วิชาพัฒนานิสิต (๑๑) : เสียงจากนิสิต (ความสุขเล็กๆ ของการได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ)


คำบอกเล่าซื่อใส ง่ายงาม - เป็นคำบอกเล่าที่สื่อให้เห็นความสุขเล็กๆ ของการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ไม่ใช่ความสุขของการนั่งจินตนาการโดยไม่ลงมือทำ

ในรายวิชาการพัฒนานิสิต ผมมักตั้งคำถามสำหรับนิสิตเสมอประมาณว่า

  • ทำอะไร
  • ทำที่ไหน
  • ทำเมื่อไหร่
  • ทำอย่างไร
  • ทำแล้วได้อะไร

ครับ เป็นคำถามง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ศัพท์แสงวิชาการใดๆ มาเทียบเคียงให้นิสิตได้ปวดหัวชวนเป็นลมเป็นแล้ง

นอกจากนั้น ยังตั้งประเด็นคำถามเป็นอีกมิติหนึ่ง ผ่านสามวาทกรรมหลักคือ

  • เห็นอะไร
  • รู้สึกอย่างไร
  • ได้อะไรจากสิ่งที่เห็น และสิ่งที่รู้สึก


เช่นเดียวกับในยามประเมินผลการดำเนินงานโครงการที่นิสิตได้จัดขึ้นในรายวิชาพัฒนานิสิต ผมก็ไม่ถึงขั้นต้องประเมินหลักการอันยิ่งใหญ่ว่า “ชุมชน" หรือ “ผู้รับ" ได้รับอะไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร เสียทั้งหมด เพราะงาน หรือโครงการที่จัดขึ้นในรายวิชาพัฒนานิสิตล้วนเป็นกิจกรรมเล็กๆ ทำในเวลาอันจำกัด ทำในหลักคิดของการให้นิสิตได้เรียนรู้การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่อสังคมตามครรลอง “เรียนรู้คู่บริการ"


และนี่คือส่วนหนึ่งของความรู้สึกนึกคิดที่นิสิตได้สะท้อนออกมาโดยสังเขป....




ครับ- คำบอกเล่าซื่อใส ง่ายงาม - เป็นคำบอกเล่าที่สื่อให้เห็นความสุขเล็กๆ ของการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ไม่ใช่ความสุขของการนั่งจินตนาการโดยไม่ลงมือทำ

คำบอกเล่าซื่อใส ง่ายงามทั้งปวงนั้นคือผลพวงของการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ -ทำกันในแบบกลุ่มทีมโดยใช้ชุมชนเป็นชั้นเรียน และสิ่งที่ทำก็มิได้จำกัดกรอบอยู่แต่เฉพาะการพัฒนาตนเองเท่านั้น ทว่าเป็นการพัฒนาสังคมในประเด็นเล็กๆ ตามแนวคิดอัตลักษณ์ (ผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ปรัชญามหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)

ถึงแม้จะเป็นการงานเล็กๆ ในเวลาอันแสนสั้น แต่หมุดหมายที่ละข้ามไม่ได้ก็คือนี่คือการเริ่มต้นที่ดีของการเรียนรู้คู่บริการ หรือเรียนรู้ที่จะกล่อมเกลาจิตใจของผู้เรียนสู่การเป็นผู้มีจิตอาสา จิตสาธารณะ หรือเยาวชนจิตอาสาในอีกช่องทางหนึ่ง



หมายเลขบันทึก: 589449เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2015 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 18:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ในแต่ละคนเป็นภาพสะท้อนการทำงานของนิสิตที่ดีมาก

บางครั้งการเรียนรู้ในชั้นเรียนไม่มีโอกาสได้เรียนแบบนี้ครับ

เห็นรอยยิ้มและความสุขชัดเลยครับ .... ทักความรู้ ทักษะกระบวนการ ...และคิดว่า อุดมการณ์ของจะค่อยเกิดขึ้นในใจของพวกเขาด้วย.... ขอบคุณครับ

ครับ ขจิต ฝอยทอง


สิ่งที่ผมมีความสุขมากก็คือ การทำให้วิชาพัฒนานิสิตเป็นการบูรณาการกิจกรรมในชั้นเรียนกับนอกชั้นเรียนได้อย่างกลมกล่อม เน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ - นำทฤษฎีต่างๆ ในชั้นเรียนไปทดลองจริงร่วมกับชุมชน...

ดูเหมือนเป็นงานเล็กๆ สั้นๆ ก็จริง แต่เมื่อศึกษาจริงๆ แล้ว ขยับมาตั้งแต่ต้นเทอมเลยนะครับ ไม่ใช่มาทำตูมเดียวในปลายเทอม เพราะมีระบบและกลไกให้นิสิตได้เรียนรู้เรื่องจิตอาสาด้วยตนเอง-ส่งเสริมสนับสนุนให้นิสิตเข้าร่วมกิจกรรมที่องค์กร มหาวิทยาลัยฯ จัดขึ้น ฝึกเขียนโครงการ เลือกชุมชน และลงมือทำ...

ขยับมาเป็นระยะๆ ครับ



ครับ อ.ฤทธิไกร มหาสารคาม

การบ่มเพาะอะไรก็ตาม สำคัญที่สุดที่ผมคิดเสมอมาก็คือต้องผ่านการได้ "ทำ" หรือ "ทดลองทำ" จิตอาสา ก็จำต้องถูกบ่มผ่านการลงมือทำบนสถานการณ์จริง และทำอย่างเป็นทีม เช่นเดียวกับความสุขที่แท้จริง ก็ย่อมเ็นความสุขบนหยาดเหงื่อของการเรียนรู้...หาใช่ความสุขของการท่องตำราได้เกรดสูงๆ ครับ...


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท