666. ดูละครไปสอนจิตวิทยาบวกไป ตอน "หนึ่งในทรวง"


วันนี้มีโอกาสดูละครช่อง 3 ชื่อ "หนึ่งในทรวง" แว็บหนึ่ง ตามแม่กับลูกเขา เป็นตอนที่ผมเห็นคุณหญิงตัวเล็กอายุสัก 10 ขวบ นั่งรถเข็นอยู่หลังม่าน เธอกำลังสัมภาษณ์ครูที่บ้านเธอจะจ้างมาดูแลเธอเป็นพิเศษ เข้าใจว่าคงเป็นนางเอกคนหนึ่ง (คงมีหลายคน) ... เท่าที่ผมดู เธอดูมีความเจ็บปวดอะไรบางอย่าง ดูเหมือนเธอจะกำพร้าพ่อแม่ ... เธอถามหลายคำถาม แต่ที่โดนใจมากคือ

คุณหญิงน้อย "จำเป็นไหมค่ะที่คนพิการต้องเรียนหนังสือ"

ครู "จำเป็นสิคะ เพราะจะได้ไม่มีใครดูถูก

และถ้าหากคนดูถูก ก็จะได้ไม่หวั่นไหว เพราะการเรียนหนังสือทำให้เรามีปัญญา"

พอพูดประโยคนี้จบ คูณหญิงน้อยดูสบายใจ และเข็นรถออกมา ยิ้ม บอกครูว่าเธอขอเป็นศิษย์คุณครูและจะเป็นเด็กดี


ผมรู้สึกตื่นเต้นกับคำถามตอบนี้มากๆ เพราะทำให้ผมเห็นอะไรบางอย่าง ผมนึกถึงทฤษฎีทางจิตวิทยาบวกทฤษฎีหนึ่งคือ FLOW หรือภาวะลื่นไหล ภาวะความสุขที่มนุษย์ประเภทที่สุขแบบลืมเวลา เพลิน เพราะได้ทำสิ่งที่ท้าทายมากและก็มีทักษะมากพอที่จะทำสิ่งนั้นได้ เป็นภาวะที่มนุษย์จะทำอะไรได้ผลมาก และมีความสุขมากที่สุด เป็นภาวะที่ในทางจิตวิทยาบวก ถือว่าเป็นสุขภาวะอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่มนุษย์ควรบรรลุเลยครับ ภาวะ FLOW เกิดขึ้นเมื่อมีสมดุลย์ระหว่างทักษะและความท้าทาย ดูในรูปจะเห็น ช่องว่างขาวตรงกลางที่พาดผ่านจุด A1 และ A 4 ที่เรียกว่า Flow Channel



ถ้าวิเคราะห์ตามละครหนึ่งในทรวงแล้ว ด้วยวัย 10 ขวบ ความท้าทายในชีวิตไม่มาก ทักษะก็ไม่มาก เป็นเด็กไม่ต้องหากินเอง มีผู้ใหญ่ดูแล ก็จะมีความสุขประสาเด็ก ก็จะน่าจะมีความสุขตามอายุ เรียกว่าเพลินแบบเด็ก คืออยู่ช่วง A4 ถ้าไม่มีอุปสรรคและทุกอย่างราบรื่น คุณหนูท่านนี้ก็จะได้มีผู้ใหญ่มีครู เข้าโรงเรียน สั่งสมประสบการณ์หรือทักษะ และก็เริ่มมีความท้าทายมากขึ้น Flow ของเธอก็จะเคลื่อนไปตามแกน Flow Channel จนทะลุถึง A4 ไปเรื่อยๆ คือประมาณว่าเก่งกล้า และมีความสุขขึ้นเรื่อย เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมดีเยี่ยม

แต่เรื่องไม่ง่ายอย่างนั้น เธอกำพร้า แถมพิการ ตรงนี้แหละครับ ที่เธอเริ่มคิด เดิมเธออาจอยู่ A4 ก็จริง แต่ตอนนี้เธอเริ่มหวั่นไหวกับความพิการของเธอ เธอดูเริ่มสิ้นหวัง หรืออยู่ในภาวะพายเรือในอ่าง เพราะตอนนี้เธอเริ่มอายุมาก เธอเริ่มเบื่อแล้ว เป็นไปได้ว่าของเล่นก็เดิมๆ จากที่เล่นยากๆ ทุกอย่างเริ่มง่าย เริ่มไม่มีอะไรท้าทาย ทักษะก็ยังเท่าเดิม เรียกว่าถดถอย ที่สุดคุณจะเห็นอาการไปไม่ถูก ต้องหลบอยู่หลังม่าน จะเอาอย่างไรดี นี่แหละครับ เรียกว่าภาวะพายเรือในอ่าง คือภาวะที่หมดความท้าทาย แต่ก็ขยับไปไหนไม่ได้ เพราะก็ไม่มีทักษะเพิ่มเติม คือหล่นมาจุด A1 ชัดๆ คุณจะเห็นร่องรอยความสิ้นหวังในจุดนี้

และเมื่อเธอเริ่มฮึดมองไปข้างหน้า ก็คืออยากสร้างความท้าทายใหม่ คือจะเรียนให้สูงขึ้น ปรากฏว่าไม่ง่าย เธอมองเห็นภาพเงาทะมึนเบื้องหน้า นั่นคือความพิการของเธอ และมองไม่เห็นทาง คือไม่รู้จะไปได้ไง จะต้องมีทักษะแค่ไหน เธอมองไม่ออก โดยพลัน แทนที่จะขยับไป A4 เธอเสียสมดุลย์ความสุข เธอขยับตัวเองไป A3 เธอเกิดภาวะกังวล คือคิดไม่ตก และถ้าไม่มีอะไรมาช่วย เธออาจเลือกไม่ไปต่อ เพราะเริ่มเชื่อแล้วว่าคนพิการคงไม่มีวันพัฒนาทักษะอะไรได้

และถ้าหากเธอทำอย่างนั้นแล้ว ก็ยุ่งครับ ชีวิตเธอคงไม่ประสบความสำเร็จอะไร เพราะไม่กังวลอยู่ที่ A3 หรือบางครั้งอาจนั่งเล่มเกมส์ไปวันๆ แล้วเก่งขึ้นเรื่อยๆ จนไม่เหลือความท้าทายอะไร แต่ก็เอาไปทำงานไม่ได้ก็เลยอยู่ที่ A2 หรือเกิดงง ไปไม่ถูกก็จะอยู่ A1 ชีวิตคงเศร้าไปตลอด

แต่โชคดีเธอได้ครูดี ขณะที่เธอกำลังเผชิญเงาทะมึนในชีวิต กำลังตั้งคำถามว่าจะไปต่อ ด้วยอยู่ที่ A3 ด้วยประโยคที่ว่า

"จำเป็นไหมค่ะที่คนพิการต้องเรียนหนังสือ"

"จำเป็นสิคะ เพราะจะได้ไม่มีใครดูถูก

และถ้าหากคนดูถูก ก็จะได้ไม่หวั่นไหว เพราะการเรียนหนังสือทำให้เรามีปัญญา"


ชัดเลยเด็กคนนี้เริ่มกลับมาที่สมดุลย์ แน่นอนทักษะเธอไม่ได้เกิดขึ้นตอนนั้น แต่เธอเริ่มขยับแล้ว ทัศนะคติใหม่ที่ว่าควรเรียนจะได้ไม่มีใครรังแก ทำให้เธอเปิดรับความท้าทายใหม่ ในขณะเดียวกันก็เปิดใจรับครูที่จะมาช่วยเพิ่มทักษะ และเนื่องจากเป็นนางเอกที่เก่งและดีด้วย เธอคนนี้คงจะช่วยประคับประคองให้คุณหนูอยู่ Flow Channel ที่เหมาะสม คือ A4 ที่จะขยับสูงไปเรื่อยๆ เด็กคนนี้ก็จะเติบโตตามวัย มีศักยภาพความภาคภูมิใจในสังคม และแน่หละนางเอกก็จะได้เจอพระเอกและแต่งงานกันในที่สุด

ครับผมชอบ Flow นี้มาก เพราะทำให้เราเห็นอะไรบางอย่างในชีวิต เอาเป็นว่า หากเจอคนกำลังเจอความท้าทายในชีวิต เพราะทักษะน้อยกว่าความท้าทาย (อยู่ที่ A4) คุณอาจต้องให้หลักคิด และกำลังใจครับ คอยอยู่เคียงข้างเขา ซึ่งอาจเป็นไปได้ด้วยคำพูดดีๆ ไม่กี่ประโยค ที่อาจทำให้เขากลับมาอยู่ภาวะสมดุลย์และเติบโตไปพร้อมกับคุณก็ได้ ฝึกมองให้ทะลุและรู้จักพูดด้วยคำพูดดีๆ นะครับ คุณอาจพลิกชีวิตคนได้เลย

หากคนที่คนดูแลอยู่ ตกอยู่ภาวะ A1 อาจต้องวางแผนช่วยเขาค้นหาตัวเองว่าชอบอะไรไรกันแน่ ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งเคยอยู่ภาวะ A1 พอผมถามว่าจะเอายังไงกับชีวิต ลูกศิษย์ผมบอกอยากทำงานที่ปรึกษาแบบผม ได้เลย ผมรู้เลยเขาต้อง พัฒนาตัวเองอย่างไร ผมสอน ผมโค้ช พาไปทำจริง แนะนำประคับประคอง ที่สุดตอนนี้ทักษะสูงขึ้น ขยับไป A4 จนต้องนี้ตั้งบริษัทที่ปรึกษาไปแล้ว

ส่วนบางคนที่ผมเจอก็เริ่มอยู่ในภาวะ A4 คือมีทักษะสูง แต่ก็มองไม่เห็นทาง เราก็แนะนำว่าน่าจะไปทำอะไรท้าทายมากขึ้น แล้วสอนประคับประคอง ให้โอกาสนิดก็ไปได้แล้ว มีอาจารย์คนหนึ่ง ทำงานด้วยกันมาก่อน (ตอนนั้นยังไม่เป็นอาจารย์ เป็นผู้ช่วยเฉยๆ) วันหนึ่งผมเห็นเธอทำเรื่อง Theory U (เครื่องมือการพัฒนาองค์กร แนวองค์กรแห่งการเรียนรู้ชนิดหนึ่ง) แทนผมได้ แล้วทำได้ดีจริงๆ คือวันนั้นลูกค้ามาสาย ผมเลยให้ช่วยพาลูกค้าไปทำ Theory U หลังห้อง ว๊าวออกมาดีเลย ผมเลยเห็นว่าถ้าไม่ทำอะไร เสียของแน่ เพราะคนเก่งหากไม่ทำอะไรท้าทาย ก็มีสิทธิเบื่อ แล้วทิ้งโอกาสดีๆไป ผมเลยบอกว่า นี่ทำได้ขนาดนี้ไปเป็นอาจารย์ได้เลย แล้วควรไปเรียนต่อเอกด้วย คือผมเริ่มสร้างความท้าทายให้เธอ ที่สุดไม่นานเธอขยับไป A4 ทันที และให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง เปิดเวทีให้ ไม่กี่ครั้ง ตอนนี้เป็นอาจารย์แล้วก็ไกล้จบเอกแล้ว

คุณจะเห็นว่าจุดร่วมทั้งในละครและในชีวิตจริง การจะเริ่มทำให้คนมีความสุขแบบ Flow ได้ จุดเริ่มต้นดูจะเหมือนกัน คือเริ่มด้วยคำพูดดีๆ ที่จะปรับทัศนคติของคน ให้เปิดรับความท้าทาย และเปิดตัวเองไปสู่ทักษะใหม่ๆ ซึ่งใช้ความพยายามไม่มากนัก เพียงอาศัยจังหวะ เท่านั้น และตามด้วยการประคับประคองไปสักระยะ เพื่อให้อยู่ Flow ที่สุดเราจะเห็นคนเกิดการพัฒนาตนเอง พึ่งตัวเอง และมีความสุข งานได้ผล คนสำเร็จ อย่างน่าทึ่ง รวมทั้งเติบโตขึ้นเรื่อย น่าคิด น่าทำจังเลยนะครับ ไม่ยากครับ ลองทำดู

วันนี้พอเท่านี้ เพียงเล่าให้ฟัง ลองเอาไปพิจารณาดูนะครับ

บทความโดยดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์

www.aithailand.org

หมายเลขบันทึก: 590617เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2015 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2015 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท