รายงานการใช้แบบฝึกเสริมทักษะ ชุดเจ็ดขั้นหรรษากับมาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 นางหัสดีพร พิมเสน โรงเรียนวัดศิลาชลเขต


ผู้ศึกษาได้ดำเนินการสร้างและหาคุณภาพแบบฝึกเสริมทักษะชุดเจ็ดขั้นหรรษากับมาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒โดยดำเนินการ ดังนี้

๑. ศึกษารายละเอียด หลักสูตรและคู่มือการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ด้านสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้แกนกลาง กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อการสอน แหล่งการเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผลตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑

๒. ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนการสอน ภาษาไทยโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะ หลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ภาษา

๓. ศึกษาหาความรู้ โดยเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการจัดทำแบบฝึกเสริมทักษะ

๔. เลือกรูปแบบกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาไทย ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ภาษา วางแผน กำหนดขั้นตอน จัดทำแบบฝึกเสริมทักษะ ที่ยึดหลักการเรียนรู้จากง่ายไปหายาก กำหนดส่วนประกอบของแบบฝึก กำหนดแบบฝึกหัดการเรียนรู้ แบบทดสอบ บรรณานุกรม

๕.วิเคราะห์เนื้อหา เรื่อง มาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ที่ปรากฏในเนื้อหาของสาระการเรียนรู้แกนกลาง มากำหนดเป็นเนื้อหา ให้สอดคล้องกับตัวชี้วัด จุดประสงค์การเรียนรู้และทฤษฎีการเรียนรู้ นำมาจัดทำรายละเอียดของแบบฝึกเสริมทักษะ โดยออกแบบกิจกรรมในแบบฝึกเสริมทักษะของแต่ละชุดฝึกมีการสอนตามลำดับขั้นต่อไปนี้

ขั้นที่ ๑ รับรู้คำ (การสังเกตคำจากเพลง, ภาพ, บทร้อยกรอง ฯลฯ)

ขั้นที่ ๒ เข้าใจความหมายของคำ (เปรียบเทียบคำ, ภาพ, บริบท ฯลฯ)

ขั้นที่ ๓ จำแนกโครงสร้างของคำ (จำแนกแจกคำ, เข้าใจโครงสร้างคำ)

ขั้นที่ ๔ ฝึกเสริมทักษะภาษา (ภาพปริศนา, อักษรซ่อนคำ ฯลฯ)

ขั้นที่ ๕ ถ่ายโอนความรู้ (สร้างคำใหม่, แต่งประโยค ฯลฯ)

ขั้นที่ ๖ ประเมินและปรับปรุงทักษะทางภาษาด้วยตนเอง

(ฝึกอ่าน ฝึกเขียน)

ขั้นที่ ๗ มีความสุขในการอ่านและเขียน (เขียนเรื่อง, เลือกคำเล่าเรื่อง)

และจัดทำแบบฝึกเสริมทักษะ ชุด เจ็ดขั้นหรรษากับมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ขึ้น จำนวน ๙ ชุด ดังนี้

ชุดที่ ๑ "เริ่มเรียน...แม่ ก กา"

ชุดที่ ๒ "หรรษากับ...แม่ กง"

ชุดที่ ๓ "แม่กม...คงคุณค่า"

ชุดที่ ๔ "ลีลาคำ...แม่เกย"

ชุดที่ ๕ "อะไรเอ่ย?. คำ...แม่ เกอว"

ชุดที่ ๖"สนุกกับ...แม่กน"

ชุดที่ ๗ "ฝึกฝนคำ...แม่กบ"

ชุดที่ ๘ "แม่กด...ควรจดจำ"

ชุดที่ ๙" เรียนรู้คำ...แม่กก"

๖. นำแบบฝึกเสริมทักษะที่สร้างขึ้น ไปหาคุณภาพ โดยได้ดำเนินการดังต่อไปนี้

๖.๑ นำแบบฝึกเสริมทักษะที่สร้างขึ้นไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๕ ท่าน ตรวจสอบความถูกต้องด้านเนื้อหา ความสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ ความเหมาะสมของคำชี้แจงที่ใช้ในแบบฝึก ความเหมาะสมของจำนวนข้อกับเวลาที่กำหนดไว้ในแบบฝึก ความน่าสนใจและความเหมาะสมกับวัยผู้ฝึก และนำไปปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำ

๖.๒ นำแบบฝึกเสริมทักษะที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขแล้ว ไปทดลองใช้เพื่อหา

แนวทางปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะนำไปใช้จริง ดังนี้

๑) ครั้งที่ ๑ทดลองแบบหนึ่งต่อหนึ่ง (One to One Testing) นำแบบฝึกเสริมทักษะ ชุดเจ็ดขั้นหรรษากับมาตราตัวสะกดที่สร้างขึ้น ไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ โรงเรียนวัดศิลาชลเขต ปีการศึกษา ๒๕๕๕ ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง โดยเลือกแบบจำเพาะเจาะจง คือ นักเรียนเก่ง ๑ คน ปานกลาง ๑ คน และอ่อน ๑ คน เพื่อตรวจสอบความชัดเจนของคำชี้แจง ความเหมาะสมของการใช้ภาษา ความเหมาะสมของเวลาที่ใช้ในการทำแต่ละแบบฝึก ความยากง่ายของแบบฝึก ความเหมาะสมของรูปภาพ ความเหมาะสมของเวลากับจำนวนแบบฝึกทั้งหมดที่ใช้ฝึกในแต่ละครั้ง หลังจากนั้นได้นำข้อบกพร่องที่พบทั้งหมดมาปรับปรุงแก้ไข

๒) ครั้งที่ ๒ ทดลองกลุ่มเล็ก (Small Group Testing) นำแบบฝึกเสริมทักษะที่ได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว ไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ โรงเรียนวัดศิลาชลเขต ปีการศึกษา ๒๕๕๕ ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๑๐ คน โดยเลือกแบบจำเพาะเจาะจง คือ นักเรียนเก่ง ๓ คน ปานกลาง ๔ คน และอ่อน ๓ คน ซึ่งเป็นนักเรียนที่ไม่ซ้ำกับการทดลองแบบหนึ่งต่อหนึ่ง โดยดำเนินการทดสอบความรู้พื้นฐานก่อนเรียนและหลังเรียน ด้วยแบบทดสอบที่สร้างขึ้น จากนั้นนำผลไปวิเคราะห์เพื่อหาประสิทธิภาพของแบบฝึกเสริมทักษะที่สร้างขึ้น

๓) ครั้งที่ ๓การทดลองภาคสนาม (Field Try Out) ผู้ศึกษานำแบบฝึกเสริมทักษะที่ได้ปรับปรุงแก้ไขแล้วไปทดลองใช้กับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๕ โรงเรียนฆังคะทวีศิลป์ จำนวน ๓๐ คน โดยให้นักเรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียนด้วยแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง มาตราตัวสะกด จำนวน ๓๐ ข้อ แล้วดำเนินการเรียนด้วยแบบฝึกเสริมทักษะ ชุด เจ็ดขั้นหรรษากับมาตราตัวสะกด ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ แล้วทดสอบซ้ำด้วยแบบทดสอบฉบับเดิมจากนั้นนำผลไปวิเคราะห์เพื่อหาประสิทธิภาพของแบบฝึกเสริมทักษะที่สร้างขึ้น

๗. จัดทำคู่มือการใช้แบบฝึกเสริมทักษะ ชุด เจ็ดขั้นหรรษากับมาตราตัวสะกดโดยมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้

๑) คำชี้แจงคู่มือการใช้แบบฝึกเสริมทักษะชุดเจ็ดขั้นหรรษากับมาตรา

ตัวสะกด

๒) แนะนำแบบฝึกเสริมทักษะ

๓) สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้น

๔) เนื้อหาสาระ

๕) การเตรียมการในการใช้แบบฝึกเสริมทักษะ

๖) การเตรียมตัวผู้เรียนและครู

๗) คำแนะนำสำหรับนักเรียนและครู

๘) วัตถุประสงค์

๙) วิธีใช้

๑๐) แผนการจัดการเรียนรู้

๑๑) แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมและคะแนนแบบทดสอบ

ก่อน – หลังการเรียน

หมายเลขบันทึก: 586761เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2015 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2015 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท