การอบรมแบบสมรรถนะ (Competency) ดีอย่างไร?


ทำอย่างไรให้การฝึกอบรมมีประสิทธิภาพ นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และคุ้มค่าต่อการลงทุนด้านการฝึกอบรม?

การอบรมแบบสมรรถนะ (Competency) ดีอย่างไร?

เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ผมได้เดินทางไปอบรมหลักสูตรพัฒนาหัวหน้างานสำหรับธุรกิจค้าปลีก (Supervisor for Retails) ที่บริษัทแม่ของ 7 – Eleven ที่เทกซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ ใช้เวลาอบรม 4 วัน ร่วมกับผู้จัดการในบริษัทที่อยู่ในธุรกิจค้าปลีกของอเมริกา ซึ่งเมื่ออบรมเสร็จสิ้น เมื่อกลับมาทบทวนสิ่งที่ได้จากการอบรม และการนำเอามาใช้ประโยชน์ พบว่า แทบไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย ถือว่าเป็นการลงทุนที่ผมรู้สึกว่าไม่คุ้มค่าเลย

ต่อมาได้เข้าอบรมอีกหลายอย่าง เช่น หลักสูตร Strategic Management ที่ได้วิทยากรจากอเมริกามาสอนให้ที่กรุงเทพ โดยมีบริษัทน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งให้การสนับสนุน หมดค่าใช้จ่ายไปมากกว่าล้านบาท แต่ภายหลังการอบรม ผมสังเกตว่า การบริหารงานภายในองค์กรยังคงเหมือนเดิม ไม่มีบุคลากรคนใดนำเอาเรื่องกลยุทธ์มาใช้อย่างจริงจัง

นอกจากนี้ผมยังได้มีโอกาสเข้าอบรมหลักสูตรที่บริษัทจัดให้ เช่น หลักสูตรการตลาดสำหรับยุคใหม่ หลักสูตรสมรรถนะสำหรับผู้บริหาร หรือแม้แต่หลักสูตรจิตวิทยาของผู้ประกอบการ แต่ดูเหมือนหลังจากอบรมแล้ว มีการนำเอาไปใช้ประโยชน์ในการทำงานน้อยมาก

คำถามที่ผมมักถามตัวเองเสมอ คือ ทำอย่างไรให้การฝึกอบรมมีประสิทธิภาพ นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และคุ้มค่าต่อการลงทุนด้านการฝึกอบรม?
จนกระทั่งผมได้ร่วมโครงการพัฒนาสมรรถนะพนักงานในธุรกิจค้าปลีก ที่สถานฑูตออสเตรเลียร่วมกับคณะกรรมการอาขีวศึกษาและสมาคมค้าปลีกไทยจัดขึ้น

ในฐานะที่ผมเป็นประธานคณะอนุกรรมการฝั่งสมาคมค้าปลีก ได้ร่วมกับหลายบริษัทที่อยู่ในสมาคมค้าปลีกร่วมกันจัดทำสมรรถนะ (Competency) ของพนักงานขาย และทดลองใช้ในธุรกิจ พบว่า เป็นแนวทางพัฒนาหลักสูตรที่น่าสนใจ ต่อมาได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานในประเทศออสเตรเลีย อังกฤษ และเยอรมัน จึงได้พบว่า ประเทศเหล่านี้ล้วนมีการนำเอาสมรรถนะเป็นแกนกลางในการจัดทำหลักสูตรชุดสอนและประเมินผล ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการฝึกอบรมสูงขึ้นกว่าที่เคยเป็น

ผมได้เริ่มทดลองใช้วิธีการนี้ เรียกว่า การฝึกอบรมแบบสมรรถนะ Competency Based Training (CBT) ในหลายธุรกิจที่ผ่านมา เช่น ในธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสิ่งทอ ธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ ธุรกิจแฟชั่น และเมื่อเป็นที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีโอกาสเป็นผู้ผลักดันในการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพขึ้น จนกระทั่งสำเร็จในปัจจุบันนี้ ซึ่งได้ประยุกต์ใช้แนวทาง CBT กับหลักสูตรที่ใช้สอนในปัจจุบัน

เมื่อเปรียบเทียบหลักสูตรที่จัดสอนกันทั่วไป เปรียบเทียบกับหลักสูตรแบบสมรรถนะ จะเห็นว่าหลักสูตรแบบทั่วไป มักมีเนื้อหาที่กว้าง เป็นนามธรรม ยากที่จะให้ผู้เรียนเอาไปปฏิบัติหลังอบรมเสร็จ เป็นเพียงแต่ได้ ความรู้ และข้อคิดเท่านั้น เราจึงมักได้ยินผู้เข้าอบรมถามวิทยากรบ่อยๆ ว่า "จะให้ผมทำอะไรต่อไป"

ในขณะที่หลักสูตรแบบสมรรถนะ ซึ่งถูกออกแบบมาจากมาตรฐานในการปฏิบัติงานจริง มักจะเป็นหลักสูตรที่สั้น กระชับ ให้แนวทางปฎิบัติไว้สำหรับผู้เรียน ที่สามารถนำเอาไปปฎิบัติได้ทันที่ที่ผ่านการอบรม

เมื่อหลักสูตรแบบสมรรถนะถูกออกแบบมาให้สามารถเรียนรู้ได้เป็นจริงมากกว่า เมื่อผ่านการเรียนมาแล้ว โอกาสที่จะถูกนำไปใช้ก็มากกว่า ซึ่งจะส่งผลในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การอบรมที่ดีมีส่งผลทำให้การทำงานลดผิดลาด ลดการสูญเสียที่เกิดจากการทำงานที่ผิดพลาดได้ และที่สำคัญเมื่อพนักงานสามารถปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างดี มักจะไม่ถูกตำหนิ จากหัวหน้างาน ขวัญกำลังใจในการทำงานก็จะดีขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจได้ว่า การอบรมแบบสมรรถนะดีอย่างไร

See more www.CBTthailand.com

หมายเลขบันทึก: 586822เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2015 03:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มีนาคม 2015 02:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้ว เกิดแรงบันดาลใจอยากรู้ วิธีการของหลักสูตร CBT มากเลยครับ เผื่อว่าจะนำมาปรับใช้กับการฝึกอบรมครูครับ...

ขอบคุณท่านที่เข้ามาติดตามงานของผมครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท