นักจัดการงานวิจัย ผู้เชื่อมผลงาน...จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ


คนไทยเป็นนักคิด รู้เรื่องเยอะ แต่ไม่ใช่นักปฏิบัติ จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญากันน้อยมาก หรือแม้แต่การนำไปใช้ประโยชน์สาธารณะ ฉะนั้นประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนานักบริหารจัดการงานวิจัย หรือผู้จัดการงานวิจัยที่เป็นมืออาชีพ เพราะวันนี้นักวิจัยบางคนอาจไม่รู้เรื่องการจดสิทธิบัตรหรือการผลักดันผลงานให้เกิดมูลค่าเลยด้วยซ้ำ

ผลผลิตจากงานวิจัยหลายๆเรื่องที่ประสบความสำเร็จหรือได้นำผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ นอกจากจะมี "นักวิจัย" เป็นแม่ทัพทางด้านการศึกษาค้นคว้าแล้ว ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการอย่าง "ผู้จัดการงานวิจัย" นั่น จัดว่าเป็นขุนกำลังสำคัญ ที่จะช่วยผลักดันให้งานวิจัยสำเร็จลุล่วงสู่การพัฒนา – เปลี่ยนแปลง



อย่างไรก็ดี ปัจจุบันในประเทศไทย ยังถือว่าประสบภาวะขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่จะเข้ามาช่วยเป็นผู้จัดการงานวิจัย เพราะลำพังจะมีเพียงนักวิจัย ก็ไม่อาจจะจัดการหรือขับเคลื่อนงานวิจัยให้สู่ความสำเร็จได้

ภก.ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี ที่สะท้อนผ่านเวทีการประชุมอบรมผู้จัดการงานวิจัย จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในหัวข้อ "ความจำเป็นที่ต้องมีการบริหารงานวิจัย" ยกตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า ผู้จัดการงานวิจัยคือตำแหน่งที่ขาดไม่ได้ของการวิจัย

"คนไทยเป็นนักคิด รู้เรื่องเยอะ แต่ไม่ใช่นักปฏิบัติ จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญากันน้อยมาก หรือแม้แต่การนำไปใช้ประโยชน์สาธารณะ ฉะนั้นประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนานักบริหารจัดการงานวิจัย หรือผู้จัดการงานวิจัยที่เป็นมืออาชีพ เพราะวันนี้นักวิจัยบางคนอาจไม่รู้เรื่องการจดสิทธิบัตรหรือการผลักดันผลงานให้เกิดมูลค่าเลยด้วยซ้ำ"

นอกจากนี้ บุคลากรอย่าง "ผู้จัดการงานวิจัย" ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนงานวิจัยให้สู่ความสำเร็จที่ถูกต้อง ครบถ้วน และตรงตามข้อกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานวิจัย



ภก.ดร.นิลสุวรรณ เล่าประสบการณ์สมัยทำงานเป็นนักวิจัยที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาให้ฟังว่า หลังจากจบการศึกษาแล้วได้มีโอกาสเข้าทำงาน หน่วยงานมีประเด็นที่สนใจและวางแผนจะทำการศึกษาวิจัย โดยมอบหมายให้ตนทำงานวิจัย จำนวนทั้งสิ้น 12 เรื่อง ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งผลการดำเนินงานวิจัยสามารถสำเร็จลุล่วงได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักวิจัยสามารถดำเนินงานวิจัยจำนวนมากได้เสร็จสมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ เนื่องจากโครงการวิจัยทั้ง 12 เรื่องดังกล่าวนั้น มี "ผู้จัดการงานวิจัย" เข้ามาช่วย "ประสานงาน" และ "บริหารจัดการ" จำนวน 4 คน และที่น่าสนใจคือ มีผลงานชิ้นหนึ่งทำการศึกษาวิจัยและค้นพบคำตอบถึงสาเหตุของการเป็นโรคมะเร็งปอดในคนงานเหมืองถ่านหิน พร้อมให้ข้อเสนอแนะและแนวทางป้องกัน

"ต่อมารัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา จึงประกาศใช้นโยบายกำหนดให้คนงานเหมืองถ่านหินเข้าไปทำงานภายในเหมืองได้ครั้งละไม่เกิน 45 นาที เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของคนงาน จากผลงานวิจัยชิ้นนี้ส่งผลให้ได้รับรางวัลจากมหาวิทยาลัยเซนเทนเนียล ในฐานะที่เป็นงานวิจัยที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ"

ซึ่งผู้ที่ "ปิดทองหลังพระ" และมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการงานวิจัย ให้สำเร็จลุล่วงและสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ คือ ผู้จัดการงานวิจัย ที่ช่วยผลักดันข้อเสนอสู่รัฐบาล

ภก.ดร.นิลสุวรรณ ชี้ให้เห็นถึงภาพในปัจจุบันด้วยว่า วันนี้สถาบันการศึกษาหลายๆ แห่งได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการงานวิจัยมากขึ้น โดยการจัดตั้งสถาบันการวิจัยหรือศูนย์บริหารงานวิจัยขึ้นภายในมหาวิทยาลัย เช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์ส่งเสริมงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น เนื่องจากในการทำวิจัยนั้น จำเป็นต้องมีการกำหนดทิศทางการศึกษาวิจัยเพื่อให้โจทย์วิจัยสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ



"สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ระบุภาระหน้าที่ของผู้จัดการวิจัย ได้แก่ พัฒนาและจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยที่สมบูรณ์ ติดตามและรายงานความก้าวหน้าของโครงการฯ นำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบที่เหมาะสม ประสานงานร่วมกับเจ้าของแหล่งทุนและทีมนักวิจัย และนำผลงานวิจัยไปต่อยอดหรือใช้ประโยชน์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ภาระงานของ "ผู้จัดการงานวิจัย" ไม่เบาเลยทีเดียว..."


  • ส่วนแนวทางพัฒนางานวิจัยในประเทศไทย สู่การขับเคลื่อนประเด็นปัญหาต่างๆ และเปิดกว้างสำหรับบุคลากรอาชีพอื่นๆ ได้เข้ามาทำงานวิจัยมากขึ้น ภก.ดร.นิลสุวรรณ เสนอว่า การกำหนดนโยบายระดับประเทศใน ควรส่งเสริมให้เกิดนักวิจัยหน้าใหม่ ในขณะเดียวกันควรปรับเพิ่มงบประมาณสำหรับการทำวิจัยและมีช่องทางสำหรับการขอทุนวิจัยมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมงานวิจัยสู่การตลาด ซึ่งภาครัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุนทั้งในเรื่องงบประมาณและการขยายผลงานวิจัยเพื่อให้มีการนำผลงานวิจัยมาใช้ในระดับประเทศ
  • นอกจากนี้ควรมีการร่วมมือกันจากทั้งนักวิจัย ผู้บริหารงานวิจัย ผู้กำหนดนโยบายและผู้ประกอบการเอกชน เพื่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์และขยายสินค้าไปสู่ตลาดโลก ดังนั้น เมื่อนักวิจัยเห็นว่ามีช่องทางในการขยายผลงานและนำผลงานไปใช้ประโยชน์ ก็จะเกิดแรงจูงใจสำหรับนักวิจัยหน้าใหม่ และส่งผลต่อการพัฒนางานวิจัยให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศได้มากขึ้น

หนึ่งสมอง สองมือ จาก “ผู้จัดการงานวิจัย" ถือเป็นแม่แรงสำคัญที่จะมีส่วนช่วยหนุนให้ผลงานวิจัยนำไปสู่การใช้งานในทิศทางที่ควรจะเป็น นั่นหมายถึง “การใช้ประโยชน์จากงานวิจัย" อย่างมี “คุณค่า"

หมายเลขบันทึก: 586769เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2015 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2015 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท