​ถึงรสถึงชาติ (๒) : อำนาจของภาษา


เมื่อจบคาบเรียน ๙๐ นาที นักเรียนสะท้อนความเข้าใจของตนเองได้ว่า การอ่านภาษาภาพ บางครั้งเราก็คิดและตีความไปได้ต่างๆ นานา เมื่อเห็นจากภาพก็คิดถึงแต่สิ่งที่มีอยู่ในภาพเท่านั้น แต่การอ่านภาษาเขียน ช่วยให้เรามีจินตนาการกับเรื่องนั้นได้อย่างชัดเจน ยิ่งเขียนให้เห็นภาพชัดเท่าไหร่ ภาพที่ปรากฏขึ้นมาในความคิดก็ยิ่งชัดเท่านั้น


เมื่อนักเรียนเกิดแรงบันดาลใจขึ้นแล้ว บทร้อยกรองยาวเหยียดกับคำศัพท์จำนวนมากก็ไม่ใช่อุปสรรคในการ เรียนรู้อีกต่อไป แต่กลับทำให้นักเรียนตื่นตาตื่นใจได้มากกว่ายิ่งกว่าที่เคยเป็น


ในคาบเรียนนี้ครูพานักเรียนได้สัมผัสกับรสชาติทางภาษาที่มีความลึกซึ้งมากขึ้นด้วยการนำเอากลอนบทละครพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกอินทรชิต ที่มีความโดดเด่นในการใช้ภาษาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่สื่ออารมณ์ความรู้สึกของตัวละครเอาไว้หลากหลายรส ทั้งโกรธ รัก เศร้า สุข ฯลฯ มาให้ได้เรียนกัน โดยเริ่มจากการทำความรู้จักกับบทพรรณนา "ช้างเอราวัณ" ที่ถือกันว่าเป็นบทครู


ก่อนจะได้ชื่นชมกับภาษาในวรรณคดี ครูพาให้นักเรียนได้พบกับภาพช้างทรงขององค์พระมหากษัตริย์ผู้เป็นสมมุติเทพ เพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจเรื่องคติความเชื่อที่มีอยู่ในสังคมไทยเสียก่อน แล้วจึงเชื่อมเข้าสู่ความเชื่อที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีในภายหลัง


ภาพของ "คุณพระเศวตฯ" ซึ่งเป็นช้างทรงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันค่อยๆ ปรากฏขึ้นในความรับรู้ หลังจากที่นักเรียนได้ฟังเรื่องบารมีของคุณพระฯ ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเล่าเอาไว้จบลง และทั้งๆ ที่นักเรียนเพิ่งเคยเห็นภาพคุณพระเศวตรฯ เป็นครั้งแรก แต่ทุกคนก็เกิดความรู้สึกคุ้นเคยกับคุณพระฯ เป็นอย่างดี


หลังจากนั้นครูให้นักเรียนดูภาพช้างเอราวัณ แล้วแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ทุกคนเคยรับรู้มา แล้วจึงให้นักเรียนทดลองสร้างสรรค์ภาษาด้วยการเขียนบรรยายและพรรณนาถึงช้างเอราวัณที่รู้จักออกมาให้เห็นภาพชัดเจนมากที่สุด


นักเรียนแทบทุกคนเขียนถึงช้างเอราวัณในรูปแบบร้อยแก้ว โดยมีใจความสำคัญว่า ช้างเอราวัณเป็นช้างทรงของพระอินทร์ เป็นช้างเชือกใหญ่ มี ๓ เศียร เช่น


ช้างเอราวัณ เป็นช้างทรงของพระอินทร์ อาศัยอยู่บนสวรรค์ซึ่งไม่เหมือนช้างธรรมดาทั่วไป มีความสวยงามและมีเครื่องทรงมากมาย ช้างเอราวัณมีทั้งหมด ๓ เศียร เป็นช้างเผือกสีขาวสวยงาม น่าชื่นชม

(ฟ้า ๖/๒)



ช้างเอราวัณนั้นมีตั้งหลายหัว และยังตัวใหญ่แสนจะมั่นคง

เป็นช้างที่ดีของพระองค์ พระอินทร์ทรงมีเป็นช้างเป็นคู่ใจ

(นะโม ๖/๔)


แล้วกระบวนการเรียนรู้ก็ดำเนินมาถึงช่วงเวลาสำคัญที่ครูจึงให้นักเรียนหลับตาฟังบทกวีที่กล่าวถึงช้างเอราวัณในตอนที่การุณราชแปลงเป็นช้างเอราวัณตามคำสั่งของอินทรชิต ที่มีเนื้อความว่า

ให้การุณราชกุมภัณฑ์

เป็นเอราวัณตัวกล้า

สามสิบสามเศียรอลงการ์

เศียรหนึ่งเจ็ดงางามงอน

งาหนึ่งเจ็ดสระโกสุม

สระหนึ่งมีปทุมเกสร

เจ็ดกอชูก้านอรชร

กอหนึ่งบานสลอนเจ็ดผกา

ดวงหนึ่งเจ็ดกลีบสุบงกช

กลิ่นรสซาบซ่านนาสา

กลีบหนึ่งมีเทพธิดา

เจ็ดนางกัลยายุพาพาล

แต่ละองค์ทรงโฉมอรชร

รำฟ้อนจำเรียงเสียงหวาน

นางหนึ่งล้วนมีบริวาร

เจ็ดองค์เยาวมาลย์วิไลวรรณ

เผือกผ่องพึงพิศอำไพ

เหมือนช้างเจ้าตรัยตรึงศ์สวรรค์

มีวิมานทุกเศียรคชกรรม์

พรายพรรณล้วนแก้วมณี ฯ

(บทพระราชนิพนธ์ ในพระบทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)


ขณะที่ครูอ่านกำลังอ่านให้ฟัง ก็ได้ยินเสียงอุทานของนักเรียนที่เริ่มรู้สึกถึงความอัศจรรย์ยิ่งใหญ่ของช้างเอราวัณให้ได้ยินเป็นระยะ

เมื่อครูให้นักเรียนได้เขียนถึงช้างเอราวัณอีกครั้ง นักเรียนคนเดิมเขียนว่า


ช้างทรงฤทธิ์เผือกขาวเอราวัณ

อันเศียรนั้นสามสิบสามตำนานว่า

เจ็ดงางามงอนอลงการ์

เจ็ดธิดาในกลีบเจ็ดบัวบาน

องค์หนึ่งบริวารยังมีเจ็ด

ล้วนมีเจ็ดโฉมหน้าอรชร

นี่คือช้างเอราวัณดั่งบทกลอน

งามคู่ควรกับองค์อัมรินทร์

(ฟ้า ๖/๒)



ช้างเอราวัณมีสามสิบสามเศียร

งาเบียดเบียนเจ็ดงาในหนึ่งหัว

ในหนึ่งงายังมีอีกเจ็ดสระบัว

ในสระบัวก็มีบัวถึงเจ็ดกอ ฯ

(นะโม ๖/๔)


ในการเขียนถึงช้างเอราวัณในครั้งที่ ๒ นี้ นักเรียนส่วนใหญ่สามารถเขียนถึงช้างเอราวัณได้อย่างชัดเจนขึ้น ใช้คำได้ไพเราะขึ้นมาก เพราะได้ซึบซับรสคำและเกิดจินตนาการในการสร้างสรรค์ภาพช้างเอราวัณที่กวีรังสรรค์ขึ้นมา โดยเฉพาะส่วนเศียรที่มีการบรรยายรายละเอียดเอาไว้อย่างพิสดาร


เมื่อจบคาบเรียน ๙๐ นาที นักเรียนสะท้อนความเข้าใจของตนเองได้ว่า การอ่านภาษาภาพ บางครั้งเราก็คิดและตีความไปได้ต่างๆ นานา เมื่อเห็นจากภาพก็คิดถึงแต่สิ่งที่มีอยู่ในภาพเท่านั้น แต่การอ่านภาษาเขียน ช่วยให้เรามีจินตนาการกับเรื่องนั้นได้อย่างชัดเจน ยิ่งเขียนให้เห็นภาพชัดเท่าไหร่ ภาพที่ปรากฏขึ้นมาในความคิดก็ยิ่งชัดเท่านั้น


ดังนั้นเราจึงตั้งเป้าหมายกันว่า "เราจะอ่านวรรณคดีด้วยการใช้จินตนาการสัมผัสกับสุนทรียรส เพื่อเข้าถึงคุณค่าของวรรณคดีที่ถ่ายทอดผ่านความงามทางภาษาออกมาให้ได้"


กระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นให้นักเรียนได้ซึมซับความงามทางภาษาจากกวี ที่ถ่ายทอดจนเกิดเป็นภาพในจินตนาการสู่ผู้อ่าน แม้ว่าจะเป็นประบวนการสั้นๆ แต่ก็สามารถต่อยอดการเรียนรู้วรรณคดีในครั้งอื่นๆต่อไปได้ โดยเฉพาะเมื่อนักเรียนได้ไปสัมผัสกับวรรณคดีเรื่องนี้ด้วยตนเองอย่างจริงจังผ่านการทำชิ้นงาน "บทละครวิทยุ" ก็ทำให้นักเรียนอ่านและซึมซับภาษาได้อย่างละเอียดมากขึ้น และเป็นกระบวนการที่ช่วยให้นักเรียนได้ตีความอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร เกิดความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ และซาบซึ้งในรสคำที่กวีร้อยกรองกันมาอย่างประณีต


ครูนัท - นันทกานต์ อัศวตั้งตระกูลดี บันทึก

ครูใหม่ - วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ปรุงรส


หมายเลขบันทึก: 585808เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2015 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2015 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท