ปัญหามา ปัญญาเกิด (๔) : ความสุขของครู


ถ้าครูได้มาคุยแผนกันดีๆ และวางแนวทางที่ต้องการไว้​ แล้วเปิดพื้นที่ให้เสียงของเด็กเป็นเสียงหนึ่งที่นำทิศทางของเรา แผนการเรียนรู้ดีๆ จะเกิดขึ้นได้เอง

โรงเรียนทอสี



คุณครู เคยทำ LS ครั้งสองครั้ง ในเรื่องทัศนคติเห็นชัดว่ามีผลดีกับเด็ก แต่มีความสงสัยว่าถ้าครูบางส่วนมีตาเห็นว่าเป็นสิ่งทีดีและมีอะไรที่ดีกว่ารออยู่ กับมีครูอีกบางส่วนที่เห็นว่าดีแต่มีข้อเสีย แต่ก็ยังไม่ได้เห็นว่ายังไม่ฟังก์ชัน และกระทบกับความรู้สึกและตัวตนของครู เราจะไปต่อไหมหรือจะทำอย่างไรดี

คุณครูหนึ่ง เพลินเคยมีที่เวลาไม่ตรงกัน ทำให้ LS กลายเป็นส่วนที่ต้องทำนอกเหนือจากงานที่มี ต่อมาเราจัดโครงสร้างตารางเวลาที่ชัดเจนขึ้น ช่วยให้ครูเห็นว่าในช่วงเวลานั้นๆ ควรทำอะไร ครูทุกคนจะต้องได้เห็นตารางเวลาของตนเองและของเพื่อนร่วมงาน ถ้ามีการจัดสรรที่ดี ตารางเวลาในการทำ LS ก็จะอยู่ในช่วงเวลาการทำงาน และอยู่ในระบบการทำงานของครูแต่ละคน

คุณครูสุ เราจะมีเป้าหมายร่วมกันก่อนว่าเราจะทำอะไร ตั้งเป้าเดียวที่่เราจะไปให้ถึง เน้นที่การทำงานใหม่ให้ดีขึ้น และการทำในสิ่งที่จำเป็นต้องใช้งานจริง เป็นการเติมส่วนที่ยังพร่องอยู่ให้เต็ม เช่น ปีที่แล้วอาจจะขาดแผนการเรียนรู้ในภาคเรียนฉันทะ ปีนี้ทุกคนช่วยกันทำให้มีขึ้นมา ถ้าทำงานกันในลักษณะนี้ น้องจะรู้สึกว่า LS ไม่ได้งอกงาน

คุณครู ตามที่ครูปาดบอกว่า LS ต้องไปรับใช้แผน หลักสูตร ถ้าเราไม่มีแผนแบบสำเร็จรูปก่อนสอนเราจะสามารถใช้กระบวนการ LS สนับสนุนสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่

คุณครูปาด ถ้าเราไม่มีแผน LS จะทำให้มีแผน ถ้ามีแผน LS จะทำให้แผนดีขึ้น นิสัยของคนไทยที่ยังไม่เป็นทีมเวอร์ค เราต้องลุกขึ้นแก้ไข ความยากคือเราไม่ค่อยมีทีม และมีอัตตาว่านี่ห้องของฉัน นี่แผนของฉัน การมี LS จะช่วยขัดเกลาตัวตนของเรา เหมือนการปฏิบัติธรรม เรื่องฟังก์ชันเป็นเรื่องสำคัญมากเป็นหน้าที่ของแกนนำที่ต้องทำให้ครูรู้ว่าลำพังคนเดียวไม่สามารถไปให้ถึงเป้าหมายได้ด้วยความคิด ความรู้ ความสามารถของทีม นี่เป็นหัวใจของ LS หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของการทำงานประเภททีมทุกอย่าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้มีขึ้น แต่จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ควรมี

นอกจากนี้ทีมยังต้องฝึกความพร้อมในหลายด้าน เช่น การฝึกกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องใจ ที่ฝึกให้เราได้คุยกัน การทำกิจกรรมสุนทรียสนทนา จะฝึกให้เราคุยกันและช่วยกันคลี่คลายกันปมต่างๆ ได้ การฝึกสายตาของครู ให้ครูมองห้องเรียนที่เอื้อให้เกิดการเด็กเรียนรู้ได้เอง และเคลื่อนไปด้วยการแลกเปลี่ยนรู้นั้นมีลักษณะเช่นไร ห้องเรียนที่ดี ดีกว่า และดีขึ้นไปอีกมีลักษณะเป็นเช่นไร คุณภาพเด็กที่ดีกว่า ดีได้อีกเป็นเช่นไร ฯลฯ

เมื่อครูมีจินตนาการเกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็ก มีการประเมินที่แม่นยำ ครูจะเห็นสภาวะจริงของตัวเอง ของชั้นเรียน และของเด็ก และมีจินตนาการว่าตัวเองที่ควรเป็น ชั้นเรียนนี่ควรเป็น และเด็กที่ควรเป็น เป็นอย่างไร หากครูเข้าใจได้เช่นนี้ความสุขของครูจะอยู่ที่ความเจริญงอกงาม ที่เกิดกับเด็ก กับครู และกลุ่มเพื่อนครู


ในภาคบ่าย



คุณครูนัท - นันทกานต์ และ คุณครูบิ๊ก - พิษณุ นำเสนอการจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบพหุสัมผัส หน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น ๖

การจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบพหุประสาทสัมผัส ที่มานำเสนอนี้ เป็นการทำงานร่วมกันของคุณครูนัทที่มีประสบการณ์ ๗ ปี กับคุณครูบิ๊ก ที่เป็นคุณครูน้องใหม่ ที่เพิ่งจบปริญญาตรี ไม่เคยมีประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนมาก่อน และคุณครูใหม่ - วิมลศรี คุณครูที่มีประสบการณ์ในการจัดกระบวนการเรียนรู้มาแล้ว ๑๗ ปี

คุณครูทั้ง ๓ คน ร่วมกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ครูนัท และครูบิ๊ก ผลัดกันจัดกระบวนการเรียนรู้ในห้องที่แต่ละคนรับผิดชอบ / ผลัดกันสังเกตการสอน และสะท้อนผล ด้วยวิธีการของ LS ทำให้เกิดแผนเรียนรู้ที่มาจากการถ่ายเทประสบการณ์ที่เอื้อให้ทั้งเด็กและครูได้เติบโตไปกับแผนการเรียนรู้นี้ ( อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/590172 )


คุณครูปาด อยากให้คุณครูช่วยเชื่อมโยงว่าแผนและการจัดการเรียนการสอนทั้งหมดเกี่ยวยังไงกับ LS การมีคนอื่นกับไม่มีคนอื่น เกิดผลลัพธ์ที่ต่างกันอย่างไร


คุณครูนัท การมีคุณครูใหม่มาช่วยในการวางแผนและออกแบบการเรียนรู้ ช่วยให้เราได้ย้อนกลับมามองว่าเด็กเป็นอย่างไร ทำอะไรได้ และเด็กควรจะได้อะไร ที่เราจะชวนกันตั้งเป้าหมายทุกครั้งก่อนเริ่มคิดแผนการสอน และมีการสร้างแรงบันดาลใจ มีวิธีการนำเข้าสู่เรื่องราว มีการคิดกันอย่างละเอียดว่าเราจะออกแบบแผนอย่างไรให้ได้ผลมากที่สุด เมื่อเทียบกับแผนเก่า เป้าหมายกว้างๆ ในเรื่องทักษะไม่แตกต่างไปจากเดิม แต่มีการเปลี่ยนวิธีการใหม่ ทำให้เด็กรู้สึกไม่เครียดไม่กดดัน

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือเดิมสอนเรื่องหนุมานเผากรุงและศึกไมยราบ วิธีการที่เคยทำคือ ครูให้เด็กอ่านวรรณคดีและถอดความไปทีละตอนจนจบเรื่อง แต่พอปรับใหม่ให้เป็นการทำบทละครวิทยุ เด็กยังได้ฝึกทักษะการถอดคำประพันธ์ที่กำหนดเอาไว้ แล้วยังได้ฝึกทำงาน ได้ความสนุกสนานจากการลงมือทำละครวิทยุ ที่ทำให้ได้ฝึกทักษะการอ่านวรรณคดีแบบเข้าถึงรสชาติ ได้ฝึกทักษะการเขียนบทละครวิทยุ ผลลัพธ์ที่เกิดกับเด็กรุ่นนี้ ที่ต่างไปจากรุ่นที่แล้วอย่างชัดเจนคือ มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนวรรณคดี ในส่วนตัวครูเองก็พบว่าเราเปิดกว้างให้กับเด็กมากขึ้น โดยเราไม่ได้ไปมุ่งอยู่กับทักษะที่เด็กต้องได้แต่เพียงอย่างเดียว


คุณครูใหม่ เคล็ดลับสำหรับคนที่เป็นโค้ชก็คือ ปกติครูจะมีหลักสูตรอยู่แล้วว่าจะเด็กแต่ละชั้นเรียนต้องรู้อะไร ทำอะไรได้แค่ไหน แต่โค้ชจะช่วยซอยบันไดการเรียนรู้ให้เกิดความคล่องตัว และราบรื่นมากขึ้น มีสุนทรียภาพมากขึ้น

ส่วนเรื่องทฤษฎีการเรียนรู้แบบพหุประสาทสัมผัสนี้ เราค้นพบหลังจากที่ได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้และนำสู่การปฏิบัติไปแล้ว เพราะพอดีครูนัทสนใจทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ พอไปค้นดูก็พบว่าแนวทางที่เรากำลังทำกันนี้ มีผู้ทำงานวิจัยและนำมาสร้างเป็นทฤษฏี ที่ระบุว่าช่วยให้เกิดการเรียนรู้ภาษาได้ดีที่สุด

ส่วนแนวคิดเรื่องการทำละครวิทยุนั้น ก็เกิดมาจากการที่เด็กๆ มาคุยกับครูว่าอยากทำกิจกรรมสนุกๆ อีก จึงเอาความต้องการของเด็กมาคิดต่อว่าครูจะทำอย่างไรให้เด็กเข้าถึงอารมณ์ทางภาษา และ มีกิจกรรมอะไรบ้างที่จะทำให้เด็กได้มีประสบการณ์จริง และสอดคล้องกับสมรรถนะที่มีอยู่ คิดไปคิดมาก็ปิ๊งเรื่องการทำละครวิทยุ จากนั้นก็นำเข้ามาสร้างเป็นแผนการเรียนรู้

ถ้าครูได้มาคุยแผนกันดีๆ และวางแนวทางที่ต้องการไว้ แล้วเปิดพื้นที่ให้เสียงของเด็กเป็นเสียงหนึ่งที่นำทิศทางของเรา แผนการเรียนรู้ดีๆ จะเกิดขึ้นได้เอง

เมื่อแผนการเรียนรู้ดำเนินไป บางครั้งที่เราก็ต้องกลับมาคิดใหม่ เพราะเด็กก็มีวิธีการเรียนรู้ทึ่ต่างกัน จะทำอย่างไรให้เด็กที่มีการเรียนรู้ที่แตกต่างกันสามารถเรียนรู้ไปด้วยกันได้ ครูต้องนำผลลัพธ์มาเรียนรู้และสะท้อนกัน วิธีนี้จะทำให้ทุกคนรู้สึกสนุกและตื่นตัวกับหน้างานครู และเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ก่อนขึ้นปีการศึกษาใหม่ก็มาคุยกันว่ามีสมรรถนะอะไรที่ยังอยากจะเพิ่มเติม และปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น แล้วก็ทำการปรับแผนการเรียนรู้ให้เอื้อต่อการฝึกสมรรถนะเรื่องนั้นๆ ให้มากยิ่งขึ้นอีก


คุณครูปัญญาประทีป การประเมินผลกิจกรรมของนักเรียน ร้อยมาลัย ทำรายการวิทยุ ให้คะแนนอย่างไร


คุณครูนัท ดูจากการเติบโตของเด็ก โดยดูที่พัฒนาการในการเรียนรู้ว่าเป็นไปตามเป้าหมายการเรียนรู้ที่วางไว้แค่ไหน รวมถึงการพิจารณาจากความงามทางภาษาที่พัฒนาขึ้น และจากการสะท้อนตนเองของผู้เรียนว่าเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร


คุณครูใหม่ ส่วนการร้อยมาลัยไม่มีการประเมิน แต่เป็นการเตรียมความพร้อมให้เขามีสติ สมาธิกับงานร้อยมะลิ และนำเอาประสบการณ์ที่ได้รับไปสร้างแรงบันดาลใจในการเขียนชิ้นงานจากประสบการณ์ตรงที่ได้สัมผัส


คุณครูนัท หลังร้อยมาลัย เขาจะเขียนกลอนถึงความงามของดอกมะลิ ส่วนเกณฑ์การเรียนรู้ และการทำชิ้นงานก็เป็นไปตามเกณฑ์ที่วางไว้


คุณครูทอสี กระบวนการทำ LS วางเป้าหมายไว้อย่างไร วางแผนอย่างไร


คุณครูนัท ของชั้น ๖ มีเป้าหมายว่าครูจะสร้างให้ผู้เรียนมีทักษะการพูด การฟัง การเขียน ที่ช่วยเอื้อกับการเรียนวิชาอื่นๆ เช่น วิชาประยุกต์ฯ ต้องออกภาคสนาม คุณครูจะต้องจัดโอกาสให้เด็กได้ฝึกฝนทักษะการสัมภาษณ์ ทักษะการจดบันทึก ในวันหยุดที่ผ่านมาก็จะให้เด็กบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในพระราชพิธีพืชมงคล เมื่อเด็กบันทึกกลับมา ครูก็เห็นทักษะที่พวกเขามีอยู่จริง และเห็นถึงฉันทะในการค้นคว้าหาความรู้ที่แตกต่างกันออกไป


คุณครูปาด เป้าหมายของ LS ใหญ่ๆ คือ ๑) การพัฒนาเด็ก ๒) การพัฒนาหลักสูตร แผน อุปกรณ์ ๓) การพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ๔) การพัฒนาครู การทำกลุ่ม LS ก็คือการยกระดับทั้ง ๔ สิ่งเรื่องนี้ให้เป็นงานเดียวกัน


สะท้อนการเรียนรู้ (สิ่งที่อยากจะบอกมากที่สุดของวันนี้)

คุณครูอั๋น LS มีทั้งความสนุกและคุณภาพ ทำให้เราเรียนรู้ไปด้วยกันได้

ครูอัม วันนี้ได้เห็นภาพรวมของ LS ได้ชัดเจนขึ้นจากวันนี้ การได้มาฟังน้องนำเสนอ และรับฟังอย่างลึกซึ้งขึ้น ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ อยากไปพัฒนาทีมเรา

คุณครูเอม ตอนเข้ามาทำงานเป็นตอนที่โรงเรียนเริ่มติดตั้ง LS พอดี ปีแรกที่ทำงานเป็นครูคู่วิชาของครูโอ่ง ทีแรกงงๆ พอเข้าใจกระบวนการบ้าง ซึ่งเป็นช่วงปรับตัวกับการเป็นครู และตอนได้เปิดชั้นเรียน พี่ปาดดูการสอนและดูอื่นๆ พี่ปาดช่วยได้มาก คอยบอกเรื่องที่ต้องปรับ บุคลิก ทำให้เราอยากเข้าห้อง อยากรู้ว่าเราสอนเป็นยังไง พอเสร็จเราก็งงๆว่าจะทำไงต่อ ต้องปรับเอง ปกติเป็นคนที่ไม่เข้าหาคนอื่น กว่าจะปรับตัวได้ยากกมาก เพิ่งมาเข้าที่ตอนปีนี้ ปีสามปีสี่ สอนปีแรกๆไม่อยากทำแผนเพราะอยากตรวจงามเด็กมากกว่า แต่ตอนนี้เห็นว่าทำแผนแล้วดีกับปีต่อๆไป ชอบตอนที่ได้ไปขอนแก่นดูการเปิดชั้นเรียนได้เพิ่มกำลังได้มาก เพื่อนในทีมก็ช่วยได้ มีที่ให้ได้บ่น จริงๆคงมีอะไรมากมายที่ทำให้ได้เปลี่ยนแปลง แต่ไม่รู้ตรงไหนอะไรบ้าง แต่ทำให้ชีวิตเข้าที่มากขึ้น

คุณครูอาร์ม ทำงานมาปีที่สาม รร.เปิดOpen Class คณิตพอดี ของครูโน้ต ตอนแรกยังงงๆ พอปีที่สอง สาม มีมุมมองเปลี่ยนไป มีหน้างานที่อยู่ในตารางแต่ต้องทำนอกเวลาด้วย ยังทำได้ไม่เต็มรูปแบบ แต่ที่ชื่นชอบ LS คือเมื่อเวลาท้อ ได้สังเกตห้องเพื่อนเราได้กำลังใจ ได้รอยยิ้มจากเด็ก ได้เทคนิคต่างๆของเพื่อน ได้มองเด็กในห้องเพื่อนของเรา

คุณครูอ้อ สามปี ที่ทำงาน แรกยังไม่เข้าใจ ทำไมต้องมานั่งพูด บันทึกทำไม พอรู้ว่าได้พัฒนาตัวเอง พัฒนาเด็กอย่างไร เพิ่งมาชอบตอนปีนี้ ได้มองเด็กอย่างละเอียด ชัด เด็กได้อะไรถึงจุดไหน LS ไม่ใช่งานที่เพิ่มมา แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ

คุณครูนุ่น ฟังเรื่อง LS มาหลายปี ถ้าย้ำให้ชัดเป้าหมาย

คุณครูสุ LS ช่วยพัฒนาได้ทั้งจุดอ่อน และจุดแข็งของทีม

คุณครูหนึ่ง การที่เราเข้าหาใครสักไม่ง่าย แต่ถ้าโอเพ่นฮาร์ด เปิดตัวเปิดใจ เราก็จะได้ง่ายขึ้น

คุณครูโอ่ง การได้ไปร่วมกิจกรรมเปิดชั้นเรียนของครูญี่ปุ่น ที่ มข. ทำให้ได้เรียนรู้มาก และค่าใช้จ่ายถูกมาก อยากชวนให้ไปกัน

คุณครูใหม่ LS เป็นวิธีการและเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราสร้างน้องรุ่นใหม่ๆ ได้ ทุกวันนี้ไม่ต้องสอนเองแล้ว เพราะน้องก็ทำได้ และทำผ่านสิ่งที่เขามี LS เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่ทรงพลังมาก

คุณครูเปา ขอบคุณที่ครูปาดกดสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าให้ ขอบคุณครูใหม่ เพราะสิ่งที่ครูใหม่พูดคือสิ่งที่เราอยากเห็น

คุณครูออนได้คำตอบหลายอย่างเพื่อเตรียมความพร้อมสิ่งที่เรากำลังจะทำได้

คุณครูตัง วันนี้ได้ความเข้มข้น ได้รู้จักกับ LS มากขึ้น ได้เห็นตัวอย่างจริง จะเอาไปเผื่อแผ่คนอื่นที่ไม่ได้มา

คุณครูนก เคยแตะเรื่อง LS วันนี้ได้เห็นกระบวนการชัดขึ้น เห็นเรื่องการสร้างฉันทะให้ครูชัดขึ้น ส่วนเรื่องการเรียนรู้ผ่านพหุประสาทสัมผัสดีมากๆ

คุณครูปัญญาประทีป เห็นตัวอย่างที่ดีจากวิชาภาษาไทยเรื่องการเรียนรู้ผ่านพหุประสาทสัมผัส

คุณครูกิ๊บ เข้าใจ LS มากขึ้น สร้างแรงบันดาลใจให้ครู ส่งต่อให้เด็กๆได้มีความสุขจากเรียนรู้

คุณครูปัญญาประทีป ขอบคุณที่ช่วยปรับทัศนคติเกี่ยวกับ LS ให้ เพราะทีแรกไม่เข้าใจว่าจะช่วยได้ยังไง ตอนนี้อยากเห็นว่าถ้าไปทำแล้วจะทำให้ช่วยเป้าหมายทั้ง ๔ อย่างไปด้วยกันยังไง

คุณครูน้ำ LS มีบุญคุณที่ทำให้น้ำเลิกเกาะเนื้อหาในการสอนเด็ก ในทีมได้ช่วยสะท้อน เรามองเห็นการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น ไปร่วมเรียนรู้ที่ขอนแก่นแล้วลองมาใช้ดู พบว่า LS เป็นเครื่องมือที่ทำให้ช่วยให้เราได้เห็นเด็กได้เรียนรู้จริง ได้คิด

คุณครูปัญญาประทีป เพิ่งมาทำอาชีพครู วันนี้ได้รู้อะไรมากขึ้น

คุณครูน้อย ขอบคุณทุกประสบการณ์ที่ครูทุกคนได้ร่วมแลกเปลี่ยน การทำงานในเชิงคุณภาพเราต้องมีขวัญและกำลังใจ ขอบคุณครูออนที่สะท้อนได้อย่างตรงไปตรงมา ขอบคุณครูบิ๊ก ที่ทำให้เห็นเด็กเรียนผ่านภูมิปัญญา จากวันนี้ได้ข้อคิดที่ดีสำหรับครูในการทำ LS ครูแต่ละโรงเรียนมีสภาพแวดล้อม มีบริบทที่ต่างกัน ขอเป็นกำลังใจให้

คุณครูปู เคยได้ยิน LS แว่วๆ วันนี้ได้เห็นภาพ เห็นแนวทาง เห็นความเป็นได้

คุณครูหุย เห็นแนวทางและความเป็นไปได้ในกระบวนการ LS

คุณครูป้อม คิดว่า LS เป็นสิ่งที่เราต้องทำ แต่ทำยังไงบริบทไหนค่อยว่ากัน โจทย์ตอนนี้คือทำยังไงให้ผู้เรียนสร้างความรู้เองได้ตั้งแต่ระดับอนุบาล ต้องมองให้ออก อีกเรื่องนึง รู้สึกชื่นชมกับคนอยู่กับเด็กได้ทั้งวันทั้งคืน ชื่นชมคนเปิดชั้นเรียน

คุณครูเล็ก เราเชื่อว่า LS เป็นวัฒนธรรมการสร้างครูที่ดีงาม ให้ต่อยอดไปถึงคนรุ่นหลัง แต่ละโรงเรียนก็ต้องเชื่อแบบนั้นว่าเส้นทางของการเป็นครูเราต้องเรียนรู้ เติบโต พัฒนาตัวเองตลอดเวลา ส่งผ่านไปยังลูกศิษย์ของเรา



คุณครูบิ๊ก ผมมอง LS เป็นเกม ที่ทำเป็นทีม เราก็ได้ทำกระบวนการย่อยๆของเราเอง ผมชอบเขียนบทพูดของตัวเอง ผมจึงรู้สึกสนุก กระบวนการนี้ค่อยๆหล่อหลอมผมมาเรื่อยๆ ผมคิดว่าโอเคสำหรับผมมากครับ

คุณครูนัท ตอนแรกทำงานมาสามปีแรกยังไม่รู้ว่าได้อะไร พอมี LS ได้สะท้อนตัวเองทำให้เราเห็นเป้าหมายชัดขึ้น ว่าเราต้องพัฒนาอะไร

คุณครูโก้ รู้สึกได้ต่อยอดจากที่เคยได้มาเข้าประชุม ช่วงเช้าก็ได้รับแนวคิด ซึ่งน่านำไปปรับใช้ที่ทอสี บ่ายได้เรียนรู้การเรียนรู้โดยใช้พหุประสาทสัมผัสในการเรียนภาษาไทย และได้เห็นภาพการทำงาน LS ผ่านภาษาไทย

คุณครูนุช ได้เอาแว่นขยายมาส่องให้เห็น LS ชัดเจนขึ้น จะนำเอาวิกฤตไปศึกษาต่อ

คุณครูประไพ เหมือนทอสีจะอยู่ในวังวนของวิกฤติจนเกือบเป็นความเคยชิน ตอนนี้เราเห็นแสงสว่างว่ากระบวนการหนึ่งสามารถตอบโจทย์ได้หลายๆโจทย์ แต่เราจะส่งต่อให้ครูในโรงเรียนของเราได้อย่างไร เราต้องกลับไปคิด ไม่ใช่แค่อุดรูรั่วอยู่ตลอดเวลา แต่ต้องทำให้เรือทั้งลำเคลื่อนไปได้

คุณครูทอสี ได้ความชัดเจนมากขึ้น ก่อนหน้านี้เราทำแบบแตะๆ ต่อไปคงชัดขึ้นอีก

ครูปาด ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมกันคิดตั้งแต่เช้า ทุกคนที่ได้พูดเรื่องตัวเองก็จะชัดขึ้น เมื่อได้มาฟังเรื่องคนอื่นก็จะชัดขึ้นอีก


ปิดประชุมครับ

หมายเลขบันทึก: 592567เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2015 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2015 20:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท