ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๗


การจัดการเรียนรู้โดยออกแบบกิจกรรมให้เด็กลงมือปฏิบัติ แล้วสะท้อนคิด เป็นการจัดการเรียนรู้ ให้ศิษย์ได้งอกงามพัฒนาการอย่างครบถ้วนรอบด้าน เป็นการปูพื้นฐานในชีวิต ให้ศิษย์สามารถพัฒนาได้เต็ม ศักยภาพ ถือเป็นคุณค่าของชีวิตครู ที่ครูโรงเรียนเพลินพัฒนาโชคดี ที่ได้เข้ามาอยู่ในชุมชนเรียนรู้แห่งนี้ ผมจึงขอแสดงความยินดีต่อครูทุกคน ที่ได้มีโอกาสเข้ามาอยู่ใน "ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์" แห่งนี้


โรงเรียนเพลินพัฒนาจัดงาน ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๗ เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘ ผมมีบุญ ได้รับเชิญไปร่วม

ปีนี้งานจัดที่ห้องโถงชั้นล่างของอาคารประถมปลาย ครูเตรียมเขียนข้อสะท้อนคิด (เรื่องเล่า) ของตนทำเป็น โปสตอร์ ให้เพื่อนครูได้อ่าน มีโปสเตอร์ข้อความดีๆ ให้อ่านมากมาย แต่ตัวหนังสือมันเล็ก สำหรับตาคนแก่อย่างผม จึงใช้วิธีอ่านคร่าวๆ แล้วถ่ายรูปด้วย iPhone เอามาขยายอ่านทีหลัง

การนำเสนอช่วงแรก ชั่วโมงเศษๆ โดยครูปาดกับครูเล็ก เรื่องประวัติการก่อตั้งโรงเรียน กับผลการสอบ O-Net ของโรงเรียน เทียบกับค่าเฉลี่ยของโรงเรียนใน กทม. ทั้งหมด (รวมโรงเรียนสาธิตและโรงเรียนเด่นดัง ทั้งหลาย) ซึ่งค่าเฉลี่ยของผล O-Net ของนักเรียนโรงเรียนเพลินพัฒนาสูงกว่าอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เสียดายที่ทางโรงเรียนไม่ได้ใช้หลักการทางสถิติ เปรียบเทียบว่า ความแตกต่างนั้นมีนัยสำคัญทางสถิติหรือไม่

หลังจากนั้นมีเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ให้ครูไปอ่านเรื่องเล่าของเพื่อน และโหวตเลือกเรื่องที่อยากฟัง รายละเอียด ๔ เรื่อง สำหรับไปเล่าและฟังในห้องย่อย ผมได้เห็นว่า มีเรื่องเล่าที่ทรงพลังมากมาย เช่นเรื่อง อ่านเป็นเห็นทางแก้ โดยครูสุ สุภาภรณ์ กฤตยากรนุพงศ์ เรื่อง ความสำเร็จเล็กๆ สร้างรอยยิ้ม ความภูมิใจ ก่อเกิด Self and Self-Esteem โดยครูปุ๊ก จินตนา กฤตยากรนุพงศ์ เรื่อง หวังเพียงบันดาลใจ โดยครูอั๋น กรวิทย์ ตรีศาสน์ เรื่อง เมื่อแผนการสอนได้รับการพัฒนา โดยครูนิด นิตยา น้อยศรี ครูหน่วยวิชามานุษกับโลก ชั้น ๓ เป็นต้น โดยครูใหม่เลือกไว้ให้รางวัล ๒ เรื่อง ให้ผมเป็นผู้มอบรางวัลเป็นหนังสือ คือเรื่อง ความกังวลห่วงใยทำให้ครูยังใหม่อยู่เสมอ ของครูอัม อัมภิณี เลิศปิติวาณิชย์ และเรื่อง การเรียนรู้อย่างผ่อนคลาย ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี ของครูบิ๊ก พิษณุ กมลเนตร์ ครูวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น ๖

ช่วงฟังเรื่องเล่าในห้องย่อย ครูปาดกับครูใหญ่ คือคุณทนง โชติสรยุทธ์ (เจ้าของร้านหนังสือ Se-Ed) ตามมาคุยกับผม เรื่องการปฏิรูปการศึกษาและการ ไปช่วยโรงเรียนที่อ่อนแอ คุณทนงตั้ง "มูลนิธิคนไทยเก่งขึ้น" เพื่อไปช่วยโรงเรียนเหล่านี้ เราคุยกันเรื่องครูที่มี แรงบันดาลใจ ผมเอ่ยถึงครูเรฟ เอสควิธ และครูปาดเล่าเรื่องให้คุณทนงฟังอย่างละเอียดน่าประทับใจ ในความรอบรู้ของครูปาด

ตอนรับประทานอาหารเที่ยง คุณเมษ์ ศรีพัฒนาสกุล ผู้รับผิดชอบการก่อตั้งสถาบันวิจัยระบบการศึกษา ของ ทีดีอาร์ไอ และก่อตั้ง Asian Leadership Academy มาร่วมคุยด้วย ทีมคุณเมษ์สนใจใช้วิธีพัฒนาครูด้วยเทคนิค Design Thinking คุณทนงสนใจมาก ซักละเอียดยิบ

ตอนบ่ายผมไปฟังที่ห้องเรียนรู้ ๑ การสอนภาษาแนวพหุประสาทสัมผัส และการสร้างบันไดการเรียนรู้ โดยครูณัฐ กับครูบิ๊ก วิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น ๖ (ป. ๖) ที่เริ่มกระบวนการออกแบบการเรียนรู้โดยการ ตั้งคำถาม "จะทำอย่างไร ให้นักเรียนเรียนวรรณคดีแล้ว ได้มากกว่าแค่ได้ความรู้สึกสนุกสนาน เพราะเขาน่าจะต้องได้วิธีที่มองให้ลึกลงไปถึงความงาม และได้สัมผัสกับคุณค่าของวรรณคดีด้วย"

จะเห็นว่า คำถาม How? นำไปสู่การออกแบบการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้หลายชั้น ทั้งรู้เรื่องราวในวรรณคดี รู้คำศัพท์ รู้คำร้อยกรอง ได้สัมผัสความงามของวรรณคดี

ที่ผมสนใจมากคือ การออกแบบการเรียนรู้ให้นักเรียน "มีสัมผัสตรง" ด้วยตนเอง ถึงขนาดครูทั้งสองลงทุนเป็นแม่ครัว/พ่อครัว สร้างความสนใจ/ตื่นเต้นแก่ศิษย์ เพื่อใช้การ "ปรุงอาหาร" นำไปสู่การ "ปรุงรสคำ" ผมคิดว่านักเรียนในชั้น ได้เรียนรู้ว่าถ้อยคำมีระดับของคุณภาพ มีระดับของพลัง ระดับของความงาม ผมได้เห็นตัวอย่างข้อเขียนของนักเรียน ที่เล่าเรื่องราวในชีวิตของตนที่แสดงออก ซึ่งอารมณ์ในรูปแบบต่างๆ

นอกจากนั้น คุณครูทั้งสอง ยังออกแบบกิจกรรม ให้นักเรียน "ร้อย" ดอกไม้ เพื่อทำความเข้าใจ ความงามของคำว่า "ร้อยกรอง" จากการสัมผัสตรงต่อการร้อยดอกไม้ ที่ทำอย่างประณีต ช่วยให้นักเรียนได้ สัมผัสอารมณ์ความรู้สึกที่ประณีตของตน แล้วกลั่นความรู้สึกออกมาเป็นบทร้อยกรอง เกิดการเรียนรู้ที่ซับซ้อนหลายมิติ

ผมได้ตระหนักว่า หากครูมีจินตนาการเป้าหมายการเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยงของศิษย์ ครูจะสามารถทดลองใช้ความสร้างสรรค์ของตน ออกแบบการเรียนรู้ให้แก่ศิษย์ได้สารพัดแบบ และจะค้นพบ วิธีการใหม่ๆ ที่ให้ทั้งความสนุกสนานในการเรียนของศิษย์ และให้รสชาติในชีวิตความเป็นครูแก่ครูด้วย

ผมได้รับฟังเรื่องราวที่ครูเล่าพัฒนาการของศิษย์แต่ละคน ที่มีความถนัดแตกต่างกันในเรื่องภาษา ได้เห็นความงามที่ครูเอาใจใส่ศิษย์เป็นรายคน และได้เห็นการออกแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ให้ศิษย์ลงมือทำเพื่อการเรียนรู้ของตน ได้แก่ทำละครวิทยุ พากย์โขน เป็นต้น ตามด้วยการ AAR หรือ reflection

การไปร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือ KM ของครูประถมโรงเรียนเพลินพัฒนานี้ ผมได้เรียนรู้มาก ชดเชยและเชื่อมโยงการอ่านหนังสือด้านการศึกษา เข้ากับสภาพจริงในโรงเรียน

ในช่วงเวลา ๑๓.๔๐ - ๑๔.๐๐ น. ผมได้รับเชิญให้กล่าวกับครู ผมได้ยืนยันว่า ที่ผมมาเห็นกิจกรรมที่ ครูภาคภูมิใจและนำมาเขียนเรื่องเล่าแลกเปลี่ยนกับเพื่อนครูนั้น เป็นเครื่องแสดงว่าโรงเรียนเพลินพัฒนา เดินมาถูกทางแล้ว คือรู้ (และเรียน/ฝึก) วิธีสอน (แบบไม่สอน) ให้ศิษย์พัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

การจัดการเรียนรู้โดยออกแบบกิจกรรมให้เด็กลงมือปฏิบัติ แล้วสะท้อนคิด เป็นการจัดการเรียนรู้ ให้ศิษย์ได้งอกงามพัฒนาการอย่างครบถ้วนรอบด้าน เป็นการปูพื้นฐานในชีวิต ให้ศิษย์สามารถพัฒนาได้เต็ม ศักยภาพ ถือเป็นคุณค่าของชีวิตครู ที่ครูโรงเรียนเพลินพัฒนาโชคดี ที่ได้เข้ามาอยู่ในชุมชนเรียนรู้แห่งนี้ ผมจึงขอแสดงความยินดีต่อครูทุกคน ที่ได้มีโอกาสเข้ามาอยู่ใน "ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์" แห่งนี้

กำหนดการ


แก่นคุณค่าของโรงเรียนเพลินพัฒนา


ครูอ่านเรื่องเล่าของกันและกัน


ครูมารอฟังผมพูด


วิจารณ์ พานิช

๒ เม.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 590172เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2015 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2015 12:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ

ขอขอบพระคุณอาจารย์ที่กรุณามายืนยันแง่งามของชีวิตครูที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นลมหายใจค่ะ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ครูใหม่

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ


วันนี้เป็นวันไหว้ครูของนักเรียนในระดับชั้นประถมปลายค่ะ ครูให้นักเรียนทุกคนทำกิจกรรมเขียนคำขอบคุณครู นักเรียนคนหนึ่งเขียนว่า...

คุณครูทุกคนทั้งที่เคยสอนผม และสอนผมอยู่ ผมขอขอบคุณมากครับ เพราะครูไม่ใช่ แค่ สอนสอนในห้อง ครูต้องทำทั้งคิดสื่อ คิดการบ้าน คิดงาน คิดเกม และเหนื่อยในคาบ "ถ้าครูทุกท่านไม่อยากสอนจริงๆ คุณครูคงไม่ทำเพื่อเด็กทุกคนขนาดนี้ครับ"


คุณครูทุกท่าน ทำงานยากเย็น

ทำให้ เราเห็น ว่าครูตั้งใจ


ขอบคุณครับ


ปัน ๖/๓



นักเรียนอีกคนหนึ่งเขียนถึงคุณครูเป็นคำกลอนว่า

ถึง...คุณครู

เมื่อเอ่ยถึงพระคุณของครูนี้ อย่างไรดีมีเอ่อล้นหนักหนา

เป็นทั้งผู้ที่ให้การวิชา คอยนำพาเรามาถึงจุดหมาย

อีกทั้งช่วยชี้แนะแนวทางให้ กับดวงใจที่ยังคงไม่เฉิดฉาย

เป็นแสงเทียนจุดให้เราเปล่งประกาย ไม่สลายหายไปกับความเกียจคร้าน

เรียกได้ว่าเป็นแสงนำชีวี สอนให้มีความรักใคร่ในการงาน

เรียนรู้ไปโดยริเริ่มจากรากฐาน อย่างเนิ่นนานจนเชี่ยวชาญด้านความรู้

ในใจฉันนั้นอยากขอขอบคุณ จากพระคุณที่ครูคอยแลดู

ที่เป็นผู้มีความน่าเชิดชู นำไปสู่ความรักและห่วงใย


รักคุณครูนะคะ



ด.ญ.พีช พันธ์คำ (คูการ์) ๖/๔




ตัวอย่างคำขอบคุณครูเหล่านี้สะท้อนว่าลูกศิษย์ซึมซับรับรู้ความทุ่มเทและความพยายามของครูได้ไม่น้อยไปกว่าที่ครูตั้งใจทำเพื่อลูกศิษย์ของเขาเลยค่ะ


ด้วยความเคารพ

ครูใหม่






อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท