วิธีเขียนบททบทวนวรรณกรรม



ผมได้รับ อีเมล์ ดังต่อไปนี้


เรียน ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารย์ พานิช ที่เคารพ

ผมชื่อ ปัจจุบันเรียนปริญญาโท สาขาผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง มหาวิทยาลัย ผมติดตามอ่านผลงานของอาจารย์อย่างสม่ำเสมอใน Goto Know และได้รับประโยชน์ พร้อมทั้งมุมมองใหม่ที่ผมคิดไม่ถึงหลายประเด็น

ช่วงนี้ผมกำลังอ่าน literature review เพื่อทำวิทยานิพนธ์ ผมเกิดข้อสงสัยและคิดวกวนหาคำตอบมาหลายสัปดาห์ แต่ยังไม่มีคำตอบที่แน่นอน ปัญหา คือ ผมจะเขียนสรุปจากสิ่งที่ผมอ่านในบทความต่างๆ อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ผมอ่านบทความชิ้นหนึ่ง สมมติเนื้อหามี 10 หน้า ตั้งแต่หน้า 11-20 แล้วกันนะครับ เมื่ออ่านเสร็จ ผมควรสรุปเป็นย่อความสั้นด้วยความเข้าใจของผม แล้วนำไปเขียน literature review สักประมาณ 10-15 บรรทัด หรือผมควรจะตัดและคัดลอก (แบบไม่โจรกรรมวรรณกรรม) นำมาวางลงในงานผมได้ทันที

ส่วนตัวผมอ่านบทความครบทุกหน้าและสรุปตามที่ผมเข้าใจ แต่เมื่อนำไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาพิจารณา ท่านบอกว่าวิธีการที่ผมทำนั้น จะทำให้เสียเวลาเพราะต้องอ่านทุกหน้า ใช้เวลาทำความเข้าใจนาน จึงสรุป จึงแนะนำให้ผมใช้วิธีคัดและนำมาวาง โดยการดัดแปลงข้อความก่อนนำมาใช้เล็กน้อย ตอนนี้ผมจึงสับสนว่า วิธีการแบบใด เหมาะสมหรือจะช่วยพัฒนาองค์ความรู้หรือได้พบข้อค้นพบใหม่จากการตีความ literature review กันแน่ครับ ผมจึงอยากข้อคำชี้เเนะจากผู้รู้เช่นอาจารย์ครับ

ผมติดตามอาจารย์มาหลายปี แต่ไม่เคยคิดว่าวันนี้จะส่งอีเมล์มาหาอาจารย์เลยครับ

ต้องขอรบกวนเวลาอาจารย์เพียงเท่านี้

ขอขอบพระคุณอาจารย์อย่างสูงครับ

ขอแสดงความเคารพอย่างสูง


ผมตอบดังนี้


เรียน ...

ขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านบันทึกใน บล็อก และคำถามครับ

คำถามนี้ทำให้ผมได้เรื่องเขียนอีกบันทึกหนึ่ง ว่าด้วยการเขียนบททบทวนวรรณกรรม และการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ที่น่าจะแยกประเด็นเรียนรู้ได้ ๒ ประเด็น คือ (๑) เขียนบททวนวรรณกรรมเพื่ออะไร (๒) เขียนอย่างไร ซึ่งทั้งสองประเด็นเกี่ยวพันกัน คำตอบข้อที่ ๑ จะนำไปสู่คำตอบข้อที่ ๒ ที่แตกต่างกัน

อาจารย์ที่ปรึกษาของคุณคงมีเจตนาต้องการให้คุณเรียนจบเร็วๆ จึงแนะนำเช่นนั้น คือมีเป้าหมายเขียนทบทวนวรรณกรรมเพื่อให้เรียนจบ ได้ปริญญาโท จึงแนะนำให้คัดลอก โดยดัดแปลงเล็กน้อย เพื่อไม่ให้คอมพิวเตอร์ตรวจพบว่ามีการคัดลอก ซึ่งผมคิดว่า ก็ยังเป็นการคัดลอกอยู่ดี และผมยังมองว่า เป็น plagiarism

ในมุมมองของผม การเขียนวิทยานิพนธ์ทั้งเล่ม (รวมทั้งบททบทวนวรรณกรรม) คือเครื่องมือ ของการเรียนรู้ การเรียนรู้คือเป้าหมายที่แท้จริงของการเรียนปริญญาโท (และปริญญาอื่นๆ) ดังนั้น ในขั้นตอนของการเขียนบททบทวนวรรณกรรม จึงควรใช้ฝึกการอ่าน การสรุปความ และการสังเคราะห์ เชื่อมโยงประเด็นโดยอาจารย์ที่ปรึกษาควรช่วยอ่านและ feedback ให้แก่ศิษย์ เพื่อเป็นโค้ชของการฝึกนี้ อาจารย์ที่ไม่ได้ทำส่วนนี้ ผมถือว่าทำหน้าที่ไม่ครบถ้วนหรือบกพร่อง

ดังนั้น คำตอบของผมคือ ที่คุณทำนั้นถูกต้องแล้ว หากมองจากมุมของการฝึกฝนเรียนรู้ของตนเอง ที่อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำนั้นผิด

แต่ยิ่งกว่านั้น คุณควรได้ฝึกเชื่อมโยงสาระจากเอกสารอ้างอิงต่างชิ้น ต่างบทความ สังเคราะห์ เป็นสาระภาพใหญ่ หรืออาจฝึกเปรียบเทียบสาระของต่างชิ้นงาน และทำความเข้าใจที่มาของความ แตกต่างนั้น

คุณควรได้ฝึกตรวจสอบวิธีวิทยาของแต่ละชิ้นงาน ว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด

การเรียนรู้สูงสุด คือหัดสังเกตวิธีตั้งโจทย์วิจัยของผลงานแต่ละชิ้น ว่าทำไมเขาคิดโจทย์นั้นออก และเขามีวิธีตอบโจทย์นั้นให้น่าเชื่อถืออย่างไร จากข้อมูลหลักฐานและการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ เขาสรุปอย่างไร มีการสรุปอย่างระมัดระวัง ไม่สรุปเกินข้อมูลหลักฐานอย่างไร และข้อสรุปนั้น เพิ่มเติมความรู้ที่มีอยู่แล้วอย่างไร

มุมมองทั้งหมดของผมนั้น อยู่บนฐานความเชื่อว่า การทำปริญญาโทมีเป้าหมายหลักที่การฝึกฝน ตนเองทางด้านวิชาการ ให้อ่านผลงานวิจัยเป็น จับใจความเป็น ตรวจสอบความน่าเชื่อถือเป็น หาช่องโหว่ของความรู้เป็น และนำไปสู่การฝึกสร้างความรู้ (วิจัย) ด้วยตนเอง ในโครงการเล็กๆ เพื่อตอบคำถามที่มีความสำคัญ และไม่เคยมีใครตอบมาก่อน

ส่วนการได้ปริญญานั้น เป็นเรื่องรอง

จึงนำมาเล่าไว้ เพื่อแสดงจุดยืนหรือความเห็นเรื่อง plagiarism และเรื่องการทำปริญญาโท ของผม

หลังจากผมตอบไปไม่ข้ามวัน ก็ได้รับคำตอบดังนี้


เรียน อาจารย์วิจารณ์ พานิช

ตามที่อาจารย์แนะนำมานั้น ทำให้ผมมีความมั่นใจในการเรียนของผมมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ผมควรหลีกเลี่ยง คือ การมีปัญหากับอาจารย์ที่ปรึกษา ถ้าผมไม่ทำตามท่านนั่นคงหมายถึงผลกระทบที่ไม่ดีอาจจะเกิดขึ้นตามมา

ผมสังเกตอีกอย่างเห็นว่า ถึงผมจะอ่านและสรุปวรรณกรรมตามวิธีของผม เมื่อส่งอาจารย์ที่ปรึกษาก็ใช่ว่าท่านจะอ่านทุกคำ และคิดว่าผมคงลอกมาจากที่ใดสักแห่ง ซึ่งในความเป็นจริงผมสรุปจากการอ่านของผม

พอประสบเรื่องนี้ด้วยตนเอง จึงเห็นและเข้าใจปัญหาของผู้ทำลายการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ผู้ทำลายไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้เรียนเสียทั้งหมด อยู่ที่ผู้สอนด้วย หรืออาจรวมทั้งวงจร

ผมขอเป็นหนึ่งคนที่จะไม่ทำลายการศึกษาของประเทศนี้ ผมจะทำด้วยวิธีการที่ถูกต้องดังอาจารย์ยืนยันให้กับผมครับ

ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ที่สละเวลาอ่านและตอบอีเมล์ของผม ผมรู้สึกซาบซึ้งใจมากครับ

และจะติดตามผลงานอาจารย์ต่อไปอย่างต่อเนื่อง


ด้วยความเคารพอย่างสูง


วิจารณ์ พานิช

๒๑ พ.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 591681เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2015 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มิถุนายน 2015 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เป็นประโยชน์มากสำหรับผู้กำลังทำวิจัยครับ..คิดถึงสมัยเรียน เพื่อนก็งงแบบนี้กันมากครับ

ขอบคุณครับอ.

ผมขอร่วมสนับสนุนว่าสิ่งที่อาจารย์หมอท่านแนะนำนั้นถูกต้องอย่างยิ่งครับ คำแนะนำของท่านเหมือนกับที่อาจารย์ที่ปรึกษาผมที่ UMBC สอนครับ อ่านแล้วเหมือนได้อ่านภาคภาษาไทยของคำสอนของอาจารย์ในภาคภาษาอังกฤษเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วครับ

เมื่อผมจบกลับมาทำงานผมก็ต้องเจอกับนักศึกษาที่ทำ literature review แบบที่อาจารย์ที่ปรึกษาของผู้ส่งอีเมลถามแนะนำครับ และตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาแม้ผมจะพยายามแนะนำนักศึกษาเท่าไหร่แต่ดูเหมือนวิธีการ copy-paste-and-lightly-modify นั้นจะเป็นวิธีมาตราฐานในประเทศไทย ส่วนคำแนะนำของผมนั้นเป็นสิ่งนอกคอกบางคนถึงขั้นมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งนักศึกษาด้วยซ้ำ

วันนี้ดีใจที่ได้อ่านคำแนะนำของอาจารย์หมอวิจารณ์ครับ เพราะวันนี้อาจารย์ช่วยให้คำตอบว่าผมไม่ได้กลั่นแกล้งนักศึกษาครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับท่านอาจารย์ ดิฉันเรียนที่ม.มหิดลท่านอาจารย์ได้ฝึกฝนพวกเราให้คิดวิเคราะห์ แต่เมื่อจบมาเป็นอาจารย์ สังคมรอบข้างมีแต่ copy&past เหมือนที่อ.ธวัชชัยกล่าว คนทำถูกต้องกลายเป็นคนนอกคอก อย่างไรก็ตาม ความเป็นเลือดมหิดล ทำให้ดิฉันมั่นคงเชื่อมั่นในสิ่งถูกต้องดีงาม ทำให้นักศึกษาที่ผ่านกระบวนการขัดเกลาไปแล้วส่วนใหญ่ ไปประสบความสำเร็จในหน้าที่ที่การงานแล้วกลับมาเล่าสู่ยืนยันถึงผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ นั่นเป็นสัจธรรมที่จรรโลงความถูกต้องดีงามต่อไป อย่างไรก็ตาม วันนี้ขอชืนชมผู้ที่ตั้งคำถามถามอาจารย์ ว่าได้เป็นคนรุ่นใหม่ที่คาดว่า น่าจะเป็นกำลังสำคัญในการชี้นำความถูกต้องดีงามสู่คนรุ่นต่อๆไปค่ะ

ขอบคุณค่ะ สำหรับตัวอย่างจริง สะท้อนปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบัน .. น่ากลัวนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท