​วิชาพัฒนานิสิต (๗) : ตะลุยเยียวยาชุมชนหลังมรสุมพายุฤดูร้อน


อาจเป็นเพียงกิจกรรมเล็กๆ ในห้วงเวลาอันแสนสั้น ทว่าก็มีกลิ่นอายของการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ทั้งการต่อยอดกิจกรรมในพื้นที่อันเป็นยุทธศาสตร์ทางการศึกษาของมหาวิทยาลัย การทำงานบนสถานการณ์ปัญหาจริงของชุมชน ฯลฯ โดยมีปลายทางของการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์หลากมิติที่จะเกิดขึ้นกับนิสิต อย่างน้อยก็สะท้อนกระบวนการบ่มเพาะเรื่องจิตอาสา/เยาวชนจิตอาสา

โครงการ "จิตอาสาพัฒนาโรงเรียน" คืออีกหนึ่งกิจกรรมตามกระบวนการเรียนรู้ในรายวิชาพัฒนานิสิตที่มุ่งให้นิสิตได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by doing) เรียนรู้อย่างเป็นทีมโดยการใช้ชุมชนเป็นชั้นเรียน (ห้องเรียน) เมื่อวันที่ ๑๘-๑๙ เมษายน ๒๕๕๘ ณ โรงเรียนบ้านนาสีนวน ต.นาสีนวน อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ซึ่งประกอบด้วยวัตถุประสงค์หลัก ๓ ประการ คือ

๑.เพื่อสร้างจิตสำนึกจิตสาธารณะที่ดีให้แก่นิสิตและทำกิจกรรมสาธารณะอย่างต่อเนื่อง

๒.เพื่อปลูกฝังให้นิสิตมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้วยการมีน้ำใจและจิตสาธารณะ

๓.เพื่อสร้างความสามัคคีกันในหมู่คณะนิสิต และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี



โครงการ "จิตอาสาพัฒนาโรงเรียน" มีประเด็นการขับเคลื่อนที่น่าสนใจและชวนค่าต่อการขบคิดในมิติกระบวนการเรียนรู้ของนิสิตอย่างง่ายงาม ยกตัวอย่างเช่น

๑.แรงบันดาลใจจากการเรียนรู้ตามอัธยาศัย : เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นจากแรงบันดาลใจที่นิสิตเคยได้เข้าร่วมพิธีส่งมอบอาคารตุ้มโฮมภูมิปัญญาบ้านนาสีนวนเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เนื่องในโครงการ "ชุมชนสัมพันธ์แต้มฝันปันฮอยยิ้มนิสิตจิตอาสาพัฒนาบ้านเกิด สร้างอาคารตุ้มโฮมภูมิปัญญาบ้านนาสีนวน" ของกลุ่มนิสิตมอน้ำชี ซึ่งมีกิจกรรมที่หลากหลายชวนเรียนรู้ เช่น สร้างอาคารอเนกประสงค์ จัดห้องสมุด ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น การสอนทักษะดนตรีและนาฏศิลป์ ฯลฯ

การเข้าร่วมของนิสิตในครั้งนั้นเป็นหนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้เรื่อง "จิตอาสาตามอัธยาศัย" ของวิชาการพัฒนานิสิต จนก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่อยากกลับไปจัดกิจกรรมต่อยอดในพื้นที่เดิม




๒.เยียวยาผลพวงจากพายุฤดูร้อน : จากแรงบันดาลใจที่สัมผัสได้ในงานวันส่งมอบอาคารตุ้มโฮมฯ ให้กับชุมชน นิสิตคืนกลับชุมชนอีกครั้ง เพื่อ "พัฒนาโจทย์" (สำรวจความต้องการ) ของชุมชนอีกครั้ง พบว่าโรงเรียนได้รับผลกระทบจากวาตภัย (พายุฤดูร้อน) ทำให้อาคารเรียน สนามเด็กเล่น สนามกีฬา (วอลเลย์บอล) รั้วกำแพง ห้องสุขา ได้รับความเสียหาย จึงเป็นที่มาของการออกแบบกิจกรรมร่วมกันระหว่าง "นิสิตกับชุมชน" ในชื่อโครงการ "รวมพลังจิตอาสาพัฒนาโรงเรียน"

๓.ปฏิบัติการบนฐานการมีส่วนร่วม : เป็นการทำงานบนโจทย์อันเป็นสถานการณ์จริงของชุมชน โดยมุ่งแก้ปัญหาผลกระทบจากภัยพิบัติอย่างมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชน กล่าวคือโรงเรียนและชุมชนสมทบงบประมาณค่าสีและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงค่าอาหารร่วมกับนิสิต ทั้งยังร่วมลงแรงทำงานกับนิสิต ซึ่งมีทั้งครู นักการภารโรงและชุมชน

อย่างไรก็ดีถึงแม้ชุมชน (ชาวบ้านและนักเรียน) จะไม่ค่อยได้ออกมาร่วมกิจกรรมจำนวนมากนัก แต่ก็ยังพอทำความเข้าใจได้ เนื่องเพราะอยู่ในห้วงการปิดภาคเรียน จึงนับได้ว่านิสิตพยายามสร้างการปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม หรือการ "เรียนรู้คู่บริการแบบมีส่วนร่วม" บนสถานการณ์จริงของชุมชนที่ประกอบด้วย "บ้าน-โรงเรียน" ได้อย่างน่าชื่นชม




๔.พื้นที่ยุทธศาสตร์การบริการสังคมของมหาวิทยาลัย : เป็นการเลือกพื้นที่ที่สัมพันธ์กับพื้นที่อันเป็นยุทธศาสตร์การบริการสังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพราะเป็นพื้นที่ตั้งของ "ฟาร์มมหาวิทยาลัย" เป็นที่ตั้งของสถานีปฏิบัติการการเรียนรู้ของนิสิตหลากคณะ เช่น คณะเทคโนโลยี คณะสัตวแพทยศาสตร์ ฯลฯ รวมถึงพื้นที่ของการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้นิสิตได้เห็นเส้นทางของการจัดการเรียนการสอนและการบริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัยที่มีต่อชุมชนไปอย่างสรรพเสร็จ หรือกระทั่งการได้มองเห็นประเด็นเชิงพื้นที่ที่มีการขับเคลื่อนตามแนวคิด "เรียนรู้คู่บริการ"



โดยส่วนตัวของผมแล้ว ผมคิดว่านิสิตมีกระบวนการเลือกพื้นที่การจัดกิจกรรมได้อย่างน่าสนใจ เป็นการต่อยอดจากความสำเร็จที่ได้ไป "สัมผัสจริง" จากโครงการของกลุ่มนิสิตมอน้ำชี (พรรคมอน้ำชี) ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสนับสนุนจากมูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ จำนวน 500,000 บาท และการมีส่วนร่วมของชุมชนที่สมทบจากชุมชน จำนวน 200,000 บาท และโครงการที่ว่านี้ก็เป็นต้นแบบที่ดีในการจัดกิจกรรมบริการสังคมอย่างหลากหลายมิติ และเป็นกิจกรรมที่จัดอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า ๒ เดือนเลยทีเดียว



นอกจากนี้แล้วยังเป็นกิจกรรมที่ร่วมคิดร่วมตัดสินใจกับชุมชนบน "สถานการณ์อันเป็นปัญหาจริง"จึงเป็นเสมือนการเรียนรู้ร่วมกันตามครรลองความเป็นทีม-ประชาธิปไตย และอาทรต่อกัน (Collaborative Learning)

ครั้นต้องลงมือปฏิบัติงานแบบมีส่วนร่วม ยิ่งได้สัมผัสกับสถานการณ์จริง ฝึกการประสานงาน ฝึกการแก้ปัญหา ฝึกการยึดหยุ่น ฝึกความอดทน ฝึกการเปิดใจ ฯลฯ คือทักษะที่จะเกิดจากการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำแบบมีส่วนร่วม กลายเป็นประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม (Concrete experience) อย่างไม่ต้องกังขา

นี่อาจเป็นเพียงกิจกรรมเล็กๆ ในห้วงเวลาอันแสนสั้น ทว่าก็มีกลิ่นอายของการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ทั้งการต่อยอดกิจกรรมในพื้นที่อันเป็นยุทธศาสตร์ทางการศึกษาของมหาวิทยาลัย การทำงานบนสถานการณ์ปัญหาจริงของชุมชน ฯลฯ โดยมีปลายทางของการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์หลากมิติที่จะเกิดขึ้นกับนิสิต อย่างน้อยก็สะท้อนกระบวนการบ่มเพาะเรื่องจิตอาสา/เยาวชนจิตอาสา หรือการตอบโจทย์ความเป็นอัตลักษณ์นิสิต (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ผ่านระบบและกลไกทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียนได้อย่างมีพลัง


เสียงจากนิสิต

"... กิจกรรมนี้ทำให้พวกเราได้รุ้ว่า การลงมือทำในสิ่งที่บอกว่าง่าย แต่พอมาทำแล้วไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผมพูดแบบนี้ก็คือ มีอุปสรรคในการทำงานมากเลยครับ เช่น แดดร้อนมาก แล้วทำไปก็เหนื่อยมาก แค่ทาสีนี้ใครๆ ก็บอกว่าง่ายพอได้ลงมือทำแล้วไม่ง่ายเลย กว่าจะเสร็จอากาศก็ร้อน นี้ละครับอุปสรรค

... แต่ที่ชอบก็คือ ไม่ว่าแดดร้อน อากาศร้อนเพียงใด แต่ทุกคนทำงานด้วยความสามัคคีกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้โรงเรียนที่ขาดการพัฒนาได้มีที่เรียน น่าอยู่ น่าเรียนมากยิ่งขึ้นครับ..." (นายโชคไพลิน บุญโนนแต้ ประธานกลุ่ม1/3)


เสียงจากผู้ช่วยสอน/อาจารย์ที่ปรึกษา


"... เป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจากโครงการเดิมของพรรคมอน้ำชีที่นิสิตกลุ่มนี้เคยเข้าร่วมเรียนรู้ตามอัธยาศัย พอประทับใจก็คิดที่จะไปต่อยอดกิจกรรมที่นั่น แต่พอไปสำรวจพื้นก็พบว่าโรงเรียนเจอภัยธรรมชาติ หลายส่วนในโรงเรียนชำรุดทรุดโทรม แต่นิสิตก็เลือกทำในส่วนที่สามารถทำได้ ซึ่งคณะครูและชาวบ้านก็เข้าใจ
...เรียกได้ว่าเป็นงานต่อเติมต่อยอดก็ไม่ผิด เป็นการตัดสินใจร่วมของนิสิตกับชุมชน..." (จิรัฎฐ์ อภิวิชญ์ทีปกร)


"... ชอบตรงมีการต่อยอดกิจกรรมขององค์กรนิสิตนี่แหละ ไปเห็นมาแล้วนิสิตก็อยากทำงานต่อให้ต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นงานที่ตอบโจทย์ปัญหาของชุมชนที่เกิดจากภัยพิบัติ มันลงตัวกันพอดี และที่สำคัญนิสิตเองก็ได้รู้ว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การบริการของ มมส..." (เยาวภา ปรีวาสนา)




ภาพ :
๑. นิสิตรายวิชาการพัฒนานิสิตกลุ่มที่ 1/3
๒.งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศนิสิต

ประสานงาน :
จิรัฎฐ์ อภิวิชญ์ทีปกร

ตัวอย่างภาพจากโครงการ "ชุมชนสัมพันธ์แต้มฝันปันฮอยยิ้มนิสิตจิตอาสาพัฒนาบ้านเกิด สร้างอาคารตุ้มโฮมภูมิปัญญาบ้านนาสีนวน" เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘



หมายเลขบันทึก: 589279เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2015 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ได้ทำความดีเพื่อสังคมนะคะ ขณะเดียวกันก็ได้ เรียนรู้เรื่องชุมชน ด้วยนะคะ


ขอบคุณค่ะ


ชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับการขับเคลื่อนงานจิตอาสาดีๆเช่นนี้ค่ะ...

เป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์มากเลยนะครับอาจารย์ ขอชื่นชมครับ

เป็นกิจกรรมที่บูรณาการกับชุมชนและสังคมได้ดีมากเลยครับ

จำโรงเรียนนี้ได้

จำได้ว่าผ่านโรงเรียนนี้บ่อยมาก

อ่านแล้ว ผมชอบตรงที่สิ่งที่คิดว่าง่าย แต่พอมาทำจริงแล้วไม่ง่ายอย่างที่คิด .... ความคิดมักจะหลอกเราเสมอ เพราะบ่อยครั้งที่เราเผลอคิดเข้าข้างกิเลสของตนเอง.... ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่ Dr. Ple

หลักการเรียนรู้คู่บริการ คือการทำงานและเรียนรู้บนบริบทของชุมชนครับ หลักคิดง่ายๆ ที่เราฝังฝากนิสิตเสมอมาคือ ไปจัดกิจกรรมที่ไหนต้องรู้เรื่องราวที่นั่นครับ เสมือนไม่มีที่ใดปราศจากความรู้ เรื่องเล่านั่นเอง...


ครับพี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

จิตอาสา หรือการเรียนรู็จิตอาสา หลักๆ แล้วคงหนีไม่พ้นการได้ออกแรงทำโน่นนี่แหละครับ เพราะสิ่งเหล่านี้คือสถานการณ์จริงที่ทำให้เราเข้าใจ "ชะตากรรมชีวิต" และกระเทาะถึงความละเอียดอ่อนของจิตใจผู้คน...

ในระบบการศึกษา ก็คงหนีไม่พ้นให้นิสิตได้คิดและลงมือทำอย่างเป็นทีมนี่แหละครับ..

ครับ อ.พ.แจ่มจำรัส


ค่ายนี้ทำกันยาวนานมาก เป็นค่ายท้าทายมาก เพราะด้วยเวลาอันยาวนาน คนต้องเข้าๆ ออกๆ ทำไปทีละนิดทีละน้อย ชุมชนเองก็เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับนิสิต เป็นค่ายหลากหลายกิจกรรม บริหารจัดการอย่างรอบด้าน ทำไปเรียนรู้ไป ....

ผมชอบเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนครับ ทั้งแรงกายและแรงเงิน สิ่งที่เกิดขึ้นก็ใช้ประโยชน์ได้ครอลคลุม "บวร" ...

ชื่นชมกับนิสิตกลุ่มนี้มากครับ

ครับ อ.ดร. ขจิต ฝอยทอง

โรงเรียนนี้เป็นพื้นที่ตั้งของฟาร์มมหาวิทยาลัยมหาสารคาม - ค่ายนี้พลอยได้ช่วยให้นิสิตได้เห็นตัวตน มมส ในอีกช่องทางหนึ่ง ได้เห็นอนาคตของมหาวิทยาลัยฯ ที่กำลังเคลื่อนมายังพื้นที่ทางนี้ แถมนิสิตยังได้เห็นร่องรอยการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยฯ ไปด้วย คงพอเข้าใจได้ว่ายุคสมัยนี้มหาวิทยาลัยฯ ที่ตนเองกำลังเล่าเรียนนั้น มียุทธศาสตร์อะไร -ยังไง...

ขอบพระคุณครับ


ถูกครับ อ.ดร ฤทธิไกร มหาสารคาม

ไม่มีอะไรง่ายเลยครับ แต่ดีที่ได้ลงมือทำ ความยากมันเป็นครูที่ดีกว่าความสุขสำราญเสมอ นั่นคือสิ่งที่นิสิตจะได้เรียนรู้จากโครงการนี่้...

นิสิตที่ทำโครงการนี้ ความยากมันยากตั้งแต่ทบทวนความคิดฝันตนเองแล้วครับ ยากในการหาพื้นที่รองรับความฝันของตนเอง ยากตั้งแต่การพัฒนาความคิดฝันของนิสิตกับความต้องการของชุมชน ยากตั้งแต่การไปเสนอขอทุน.... พอได้มาก็ยากต่อการสร้างฝันให้เป็นจริง... พอทำเสร็จก็ยากต่อการสรุปงาน ค้นหาความรู้เพื่อขับเคลื่อนใหม่...

แต่เพราะการได้คิดแล้วลงมือทำนี่แหละครับ คำว่ายากจึงกลายเป็นความรื่นรมย์...
สำหรับผมแล้ว กิเลสในวิถีกิจกรรม/ค่าย ในอดีตผมก็เรียกมันว่า "กิเกส" นั่นแหละครับ แต่ปัจจุบัน
ผมเรียกมันว่า "ความคิดฝัน"


ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท