ศาสตร์ว่าด้วยสังคมที่คนเห็นใจซึ่งกันและกัน



บทความเรื่อง How do we increase empathy? 1, 2 ทำให้ผมรู้จัก Nicholas Kristof นักเขียนมือรางวัล พูลิตเซอร์ ๒ ครั้ง ที่เขียนใน นสพ. New York Times หน้า op-ed มาตั้งแต่ปี 2001 จนได้ชื่อว่าเป็น นักหนังสือพิมพ์นักออกความเห็น (opinion journalism)

คราวนี้เขาเอาเรื่องของเพื่อนสนิทสมัยเรียนชั้นมัธยมมาเขียน โยงไปสู่ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน (empathy) ของคนในสังคม เพราะว่าเพื่อนของเขา (Kevin Green) ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย เรียนจบก็ออกไป ทำงานเป็นลูกจ้าง มีลูกสองคนกับแฟนที่ไม่ได้แต่งงานกัน จนเกิดอุบัติเหตุที่หลัง ทำงานไม่ได้ก็ถูกให้ออก จากงาน กลายเป็นคนตกงาน ต้องเลี้ยงชีวิตจากเงินสวัสดิการ และแฟนพาลูกย้ายไปอยู่ที่อื่น ความเครียด ในชีวิตทำให้เป็นโรคอ้วน และตายเมื่ออายุเพียง ๕๔

คนจำนวนหนึ่งจะบอกว่า ชีวิตของเควินเป็นอย่างนั้น ก็เพราะเขาทำตัวเอง แต่ นิโคลัส เอามาเขียนเพื่อทำความเข้าใจเรื่องความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ซึ่งสำหรับผม เป็นคุณสมบัติสำคัญ อย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์เรามี empathic brain หรือมี social mind ดังในหนังสือ The Empathic Brain

แต่ นิโคลัส คริสตอฟ มองในมุมด้านสังคม ในด้านสิ่งเร้าให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ ว่าได้แก่รูปร่างหน้าตา และว่าความร่ำรวยทำให้คนมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นลดน้อยลง เขาเอาตัวเลขมาให้ดู ว่าคนรวยทำบุญน้อยกว่าคนจน เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนของรายได้

มาถึงประเด็นสำคัญ ว่าจะเพิ่มความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันอย่างไร

เขาอ้าง Dacher Keltner แห่ง Greater Science Center, UC Berkeley ที่ผมอยากเรียกว่านักวิทยาศาสตร์ ว่าด้วยความเป็นมนุษย์ (ที่มีจิตใจสูง) เป็นวิธีศึกษาธรรมะจากอีกมุมหนึ่งของวิชาการ

Dacher Keltner บอกว่า เมื่อคนเราเห็นความยากลำบากของคนอื่น เส้นประสาทเวกัส จะถูกกระตุ้น นำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น (compassion) และมีหลักฐานว่า การรับรู้เรื่องของความเสียสละ และการทำสมาธิในรูปแบบต่างๆ และการออกไปชื่นชมธรรมชาติ ช่วยเพิ่มความเห็นอกเห็นใจคนอื่น

นักจิตวิทยา ที่ศึกษาเรื่องความเห็นอกเห็นใจคนอื่น อีกท่านหนึ่งคือ Steven Pinker แห่งมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด (ผู้เขียนหนังสือ The Better Angels of Our Nature) ที่บอกว่า การมีนวนิยายตีพิมพ์ และอ่านกัน แพร่หลายเมื่อ ๓ ศตวรรษมาแล้ว ช่วยให้ผู้คนจินตนาการความทุกข์ยากของผู้อื่น ช่วยฝึกและพัฒนา ความเห็นอกเห็นใจ

นิโคลัสลงท้ายด้วยโปรแกรมการศึกษาที่กำหนดให้นักเรียน/นักศึกษา ออกไปทำกิจกรรมรับใช้สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมคนยากจนด้อยโอกาส ว่า แม้จะมีการไปทำกิจกรรมเพียงเพื่อให้ได้ประวัติเอาไปแสดง ตอนสมัครเรียนต่อ หรือตอนสมัครงาน แต่ในภาพรวม กิจกรรมเหล่านี้ก็ช่วยให้นักเรียน/นักศึกษา ได้สัมผัสความยากลำบากของคนอื่น นำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ

เขาลงท้ายว่า การเห็นอกเห็นใจคนอื่นไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่เป็นคุณลักษณะของความศิวิไล



วิจารณ์ พานิช

๗ ก.พ. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 587108เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2015 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มีนาคม 2015 11:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท