมเป็นกรรมการด้วยคนหนึ่ง) จะสามารถ "อำนวยการ" การปฏิรูปการศึกษา ได้ผลสักแค่ไหน

เพราะรู้สึกว่ากิจการนี้ เป็นกระบวนการ "เข็นครกขึ้นภูเขา" มีแรงโน้มถ่วง หรือแรงต้านจากระบบเดิมรุนแรงมาก ทั้งโดยจงใจและโดยไม่จงใจ

ผมสังเกตว่า เวลาฝ่ายที่อยู่ในระบบการศึกษา เสนอเรื่องต่างๆ มักมีเป้าอยู่ระหว่างทาง ไปไม่ถึงตัวเด็ก ไปไม่ถึงคุณภาพของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา

โครงการพัฒนาที่นำมาเสนอ จึงเป็นโครงการแบบเดิมๆ ที่มุ่งแก้ปัญหาแบบปะผุ ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงระบบ เพราะคนในระบบเขาไม่คิดว่าเวลานี้ระบบบริหารการศึกษาไทยเดินผิดทาง

วาระสำคัญที่สุดคือ ร่าง พรบ. คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ พ.ศ. ...ซึ่งฝ่ายเลขานุการ (จากสภาการศึกษา) เสนอมาให้สำนักงานคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา เป็นหน่วยราชการ และเลขาธิการของ สำนักงานเป็นข้าราชการที่มาจากการแต่งตั้งผมเสนอว่าหากใช้รูปแบบนี้จะปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ ต้องให้สำนักงาน เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ เลขาธิการมาจากการสรรหาจากคนที่มีความสามารถสูงจริงๆ และเจ้าหน้าที่ ต้องเป็นพนักงานที่มีความสามารถสูง จ้างงานตามสัญญาจ้าง ต่อสัญญาตามผลงาน ไม่ใช่จ้างงานแบบราชการที่มีความมั่นคง โดยไม่ต้องสนใจผลงาน

ผมแปลกใจที่ ในที่ประชุมมีคนสนับสนุนแข็งขันในประเด็นที่ผมเสนอไม่กี่คน

วาระเรื่อง การปรับขนาดโรงเรียนให้เหมาะสมมีข้อมูลว่าโรงเรียนขนาดเล็ก (จำนวนนักเรียน ๑๒๐ คนลงไป) ในปีการศึกษา ๒๕๕๗ มีถึง ๑๕,๕๐๖ โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ ๕๐.๑๕ แต่ รศ. ประภาภัทรบอกว่า ต้องระวังอย่าให้ตัวเลขหลอก เพราะจริงๆ แล้วมีนักเรียนในโรงเรียนกลุ่มนี้เพียง ๑/๖ ของทั้งหมด

ผมพูดแรงกว่านั้น ว่าเรื่องที่เสนอไม่ใช่เป้าหมายสำคัญ เป้าหมายสำคัญคือคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน ให้ได้ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนคุณภาพสูง ต้องอย่าหลงเป้าอย่างที่ทำกันอยู่ในเวลา ๑๕ ปีที่ผ่านมา

วาระเรื่อง การสอบ NT และการยกเลิกการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับเขตพื้นที่การศึกษา (Local Assessment System - LAS)ผมพลั้งปากพูดคำว่า "ทำลายชาติ" ว่าระบบการประเมินแบบ summative assessment ระดับชาติที่ใช้ในปัจจุบัน ทำให้เกิดอาการสอนเพื่อสอบ (teach to test) นักเรียนเรียนเพื่อสอบ และสอบเฉพาะวิชา ไม่ใส่ใจเรียนรู้เพื่อพัฒนาบุคลิกลักษณะ ให้เป็นการเรียนเพื่อการพัฒนารอบด้าน ตามหลัก การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ทำให้คุณภาพคนไทยด้อย เป็นการทำลายชาติ ทำให้ท่านรัฐมนตรีศึกษาฯ ประธานในที่ประชุมว่าพูดเกินไป ไม่น่าจะเป็นการทำลายชาติ

ผมพูดมากกว่านั้น อธิบายความผิดพลาดและความหลงผิดในการจัดระบบการประเมินของการศึกษาไทย ที่หลงให้ความสำคัญของ summative evaluation ไม่เห็นความสำคัญของ embedded formative assessment และ constructive feedback ตามที่ผมเคยบันทึกไว้ ที่นี่, ที่นี่, และ ที่นี่

เสียดายที่ผมลืมชี้ให้เห็นว่า การศึกษาแบบสอนเพื่อสอบอย่างที่ทำกันอยู่นี่แหละ คือสาเหตุสำคัญของปัญหาวัยรุ่น ที่ติดเกม ติดยาเสพติด และตั้งครรภ์วัยรุ่น อย่างที่เห็นกันอยู่

ผมเคยเขียนบันทึกเรื่องยังหลงทางกันอยู่ ที่นี่

มีการนำเสนอเรื่อง วิสัยทัศน์และกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษา ระยะเวลา ๕ ปี (พ.ศ.๒๕๕๙ - ๒๕๖๓) เป็นวาระเพื่อทราบและให้กรรมการอ่านเอาเอง คุณหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ เสนอให้นำมาเสนอเป็นวาระเพื่อ พิจารณา ในคราวหน้า ผมสนับสนุน และเสนอเพิ่มให้ฝ่ายเลขาเสนอด้วยว่า ในกรอบทิศทางดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างของ การบริหารการศึกษาอย่างไรบ้าง โดยระบุว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างจริงจัง เอกสารวิสัยทัศน์และกรอบทิศทาง ดังกล่าวก็จะเป็นเหมือนเอกสารทำนองเดียวกันที่ผ่านมา ๑๕ ปี ที่ไม่ทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น มีแต่จะเลวลง

ผลการประชุมคราวก่อนหน้านั้น อ่านได้ ที่นี่ ผมไม่ได้เข้าประชุม เพราะประชุมวันเดียวกันกับสภามหาวิทยาลัยมหิดล

ผมกลับมาใคร่ครวญที่บ้าน และสรุปกับตนเองว่า ปัญหาหลักของผู้มีตำแหน่งในระบบบริหารการศึกษาของชาติคือ มีมุมมองที่ผิดต่อธรรมชาติของการเรียนรู้ ยังมีมุมมองแบบกลไก แยกเป็นส่วนๆ การประเมินแยกออกจากการเรียนรู้ และการทำหน้าที่ โค้ช ของครู ไม่มองว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการซับซ้อนที่เสมือนมีชีวิต ที่การเรียนรู้ การโค้ช การประเมิน อยู่ด้วยกัน

ปัญหาหลักของระบบการศึกษาไทย คือมิจฉาทิฐิว่าด้วยธรรมชาติของการเรียนรู้

ผมขออภัยต่อคนในวงการศึกษา หากบันทึกนี้จะใช้ถ้อยคำรุนแรงไปบ้าง



วิจารณ์ พานิช

๕ มิ.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 592568เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2015 18:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2015 18:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เชื่อว่าคนเห็นด้วยกับอาจารย์เยอะแน่ๆค่ะ ไม่แรงไปเลย เพราะคนในระบบเรายังไม่เห็นปัญหานี้จริงๆ ต้องบอกว่ายังหลงทางกันอยู่ทั้งๆที่หลักฐานเห็นทนโท่อยู่นะคะ

สิ่งที่ท่านอาจารย์นำเสนอเป็นความจริงที่รับทราบกันอยู่ แต่ไม่มีการยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากระบบและรูปแบบการทำงานของคนในกระทรวงศึกษาฯ ไม่มีใครรับผิดชอบกับความผิดพลาดที่เกิดมา สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะนี้ก็คือการทำให้เกิดความพอใจว่าได้สนับสนุนนโยบายที่มาจากระดับสูง ยังหลงทางวนเวียนอยู่กับแนวทางเดิม ไม่คิดก้าวหน้าให้หลุดจากกับดักที่วางกันขึ้นมาเอง

ขอเป็นกำลังใจให้ท่านอาจารย์ในการเป็นพลังเล็กๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนให้การปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการศึกษาของประเทศนี้ต่อไป เชื่อว่ามีพลังเล็กๆ อีกมากมายที่กำลังทำเช่นเดียวกับท่านอาจารย์อยู่ อย่าไปหวังกับพวกข้าราชการในกระทรวงเลย ถ้ารวมพลังเล็กๆ มากมายที่มีอยู่ การศึกษาของประเทศนี้ยังมีความหวังที่จะก้าวให้พ้นมิจฉาทิฐิไปได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท