beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

ครูนเรศ เหมนาไลย <๘> : เรื่องเล่าของ "สายรุ้งรัตน์ แสงมณี" ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากครูนเรศ (๑)


ท่านสอนวิชาประวัติศาสตร์ ได้สนุก มีวิธีการสอนที่ไม่ได้เน้นท่องจำ แต่เน้นเข้าใจ

เก็บตก มาจาก เรื่องเล่า แรงบันดาลใจ ต่อครูนเรศ เหมนาไลย... ของ นางสายรุ้งรัตน์ แสงมณี ที่เขียนเล่ามา ส่งถึงบีแมนตั้งแต่ กลางเดือนมกราคม 2558 ครับ....(ผม-บีแมนขออนุญาต-ดัดแปลงเนื้อหาให้อ่านสนุกขึ้นครับ)

คุณ สายรุ้งรัตน์ แสงมณี อายุ 46 ปี (ปี 2558) ปัจจุบันทำงานอยู่ที่บริษัท ปัญญธารา จำกัด ถนนแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นบริษัท ที่จัดอบรมให้กับพนักงานร้าน 7-Eleven (ธุรกิจค้าปลีกที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในประเทศไทย)

เธอเล่าถึง "1-ในแรงบันดาลใจ" ที่มีวันนี้ได้ ว่า......

ย้อนกลับไปเมื่อสมัยเรียนวิชา "ประวัติศาสตร์" ชั้นประถมปีที่ 6 โดยทั่วไปเราจะนึกถึงภาพของครูสูงอายุ เมื่อมาถึงก็จะสั่งให้เราท่องจำประวัติศาสตร์ชาติไทย ตอนนั้นตอนนี้ ซึ่งก็จำเป็นต้องท่องเนื้อหาเพื่อไปสอบ แต่หลังจากสอบแล้วพวกนักเรียนก็จะลืม เพราะต้องท่องของใหม่....

ไม่ต้องบอกก็ทราบได้เลยว่าเด็กๆ จะเบื่อวิชานี้ขนาดไหน ก็ขนาดเด็กที่เรียนเก่ง เรียนดี ก็ยังแอบเบื่อและแอบหลับในวิชานี้

แต่ในปีนั้น (ราวๆ ปี 2523-บีแมน) ที่โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย มีครูเข้ามาใหม่ ชื่อ "ครูนเรศ เหมนาไลย" ครูมาสอนวิชาสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ครูท่านนี้ไม่เหมือนใคร (แตกต่าง) ท่านสอนวิชาประวัติศาสตร์ ได้สนุก มีวิธีการสอนที่ไม่ได้เน้นท่องจำ แต่เน้นเข้าใจ

เวลาท่าน "เล่าเรื่อง" ประวัติศาสตร์สมัยต่างๆ นั้น สนุกมาก... ที่สนุก เพราะใช้วิธีการสอนแบบ "เรื่องเล่า" หรือ Story telling เราจะฟังจนเพลินและจำเรื่องเล่าเหล่านั้นได้ดี

เวลาสอนวิชาภูมิศาสตร์/สังคมศาสตร์ ท่านสอนให้ดูแผนที่ ดูภูเขา ดูเขตแดน เราจึงสามารถจินตนาการตามได้

กติกา หรือ "ข้อตกลงใช้บริการ" คือ เวลาท่านสอน เราต้องตั้งใจฟัง แต่เวลาเราตอบ ท่านจะฟัง เราจะตอบผิด-ตอบถูก ท่านไม่ว่า ขอแต่ให้เรากล้าตอบเป็นอันใช้ได้

ท่านไม่เคยใช้คำพูดว่า "ผิด" ซึ่งมันจะทำให้เราเสียความมั่นใจ แต่ท่านจะพูดว่า "ลองใหม่ซิ" "ขออีกครั้งซิ" "มันดีกว่าใช่ไหม" ฯลฯ

ก่อนที่เราจะจากชั้นประถม เพื่อก้าวชั้นสู่มัธยม ท่านจะบอกเราว่า "แวะมาหาบ้าง มาส่งการบ้านนะ" ซึ่งพวกเรา "ศิษย์ของครู" ทำตามนั้นเสมอมา...มาส่งการบ้าน มาเยี่ยมครู ซึ่งครูจะดีใจมากและให้ลงชื่อในสมุดเยี่ยม

เธอไม่ได้เป็น "ศิษย์ครูนเรศ" เพียงคนเดียว แต่ยังได้ ส่งลูกสาวคนโต และลูกชายคนเล็ก มาเป็น "ศิษย์ครูนเรศ" ด้วย ก่อนที่ครูจะเกษียณ-ครูนเรศจึงเป็น "ครูในดวงใจ" ที่ยาวนานมาก ตั้งแต่แม่จนถึงลูกๆ ทั้งสองคน

ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ได้ตั้ง "เป้าหมาย" ว่าจะเป็นครู (มีอาชีพเป็นครู) แต่ทว่าวันหนึ่ง เมื่อลิขิตชีวิตกำหนดให้ เธอต้องมาเป็นวิทยากรให้กับบริษัท เธอทราบได้ทันทีว่า วิทยากรที่ดีนั้น ต้องทำแบบไหน

แม้ว่าเธอจะผ่านการถูกสอน อบรมบ่มเพาะ จากหลายครู หลายอาจารย์ หลายวิทยากร แต่ท่านที่ติดตรึงอยู่ในใจของเธอเสมอ คือครูนเรศ เป็นเพราะวิธีการสอน วิธีถ่ายทอดความรู้ ด้วยความทุ่มเท ความตั้งใจเต็มร้อยทุกครั้ง ทำให้เธอซึมซับ รับวิธีการเหล่านี้มาโดยไม่รู้ตัว และนำมาปรับใช้ัตลอดชีวิตของการเป็นวิทยากรของเธอ

การที่เธอ เป็นผู้เชี่ยวชาญฝ่ายวิทยากร ทำหน้าที่ฝึกอบรมให้กับพนักงานร้าน รวมไปจนถึงพนักงานสายสำนักงาน และผู้บริหารระดับสูงที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับร้านได้นั้น ไม่ใช่เพราะความบังเอิญ หรือการได้ทำงานมานาน แต่เป็นเพราะต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก ซึ่งต้องใช้ความอดทน และความพยายามอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะทำได้

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีแรงบันดาลใจ ที่จะต้องไปส่งการบ้านให้กับครูนเรศ เมื่อมีประสบการณ์ ประสบความสำเร็จในชีวิตในระดับหนึ่งแล้วนั่นเอง

ตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมานี้ เธอจึงยังเป็นศิษย์ "ครูนเรศ" ที่แวะเวียนไป "ส่งการบ้าน" ตามที่ครูสั่ง..เสมอมา

หมายเลขบันทึก: 586819เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2015 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2015 23:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท