ถอนฟันอย่างมีสติสัมปชัญญะ


คยไหมคะ ที่คิดว่าจะฝึกสติสัมปชัญญะ ด้วยการรู้ว่าจะเปลี่ยนอิริยาบถอย่างไร จะก้าวเดินอย่างไร จะเหยียดแขนอย่างไร จะนั่ง จะนอน อย่างไร และระหว่างการเคลื่อนไหว ก็จะตั้งใจดูการเคลื่อนไหวเพียงอย่างเดียวด้วยความคิดว่าจะทำจิตให้ว่าง

แต่ในชีวิตจริง ยากที่จะเป็นไปได้ค่ะ ว่าการตั้งใจดูแต่อิริยาบถนั้นจะเกิดผลสำเร็จ เกิดเป็นใจที่ว่างจากกิเลสอย่างแท้จริง

เว่ยหลางเคยแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับจิตว่างไว้ ขอยกมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

" เพราะเหตุที่ใจนั้นมีรัศมีทำงานกว้างขวางใหญ่หลวง เราจึงไม่ควรใช้มันทำงานกระจิริดไร้เดียงสา (เช่น การนั่งเงียบๆ ทำใจว่างๆ เฉยๆ) อย่าพูดถึง "ความว่าง" เป็นวันๆโดยไม่ได้ทำจิตให้พบกับความว่างนั้น คนที่(พร่ำแต่ปากว่าว่างๆแต่จิตไม่ได้สัมผัสความว่างจริงๆเลย) ทำเช่นนี้ ควรถูกเปรียบกันกับคนที่ประกาศตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์ด้วยปากของเขา แต่ที่จริงเขาก็เป็นราษฎรธรรมดา โดยวิถีทางปฏิบัติเช่นนี้ จะไม่บรรลุถึงปรัชญาเลย " (พุทธทาสภิกขุ สูตรเว่ยหลาง หน้า ๒๕)

และหากเราศึกษาความหมายของคำว่าสัมปชัญญะให้ถี่ถ้วนขึ้น บางที การดูอิริยาบถของเราอาจเปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้เล่ามาในข้างต้นก็ได้นะคะ

สติสัมปชัญญะนั้น เป็นสิ่งที่เราควรนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ควรฝึกให้มีขึ้นและให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ในการฝึกตนเพื่อให้คิดว่าจิตตนว่างเท่านั้น

คนไข้คนหนึ่งปวดฟันมาก จึงมาหาคุณหมอชาย เมื่อคุณหมอชายได้ตรวจดูแล้ว เห็นว่าสมควรเอาฟันออกเพราะนอกจากจะฟันจะผุมากแล้ว เนื้อฟันยังเหลือน้อย การรักษารากฟันแม้จะทำให้สามารถเก็บฟันไว้ได้ แต่อีกไม่นานก็คงต้องเอาฟันอกอยู่ดี ระยะเวลาที่ยืดการเอาฟันออกไปจึงอาจไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย จึงหารือกับคนไข้ ซึ่งคนไข้ก็เห็นด้วย (๑)

เมื่อตัดสินว่าต้องเอาฟันออกแล้ว คุณหมอชายก็ประเมินว่าควรใช้วิธีใดจึงจะเหมาะ คุณหมอเห็นว่าด้วยกำลังข้อแขนของตน สามารถถอนฟันออกจากปากคนไข้ได้โดยไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีอื่นที่คนไข้อาจปวดแผลมากขึ้นในภายหลัง (๒)

แล้วคุณหมอก็จัดการกับฟันซี่นั้นตามวิธีการที่ตนตัดสิน สองมือจึงวุ่นวาย สาละวนกับใช้เครื่องมือเพื่อถอนฟัน (๓)

ในขณะที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น คุณหมอชายก็ไม่ใส่ใจเรื่องอื่น ใจไม่วอกแวกไปที่อื่น ตั้งสติจดจ่อกับการทำงาน ขั้นตอนในการทำงาน การก้าวหน้าของงานในขณะที่ทำ จนกระทั่งถอนฟันได้สำเร็จ (๔)

หากเทียบองค์ประกอบของสัมปชัญญะ การพิจารณาประโยชน์ที่เกิดขึ้นก่อนการทำงานของคุณหมอก็คือ สาตถกสัมปชัญญะ

ซึ่งประโยชน์นี้ เป็นประโยชน์ที่แท้จริง ที่ไม่นำทุกข์มาให้ภายหลัง ได้ประโยชน์อันเป็นผลที่มาจากเหตุโดยตรง

สมมติว่าคุณหมอเห็นว่าการรักษารากฟันสามารถเก็บค่ารักษาจากคนไข้ได้มากกว่าการถอนฟันแล้วตัดสินใจทำงานอย่างแรก อย่างนั้นไม่เรียกว่าสาตถกสัมปชัญญะ เพราะผลไม่ตรงกับเหตุ เพราะเหตุคือการเอาฟันออก ผลก็คือ ฟันออกจากปาก ไม่ใช่ค่ารักษาอันเป็นเรื่องที่ตามมาทีหลัง

ซึ่งสัมปชัญญะนี้จะเกิดขึ้นและสมบูรณ์ได้ ก็ด้วย โยนิโสมนสิการ หรือการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ที่ต้องอบรมควบคู่กันไปกับ ศีล ที่มีเมตตาเป็นพื้นฐาน และ สันโดษ ด้วย

เมื่อคุณหมอประเมินการทำงานด้วยวิธีต่างๆ วิธีการใดประเมินแล้วสามารถทำงานให้สำเร็จได้โดยสบายแก่กำลังใจกำลังกายตน นั้นคือ สัปปายสัมปชัญญะ

ขณะที่กำลังถอนฟัน คุณหมอมีสติระลึกรู้ถึงสองมือที่วุ่นวาย ยื่น เหยียด หดกลับ (ก็คือการคู้เข้า เหยียดออก ) หยิบเครื่องมือชิ้นนั้น งัด แงะ ดึง อย่างนั้นอย่างนี้ สามารถเทียบได้กับ โคจรสัมปชัญญะ

การแจ่มแจ้ง ไม่หลงลืมในขณะที่คู้เข้าเหยียดออก ไม่หลงลืมขั้นตอนในการทำงาน การระมัดระวังอันตรายหรือข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน ประโยชน์ของการเหยียดคู้ การประมาณกำลังตน การจดจ่อกับการทำงานโดยไม่ส่งใจไปที่อื่น ก็อาจเทียบได้กับ อสัมโมหสัมปชัญญะ

สำหรับการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา วัตถุประสงค์ของการมีสติสัมปชัญญะ คือ การนำไปสู่การมีอินทรีย์สังวรที่บริบูรณ์ (อวิชชาสูตร องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๖๑/๑๓๔ – ๑๓๗) กับการได้ความสงบของใจและปัญญาที่ยิ่งๆขึ้นไป (สมถสูตร องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๕๔/๑๑๖-๑๑๗) เพราะฝึกสติสัมปชัญญะควบคู่ไปกับการอบรมตนด้วยศีล โยนิโสมนสิการ สันโดษ จนเกิดปัญญาจึงเป็นเหตุให้ประพฤติสุจริต และการประพฤติสุจริตทั้งทางกาย วาจา ใจ นี้เอง เป็นเหตุให้การปฏิบัติสติปัฏฐานสมบูรณ์

โดยที่ สาตถกสัมปชัญญะ คือการเห็นประโยชน์ของการฝึกกรรมฐาน สัปปายสัมปชัญญะ คือการเลือกกรรมฐานที่สบาย เหมาะกับจิต โคจรสัมปชัญญะ คือการกำหนดใจอยู่กับกรรมฐานที่ตนเห็นประโยชน์แล้วและเลือกใช้รวมถึงการไปมาโดยไม่แวะเวียนไปทางไหนนอกจากเส้นทางที่จะเอื้อต่อการเจริญกรรมฐานเท่านั้น ส่วน อสัมโมหะสัมปชัญญะ นั้น หมายถึงการไม่หลงลืมการพิจารณาด้วยขันธ์ อายตนะ ธาตุ และ ปัจจัย จนเกิดความเห็นว่าเป็นตน

ดังนั้น หากเราคิดแต่เพียงการเฝ้าดูอิริยาบถว่ากำลังเคลื่อนไหวอย่างไร โดยไม่พิจารณาถึงองค์ประกอบของสัมปชัญญะดังกล่าว ไม่รู้เหตุที่มา ผลที่ไป ไม่รู้ประโยชน์อย่างแท้จริง เราก็อาจจะเพียงปฏิบัติตามที่ได้ยินมาแบบทำตามๆกันไป จนอาจกลายเป็นการปฏิบัติด้วยความงมงายได้

สติสัมปชัญญะนี้ จึงเป็นอีกธรรมที่ควรน้อมเข้ามาในตนค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #สัมปชัญญะ
หมายเลขบันทึก: 590620เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2015 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2015 08:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มีดอกไม้มาฝาก..มีรักมามอบให้..เจ้าค่ะ..

ขอบคุณคุณยายธีมากค่ะ มาเยี่ยมกันบ่อยๆ

4 ก่อนไปเข้าฝึกอบรมกรรมฐานวิธียุบหนอ-พองหนอ กับวัดแห่งหนึ่ง ด้วยเพื่อนชวนและพิจารณาเห็นประโยชน์ ของการฝึก(สาตถ..)และ

พยายามทำตามวิธีท่านสอนแต่ก็เวียนไปหากรรมฐานที่เราคุ้นเตย(โคจร...)

และมีข้องสงสัยระหว่างฝึกในวิธีว่าไม่สบายเพราะได้ยินเพื่อนนั่งข้างมีอาการส่งเสียงประหลาดๆ ร้องเสียงดัง หลายๆคน ผู้ฝึกเกือบทั้งหมดประมาณ 50 คนเป้นเจ้าหน้าที่รพ. ผู้ฝึกสอนก็เริ่มจากช้าๆแลัวค่อยๆเร่งๆ ยุบหนอพองหนอ จนเหลือแต่หนอๆและเร่งอารมณ์ที่เรื่องเดียวให้ถี่ยิบ ผู้มาฝึก จนผมรู้สึกมึนและตึงล้า(สัปายะ..) ท่านบอกทุกคนว่าอาการแบบนี้ไม่เป็นไร เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น ท่านคงกล่าวถูก แต่ใจผมว่าไม่ผ่อนคลาย ไม่สบายแบบสัปปายะ...เห็นตรงข้ามครับ

และสงสัยว่าสุดท้ายจะละคลายกิเลสตัณหาได้อย่างไร(อสัมโมห..) ไม่ได้มีโอกาสได้ถามตอบ

ข้อสงสัยกังวลเต็มไปหมดเลยเป็นอุปสรรคต่อเจริญกรรมฐาน(ปาลิโพช?) ผมเคยอ่าน พอจะทราบว่าการฝึกกรรมฐานจะมีอาการออกมาหลายๆแบบ ระหว่างฝึกผมนำ้ตาปิติก็ไหลเอง แต่ขณะนั้นตัวเองแวะเวียนไปเจริญพุทธานุสติถึงน้ำตาไหล เพราะกลัวว่าตัวเราจะออกอาการประหลาด ควบคุมตนไม่ได้ ยุบหนอพองหนอตามที่ท่านแนะนำ ผมพยายามทำก็ตัวสั่นๆถี่เข้าๆ ผมก็เปลี่ยนวิธีเป้นพุทธานุสสติ ผมเจริญอย่างที่ท่านสอนแนะนำไปต่อไม่ได้ เหมือนการลดกำลังการเร่งลง สุดท้ายท่านบอกว่าได้ระดับ 3 ใน16 ฌาน ในหลายๆ คนในที่นั้นท่านบอกว่าสามารถต่อไปถึงระดับ 4 เกินครึ่งห้อง( ในการฝึก 4 รอบ ช่วง 2 วัน) พวกเราก็สาธุการ..ผมฝึกได้รอบเดียวก็ออกมาก่อน เพราะภาระงานยุ่ง

ท่านก็เมตตาโทรมา บอกว่าผมสามารถฝึกต่อได้ เพราะเริ่มไปได้ระดับหนึ่งแล้ว ต้องเพิ่มกำลัง(อินทรีย์? ผมคงไม่แรงพอ) เลยเรียนท่านว่า ผมตั้งใจจะฝึกอีก แต่มีหลายคำถาม ข้อสงสัย ที่อยากเคลียร์ข้อข้องใจก่อน ค่อยไปเรียนถามท่านพระอาจารย์และขอฝึกพระกรรมฐานแนวของท่าน ครั้งหน้า

อยากให้อาจารย์ณัฐรดา...นำเรื่องนี้ค้นหามาสาธยายในโอกาสต่อไปครับ

...ผม เลยวิเคราะห์เอาเองไปว่า " ปรโตโฆษะ " ของท่านนะดี แต่กับ "โยนิโสมนสิการ" ของผมเองแม้จะมีในเบื่้องต้น แต่ไม่แยบคาย...คลื่นเลยยังไม่รับจูน...มีแต่ฉันทะ แต่วิริยะและจิตตะทำให้ไม่เต็มที่...เลยไม่ก้าวหน้าในกรรมฐาน

เรียน อาจารย์หมอประวิทย์ค่ะ

ก่อนอื่น ขอนุโมทนากับปีติที่เกิดจากการเจริญพุทธานุสสติด้วยค่ะ

การเร่งคำบริกรรมที่ใช้กำกับจิต เช่น ยุบหนอ พองหนอ ให้เร็วขึ้น เข้าใจว่าพระคุณเจ้าท่านคงใช้อุบายแบบเดียวกับการนับเลขอย่างที่อธิบายไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค เพื่อให้จิตจับอยู่กับคำที่ใช้โดยไม่มีช่องว่าง ไม่ให้จิตไหลออกไปเกาะอารมณ์อื่น เมื่อจิตไม่ส่งออกไป จิตก็เป็นสมาธิได้

ตามความเห็น เห็นว่าอาจมีความสับสนเกี่ยวกับคำบริกรรมและลมหายใจค่ะ คือ คำบริกรรมจะเร่งเร็วอย่างไรก็ได้ แต่ ลมหายใจไม่ได้เร่งตามคำที่ใช้ เช่น ในขณะที่หายใจเข้า อาจนับเลขเร็วๆตั้งแต่หนึ่งถึงสิบ หายใจออกก็เช่นกัน หากเราอยู่กับลมหายใจได้โดยไม่ส่งใจไปที่อื่น ลมหายใจจะค่อยๆละเอียดขึ้น กายเราจะสงบขึ้น ไม่มีอาการกระสับกระส่าย จิตก็จะเป็นสมาธิ ตรงข้าม หากเราเร่งลมหายใจให้กระชั้นขึ้นตามคำที่เร็วขึ้น กายน่าจะไม่สบาย กระสับกระส่าย มากกว่าที่จะสงบค่ะ

ในระหว่างที่ตามลมหายใจ หากจิตเผลอคิดเรื่องต่างๆด้วยอำนาจของนิวรณ์ เมื่อรู้ตัว ก็ดึงจิตกลับมา บางท่านให้ดึงจิตกลับมาอยู่กับลมหายใจตามเดิม ทำจิตให้นิ่งตามเดิม เพียรดึงอยู่อย่างนี้จนกว่าจะเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ จึงค่อยหยิบธรรมใดๆมาพิจารณา

แต่บางท่านว่าจิตส่งไปคิดถึงเรื่องอะไร (โดยมากมักเป็นปัญหาคาใจ เรื่องที่ทำให้เราโกรธ ตัดสินใจไม่ได้ ฯลฯ) ให้หยิบเรื่องนั้นแหละ (ธรรมที่ประกอบจิต) มาพิจารณาทันที โดยในเบื้องต้นอาจพิจารณาด้วยความเห็นว่าเป็นตนเพื่อให้คลายใจก่อน โดยเพ่งที่ตน เช่น เราทำอะไรหรือไม่ทำอะไรจึงเป็นปัญหาที่นำไปสู่ทุกข์ได้ พิจารณาเพื่อให้เกิดเมตตา เช่น หากไม่เมตตาตนที่ยังคลายความโกรธไม่ได้ ใจก็ต้องไหลลงสู่ที่ต่ำอย่างนี้ ไหลไปสู่อกุศลธรรมนาๆอยู่อย่างนี้ เมื่อเมตตาตนได้ จึงเมตตาผู้ที่เรายังคลายใจไม่ได้ได้ พยายามหาเหตุผลให้เข้าใจเขาได้

ต่อมาจึงค่อยๆพิจารณาให้พ้นจากความเห็นว่าเป็นตน โดยความเป็นธาตุ เป็นอายตนะ เป็นขันธ์ เป็นปัจจัย จิตก็จะค่อยๆสงบจนเป็นสมาธิได้

ก็จะเป็นการค่อยๆน้อมลงสู่ความว่างได้โดยไม่ใช่การคิดว่าเราจะว่างค่ะ เพราะเมื่อมีเรา ก็ไม่ใช่ความว่างอยู่ดี

หรือการเจริญอนุสติต่างๆ เช่น พุทธานุสติอย่างที่อาจารย์เจริญ เมื่อเข้าใจความหมายของบทที่ยกขึ้นมา จิตก็ปีติ เป็นสมาธิได้เหมือนกัน

มองว่าบุคคลทั่วไป เมื่อเริ่มปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาก็มักตรงไปที่การฝึกสมาธิทันที แต่ตามคำตรัส ตรัสให้น้อมธรรมมาสู่ตนก่อน อบรมตนให้มีศีล ละอกุศลธรรม (ดังที่ตรัสว่าเพราะคลายกิเลสแล้วบางส่วนเธอจึงแจ้งธรรม) มีความเห็นตรง เป็นเบื้องต้นในขณะที่ค่อยๆฝึกสมาธิควบคู่กันไป เมื่อพร้อมด้วยองค์ ๕ ดังที่ตรัสไว้ในเมฆิยสูตร แล้วจึงค่อยฝึกกรรมฐานให้ยิ่งขึ้นในภายหลัง ซึ่งองค์ทั้ง ๕ นั้น สามารถย่อความได้ว่า

เมื่อมีเพื่อนดี ก็พึงหวังได้ว่าเราจะเป็นผู้มีศีล สำรวม มีปกติเห็นภัยแม้ในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานสิกขาบททั้งหลาย

เมื่อมีเพื่อนดี ก็สามารถได้กถาเป็นเครื่องขัดเกลา เพื่อความสงบของจิต เพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อนิพพาน โดยไม่ยาก

เมื่อมีเพื่อนดี พึงหวังการเป็นผู้ปรารภความเพียรที่จะละอกุศลธรรม การบากบั่น ไม่ทิ้งธุระ ได้

เมื่อมีเพื่อนดี พึงหวังว่าจะได้ปัญญาอันประกอบด้วยการพิจารณาเห้นทั้งความเกิดดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้สิ้นทุกข์ ได้

ตรัสต่อว่า

"เมฆิยะ ภิกษุนั้นดำรงอยู่ในธรรม ๕ ประการ นี้แล้ว พึงเจริญธรรม ๔ ประการให้ยิ่งขึ้นไปอีกคือ

๑ พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ

๒ พึงเจริญเมตตาเพื่อละพยาบาท

๓ พึงอานาปานสติเพื่อตัดวิตก

๔ พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อถอนอัสมิมานะ

เมฆิยะ อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ภิกษุผู้ได้อนัตตสัญญา ย่อมบรรลุนิพพานที่ถอนอัสมิมานะได้ในปัจจุบัน"

ขุ.อุ. (แปล) ๒๕/๓๑/๒๓๕-๒๓๖

ขอบพระคุณอาจารย์หมอ ที่แวะมาและชวนสนทนาค่ะ


วันนี้เป็นวันวิสาขบูชา ....

ขอบคุณอาจารย์ที่เป็นหนึ่งใน "เพื่อนดี" และ กรุณาค้นคว้ามาตอบในเวลาอันรวดเร็ว

ขออธิษฐานให้ตน และ ให้ท่านๆ ที่เข้ามาสู่เส้นทาง พึงเจริญ สุตะ -จินตะ และที่สุดแห่ง "ภาวนามยปัญญา " ด้วยกัน

"ถอน อัสมิมานะ" ปกติ ได้ยิน แต่มานะ ขั้นพระอรหันต์ แล้วถอนได้..

นัยยะคำๆนี้ เป็นอย่างไร ขอความกรุณาอาจารย์ ขยายอธิบายความเพิ่มครับ...ขอบคุณครับ

เรียนอาจารย์หมอประวิทย์ค่ะ

มานะ นั้นมีคำแปลว่าความแข็ง ความพยายาม ความกล้า ความตั้งใจ ความสำคัญใจ ใจ ดวงใจ จิตใจ การนับ การวัด เครื่องชั่ง เครื่องตวง เครื่องนับ เครื่องวัด ประมาณ การบูชา การเคารพ ความเคารพ ความนับถือ ความถือตัว ความสำคัญตน

มานะมี 7 ชนิด คือมานะ อติมานะ มานาติมานะ โอมานะ อธิมานะ อัสมิมานะ และ มิจฉามานะ โดยที่แต่ละชนิดมีความหมายอย่างนี้ค่ะ

มานะ คือ ความถือตัว ความสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเปรียบเทียบกับคนอื่นในแง่ต่างๆ คือ สำคัญตนว่าดีกว่าเขา หรือ เสมอเขา หรือต่ำกว่าเขา แต่ละลักษณะยังแยกได้อีก 3 โดยนัยเดียวกัน (เช่น ตนเสมอเขาก็สำคัญตนว่าดีกว่าเขา ตนเสมอเขาก็สำคัญตนว่าเสมอเขา ตนเสมอเขาก็สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา) จึงมีมานะทั้งหมด 9 ลักษณะ ซึ่งความสำคัญตนไปต่างๆมีเหตุมาจากหลายๆเรื่อง เช่น ความสมบูรณ์ของรูปร่าง ความงามของหน้าตา ความสูงของเรือนร่าง การศึกษา ทรัพย์ ชาติตระกูล ชื่อเสียง ฯลฯ

อติมานะ คือ การดูหมิ่นคนอื่น เห็นความสำคัญในแง่ต่างๆของตนแล้วจึงหยิ่งผยองว่าไม่มีใครเป็นอย่างเรา

มานาติมานะ คือ ดูหมิ่นด้วยความทะนงตัว คือเกิดถือตัวว่า คนนี้เมื่อก่อนก็เป็นเหมือนเรา แต่ตอนนี้ต่ำกว่าเรา

โอมานะ คือถือตัวว่าตนเป็นคนเลว

อธิมานะ คือ ถือตัว หยิ่ง ว่าเราบรรลุสัจธรรม 4 ซึ่งไม่มีผู้บรรลุเลย อธิมานะนี้เกิดกับปุถุชนผู้มีศีลบริสุทธิ์ ไม่ประมาทในกรรมฐาน กำหนดนามรูป ไม่ลังเลสงสัยเพราะสามารถกำหนดปัจจัยได้ ยกขึ้นู่พระไตรลักษณ์ พิจารณาสังขาร ปรารภวิปัสสนา ไม่เกิดแก่ผู้อื่น

อัสมิมานะ คือถือเรา คือความสำคัญว่ามีเราอยู่ในขันธ์ทั้ง 5

ในมหาสุญญสูตร ตรัสอธิบายกับพระอานนท์ถึงการละอัสมิมานะไว้ว่า

"[๑๙๑] อานนท์ อุปาทานขันธ์ ๕ นี้ เป็นธรรมที่ภิกษุผู้พิจารณาเห็นทั้งความเกิดความดับว่า 'อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป'

อย่างนี้เวทนา ฯลฯ

อย่างนี้สัญญา ฯลฯ

อย่างนี้สังขาร ฯลฯ

อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ'

ภิกษุนั้นผู้พิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้อยู่ย่อมละอัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอัสมิมานะที่ละได้แล้วนั้น อย่างนี้ว่า 'อัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้ เราละได้แล้วนั้น ด้วยอาการอย่างนี้"

ม.อุ.(แปล) .๑๔/๑๙๑/๒๒๙

มิจฉามานะ คือ ความสำคัญผิด

ขออภัยค่ะที่เรียนมาค่อนข้างช้านะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท