กยศ. (ตอนที่๑) ...เมื่อวันยุติน้ำใจสงเคราะห์นักเรียนยากจน มาถึง..


สองสามวันนี้ ได้ยินข่าว กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ กำลังจะเปลี่ยนไป ก็ให้รู้สึกเสียดายและว้าเหว่กับวิธีคิดและทิศทางใหม่ของผู้บริหารกองทุนแห่งนี้ ที่เขากำลังจะมองข้ามความอัตคัดของคนยากจนกลุ่มหนึ่งไป

กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๓๙ มีเจตนาเพื่อสงเคราะห์นักศึกษายากจน โดยให้กู้ยืมเงินเพื่อเรียนหนังสือจนจบชั้นปริญญาตรี ด้วยเชื่อว่าการศึกษาจะพาตัวให้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง กฎเกณฑ์การกู้และชำระคืนจึงต่ำจนเหลือเชื่อ คือผ่อนผันให้ชำระคืนภายหลังจากจบการศึกษาและมีทำงานแล้ว ๑ปี ในครั้งนั้นได้ยินว่าเสียดอกเบี้ยร้อยละ ๑ บาทเท่านั้น ถูกเหมือนให้ฟรี เทียบกับค่าเงินเฟ้อแต่ละปีแล้ว เงินต้นนี้ก็แทบให้ดอกเบี้ยไม่คุ้มเสียด้วยซ้ำ (แต่ก็ถูกปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมอีกในภายหลังเป็นระยะๆ และล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕)

ใครเหลียวมองกองทุนนี้ ก็ล้วนคิดเหมือนกันไม่คุ้มและคงยากจะได้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยคืน และกว่าจะผลักจะดันออกเป็นพระราชบัญญัติก็อีกหลายปีต่อมา ในยุคนั้นก็กล่าวกันว่านี่คือการหาเสียงของพรรคการเมืองเจ้าของนโยบายนี้


การตั้งกองทุนได้สำเร็จจึงเป็นเรื่องเหลือเชื่อมากแล้ว และยังอยู่ได้มาถึงวันนี้ (นับได้ ๒๕ ปี) ต้องขอบคุณนายบรรหาร ศิลปอาชากับนโยบายเรื่องนี้ของพรรคชาติไทยและรัฐบาลสมัยนั้น ที่กล้าตัดสินใจเรื่องนี้ (สมัย พ.ศ.๒๕๓๙) และเป็นการสงเคราะห์ด้วยเมตตากรุณาแก่คนยากจนอีกกลุ่มหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม วันนี้ทิศทางของกองทุนกู้ยืมกำลังจะเปลี่ยนไป ความเมตตาสงเคราะห์คนยากจนเพื่อได้รับการศึกษากำลังจะถูกซุกเก็บไว้ในลิ้นชัก วันนี้บ้านเมืองเปลี่ยนไปแล้ว ผู้บริหารกองทุนและรัฐบาลหลาย ๆปีที่ผ่านมา จนปัญญากับปัญหาหนี้เสียเพราะทวงหนี้แต่ไม่ได้ ที่สุดเกิดหนี้สูญจำนวนมาก เพราะความจนปัญญานี้เอง จึงทำให้แก้ปัญหาไม่ตก หาทางออกไม่เจอ ท้ายสุดถึงเข้าตาจนต้องประกาศปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ "ให้กู้ยากและชำระคืนง่ายขึ้น" มิฉะนั้นผลงานนี้คงฟ้องชัดว่าผู้บริหารหมดความสามารถ และถ้าถึงวันนั้นคงไม่พ้นถูกปลดหรือถูกย้ายเป็นแน่


คิดแล้วช่างน่าเสียดายเจตจำนงของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษานี้นัก

บ้านเมืองของเราหลายปีที่ผ่านมานี้ หาคนมีแก่ใจเหลียวแลการศึกษาจริง ๆน้อยนัก ส่วนใหญ่รักแต่ธุรกิจการศึกษาแม้แต่ผู้บริหารการศึกษาในกระทรวงเองก็เช่นกัน มองอะไรในแวดวงการศึกษาก็จะต้องขอพัวพันกับตัวเงินเสียแทบทั้งสิ้น ไล่เรียงตั้งแต่นม อาหาร หนังสือ เครื่องแบบ อาคาร หลักสูตร การสอบ ตำแหน่งครู-อาจารย์ อาคารสถานที่ นับตั้งแต่ ป. ๑ ถึง ม.๖ จนบัดนี้ ความเสื่อมเหล่านีได้เริ่มระบาดจากพฤติกรรมมาถึงค่านิยมแล้ว และกำลังจะกลายเป็นวัฒนธรรมถาวรต่อไป แม้ในมหาวิทยาลัยเอง เราก็ยังพบธุรกิจการศึกษาชุกชุมจนน่าใจหาย ตั้งแต่ ดร.ปลอมวุฒิ หลักสูตรปลอม(ไม่มาตรฐาน) ใบอนุญาตปลอม(ทำเอง) มหาวิทยาลัยปลอม(ห้องแถว) แม้มหาวิทยาลัยเก่าแก่ก็ยังโกงกินตั้งหมื่นล้าน กลายเป็นจริยธรรมปลอมไปเสียได้ วันนี้ดูท่าประโยชน์แก่นักเรียนนักศึกษากลายเป็นของปลอมเสียอีกแล้ว ????


อย่างไรก็ตามเรื่อง กยศ. นี้ขอตั้งข้อสังเกตไว้ ณ จุดนี้สองสามเรื่อง ...ดังนี้

๑. กองทุนนี้มีเจตนาเพื่อ "สงเคราะห์" คนยากจนมาแต่แรกอยู่แล้ว จึงตั้งขึ้นมาเพื่อสงเคราะห์คนเหล่านี้ ให้มี "โอกาส" รับการศึกษาระดับปริญญาเพื่อหาความรู้อันเป็นทรัพย์สำหรับสร้างชีวิตที่ดีขึ้น อันเป็นโอกาสอันน้อยนิดที่คนยากจนไม่ค่อยจะได้รับจากใครๆ อยู่แล้ว ซึ่งความรู้ก็ดูจะเป็นทรัพย์สินประเภทเดียวที่คนยากจนมีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่น ๆบ้าง (แม้ในระยะหลัง ๆ สิทธิเรียนโรงเรียนดี ๆที่เชื่อว่ามีคุณภาพ จะเริ่มถูกแย่งชิงไปกำนัลอยู่ในกลุ่มเฉพาะคนรวยกับคนมีอำนาจเท่านั้นก็ตาม และเพราะการแย่งชิงโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของบ้านเมืองแบบนี้ ระบบการศึกษาก็ดูจะสูญเปล่า เพราะถึงจะจบกันมากแต่ก็ด้อยคุณภาพ)


ยุคนี้หากใครเอ่ยว่า ยากจนแต่เรียนดีก็ดูจะเป็นการเล่านิทานแปลกแต่จริงแบบหน้าซื่อ ๆ เพราะระบบการศึกษาทุกวันนี้ แทบจะใช้เงินปูเป็นทางเดินและเป็นบันไดปีนไปรับวุฒิบัตรกันแทบตลอดจากชั้นอนุบาลในโรงเรียน จนถึงดุษฎีบัณฑิตในมหาวิทยาลัย (ดังมีคำประกาศจากสถาบันชั้นสูงของประเทศว่าผู้จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการสถาบัน ต้องมาจากรุ่นที่จบการศึกษาและบริจาคเงินแก่สถาบันตั้งแต่ ๕ แสนบาทขึ้นไป น่าใจหายว่า เหตุใดหนอ เงินจึงเป็นหัวใจผู้กำหนดชะตากรรมสถาบันชั้นสูงของชาติ ได้ถึงปานนี้)


ดังนั้น เงินจากกองทุนนี้จึงมีความหมายหลายมิติที่ควรใส่ใจ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นส่วนสนับสนุนให้คนยาจนจำนวนหนึ่ง มี "โอกาส" เพื่อสร้างความอนาคต ใครจะรู้เขาเหล่านี้อาจเป็นกำลังของบ้านเมืองในอีก ๑๐-๒๐ ปีข้างหน้า พร้อมที่จะทำงานด้วยใจสำนึกใน"โอกาส" ที่สังคมมอบให้ มิใช่ "อำนาจของเงิน"

และถึงแม้จะกองทุนนี้จะตั้งมาด้วยเจตนาสงเคราะห์ก็ตาม แต่ก็มิได้คิดจะให้เปล่า ตรงกันข้ามกลับวางระบบการชำระคืนแบบเปิดและยืดหยุ่น คือชำระคืนภายหลังจากผู้กู้ยืมได้งานทำแล้ว ปริศนานี้ยากที่นักบริหารในระบบปิดจะเข้าใจได้ ยิ่งมาจากระบบปิดที่แข็งตัว มองการบริหารเป็นเส้นตรง (Input-Output) หาเรามองเพียงประสิทธิภาพของการบริหารเงิน มองกระบวนการกู้-แลชำระคืนเงิน เหมือนสินค้า ต้องโฆษณา ต้องลดแลกแจกแถม ส่งเสริมจูงใจ อีกหน่อย คนชำระเงินคืนคงได้รับแจกรถเบ็นซ์เหมือนเครื่องดื่ม หรือไม่ก็ต้องหยิบยืม Model พุทธพาณิชย์มาปรับใช้


ดังกล่าวแล้วว่า ใครๆ ก็ตามมองกองทุนนี้ก็รู้ว่าจะไม่ได้คืนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะมีนักบริหารน้อยคนนักที่เป็นนักยุทธศาสตร์ระดับนโยบาย จะมองเรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่คุ้มค่านั้นยากนัก (ข้อนี้ขอยกนิ้วโป้งชื่นชมคุณบรรหารอีกครั้ง จึงไม่แปลกใจว่า ๔๐ ปีให้หลังสุพรรณจะกลายเป็นต้นแบบการบริหารยุทธศาสตร์เมืองให้แก่อีกหลาย ๆจังหวัดได้อย่างไร ข้อนี้ไม่เอ่ยว่าดีหรือน่าพอใจหรือไม่นะ แต่ลำหรับคนๆ หนึ่งที่มองเห็นอนาคต ๔๐ ปีข้างหน้าได้ใกล้เคียง ก็ต้องยอมรับว่าเก่งจริงๆ )


การศึกษา เป็นการลงทุนของชาติที่สำคัญมากมายมหาศาล ยากจะประเมินค่าได้ เป็นการลงทุนด้วยเม็ดเงินก้อนโต แต่ก็ต้องถือว่าน้อยนักเมื่อเทียบกับการแลกเอาอนาคตของประเทศชาติและสังคมที่ผาสุก หากคนยากจนในชาติส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาอย่างถูกต้อง เพราะเชื่อว่าหากเขาเหล่านี้จะเปลี่ยนอนาคตตนเองได้บ้าง ชาติบ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง และในทำนองกลับกัน ถ้าคนเหล่านี้ขาดการศึกษา ปัญหาของชาติจะหนักหน่วงอย่างที่สุด พูดแล้วเหมือนเอ่ยถึงปรัชญาการศึกษาอันลึกซึ้ง แต่เปล่าเลย เพราะหากเรามองเพียงแค่ ๔ ปีของการศึกษา คิดเฉพาะหน้าชั่วเพียงเงินกู้-เงินคืน หนี้เสีย-สูญเปล่า เราก็จะเห็นเพียงแค่หนี้สูญ ผู้กู้ด้อยคุณภาพ แต่หากเราพิจารณาให้ถ่องแท้ คิดเผื่อให้กว้างอีกหน่อย คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่และรากฐานที่อยู่ข้างหลังของเขาอีกนิด เราก็จะเห็นอีกมุมหนึ่งที่ตรงกันข้าม ตัวเลขเหล่านี้มันบอกอะไรตั้งมากมายมิใช่แค่ประสิทธิภาพของการบริหารกองทุนเท่านั้น และอนาคตที่ใครยังไม่ถอดสมการ ว่าเขาเหล่านี้จะสร้างคืนกลับสู่สังคมอีกเท่าไร


ดังเรื่องตลกร้ายที่ว่า หนุ่มขับแท็กซี่รับจ้างอยากเป็นเจ้าของแท็กซี่ของตนเอง สู้เก็บหอมรอบริบหวังจะซื้อแท็กซี่ แต่ต้องซื้อเงินสดเพราะราคาหลายแสนบาท (ตามราคารถ) ปรากฏว่าเงินสดไม่พอ ครั้นจะขอกู้ ก็ไม่ได้เพราะธนาคารไม่มั่นใจรายได้ และหากพอมีหลักทรัพย์ค้ำประกันบ้าง ราคาแท็กซี่ผ่อนนี้ที่ตั้งใจซื้อเองก็สูงถึงล้านกว่าบาท ท้ายสุดต้องกลับมาขับรับจ้างขับรถเหมือนเคย ขณะที่เจ้าของอู่เช่าขอกู้จากธนาคารง่ายกว่าหลายเท่า เพราะมีอู่และรายได้จากการปล่อยรถให้เช่ารถค้ำประกัน มิหน้ำซ้ำการซื้อรถก็ถูกกว่าเพราะผู้ขายรถขายได้ทีละมากคัน ว่ากันว่าเคยมีข้อเสนอซื้อ ๑๐ แถม ๑ เชียวนะ(ครั้งที่แท็กซี่บุคคลรุ่งโรจน์) และยังลดแลกแจกแถมให้อีก ทั้งที่เจ้าของอู่ไม่ได้ขับรถสักคันหนึ่ง กลวิธีคิดด้วยหลักคุ้มค่า คุ้มทุนนี้ ไม่มีใครผิด แต่ท้ายสุด ๒๐ ปีให้หลังสังคมจะได้เรียนรู้ว่า "ทุน" ครอบงำวงการแท็กซี่บุคคลจนสิ้นท่าได้อย่างไร


รัฐบาลยอมเสียเงินกับเรื่องไร้แก่นสารปีละหลายหมื่นล้าน ขณะที่เงินเพื่อลงทุนสร้างให้คนมีความรู้ กลับหวั่นเกรง กังวลมากมาย ไม่กล้าใช้จ่ายให้เต็มที่เพราะเหตุว่ากลัวจะไม่ได้คืนเท่านั้น ทั้งที่มีเงินก้อนนี้ก็มีกฎเกณฑ์ให้ชำระคืนอย่างรัดกุม ไม่ใช่เงินที่สูญเปล่าเลย โปรดอย่าได้เปลี่ยนเจตนาของกองทุนจนกลายเป็นนายทุน หรือพ่อค้าธนาคารเลย

จึงอยากบันทึกไว้ เผื่อผู้บริหารกองทุน กยศ. จะคิดถึงความมุ่งมั่นและความหวังที่ผู้ก่อตั้งกองทุนครั้งแรกมองเห็นและสู้อุตส่าห์ก่อตั้งมันขึ้นมาบ้าง เชื่อเถอะว่า น้ำใจสงเคราะห์และเมตตาครั้งนี้ ไม่สูญเปล่าแน่

หมายเลขบันทึก: 586758เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2015 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2015 10:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท