อดีตนอนนา


....ภาพจากอินเตอร์เน็ต...โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ อ.เมือง จ.สระแก้ว...

...สืบเนื่องมาจากภาพข้างบน โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ โรงเรียนสอนควายสอนคนทำนาโดยพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ดำเนินการจัดตั้งโดยมูลนิธิชัยพัฒนา

...เป็นเหตุให้ผู้เขียนเพ้อรำพึงถึงสมัยเป็นเด็กน้อยเรียนชั้นประถม วันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ไปนอนนากับพ่อ นัยว่าไม่ต้องเดินกลับไปมาระหว่างบ้านกับทุ่งนาก็ไกลโข ผู้เป็นแม่ก็เป็นห่วงลูกชายคนเดียวจะเหนื่อยเดินไปกลับทุกวัน เลยให้นอนค้างคืนกับพ่อพร้อมพี่สาวเป็นเพือ่นอีกคน

...ภาพที่จดจำไม่ลืมเลือนของเด็กน้อยตอนนั้นก็คือเย็นวันหนึ่งที่พ่อชวนไปคราดนา หลังดวงตะวันใกล้ลับขอบฟ้า เด็กน้อยคะนองสนุกสนานกระโดดขึ้นคราดไถช่วยให้ฟันคราดจมลึกลงไปในโคลนโดยไม่กลัวอีค้ำอีคูณควายคู่บุญของพ่อจะเหนื่อยแรง

...พลันก็เห็นปลาหมอดิ้นอยู่ขลุกขลักในโคลมตมนั้น พ่อบอกให้ไปเอาคุมาเก็บใส่ ด้วยความตื่นเต้น เหมือนปลามันจะผุดขึ้นมาจากโคลน รมทั้งเขียดอีโม้ ปู โน้นปลาช่อนตัวน้อยก็พลอยหลงขึ้นมากระเสือกกระสน มือน้อยๆจับโยนลงคุเสียงดังโป๊กเป้ก ส่วนปลาดุกตัวไม่ใหญ่นั้นพ่อบอกให้ระวัง ไม่ให้จับเพราะกลัวโดนเงี่ยงมันแทงเอา แต่เด็กน้อยเห็นพ่อจับโยนลงคุอย่างง่ายดาย

...ปลา เขียดแลปะมันมาจากไหนรึพ่อ...มันผุดขึ้นมาเองได้รึพ่อ..คำถามประสาเด็กน้อยถามไปเดินคุ้ยเขี่ยหาปลาหาเขียดไป พ่อไม่ตอบ ยกคันคราดปักโคลนอ้อมไปมาในนาแปลงนั้น

...ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าบรรยากาศแบบนั้นจะยังคงมีอยู่ไหม แต่ได้ยินคำล้อเลียนของหนุ่มน้อยอีสานหลงเมือง ที่คุยกันถึงคนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวในเรื่องที่สนทนากัน ออกตัวพูดว่า

.."ข้อยบ่ฮู้เรื่องดอก ข้อยนอนนา"...แล้วก็หัวเราะเอิ้กอ้ากในคำตัดบท ออกตัวล้อเลียนคนที่นอนที่เถียงนาน้อยกลางทุ่งนา ไกลบ้าน ย่อมไม่รู้เรื่องราวของชาวบ้านว่ามีเหตุการณือะไร เสมือน ..คนนอนนา..ฉันนั้น

.................

หมายเลขบันทึก: 591641เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2015 20:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2015 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

แม้ยุคสมัยนี้ จะมีผู้พบายามเรียกร้องหรือหาวิธี

ให้วิถีชีวิตดี ๆ ของไทยกลับมาเพียงใด...

แต่ก็ยากที่จะให้มันกลับมาอยู่ในวิถีชีวิต

อย่างถาวรได้นะจ๊ะ อย่างดีก็แค่เพียง

อยู่ในความทรงจำของคนรุ่นเก่า

และกลายเป็นสิ่งแปลกตา สำหรับคนรุ่นใหม่

ขอบคุณครับครู ใช่ครับมันเป็นเพียงความทรงจำ ทีนำมาบันทึกไว้ให้ลูกหลาน(เผื่อ)จะได้อ่าน

นอนนา หาปลา หากบเขียด ฟังเสียงปลาผุดและจิ้งหรีด ตื่นเช้ามาเห็นหยดหมอก ตามยอดหญ้า ฟังเสียงนกร้อง อากาศปลอดโปร่ง ไปกู้เบ็ด กู้ไซ ได้ปลา กุ้ง มาหุงต้มเป็นอาหาร....

อดีตผุดเลยนะครับพี่แจ่ม ครับ

...ทุกวันนี้ หลายคนหวนกลับไปหาธรรมชาติ...มีความสุขนะคะ

"นึกถึงวันที่ตนเอง ไป นอนในป่า ที่ปลูกไว้ (คนเดียว)ค่ะ"...

ที่หมู่บ้านของผมยังมีบรรยากาศแบบนี้อยู่นะครับ

แตกต่างตรงที่ไม่มีควายเหลือเลยสักตัว แต่มีควายเหล็กมาแทนครับ 555

อ่านแล้วนึกถึงตอนเด็กๆ เลยครับ บ้านผมนี่อยู่กลางนาครับ นอนนาทุกคืน (ฮา)

ปล. สำนวนทางใต้จะใช้ว่า "อยู่แต่สวน" ความหมายเดียวกันกับทางอีสาน "นอนนา" ครับ เดาว่าเด็กเดี๋ยวนี้อาจจะไม่รู้จักสำนวน "อยู่แต่สวน" แล้วเหมือนกันครับ เพราะไร่นาสวนผสมที่ปู่ย่าตายายเคยได้กินอยู่ตลอดชีวิตมันกลายเป็นสวนอุตสาหกรรม (จากกาแฟมาปาล์มไปยางพารา) ที่ราคาขึ้นลงตามตลาดโลก จนเผลอๆ คนใต้ปัจจุบันอาจจะมีสำนวนใหม่ว่า "อยู่แต่ม๊อบ" (ฮา)

พี่ไม่เคยนอนนานะ แต่ไปนาทุกวัน เช้าก็หิ้วปิ่นโตตามยายไปนา เย็นก็เก็บผักหญ้ากลับไปทำกิน

มีเงินน้อยมีความสุขมาก

อ.ธวัชชัย พี่สงสัยจัง "อยู่แต่สวน" ของพี่นี่แปลว่า "อยู่คนเดียว"

ใช่ครับพี่นุ้ยของผม "อยู่แต่สวน" แปลว่า "อยู่คนเดียว" เหมือนกันครับครับ

ผมสังเกตว่าคนในภาคใต้เมื่อก่อนจะมี บ้าน สวน และนา แยกจากกันครับ บ้านจะอยู่ใกล้ๆ กันกับบ้านในหมู่เครือญาติ (และมีลักษณะเป็นสวนย่อมๆ) คิดว่าเพื่อความปลอดภัยครับ ส่วนสวนใหญ่นั้นก็จะแยกออกไปและมีหนำพอได้พักได้ ส่วนนานั้นก็แยกไปอีกทีหนึ่งเลย

ผมเดาว่าคนไปทำสวนคงไปคนเดียว คนไหนไปแล้วไม่ค่อยกลับบ้านก็คงไม่ค่อยรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเท่าไหร่ เอาเวลาไป "อยู่แต่สวน" นั่นเองครับ (และอาจจะ "นอนสวน" ด้วยแต่ไม่มีสำนวนนี้ในภาษาใต้)

สำนวนเก่าๆ ก่อนยุคอุตสาหกรรมนี่น่าสนใจดีนะครับ ภาคใต้ที่เป็นป่าเขตร้อน (tropical forests) คนจะ "อยู่สวน" ส่วนภาคอีสานที่เป็นที่ราบสูง (plateau) จะ "นอนนา" ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท