วัฒนธรรม HRD ในระบบทุนนิยม


ในระบบทุนนิยม ที่เป็นวิถีการผลิต ให้ความสำคัญกับเอกชน ในการผลิตสินค้า การตลาด ประสิทธิภาพ คุณภาพ มาตรฐาน
โดยมีเป้าหมายเพื่อกำไร หรือผลการประกอบการที่สร้างผลกำไรให้ผู้ลงทุน ระบบวิถีการผลิตต้องทำให้ทุกอย่างมีต้นทุนที่ต่ำ
ที่สุด แน่นอน ไม่มีผู้ประกอบการรายไหน ทำงานได้เอง โดยไม่ต้องมีการจ้างงาน จากแรงงานคนหลายระดับ ตั้งแต่แรงงานมีฝีมือ
และแรงงานไม่มีฝีมือฝึกให้มีฝีมือ ระบบการสรรหาแรงงานในวิถีทุนนิยมก็ต้องทำงานให้เกิดผลสอดคล้องกับเป้าหมายคือกำไร

การผลิตคนในระบอบทุนนิยม มีความต้องการแรงงานที่มีคุณธรรมที่สอดคล้องกับระบบที่ต้องการ คนที่ซื่อสัตย์ ขยัน รับผิดชอบ มีจิตสำนึกต่อหน้าที่ ยอมรับสถานะของตนเอง และทำงานเต็มที่ หรือ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล การทำงานได้เต็มที่ ต้องอาศัย การสื่อสารตามคำสั่ง สั่งการตามระบบ หรือภาษา ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้แรงงานนั้นเป็นนักบริโภคที่ดี ที่ต้องการอาศัยการกระตุ้นผ่านสื่อต่าง ๆ ในลักษณะที่เชือง่ายเมื่อวางเงื่อนไข โดยอาศัยแรงจูงใจที่เป็นตัวเงิน และความกลัวต่อการไม่มีงานทำ กลัวต่อการไม่มีเงิน เงินเป็นแรงจูงใจพิเศษของผู้ทำผลิตภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า

เนื่องจากงานในระบบทุนนิยมนั้น มีโครงสร้างตำแหน่งสูงต่ำไม่เท่ากัน และในโครงการการผลิตฐานรากเป็นฐานใหญ่ และขึ้นไปยอดพิรามิด ดังนั้นสิ่งที่ระบบต้องการคือ การแบ่งแยกแรงงานด้วยผลของการศึกษา ผลของการทำงานให้ได้กำไรสูงสุด คนที่เรียนเก่ง
หรือทำงานเก่งจะได้เข้าไปสู่ระดับกลางของพิรามิด และ เติบโตขึ้นไป ส่วนคนส่วนใหญ่ที่ถูกกรองด้วยระบบวัดผลประเมินผลกลาง ๆ ถึงระดับล่างก็จะถูกฝึกให้เป็นแรงงานฐานล่างของพิรามิด ตามระบบการปีนบันไดดารา

HRD ในการผลิตแรงงานของระบบการศึกษาก็ต้องออกแบบระบบให้สอดคล้องระบบหลัก เมื่อเข้าสู่ระบบจะถูกทำลายจิตสำนึกเสรีเสียก่อนเป็นอันดับแรก โดยทุกคนจะต้องเสียสละความสุขส่วนตัวโดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่าวินัย โดยการควบคุมร่างกาย ควบคุมความคิดจิตใจไปพร้อมกัน การเข้าออกเวลาเรียนจึงเหมือนโรงงาน การมอบหมายงานและการบ้าน จึงเป็นการฝึกให้เคยชินกับระบบ คือต้องรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย เด็กที่เก่งการเรียนรู้ในระบบนี้จะมีประสิทธิภาพในการรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย เชือฟัง มีคุณธรรม ขยัน รับผิดชอบ เขาจึงสามารถผ่านระบบงานแบบทุนนิยมในเบื้องต้น พร้อมที่จะปีนบันไดดารา ระบบที่สอดคล้องอีกประการหนึ่งก็คือ ให้ความสำคัญกับการศึกษาระบบเดียวคุ้มทุน ก็คือ เรียน สอน สอบ ด้วยหลักสูตรเดียวกัน คิดแบบเดียวกัน ที่เรียกว่าคุณภาพมาตรฐาน โดยไม่ได้สนใจว่าแต่ละคนมีความถนัดอย่างไร มีความแตกต่างกันอย่างไร แต่เมื่อเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่าระบบ จะแบ่งแยกแรงงานโดยอัตโนมัติ ส่วนการฝึกให้เป็นนักบริโภคที่ดี ก็ดูรสนิยมของคนฝึก ได้แก่ การแต่งตัวตามมาตรฐานของคนชั้นสูง การบริโภคแบรนด์ดัง ๆ เช่นกระเป๋า เครื่องประดับต่าง ๆ การขับรถยนต์ยี่ห้อแพง ๆ และการใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อต่าง ๆ ก็เพื่อที่จะแบบอย่างในการบริโภคนั่นเอง ดังเช่นท่านเจ้าสัวคนหนึ่งนำเสนอว่า ควรขึ้นเงินเดือนข้าราชการ โดยเฉพาะราชการแบบ HRD ก็เพื่อที่จะเร่งให้เกิดระบบบริโภคให้รวดเร็วขึ้น แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่่การยอมรับโครงสร้างความสัมพันธ์ในโครงสร้างและการปฏิบัติตาม เมื่อมีฝึกการแบ่งแยกแรงงานเช่นนี้ตั้งแต่เล็ก ๆ ก็จะคัดกรองคนขึ้นไปฝึกระบอบทุนนิยมขั้นสูงที่ต้องมีการแข่งขันกัน แต่ก็ไม่ได้ทิ้งการผลิตซ้ำคุณธรรมในโรงงาน แถมเมื่อเข้าถึงการศึกษาระดับสูง การบริโภคนิยม การบริโภคสินค้าได้ถูกปลูกฝังผ่านค่านิยมผ่านสื่อต่าง ๆ ผ่านผู้สอนที่มีบุคลิกภาพแบบชนชั้นสูง ทำให้เป็นที่หวังได้อย่างแน่นอนว่าจะได้แรงงานที่พร้อมจะรับใช้ระบบ ซื่อสัตย์ต่อระบบ

เจ้าสัวนายทุนใหญ่ท่านหนึ่งรับแรงงานเข้ามาทำงานและปรากฎว่าจำเป็นต้องฝึกใหม่หมด ท่านจึงทำโรงเรียนเพื่อที่จะ HRD บุคลากรของท่านเอง ให้สามารถทำงานในระบบงานของท่านได้ทันที ระบบการเรียนการสอนเพื่อฝึกก็แตกต่างออกไปพอสมควร ตั้งแต่ได้ฝึกงานจริง สอดคล้องกับแรงงานที่ท่านต้องการ ทำให้ตั้งคำถามต่อไปว่าทำไมแม้ว่าระบบการผลิตแรงงานจะทำได้เกือบครบชุด แต่
ทำไมจึงไม่สามารถทำงานได้ทันที ต้อง Train กันตลอดเวลา ก็เพราะว่าระบบทุนนิยมมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หยุดนิ่ง การพัฒนา HRD ส่วนใหญ่ ก็ไม่พ้นการหานักพูดดี ๆ มาสร้างแรงบันดาลใจให้ทำงานได้มากขึ้นเรื่อย ๆ มีนักไดอะล็อก มาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งกับระบบสั่งการ ให้มีความเข้าอกเข้าใจ ทำงานสร้างกำไรให้ระบบต่อไป ตลอดจนนักสร้างทีม นักเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล
หลายหลากรูปแบบ รวมทั้งระบบคิวซี จัดการความรู้ เป็น HRD สำหรับระบบทุนนิยมทั้งสิ้น

เนื่องจากธุรกิจในระบบทุนนิยมมีความผันผวนไม่แน่นอน มีการแข่งขันกันสูงมากทีเดียว ดังนั้นจึงมีการทบทวนเพื่อจะสร้างระบบแรงงานแบบใหม่ ๆ จึงมีการปฏิรูปการศึกษาระบบมาตรฐาน(โรงงาน)ขึ้น และปัจจุบันก็มีทักษะ ศตวรรษที่ 21 ขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อปรับตัวสร้างแรงงานชนิดใหม่ ๆ ต่อวิถีการผลิตแบบใหม่ ๆ เช่น ระบบของซิลิคอนวาเล่ย์ ที่มีความยืดหยุ่นในการทำงาน แต่เติมความคิดสร้างสรรค์เข้าไปเพื่อให้คนมีที่ยืน ระบบของ กูเกิล ที่มาในแนวนี้เหมือนกัน และสร้างสรรค์กำไร หรือ ผลิตภาพให้กับระบบทุนนิยมใหม่ เป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ระบบใหม่นี้มีความจำเป็นต้องเรียนแบบโปรเจคที่บูรณาการงานและการสร้างสรรค์งานเข้าด้วยกัน ภายใต้จิตสำนึกแห่งการทำงานเหมือนเดิม คุณธรรม จริยธรรมแบบเดิม ๆ และบริโภคมากกว่าเดิม เพราะระบบทุนนิยมใหม่ทำให้คนไม่รู้สึกว่าอยู่อย่างอึดอัดในระบบ แถมได้เงินเดือนเยอะ ๆ สวัสดิการมาก ๆ จูงใจคน

ดังนั้น HRD จึงมีความสัมพันธ์กับระบบระบอบ กันแบบคอหอยกับลูกกระเดือก ดังนั้นจึงไม่มีใครออกแบบให้การศึกษาเป็นระบบที่มีความสุขไม่เครียด จึงไม่มีใครออกแบบให้การศึกษานั้นหลากหลายตามความเข้าใจและความถนัด จึงไม่มีใครออกแบบการศึกษาไปเพื่อสนองต่อระบบอื่น เช่น ระบอบวิสาหกิจชุมชน การทำงานรับใช้สังคม ระบบอาสาสมัคร ระบบพึ่งตนเอง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนในยุคนี้ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพตนเอง เพราะมัวแต่หาเงินให้มากที่สุด สุขภาพจึงเกี่ยวกับการจ้างหมอหรือผู้เชี่ยวชาญมาดูแล ระบบความรู้ก็เหมือนกัน จึงถูกล็อกให้เป็นชุดความรู้ ความคิดเพียงชุดเดียว คือชุดที่สนองตอบต่อรายได้ และ สนองต่อเป้าหมายใหญ่คือกำไร หรือประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เพียงอย่างเดียวเท่านั้น




คำสำคัญ (Tags): #วัฒนธรรม HRD
หมายเลขบันทึก: 588484เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2015 00:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2015 00:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โรงเรียนถูกสร้างมาเพื่อปิดกั้นอิสรภาพของมนุษย์ และส่งมอบร่างกายอันบอบช้ำให้กับระบอบทุนนิยม

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท