เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง : ๑๒. Critical Reflection ในสังคมทุนนิยม



บันทึกชุด "เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง" ๒๖ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Transformative Learning in Practice : Insight from Community, Workplace, and Higher Education เขียนโดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor and Associates ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2009

ภาค ๓ ของหนังสือ ว่าด้วยเรื่อง TL ในฐานะการศึกษาในสถานประกอบการ

ตอนที่ ๑๒ นี้ ได้จากการตีความบทที่ 11 Engaging Critical Reflection in Corporate America เขียนโดย Stephen Brookfield ศาสตราจารย์ดีเด่น The University of St. Thomas, Minneapolis – St. Paul, Minnesota

สรุปได้ว่า การไตร่ตรองสะท้อนคิดอย่างยิ่งยวด (critical reflection) เป็นเครื่องมือตรวจสอบ เพื่อรู้เท่าทันสังคมที่ห่อห้อมล้อมรอบตัวเรา ว่ามีประเด็นที่ควรเปลี่ยนแปลงอยู่ด้วย การศึกษาต้องช่วยเปิดเผย "ความลับที่เห็นโจ่งแจ้ง" แต่มีเส้นผมบังอยู่ เหล่านี้ โดยใช้เครื่องมือ ไตร่ตรองสะท้อนคิดอย่างยิ่งยวด ซึ่งเมื่อทำจนติดเป็นนิสัย การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ก็จะเกิดขึ้นต่อเนื่องเรื่อยไปตลอดชีวิต

การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่ต้องใช้ reflection เฉยๆ แต่ต้องใช้ critical reflection ซึ่งเป็นคำเฉพาะหรือวิสามานยนาม ที่ผู้เขียนนิยามว่าหมายถึง ความพยายามอย่างยิ่งยวด ที่จะเปิดเผย และตรวจสอบ สมมติฐานที่กำกับพฤติกรรมของตัวเรา ๓ ด้านคือ สมมติฐานด้านกระบวนทัศน์ สมมติฐานด้านการกำหนดกติกา และสมมติฐานด้านการเป็นเหตุเป็นผล

การไตร่ตรองใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างยิ่งยวด (critical reflection) ต้องพุ่งเป้าไปที่สมมติฐานทั้งสามนี้ ในความหมายของผู้เขียน

สมมติฐานด้านกระบวนทัศน์ (paradigmatic assumptions) หมายถึงการกำหนดโครงสร้าง กำหนดกรอบสมมติฐาน ต่อชีวทัศน์ ของเรา เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดโลกทัศน์ของเรา

สมมติฐานด้านการกำหนดกติกา (prescriptive assumptions) หมายถึงสมมติฐานที่เรายึดถือ ว่าวิธีการที่ดีที่สุด พฤติกรรมที่เหมาะสม ฯลฯ ควรเป็นอย่างไร

สมมติฐานด้านการเป็นเหตุเป็นผล (causal assumptions) หมายถึงสมมติฐานด้านการเป็นเหตุเป็นผล ที่ใช้กำกับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน

และที่ขาดไม่ได้คือ การไตร่ตรองใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างยิ่งยวด ต้อง(ครอบคลุมและ)เลยสมมติฐานทั้งสาม ไปสู่ประเด็นเรื่องอำนาจ (power) และการครอบงำ (hegemony)

ต้องตั้งคำถามเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และการครอบงำ ที่แฝงอยู่ และมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม

นั่นคือ การไตร่ตรองใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างยิ่งยวด ใช้ทฤษฎี Critical Theory ซึ่งบอกว่า ใน critical thinking เราต้องสามารถท้าทายสิ่งที่เป็นกระแสหลักในสังคมได้ โดยแยกแยะประเด็นออกมาท้าทาย และเปลี่ยนแปลง

Critical Theory มีสมมติฐานเกี่ยวกับโลกอยู่ ๓ ข้อ คือ (๑) โลกเสรีนิยมประชาธิปไตยตะวันตก เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ทั้งด้านเศรษฐกิจ แบ่งแยกเชื้อชาติ และชนชั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดา (๒) การที่สภาพตามข้อ ๑ ดำรงอยู่อย่างเป็นปกติวิสัย เกิดจากคตินิยมของผู้เหนือกว่า (๓) critical theory พยายามทำความเข้าใจ และเปลี่ยนแปลงข้อ ๑ และ ๒

ดังนั้น การไตร่ตรองใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างยิ่งยวด จึงไม่ใช่แค่เพื่อทำความเข้าใจ ๓ สมมติฐาน ๒ ประเด็น ข้างต้น เพื่อใช้ทำงานตามกระบวนทัศน์เดิม ให้มีประสิทธิผลดียิ่งขึ้น แต่มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลง และเพื่อสร้างนิสัยส่วนบุคคล

วิชาที่สอน ชื่อ Critical Thinking and Critical Theory แก่นักศึกษาของวิทยาลัยการศึกษาในนิวยอร์ก เป็นวิชาในกลุ่ม เพื่อการพัฒนาวิชาชีพ มี ๑ เครดิต ตัดสิน pass/fail สอนเป็น workshop 2 วันติดต่อกัน เริ่มปี ค.ศ. 1987 และสอนติดต่อกันเรื่อยมา มีนักศึกษาผ่านวิชานี้ไปแล้วเป็นพันคน มีทั้งนักศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา จำนวนหนึ่งเพื่อเตรียมตัวไปทำงานในองค์กรธุรกิจ


การไตร่ตรองใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างยิ่งยวด Critical Theory และทุนนิยม

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ใช้ทุนนิยมเป็นอุดมการณ์หลัก บูชาคุณค่าของอิสรภาพ เสรีภาพ และปัจเจกชนนิยม เป็นอุดมการณ์ที่เชื่อกันว่านำมาซึ่ง ความมั่งคั่ง และกระตุ้นพัฒนาการทางเทคโนโลยี จิตวิญญาณของผู้ประกอบการในหมู่ประชาชน ดังนั้นการจัดกิจกรรมเพื่อวิพากษ์จุดอ่อนของทุนนิยม จึงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยต้องชี้ให้นักศึกษาแยกแยะระหว่างอุดมการณ์และบทบาทของทุนนิยม และบทบาทของตัวนักศึกษาในระบบ

วิธีการหนึ่งที่ผู้เขียนใช้ คือให้นักศึกษาลองใช้ critical theory / critical reflection ต่อทฤษฎีของ มาร์กซ โดยที่ในความเป็นจริงแล้วงานของ มาร์กซ เป็นที่มาของ critical theory วิธีนี้จะช่วยให้นักศึกษาคุ้นเคย กับการประยุกต์ใช้ critical theory / critical reflection ต่อความเชื่อต่างๆ ได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ รวมทั้งคุ้นเคยกับการวิพากษ์ตนเอง และสบายใจว่า การวิพากษ์ลัทธิทุนนิยม ไม่ได้หมายความผู้นั้นเป็น มาร์กซิสต์ และไม่ได้หมายความว่าทุนนิยมเลวไปเสียทุกด้าน

ในรายวิชา Critical Thinking and Critical Theory ผู้เขียนเริ่มโดยการทำให้นักศึกษาเข้าใจความหมาย ของคำ ตามที่เกริ่นมาแล้วตอนต้นบันทึกนี้ โดยอธิบายเชื่อมกับความหมาย และวิถีปฏิบัติในชีวิตจริง ของตัวผู้เขียนเอง เพื่อให้เข้าใจง่าย อ่านแล้วเห็นว่า ศาสตราจารย์ท่านนี้วิพากษ์สังคมอเมริกันอย่าง ถึงพริกถึงขิงจริงๆ

ท่านนำเสนอ Critical Theory ต่อนักศึกษา โดยใช้ ๓ เรื่องใหญ่ๆ เป็นตัวเดินเรื่อง คือ (๑) มองเผินๆ สังคมตะวันตกเป็นสังคมเปิด แต่เป็นประชาธิปไตยที่มีความไม่เท่าเทียมกันสูงมาก เป็นสังคมที่ ยอมรับความเป็นจริงด้าน ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ การแบ่งเชื้อชาติ และการแบ่งแยกชนชั้น (๒) ดู เสมือนว่าสภาพสังคมที่เป็นปกติในปัจจุบัน ต้องเป็นเช่นนี้แหละ เป็นแบบอื่นไปไม่ได้ นี่คือการครอบงำ โดยอุดมการณ์หลัก (dominant ideology) ที่จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนี้ คือมีทางเลือกอื่น (๓) critical theory พยายามทำความเข้าใจประเด็นทั้งสอง ไปพร้อมๆ กับพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลง

หลังจากนั้นจึงให้เวลาอ่านเอกสารเกี่ยวกับ critical theory ที่คัดลอกมาจากที่ต่างๆ หลายแหล่ง ที่เป็นเอกสารสั้นๆ เช่น ย่อหน้าเดียว หรือหน้าสองหน้า เพื่อทำความเข้าใจสาระของการถกเถียงเกี่ยวกับ ทฤษฎีดังกล่าว ตามด้วยการแลกเปลี่ยนถกเถียงกันในกลุ่มย่อย โดยมีตัวอย่างคำถามให้ในเอกสารชิ้นงาน ดังตัวอย่าง

หลังจากได้อ่านเอกสาร (คนเดียว อย่างเป็นส่วนตัว) แล้ว ขอให้จับกลุ่ม ๔ - ๖ คน เพื่อแสดงปฏิกิริยาจากการอ่าน โดยมีคำถามที่แนะนำคือ

  • ๑.ประเด็นใดจากเอกสารที่เด่นชัดที่สุด และที่ก่อความเห็นขัดแย้งที่สุด สำหรับท่าน
  • ๒.องค์ประกอบของ อุดมการณ์หลัก ในสหรัฐอเมริกา คืออะไรบ้าง
  • ๓.ความเชื่อ และการปฏิบัติ เชิงครองโลกที่ท่าน (หรือคนที่ท่านรู้จัก) มีอยู่ คืออะไร
  • ๔.การศึกษาในมหาวิทยาลัยนี้มีลักษณะเป็นสินค้าในระดับใด และในฐานะเป็นนักการศึกษา ตัวท่านได้ทำให้การศึกษาเป็นสินค้าอย่างไรบ้าง
  • ๕.มหาวิทยาลัยนี้ หรือสถาบันที่ท่านสังกัด ได้ปฏิบัติในฐานะเครื่องมือสืบทอดอุดมการณ์หลักของรัฐ (ISA – Ideological State Apparatus) อย่างไรบ้าง

การแปลกแยก (Alienation)

  • ๑.ประเด็นใด เกี่ยวกับการแปลกแยก ที่เด่นชัดที่สุด และที่ก่อความเห็นขัดแย้งที่สุดสำหรับท่าน
  • ๒.ท่านมองว่าการทำงาน หรือการดำรงชีวิตด้านอื่นของคุณ เป็นการแปลกแยกอย่างไรบ้าง
  • ๓.คุณรู้สึกแรงกดดันให้ต้องทำตามๆ กันอย่างอัตโนมัติอย่างไรบ้างในชีวิต ในการศึกษา หรือในการทำหน้าที่นักการศึกษา
  • ๔.กระแสการตลาดมีผลต่อชีวิต การเรียน และการงาน ของท่านอย่างไรบ้าง
  • ๕.ท่านมีความเห็นต่อคำเหล่านี้อย่างไรบ้าง น่าชื่นชมเพราะตรงกับใจตนเอง (congenial), ทำให้รู้สึกว่าตนโง่ (intimidating), ทำให้พิศวง (puzzling), ทำให้สว่างทางปัญญา (illuminating)

อำนาจ (Power)

  • ๑.ข้อเขียนเกี่ยวกับอำนาจส่วนใด ที่เด่นชัดที่สุด และที่ก่อความเห็นขัดแย้งที่สุดสำหรับท่าน
  • ๒.ค่ายความจริงค่ายใดที่ท่านมองว่าท่านสังกัดอยู่ ในการดำรงชีวิต การเรียนรู้ การทำงาน และในการทำหน้าที่นักการศึกษา
  • ๓.คุณรู้สึกว่ากำลังถูกตรวจตราอย่างไม่รู้ตัวอย่างไรบ้าง
  • ๔.ประสบการณ์ด้านอำนาจของคุณ มีส่วนสอดคล้อง หรือขัดกัน กับทฤษฎีอำนาจของ ฟูโก้ (Foucault) ในฐานะลูกโซ่ (chain), กระแส (flow), และเครือข่าย (web) ทั้งที่เป็นการกดขี่ และที่เป็นการปลดปล่อย
  • ๕.คุณดำเนินการเพื่อลดทอนอำนาจครอบงำ (dominant power) อย่างไรบ้าง
  • ๖.ท่านมีความเห็นต่อคำเหล่านี้อย่างไรบ้าง น่าชื่นชมเพราะตรงกับใจตนเอง (congenial), ทำให้รู้สึกว่าตนโง่ (intimidating), ทำให้พิศวง (puzzling), ทำให้สว่างทางปัญญา (illuminating)

ขอให้เตรียมนำเสนอ ๑ - ๒ คำถามหรือประเด็นต่อชั้นเรียน

ผมนำเอารายละเอียดคำถามจากหนังสือมาลงไว้ เพราะเป็นคำถามที่กระตุก หรือท้าทายความคิด (provocative) ดีจริงๆ ผมคิดว่า อาจารย์ที่เก่ง อยู่ที่ความสามารถในการตั้งคำถามที่หมิ่นเหม่ และท้าทาย เช่นนี้แหละ

ผู้เขียนบอกว่า ในช่วงเวลาครึ่งวันของ workshop สำหรับทำความเข้าใจ Critical Theory นักศึกษาชอบ ช่วงเวลาอ่านคนเดียว (อย่างเป็นส่วนตัว) มาก ช่วงนี้ให้เวลาประมาณ ๔๕ นาที ทำให้ผมสะท้อนคิดกับตัวเอง ว่า ผมก็ชอบ และกำลังปฏิบัติอยู่ในขณะนี้

ผมคิดต่อว่า ที่ช่วงเวลาอ่านคนเดียวมีคุณค่ามาก ก็เพราะมีช่วงอภิปรายแลกเปลี่ยนในกลุ่มย่อยตามมา และที่ผมอ่านคนเดียวมีค่ามาก ก็เพราะเมื่ออ่านแล้ว ผมตีความออกมาเป็นบันทึกแลกเปลี่ยนในวงกว้าง


สร้างโมเดลเพื่อสอน Critical Reflection

หลักการคือ ต้องสร้างโมเดลของ critical reflection ซึ่งเป็นนามธรรม ให้เป็นการกระทำที่เป็นรูปธรรม โดยผู้เขียนใช้วิธีเล่าเรื่องของตนเอง ให้เห็นว่าเรื่องนี้มีผลอย่างไรต่อชีวิตของผู้เขียน เป็นเรื่องที่สะท้อน ความเขลา ที่น่าขบขัน

อีกวิธีหนึ่งคือใช้ CIQ (Critical Incident Questionnaire) ที่ใช้แบบสอบถาม ๑ หน้าให้นักศึกษากรอก และอาจารย์เก็บไปอ่านตอนกลางคืน แบบสอบถามมีคำถามปลายเปิด ๕ ข้อให้นักศึกษากรอก โดยไม่ลงชื่อ ใช้เวลาเพียง ๕ นาที ถามเกี่ยวกับช่วงเวลาที่รู้สึกดื่มด่ำ (engaging) ที่สุด และที่รู้สึกห่างเหิน (distancing) ที่สุดในชั้น สิ่งที่มีคนทำและเป็นการช่วยเหลือมากที่สุด ที่น่าพิศวงที่สุด รวมทั้งสิ่งที่สร้างความแปลกใจ ให้แก่ผู้เข้าร่วม workshop มากที่สุดในวันแรก

ตอนกลางคืน ผู้เขียนวิเคราะห์ผลจาก CIQ นำมารายงานต่อ workshop ในตอนเช้า เพื่อเป็นตัวอย่างของ critical thinking in action ว่าผู้เขียนได้นำข้อมูลจาก CIQ มาวิเคราะห์อย่างไร และนำมาใช้ปรับปรุงหรือยืนยันกระบวนการที่วางแผนไว้อย่างไร ในเชิงส่วนตัว นี่คือการฝึกปฏิบัติ critical reflection ของผู้เขียน

ผู้เขียนบอกว่า การฝึก critical reflection ต้องกล้าทำกับเรื่องที่มีความเสี่ยงหรือล่อแหลม ซึ่งใน workshop ทำโดยให้นักศึกษาตั้งคำถามต่อกัน แล้วให้บอกว่า ตีความว่าคำถามนั้นตั้งอยู่บนสมมติฐานอะไร ได้บ้าง เป็นการเสวนากันโดยไม่ตัดสินถูกผิด


ใช้ Peer Learning เป็นฐานในการฝึก Critical Reflection

การไตร่ตรองใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างยิ่งยวด (critical reflection) เป็นกิจกรรมทางสังคม ที่เรียกว่า social learning คือต้องการปฏิสัมพันธ์ในหมู่เพื่อนนักศึกษา เป็นการเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มเพื่อน (peer learning) อาศัยกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจประเด็นใดประเด็นหนึ่งแจ่มชัดขึ้น ลึกซึ้งขึ้น และเชื่อมโยงขึ้น รวมทั้งมองเห็นประเด็นขัดแย้งในประเด็นนั้นๆ ด้วย และได้เข้าใจว่าคนอื่นมองประเด็น เหล่านั้นแตกต่างจากตนเองอย่างไร

ตัวอย่างของเครื่องมือ peer learning ที่มีพลังสำหรับใช้ใน workshop ได้แก่

  • the circle of voices นักศึกษาอภิปรายปัญหาหรือประเด็นในกลุ่มย่อย ( ๕ คนเป็นขนาดที่ เหมาะที่สุด) โดยมีกติกา ๒ ข้อ (๑) นักศึกษาแต่ละคนเป็นเจ้าของเวลาคนละ ๑ นาที เพื่อพูดเรื่องอะไรก็ได้เกี่ยวกับประเด็นนั้น ห้ามคนอื่นพูดแทรกหรือขัด แล้วตามด้วยการ อภิปรายในกลุ่ม ซึ่งต้องเป็นไปตามกติกาข้อ ๒ (๒) ไม่ว่าใครจะอภิปรายอะไร ต้องเป็นเรื่อง ที่สืบเนื่องจากประเด็นที่มีคนพูดมาแล้ว กติกาข้อที่ ๒ เป็นตัวกำหนดให้สมาชิกกลุ่ม ต้องฟังคนอื่นอย่างตั้งใจ
  • circular response method เป็นเครื่องมือสำหรับการประชุมกลุ่มย่อย ขนาดที่พอเหมาะคือ ๘ คน สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเป็นเจ้าของเวลา ๑ นาที สำหรับพูดในประเด็นที่ตกลงกัน มีเงื่อนไขว่า ต้องพูดเชื่อมโยงกับประเด็นที่มีคนพูดมาก่อนแล้ว โดยหยิบประเด็นของคนอื่น มาสนับสนุน ขยายความ หรือมองต่างมุม/คัดค้าน หรือบอกว่าคำพูดของคนก่อนไม่ชัดเจนอย่างไร ก็ได้


ไตร่ตรองสะท้อนคิด

การฝึก การไตร่ตรองใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างยิ่งยวด (critical reflection) ตามในบทนี้ ไม่ได้ฝึกเฉพาะตัวเทคนิค แต่เป็นกิจกรรมเพื่อทำความเข้าใจ อำนาจ การครอบงำ เพื่อวิพากษ์อุดมการณ์ที่ครอบงำ (dominant ideology) ของทุนนิยม คนขาวเป็นใหญ่ รังเกียจคนรักร่วมเพศ เพศชายเป็นใหญ่ ฯลฯ

กิจกรรมนี้มีข้อพึงสังวรณ์ ๒ ประการคือ (๑) ย่อมมีแรงต้าน (๒) ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนมีนิสัย เปิดเผยตนเองไม่เท่ากัน ต้องหาทางสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน เพื่อสร้างบรรยากาศที่สบายใจต่อการเปิดเผยตนเอง

ไม่ว่ามีชีวิตอยู่ในสังคมใด ย่อมมีประเด็นขัดแย้งเสมอ


ข้อไตร่ตรองสะท้อนคิดของผม

เป็นการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงด้วยการตั้งคำถามต่อสิ่งที่กำกับวิถีชีวิตตามปกติของเรา หาทฤษฎีหรือวิธีคิดใหม่มาไตร่ตรองตรวจสอบ ทำจนเป็นนิสัย การเรียนรู้ สู่การเปลี่ยนแปลง (transformative learning) ก็จะเป็นวิถีชีวิต ตามปกติของเรา



วิจารณ์ พานิช

๓ ม.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 590744เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2015 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2015 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

I think we have to gather courage to start a new way -- a journey -- and we have to learn to take (new) pains to achieve the new goal. Once done, we can reflect and learn from what we have done, But if we stop there, we stop learning!

I agree with you ... Good idea

Now I study transformative Learning too

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท