"แด่ครูภู่ กวีสยาม"


สุนทร ภู่

๒๖ มิถุนา มารำลึก

เพื่อบันทึก นึกถึง หนึ่งสยาม

ครูนักปราชญ์ พัฒนา ภาษางาม

จินตนาล้ำ ชำนาญ การกวี

ขอรำลึก ศึกษา คุณค่าท่าน

เรื่องกาพฉันท์ การแต่งกลอน ละครชี้

นิราศรุ่ง นิทานล้ำ คำสอนดี

เสภาชี้ มีสำเนียง เสียงโสภา

ประวัติท่าน กาลเกิด เบิร์ดวันจันทร์

วันที่นั้น ๒๖ เดือนหกหนา

ปี๒๓๒๙ ชาวพารา

ที่เคหา ท่าวังหลัง ฝั่งธนเมือง

เวลาคลอด ปลอดภัย ในตอนเช้า

ตะวันเข้า ชายทุ่ง เป็นคุ้งเหลือง

อากาศปลอด คลอดง่าย ในคูเมือง

มีนัยเลื่อง เรืองกระฉ่อน กลอนกวี

ขึ้น ๘ ค่ำ ยามดี ปีมะเมีย

เป็นที่เคลียร์ แน่ชัด ในบัดนี้

ช่วงสมัย ในร.๑ ครึ่งพอดี

ในธานี มีคนแรก แตกเหล่ามา

บิดาชื่อ นายพลับ ชาวบ้านกร่ำ

แม่คนงาม ชื่อช้อย รอยกังขา

หลังคลอดครู ก็อยู่ร้าง ห่างบิดา

มีมารดา รักษาเลี้ยง เคียงน้องสาว

พอถึงวัย ได้เรียน หัดเขียนอ่าน

ท่านสัมภาร ปราณี วัดชีปะขาว

ให้ศึกษา วิชาการ ผ่านวัยเยาว์

จนได้เข้า เป็นเสมียน เขียนในวัง

จนได้พบ นางจัน กระสันจิต

สายโลหิต ราชสกุล ผู้หนุนหลัง

จึงถูกปลง ลงโทษ โจทก์ตาราง

กรมวังหลัง สิ้นพระชนม์ จึงยลไท

ออกจากคุก ก็บุกดง ไปตรงพ่อ

ได้ถักทอ ต่อนิราศ ขนาดใหญ่

สะท้อนทาง ย่างก้าว เข้าพงไพร

เพื่อตั้งใจ ไหว้พระครูฯ ผู้บิดา

กลายเป็นงาน ผ่านกรรม ที่ลำบาก

ที่มีรัก สองบ่วง ที่ห่วงหา

คือรักพ่อ รักจัน ปานชีวา

เป็นที่มา ปฐมทัศน์ "นิราศเมืองแกลง"

หลังกลับไหว้ บิดา กลับมากรุง

ก็หมายุม่ง จูงแม่จัน เข้าหมั้นแต่ง

รับใช้ท่าน "ปฐมวงศ์" มั่นคงแรง

และได้แต่ง "นิราศพระบาท" พระศาสนา

ถึงสมัย ร.๒ ต้องประสงค์

อยากแต่งวงศ์ ดงละคร อักษรช้า

เห็นสุนทร กลอนกวี มีลีลา

พระกรุณา ให้มาแต่ง "รามเกียรติ์"

พระเลิศหล้าฯ เมตตาท่าน มอบขั้นให้

กลายเป็นใหญ่ ในเลขา วิชาเขียน

จึงมอบขุน หนุนตำแหน่ง แปลงมณเฑียร

และได้เปลี่ยน ด้วยเศียรเกล้า เป็นเหล่าหลวง

คอยรับใช้ ในราชกิจ ยามติดขัด

ถวายทัศน์ ราชนิพนธ์ จนพ้นห่วง

ช่วยฟื้นฟู ศิลปะ นาทั้งปวง

อยู่ในช่วง รุ่งโรจน์ จนโปรดปราน

ผลงานเด่น เป็นสง่า อันล่าสุด

เป็นมงกุฎ สุดคณา มหาศาล

"ขุนช้าง ขุนแผน" แก่นผลงาน

หลังจากนั้น ท่านก็เมา เคล้าลืมตัว

ทำความชั่ว มั่วหญิง ดริ้งก์สุรา

ก่อปัญหา ราวี ตีไปทั่ว

จับติดคุก ถูกขัง ยังไม่กลัว

เมาจนมั่ว ไม่กลัวโทษ เขาโจทย์จาน

ออกจากคุก ถูกมอง ปองชีวา

พระเลิศหล้า รักษาไว้ อภัยท่าน

ช่วยงานแต่ง แปลงนิพนธ์ พ้นประจาน

รอดประหาร หลายครา เพราะปราณี

ชีวิตท่าน พันผูก ปลูก ๔ สิ่ง

คือ๑)ผู้หญิง ๒)ดริ้งก์สุรา ๓)วัดวาชี้

อีก๔)วงวัง สร้างชีวิต คิดไมตรี

จนกายี มีเสื่อมโทรม โรคโรมรุม

ปั้นปลายชีพ จึงถีบตน ให้พ้นโลก

ไม่ยอมตก ทาสเมา เผาอบสุม

สละโลก ผกผัน ดั้นด้นคุม

ไม่ตกหลุม โลกีย์ หนีอบาย

บวชเป็นพระ ละกิเลส เป็นเพศสงฆ์

ออกธุดงค์ พงป่า หาที่หมาย

แสวงหา พระธรรม นำจิตใจ

จนอยู่ได้ หลายปี จึงหนีธรรม

สึกออกมา ชีวาวัง ยังเปิดรับ

เบื่อก็กลับ นับพรรษา คราตกต่ำ

ได้สองปี หนีสึก นึกถึงกาม

มาเดินย่ำ ทำงาน ในย่านวัง

ทำงานดี มีผลงาน ด้านอาลักษณ์

จึงได้ศักดิ์ ตำหนักเดิม เติมความขลัง

แต่ง๒นิราศ เป็นปัจฉิม อิ่มในวัง

จึงถูกตั้ง ศักดินา "พระสุนทรโวหาร"

นี่คือ ประวัติ ปราชญ์กวี

ผู้ที่มี คุณคณา มหาศาล

เป็นครูเอก กวีศิลป์ จินตนาการ

ที่ชำนาญ การแต่งกลอน สะท้อนไทย

ขอคารวะ อาจารย์ ด้วยพานพุ่ม

ใจที่ชุ่ม อุ้มน้ำใจ อาลัยไหว้

บรมครู ผู้รู้กลอน กระฉ่อนไกล

ขอเทิดไว้ ด้วยใจรัก ปักเป็นกลอน

ขอวิญญาณ ท่านถึง ดาวดึงส์ฟ้า

เกษมสุข ทุกเวลา อย่าทุกข์ร้อน

ลูกหลานไทย ได้ซึ้ง ถึงบทกลอน

ระลึกย้อน สุนทรภู่ ครูกวีเอย

------------------------๒๖/๖/๕๘----------------------------

คำสำคัญ (Tags): #ครูกวีไทย
หมายเลขบันทึก: 591678เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2015 13:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มิถุนายน 2015 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

พี่จำได้เสมอว่า...๒๖ มิถุนายน ของทุก ๆ ปี คือ "วันสุนทรภู่" ค่ะ

ท่าน อจ. แต่งกลอน ได้ดีมากๆๆค่ะ

มองเห็นภาพชีวิต ท่านสุนทร ภู่ เลยค่ะ ..

ขอบคุณค่ะ

....สุนทรภู่ระลึกให้.................จุ่งดี

อย่าแต่งเพียงปะรำพิธี.............เทิดไว้

โคลงท่านอ่อนในวจี...............ก็เปล่า

จารจดปรากฏให้....................ใช่ท้า-ท่านสอน

I like this use of 'modern language' (English words) mix-in ;-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท