งานเก่าเล่าใหม่ การถ่ายทอดการบรรเลงดนตรีเขมร : “ตรัว-ซอ” แก่นักเรียนชมรมดนตรีนาฏศิลป์ ของวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ราชอาณาจักรกัมพูชา ๗-๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๑


การถ่ายทอดการบรรเลงดนตรีเขมร : "ตรัว-ซอ" แก่นักเรียนชมรมดนตรีนาฏศิลป์ ของวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ราชอาณาจักรกัมพูชา ๗-๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๑

นางสาวนิจพร นิจพรพงศ์*

มวย...ปี...เบ็ย วัน...ทู...ทรี กระแซ-เกรา กระแซ-กระนอ ฯลฯ รวมถึงท่วงท่าทางประกอบภาษา แววตา เหล่านี้ข้าพเจ้ายังคงจดจำได้อยู่อย่างเด่นชัด เมื่อครั้งหนึ่งมีโอกาสได้ไปถ่ายทอดการบรรเลงดนตรีที่วิทยาลัยกัมปงเฌอเตียล ราชอาณาจักรกัมพูชา

ตรัว-ซอ คือ เครื่องดนตรีเขมร จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย ลักษณะของ ตรัว-ซอ จะคล้าย ๆ กับซอด้วงบ้านเรา แต่จะมีเสียงทุ้มกว่าซอด้วงสักเล็กน้อย ในการถ่ายทอดการบรรเลงดนตรีครั้งนี้ข้าพเจ้าได้รับบทบาทการเป็นครูสอนเครื่องดนตรี ตรัว-ซอ ให้กับนักเรียนชมรมดนตรีนาฏศิลป์ ของวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ๒ คน คือ ซิฮวน และ ชุนเล

ภาพ ซิฮวนกับซอด้วง ชุนเลกับตรัว-ซอ

ดนตรี เป็นเรื่องของการปฏิบัติทักษะเป็นสำคัญ การปฏิบัติทักษะทางดนตรีให้ได้ดีนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปฏิบัติต้องฝึกฝนเอาใจใส่ในเรื่องพื้นฐานหลักอันเป็นความรู้เบื้องต้น ซึ่งปัจจัยอันเกี่ยวข้องและให้ผลต่อการฝึกปฏิบัติดนตรีคือเรื่องของเวลาในการถ่ายทอดการบรรเลงดนตรีครั้งนี้กล่าวได้ว่าเป็นหลักสูตรระยะสั้นและเร่งรัดให้เห็นผลภายในระยะเวลา ๔ วัน ที่เป้าหมายอย่างน้อยที่สุดต้องทำให้นักเรียนสามารถบรรเลงบทเพลงเขมรให้ได้ ๒ เพลง คือ เพลง จงเชิง ซึ่งมีความยาวของบทเพลง ๒ วรรค และเพลงซีนูน ซึ่งมีความยาวของบทเพลง ๔ วรรค ในการสอน ตรัว-ซอ แก่นักเรียนทั้งสองคนของข้าพเจ้าสิ่งที่ไม่กังวลเลยคือเรื่องของบทเพลง ทั้งนี้นักเรียนทั้งสองคนสามารถ "ฮัมเพลง"[๑] ทั้งสองเพลงนี้ได้เพียงแต่เล่นกับเครื่องดนตรี ตรัว-ซอไม่ได้เท่านั้น น่าแปลกที่นักเรียนชาวเขมรโดยส่วนใหญ่รู้จักทำนองเพลงเหล่านี้ ถ้าเป็นนักเรียนไทยคงน้อยคนนักที่จะรู้จักและฮัมเพลงไทยเดิมได้

วิธีการสอนปฏิบัติดนตรีส่วนใหญ่จะใช้วิธีการสาธิตแล้วให้นักเรียนได้ปฏิบัติตาม ในการสอน ตรัว-ซอ ของข้าพเจ้าก็เช่นเดียวกัน ข้าพเจ้าได้สาธิตการนั่ง การจับคันซอ คันชัก ให้ ซิฮวน และ ชุนเลได้ดูเป็นตัวอย่างแล้วให้เขาได้ปฏิบัติตาม ซึ่งนอกจากการสาธิตปฏิบัติแล้วการอธิบายก็เป็นวิธีการอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญประกอบกันในการเรียนการสอน การอธิบายนั้น ภาษาเป็นส่วนสำคัญมาก เพราะภาษาเป็นตัวแทนการสื่อสารให้ผู้ส่งสารและผู้รับสารได้เข้าใจตรงกัน ซึ่งหากสื่อสารกันด้วยภาษาเดียวกันแล้วก็ย่อมง่ายต่อความเข้าใจในการสอนดนตรีเขมรนี้อุปสรรคต่อการเรียนการสอน คือ เรื่องของภาษา ข้าพเจ้าเองพูดภาษาเขมรไม่เป็น นักเรียนเองก็พูดภาษาไทยไม่ได้ และครั้นจะสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษก็แล้วใหญ่ ภาษาที่ใช้ในการสอนส่วนใหญ่จึงเป็นภาษาท่าทาง ในตอนแรกข้าพเจ้าใช้ภาษาท่าทางบวกกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่คิดว่านักเรียนคงรู้เรื่องและเข้าใจว่าข้าพเจ้าต้องการสื่อถึงอะไร เช่น การนับ 1-2-3 โดยใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษ one-two-three เป็นสัญญาณในการขึ้นเพลง หรือแม้แต่คำว่า ok yes good very good ข้าพเจ้าจะพูดคำเหล่านี้เมื่อนักเรียนทำได้ถูกต้องหรือทำได้ดีแล้ว คำว่า no เมื่อนักเรียนเข้าใจไม่ตรงกันหรือปฏิบัติได้ไม่ถูกต้อง ต่อมาเมื่อได้คลุกคลีสัมผัสการเรียนการสอนไปซักพัก ข้าพเจ้าเริ่มรู้จักกับคำศัพท์ในภาษาเขมรขึ้นมาบ้างทั้งจากเพื่อนที่ไปสอนดนตรีด้วยกันและทั้งการสอบถามจากนักเรียนด้วยท่าทาง ทำให้ข้าพเจ้าได้นำมาใช้เพื่อการสื่อสารในการสอน เช่น การนับ 1-2-3 เป็นสัญญาณในการขึ้นเพลงข้าพเจ้าจะพูดว่า มวย-ปี-เบ็ย เมื่อต้องการให้นักเรียนบรรเลงอีกครั้งข้าพเจ้าจะบอกว่า ซมเตี๊ยบ หรือถ้าต้องการให้นักเรียนลองปฏิบัติสี ตรัว-ซอ อย่างช้า ๆ ก็จะบอกว่า ยืด ๆ คำศัพท์ภาษาเขมรเหล่านี้เมื่อผนวกเข้ากับภาษาท่าทางและคำศัพท์ภาษาอังกฤษ การสื่อสารในการสอนจึงเป็นไปได้ด้วยดีและนำมาซึ่งความเข้าใจทั้งผู้เรียนและผู้สอนมากขึ้น

วัฒนธรรมดนตรีตะวันตกกล่าวว่า"ดนตรีเป็นภาษาสากล" ทั้งนี้ด้วยประโยชน์ของดนตรีหลายอย่างที่เชื่อมความสัมพันธ์อันดีรวมถึงความเข้าใจกันได้ด้วยทำนอง วัฒนธรรมดนตรีตะวันตกเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก นั่นเพราะความนิยมที่แพร่หลายรวมทั้งมีหลักเกณฑ์และหลักการทางทฤษฎีที่มีรูปธรรมมีความเป็นวิทยาศาสตร์ เชื่อถือได้ และสิ่งที่ยืนยันยอมรับในวัฒนธรรมดนตรีตะวันตกนี้ก็คือคำว่า "ดนตรีสากล" หลายประเทศในโลกได้นำรูปแบบการใช้ตัวโน้ตในทางดนตรีสากลหรือดนตรีตะวันตกมาใช้ในการถ่ายทอดการบรรเลงทางดนตรี ทั้งนี้เพื่อความสะดวกต่อการสื่อสารด้านทำนองดนตรีและรวดเร็วในการนำมาบรรเลงโดยปรับให้มีความเหมาะสมกับวัฒนธรรมในทางดนตรีของตน ในการถ่ายทอดการบรรเลง ตรัว-ซอ ในครั้งนี้ เบื้องต้นข้าพเจ้าได้นำรูปแบบของตัวโน้ต โด เร มี ฟา ซอล ลา ที มาใช้ในการสอน โดยการบอกและร้องโน้ตเมื่อสี ตรัว-ซอ ในตำแหน่งเสียงต่าง ๆ ให้นักเรียนดูและฟังแล้วลองปฏิบัติตาม รวมถึงมีการบันทึกโน้ตหลังจากที่ได้ถ่ายทอดการบรรเลงไปแล้วเพื่อให้นักเรียนได้นำไปใช้ในการฝึกซ้อม สำหรับการบันทึกโน้ต สัญลักษณ์ที่นำมาแทนการออกเสียงโน้ตได้ใช้ตัวอักษรโรมันซึ่งบันทึกโดยยึดการออกเสียงที่บางส่วนอ้างอิงถึงสัทอักษรแทนเสียงในภาษาไทย การบันทึกโน้ตข้าพเจ้าได้ใช้สัญลักษณ์ดังนี้ d แทน โด r แทน เร m แทน มี f แทน ฟา s แทน ซอล l แทน ลา และ t แทน ที ผลปรากฏว่านักเรียนไม่เข้าใจเพราะไม่รู้จักโน้ตเลยมาก่อน ทั้งนี้การเรียนดนตรีเขมรยังมีการถ่ายทอดในแบบมุขปาถะ ที่จะใช้การ "นอยเพลง"[๒] ในการต่อเพลงเป็นหลัก

ในการเรียนการสอนหากนักเรียนมีปัญหา ไม่เข้าใจสิ่งที่เรียน รวมถึงไม่สามารถปฏิบัติได้ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ จำเป็นที่ครูต้องทำการวิเคราะห์ผู้เรียนหาวิธีการ แนวทางในการแก้ปัญหา เพื่อการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความแตกต่างระหว่างบุคคล เนื่องจาก ซิฮวน และ ชุนเลไม่มีความคุ้นเคยกับการใช้โน้ตมาก่อน ทั้งนี้เพราะการเรียนดนตรีเขมรยังมีการถ่ายทอดในแบบมุขปาถะ ดังนั้นการสอนให้เขาจดจำตำแหน่งเสียงรวมถึงจดจำการออกเสียงโน้ตจากการสี ตรัว-ซอ อีกทั้งจดจำสัญลักษณ์ในการบันทึกตัวโน้ต จึงดูเป็นเรื่องไกลตัวมองเห็นได้ยากและมีแต่จะทำให้เกิดความสับสนมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยในเรื่องของเวลาที่จำกัดมาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงควรมีรูปแบบวิธีการสอนที่ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและเรียนรู้ได้ด้วยการเห็นได้จริงและเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวผู้เรียนมากที่สุด จากประสบการณ์การเรียนดนตรีของข้าพเจ้ามองเห็นว่า ระบบโน้ตตัวเลข น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ ซิฮวน และ ชุนเลเข้าใจได้ดีและง่ายขึ้นสามารถสี ตรัว-ซอ ได้

ระบบโน้ตตัวเลข เป็นการบันทึกโน้ตโดยใช้ตัวเลขเป็นสัญลักษณ์แทนเสียงดนตรี ซึ่งเป็นผลงานการคิดขึ้นโดยหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มีหลักพื้นฐาน คือ ใช้สัญลักษณ์ตัวเลขแทนเสียงดนตรี โดยเริ่มจากเลขน้อยแทนความหมายถึงเสียงต่ำ เลขมากแทนความหมายถึงเสียงสูง เรียงลำดับกันไปจากเลข ๑-๙ ซึ่งตัวเลขที่ใช้แทนโน้ตแต่ละตัวจะแทนความหมาย ๒ ประการ คือ ประการแรก แทนความหมายว่าโน้ตตัวนั้นเป็นเสียงดนตรีเสียงใด และประการที่สอง แทนความหมายว่าจะต้องปฏิบัติเครื่องดนตรีอย่างไร แต่ในการสอน ตรัว-ซอ ของข้าพเจ้าเป็นการประยุกต์ใช้จากหลักการข้างต้น กล่าวคือ ระบบโน้ตตัวเลขของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ จะใช้ตัวเลข ๑-๙ เรียงลำดับกันไป จากสายทุ้มไปสู่สายเอก จากเสียงต่ำไปสู่เสียงสูง ส่วนข้าพเจ้าจะใช้ตัวเลข ๐-๔ เรียงลำดับจากเสียงจากเสียงต่ำไปสู่เสียงสูง ของทั้งสองสาย ดังภาพ

สายทุ้ม สายเอก

1 ซอล 5 เร

2 ลา 6 มี

3 ที 7 ฟา

4 โด 8 ซอล

9 ลา

ระบบโน้ตตัวเลข (ซอด้วง) ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ

สายทุ้ม สายเอก

0 ซอล 0 เร

1 ลา 1 มี

2 ที 2 ฟา

3 โด 3 ซอล

4 ลา

ระบบโน้ตตัวเลข (ตรัว-ซอ) ของข้าพเจ้า

ระบบโน้ตตัวเลขที่ข้าพเจ้านำมาประยุกต์ใช้นั้นข้าพเจ้าคิดว่าเป็นสิ่งที่นักเรียนสามารถมองเห็นได้จริง ซึ่งจากภาพจะเห็นได้ว่าตัวเลข ๐ ใช้แทนเสียง ซอล และ เสียง เร ซึ่งทั้งสองเสียงนั้นไม่มีการใช้นิ้วกดสายซอแต่อย่างใด และตัวเลข ๑-๔ จะเป็นนิ้วที่มีหน้าที่ในการกดสายให้ระดับเสียงซึ่งมองเห็นได้ชัดที่นิ้วชี้ แทนด้วย เลข ๑ นิ้วกลางแทนด้วย เลข ๒ นิ้วนางแทนด้วย เลข ๓ และ นิ้วก้อยแทนด้วย เลข ๔

เมื่อนำหลักการระบบโน้ตตัวเลขมาใช้ในการสอนตรัว-ซอ แล้วปรากฏว่า ซิฮวน และ ชุนเล มีความเข้าใจและเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้มิใช่แต่เพียงการนำรูปแบบการใช้ระบบโน้ตตัวเลขมาเป็นวิธีในการเรียนการสอนแต่อย่างเดียวเท่านั้น แต่นั่นหมายรวมถึงความพยายามและความอดทนของนักเรียนทั้งสองคน สิ่งที่เห็นได้ชัดในการสอนดนตรีเขมรในครั้งนี้ คือ ความอดทน ของนักเรียนชาวเขมร เขาอดทนมาก นั่งจนเมื่อยก็ไม่บ่น สีไม่ได้ก็ยังพยายามนั่งสีและไม่ได้แสดงอาการเบื่อหน่ายแต่อย่างใด ข้าพเจ้าเองซะอีกที่บางครั้งรู้สึกเหนื่อยแทนแต่ก็อดสงสารไม่ได้ เมื่อเห็นว่านักเรียนเองแม้จะทำไม่ได้ยังไม่ยอมหยุดซ้อม ข้าพเจ้าเองก็ละอายใจที่จะหยุดสอนเช่นกัน

ความทรงจำในการสอน ตรัว-ซอ สำหรับข้าพเจ้าถือเป็นความประทับใจและนำมาซึ่งเหตุให้นำแบบอย่างความพยายามและความอดทนของนักเรียนชาวเขมรนั้นมาเป็นข้อคิดและข้อเตือนใจ ที่อยากจะฝากให้ผู้อ่านโดยเฉพาะนักเรียนที่กำลังเติบโตเป็นกำลังของชาติ ตระหนักถึงแบบอย่างความพยายามอดทนนี้ เหมือนเช่น ซิฮวน และ ชุนเล .

ภาพ จากซ้าย ซิฮวน ข้าพเจ้า และชุนเล


* นิสิตชั้นปีที่ 5 สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[๑] การร้องออกมาเป็นทำนอง

[๒] การร้องออกมาเป็นทำนอง เช่นเดียวกับ ฮัมเพลง

หมายเลขบันทึก: 588710เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2015 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2015 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท