เก็บตกวิทยากร (24) : มนุษย์ที่อยากให้มีในสังคม-โลก


ซ่อนนัยสำคัญเกี่ยวกับการฝึกทักษะการสื่อสาร (พูด-บอกเล่า-ฟัง-จับประเด็น-บันทึก) หรือกระทั่งฝึกการบริหารงานและเวลาภายในกลุ่ม ฝึกการรับรู้รับฟัง ฝึกการเคารพความคิดฝันและเหตุผลของผู้อื่น

ก่อนพักรับประทานอาหารกลางวัน (๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘) อันเป็นช่วงที่พระอาจารย์ทั้งสองรูปกำลังฉันภัตตาหารเพล ช่วงนั้นดูเหมือนจะมีเวลาประมาณ ๑๘-๒๐ นาที ผมตัดสินใจพลิกกระบวนการเรียนรู้แบบ "ดิบด่วน" เพื่อก่อให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ในแบบบันเทิงเริงปัญญา –




วาดภาพ : มนุษย์ที่อยากให้มีในสังคม-โลก

ผมเชิญชวนให้นิสิตนักศึกษาได้วาดรูปในหัวข้อประมาณว่า "มนุษย์ที่อยากให้มีในสังคม-โลก"

กระบวนการดังกล่าวนี้ ผมต้องการให้นิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมเวทีได้ฝึกขบคิดและถ่ายทอด "ความคิด-จินตนาการ" (นามธรรม) ออกมาเป็นภาพวาด (รูปธรรม) โดยใช้งานศิลปะเป็นสะพานเชื่อมโยงและถ่ายทอด (สื่อสาร)

อันที่จริงผมซ่อนนัยสำคัญของกิจกรรมนี้ไว้หลายอย่าง เป็นต้นว่า การฝึกให้นิสิตนักศึกษาในฐานะของการเป็นแกนนำโครงงานคุณธรรมจริยธรรมได้ฝึกออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง นับตั้งแต่การ "สร้างทีม" หรือการ "เฟ้นหาทีมงาน" เข้ามาร่วมขับเคลื่อนโครงงานฯ



ดังนั้น "มนุษย์ที่อยากให้มีในสังคม-โลก" จึงเป็นเสมือนบุคคล หรือผู้คนที่พวกเขาอยากให้มีอยู่ในทีมงานนั่นแหละ – นั่นคือนัยสำคัญสิ่งที่ผมซ่อนซุกไว้ โดยไม่ได้บ่งบอก หรือบอกย้ำในกระบวนการ เพราะอยากให้ทุกคนได้คิดฝันเพลินๆ และถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นธรรมชาติๆ มากกว่าการปักหมุดอย่างเด่นชัด ซึ่งบางทีมันอาจ "เกินจริง" จน "เกินไป"



บอกเล่าแบ่งปัน (กลุ่มย่อย) : มนุษย์ที่อยากให้มีในสังคม-โลก

ครั้นทุกคนวาดภาพเสร็จสิ้นแล้ว ผมให้แต่ละคนบอกเล่าคุณลักษณะของบุคคลในภาพวาดของตนเองให้เพื่อนในกลุ่มได้ร่วมรับรู้ โดยให้บอกเล่าในสองประเด็นหลัก คือ (๑) เป็นภาพเกี่ยวกับอะไร (๒) ทำไมถึงต้องวาด หรืออยากได้บุคคลในลักษณะเช่นนั้น

กระบวนการดังกล่าวนี้ ผมขอให้ภายในกลุ่มมีใครสักคนทำหน้าที่จดบันทึกว่าแต่ละคนพูดถึงคุณลักษณะสำคัญๆ อย่างไร โดยให้ประมวลข้อมูลร่วมกัน




กระบวนการเรียนรู้เหล่านี้ ผมยังคงเดินหน้าในทำนองเดิม คือไม่ได้บอกวัตถุประสงค์อะไร ซ่อนนัยสำคัญเกี่ยวกับการฝึกทักษะการสื่อสาร (พูด-บอกเล่า-ฟัง-จับประเด็น-บันทึก) หรือกระทั่งฝึกการบริหารงานและเวลาภายในกลุ่ม ฝึกการรับรู้รับฟัง ฝึกการเคารพความคิดฝันและเหตุผลของผู้อื่น ฯลฯ- ซึ่งล้วนเป็นทักษะอันสำคัญที่พวกเขาต้องนำไปใช้ในการขับเคลื่อนโครงงานอย่างเป็น "ทีม"

และการบอกเล่าภายในกลุ่มเช่นนั้น จริงๆ ก็คือหนึ่งในกระบวนการของการละลายพฤติกรรมภายในกลุ่มด้วยเหมือนกัน เป็นการละลายพฤติกรรมที่ไม่ต้องตีกลองร้องเต้นให้ได้เหงื่อ แต่เป็นการละลายพฤติกรรมทางความคิดที่มุ่งให้แต่ละคนได้ "สบตา" และมองผ่านเข้าไปใน "ความคิดและจิตใจ" ของกันและกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป




บอกเล่าแบ่งปัน (องค์รวม) : มนุษย์ที่อยากให้มีในสังคม-โลก


เมื่อแต่ละกลุ่มบอกเล่า หรือแบ่งปันกันเสร็จสิ้นภายในกลุ่มแล้ว ผมก็เชิญชวนให้แต่ละกลุ่มได้ส่งตัวแทนบอกเล่าคุณลักษณะ "มนุษย์ที่อยากให้มีในสังคม-โลก" ภายในกลุ่มของตนเองให้เพื่อนร่วมเวทีได้รับรู้และรับฟังพร้อมๆ กัน โดยเริ่มจากกลุ่มที่ "พร้อม" อันหมายถึง "พร้อมเล่า" (พร้อมสื่อสาร-แบ่งปัน)

ในช่วงของการบอกเล่าในแต่ละกลุ่ม ผมพยายามจดบันทึกอย่างดิบด่วนเป็นประเด็นๆ โดยยังไม่ได้ขมวด วิเคราะห์ สังเคราะห์จัดหมวดหมู่ เป็นการประมวลโดยไม่ใช้กรอบแนวคิดอันเป็นทฤษฎีใดๆ มาจับประเด็น



เหตุที่ต้องทำเช่นนั้นก็เพราะซ่อนนัยสำคัญไว้อีกประการหนึ่ง นั่นก็คือ เมื่อบอกเล่าครบทุกกลุ่มแล้ว ผมก็ชวนให้ทุกคนในเวทีได้ร่วมคิด "คำจำกัดความ" แบบสั้นๆ ในเชิง "วาทกรรม" ร่วมกันว่าที่นำเสนอมาทั้งหมดนั้น หากต้องบัญญัติศัพท์เป็นวาทกรรมให้จำง่ายๆ ควรเป็นวาทกรรมทำนองใดดี - เป็นการฝึกทักษะของการ "จับประเด็น" สร้าง "วาทกรรม" เสมอเหมือนการ "สร้างคำ-สร้างพลัง" ไปในตัว

การสร้างคำสร้างพลังดังกล่าว ผมมีความเชื่อว่า นั่นคือการสื่อสารสร้างสรรค์ (สื่อสารสร้างพลัง) ในอีกมิติ และเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่จะทำให้นิสิตนักศึกษาเหล่านี้ –ผู้ซึ่งเป็น "ผู้นำ" สามารถนำไปใช้เป็นกลยุทธ์ในการปลุกฝันและปลุกพลังให้กับทีมงานโครงงานฯ ได้ -




และนี่คือส่วนหนึ่งอันเป็นประเด็น (มนุษย์ที่อยากให้มีในสังคม-โลก) ที่ปรากฏอยู่ในภาพวาดของนิสิตนักศึกษาที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีดังกล่าว

  • มีความยืดหยุ่น
  • มีความคิดนอกกรอบ
  • เป็นตัวของตัวเอง
  • ฮีโร่ พิทักษ์ความดี
  • มีความรอบรู้-ใฝ่รู้- มีปัญญา
  • รักสัตว์
  • เล่นดนตรี
  • เข้าใจวิถีพุทธ
  • มีวิสัยทัศน์ใจกว้างไม่เอาแต่ใจ - รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
  • ร่าเริง แจ่มใส มีความเป็นเด็กอยู่ตลอดเวลา
  • คิดเป็น ทำเป็น
  • แน่วแน่ มั่นคง มุ่งมั่น - เป็นนักทำ มากกว่านักพูด
  • จิตอาสา มีคุณธรรม จริยธรรมเคารพกติกาสังคม
  • ใจใหญ่ - กล้าคิด กล้าทำ
  • หุ่นดีๆ ไม่อ้วน มีสุขภาพที่แข็งแรง
  • รับมือกับความเครียด และสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดี



ท้ายที่สุดนี้ จะว่าไปแล้ว ประเด็นที่ฉายชัดในภาพวาดของแต่ละคน ขณะหนึ่งก็เป็นเสมือนการตอกหมุดภาพลักษณ์ หรือบุคลิกภาพของผู้นำไปในตัวด้วยเหมือนกัน หรือกลุ่มคนในอุดมคติที่เหล่าบรรดาแกนนำโครงงานคุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ พึงใจอยากมีไว้ร่วมทีม ฯ

การอยากมีไว้ร่วมทีม-อาจหมายถึงปัจจัยความสำเร็จของการขับเคลื่อนงาน หรือไม่ก็ยังวาดภาพยึดโยงถึงสังคมอุดมคติที่อยากมีคนในลักษณะเช่นนี้ไว้ในสังคมให้ได้มากที่สุด เพื่อจรรโลงให้สังคม-โลกน่าอยู่และนาใช้ชีวิต

ถึงแม้ผมจะไม่สรุปประเด็นอะไรให้แจ่มชัด รวมถึงการไม่สรุปว่า ก ระบวนการที่จัดทำขึ้นนั้น จริงๆ ซ่อนนัยสำคัญใดไว้บ้าง แต่ก็เชื่อว่านิสิตนักศึกษาในเวทีดังกล่าวจะพอทำความเข้าใจได้ด้วยตนเองอย่างไม่ยากเย็น รวมถึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตและการงานที่กำลังย่างกรายมาเยือนได้-ไม่มาก ก็น้อย





หมายเหตุ
๑. การอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ระดับอุดมศึกษา(เยาวชนไทยร่วมใจทำความดีถวายในหลวง) ประจำปี 2558 ระหว่างวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2558 ณ ห้องประชุม 1 อาคารพัฒนานิสิต กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

๒.ภาพ โดย กลุ่มงานกิจกรรมนิสิต / งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศนิสิต กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม



หมายเลขบันทึก: 590736เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2015 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2018 00:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

-สวัสดีครับ

-"ดิบด่วน"ศัพท์ใหม่สำหรับผม....เข้าใจในความหมาย.."ดิบด่วน"

-การละลายพฤติกรรมเท่าที่เคยเห็นมาส่วนใหญ่จะตีฆ้องร้องป่าวหรือกิจกรรมเคลื่อนไหวต่างๆ แบบที่อาจารย์บอก

-วิธีการละลายพฤติกรรมแบบนี้...น่าสนใจ..นะครับ

-ขอบคุณครับ

มาร่วมชื่นชมกิจกรรมดีๆเช่นนี้ค่ะ...

เป็นคำถามที่จูงใจมากนะคะ ทำให้พี่อยากตั้งคำถามต่อไปนะคะว่า แล้วเราจะทำอย่างไรให้มีมนุษย์ตามอุดมคติที่เราใฝ่ฝัน

ครับ อ.เพชรน้ำหนึ่ง

โดยหลักๆ แล้ว กระบวนการทุกอย่าง พระวิทยากรท่านเป็นคนบริหารจัดการครับ กิจกรรมที่ผมจัดขึ้น เป็นการแทรกคั่นเวลาในช่วงที่ท่านฉันภัตตาหารเพล โดยมองแล้วว่า น่าจะหากิจกรรมมาสร้างบรรยากาศ ละลายพฤติกรรมในแบบลุ่มลึกๆ ... เดิมก็ตั้งใจจะเอาสนุก ลุกวิ่ง ขยับแข้งขยับขาเหมือนกัน แต่ก็ตัดสินใจใช้กระบวนการนี้ เพื่อให้ปรับสภาวะของแต่ละคนให้หันกลับมามองตนเองและคนรอบข้างไปพร้อมๆ กันครับ



ขอบพระคุณครับ พี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

กิจกรรมนี้ ได้ครบรสบันเทิง เริงปัญญา
และได้ทักษะด้านการสื่อสารผ่านงานศิลปะเล็กๆ ด้วยเช่นกันครับ

ครับพี่nui

ที่สุดแล้ว กิจกรรมนี้ก็ชวนให้ทุกคนหวนกลับมาสู่ตัวเองครับ ผมมีเวทีเล็กๆ เก็บตกว่า บุคคลที่พึงประสงค์ที่แต่ละคนวาดนั้น ในตัวตนของแต่ละคนมีคุณลักษณะใดบ้างแล้ว....5555


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท