ท้องถิ่นกับการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมกับประเทศไทย


ท้องถิ่นกับการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมกับประเทศไทย

28 พฤษภาคม 2558

สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ [1]

ท้องถิ่นเป็น "จุดตายจุดเกิด" จากบทความ " จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" [2] ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เห็นว่าระบบสวัสดิการของคนเรา เป็นเรื่องที่ต้องอยู่ที่ท้องถิ่น และมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น ในหลาย ๆ ประเด็น ฉะนั้น ท้องถิ่นจึงมีหน้าที่โดยตรงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ "ระบบสวัสดิการสังคม" "เด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส" มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือ องค์กรบริหารท้องถิ่น (อบท.) ดังนี้

พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496

มาตรา 50 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาลดังต่อไปนี้ …

(7) ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

มาตรา 67 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย องค์การบริหารส่วนตำบล มีหน้าที่ต้องทำในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ดังต่อไปนี้

(6) ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540

มาตรา 45 องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการภายในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังต่อไปนี้…

(8) จัดทำกิจการใดๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกิจการนั้นเป็นการสมควรให้ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นร่วมกันดำเนินการหรือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542

มาตรา 16 ให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองดังนี้ …

(10) การสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส

มีประเด็นข้อสังเกตพิจารณาบางประการในบริบทของท้องถิ่น ดังนี้

(1) เด็ก ในที่นี้หมายถึง เด็กเล็กไม่เกิน 3 ปี และเด็ก 3-6 ปี

1.1 การจัดการศึกษาเด็กเล็กหรือเด็กปฐมวัย ต้องถ่ายโอนให้แก่ท้องถิ่น แต่ข้อเท็จจริงยังมีการถ่ายโอน "ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก" หรือ การจัดการศึกษาเด็กปฐมวัย ให้แก่ อปท. ยังไม่ครบ 100 % การพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนถือเป็น "ยุทธศาสตร์" การพัฒนาที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการปลูกฝังเด็กการเรียนรู้ของเด็กตามระบบธรรมชาติมาตั้งแต่เด็กเริ่มหัดเรียนรู้ เสมือนไม้อ่อนที่ดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก ย่อมดีกว่าการพัฒนาการเรียนรู้ในวัยผู้ใหญ่ การทุ่มทรัพยากรและงบประมาณเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยหรือเด็กก่อนวัยเรียนจึงสำคัญยิ่ง และหน้าที่ในการจัดการเรื่องนี้เห็นว่าท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนน่าจะบริหารจัดการได้ดีกว่าหน่วยงานอื่น ๆ

1.2 ในประเด็นเรื่องการถ่ายโอนการศึกษา ควรมีการถ่ายโอนโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 15,000 โรง (จำนวนนักเรียนไม่เกิน 120 คน) จากทั้งสิ้น 35,000 โรงทั่วประเทศ ซึ่งจำนวน 7,000 โรง มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คนให้แก่ อปท. โดยเร็ว [3] เพราะปัจจุบันท้องถิ่นมีการจ่ายงบประมาณต่อปีด้านการศึกษาอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 15 ของงบประมาณด้านการศึกษา [4] การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้นตามการปฏิรูประบบการกระจายอำนาจตามแนวทาง คสช. จึงเป็นสิ่งจำเป็น

1.3 การสำรวจทางทะเบียนราษฎรโดย "สำนักทะเบียนท้องถิ่นฯ" (เทศบาลฯ) ในกรณีของเด็กที่ยังไม่มีหลักฐานทางทะเบียน ซึ่งเป็นเด็กด้อยโอกาส เช่น เด็กไร้รากเหง้า (ไม่มีบุพการี หรือบุพการีทอดทิ้งตั้งแต่เด็ก) รวมถึงเด็กต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นกลุ่ม "ผู้ด้อยโอกาส" คนไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร หรือคนไร้สัญชาติ กลุ่มหนึ่งที่ต้องได้รับการช่วยเหลือในเรื่อง "สถานะบุคคล" ตามหลักสิทธิมนุษยชน

(2) สตรี

2.1 ในฐานะ "สตรี" เป็น "ผู้ฟูมฟักสังคม" เพราะในหลาย ๆ เรื่อง สตรีเป็นผู้มีหน้าที่ในการอบรม เลี้ยงดู บ่มเพาะ และช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะในสังคมในระดับพื้นที่ เช่น อสม. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ส่วนใหญ่ร้อยละ 80-90 จะเป็นสตรี งานการอาชีพชุมชน งานพัฒนาชุมชนหลาย ๆ อย่างในพื้นที่ ส่วนใหญ่จะมีสตรีเป็นผู้นำหรือแกนนำฯ เป็นต้น

2.2 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า งานการพัฒนาชุมชนต่าง ๆ มีพัฒนากร สังกัดกรมการพัฒนาชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ท้องถิ่นซึ่งมีบุคลากรในลักษณะเดียวกันกับกรมการพัฒนาชุม กลับไม่ได้มีบทบาทเต็มที่ในการพัฒนาสตรีในระดับหมู่บ้าน ตำบล ซึ่งมีคณะกรรมการพัฒนาสตรี 4 ระดับ คือ ระดับหมู่บ้านตำบล อำเภอ และจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาสตรี พ.ศ. 2538 [5]

(3) ผู้สูงอายุ

ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยในอีก 10 - 30 ปี ข้างหน้า ซึ่งตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขว่าในอีก 20 ปี ข้างหน้าใน พ.ศ. 2578 ประเทศไทยจะ "เข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด" โดยมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปในสัดส่วนที่มากกว่าร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด [6]

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ชี้สวัสดิการชุมชนของรัฐไม่ตอบโจทย์ท้องถิ่น แนะจับมือชุมชน และ อปท. ดูแลกันเอง [7] เพื่อรับมือกับสังคมสูงอายุที่จะเผชิญใน 30 ปีข้างหน้า

(4) ผู้พิการ [8]

ความเป็นผู้ที่มีสถานะทางสังคมที่อ่อนด้อยในสังคม การเข้าถึงบริการของรัฐจึงถูกจำกัดด้วยโอกาสในการเข้าถึงในหลาย ๆ ด้าน การจ่ายเบี้ยเลี้ยงชีพตามสภาพความรุนแรงของความพิการน่าจะได้รับการพิจารณา เพราะเบี้ยเลี้ยงชีพเพียงเดือนละ 600 บาท น่าจะไม่เพียงพอแก่การดำรงชีพในกรณีความพิการที่รุนแรง เช่น อัมพาต ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ฯลฯ เป็นต้น เพราะ สภาพความรุนแรงของความพิการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเป็นภาระแก่ญาติพี่น้องในการอุปถัมภ์ช่วยเหลือดูแล อันเป็นภาระต่อสังคมในระยะยาว

นอกจากนี้การช่วยเหลือดูแลจากภาครัฐโดยท้องถิ่น ควรรวมถึงการประสานการช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับความเป็นอยู่ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพื่อการช่วยเหลือตนเอง การเลี้ยงชีพ รวมถึงการพัฒนาและฝึกอาชีพด้วย (ถ้ามี) เป็นต้น

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อสังเกตพิจารณาแก่กลุ่มบุคคลที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "ผู้ที่มีสถานะทางสังคมที่อ่อนด้อย" (disadvantaged) เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย และได้รับการพิจารณาดำเนินการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมกับประเทศไทยต่อไป


[1] สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, ข่าว นสพ.สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 28พฤษภาคม 2558 <คอลัมน์การเมืองท้องถิ่น>~หน้า 10 #บทความพิเศษ &

#สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 62 ฉบับที่ 37 วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม - วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน 2558 <หน้า 80> #เจาะประเด็นร้อนอปท.#การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม ~ที่เหมาะสมกับประเทศไทย~ โดย... สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

[2] "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ Voice TV", 13 มีนาคม 2555, https://www.youtube.com/watch?v=gzAtRtUdZbQ&"จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน และโรงทาน", วิถีทุน : จุมพฏ สายหยุด, กรุงเทพธุรกิจ, 26 มิถุนายน 2546 (พิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 10 ตุลาคม 2516), http://www.puey.in.th/index.php/บทความ-ป๋วย-อึ๊งภากรณ์/5-จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน-และโรงทาน

[3]"สปช.เตรียมชงถ่ายโอน 7 พันโรงเรียนขนาดเล็กให้ท้องถิ่นดูแล", 11 กุมภาพันธ์ 2558, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1423646616 , หมายเหตุ โรงเรียน 3 ขนาด, รวมจำนวนนักเรียน 1-120, 121-499, >=500. ขนาดเล็ก, กลาง, ใหญ่

[4] ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. ดูใน "เลิกมโน!การศึกษาไทยไม่ดีเหตุลงทุนน้อย-นักวิจัยเปิดบัญชีรายจ่ายค่าเฉลี่ยติดอันดับโลก", 11 พฤษภาคม 2557, http://www.isranews.org/thaireform-news-education/item/29266-reformed.html

[5] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาสตรี พ.ศ. 2538, http://changhan.cdd.go.th/06102555/rule_woman.pdf

[6] "สธ.เตรียมพร้อมรับอีก 20ปีข้างหน้า ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด", สำนักข่าวไทย , 23 เมษายน 2558, http://www.tnamcot.com/168674

[7]"ทีดีอาร์ไอชี้สวัสดิการชุมชนของรัฐไม่ตอบโจทย์ท้องถิ่น แนะจับมือชุมชน-อปท. ดูแลกันเอง", 22 เมษายน 2558, http://thaipublica.org/2015/04/tdri-22-4-2558/

[8] ดู พระราชบัญญัติ การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534, http://nep.go.th/th/node/436

& ดูเอกสารสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดพะเยา, http://maesaisao.go.th/dowload/สวัสดิการพิการและด้อยโอกาส.pdf

หมายเลขบันทึก: 590619เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2015 01:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2015 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท