สอนอย่างมือชั้นครู : ๓๑. เตรียมพร้อมนักศึกษาเพื่อการสอบ



บันทึกชุด "สอนอย่างมือชั้นครู" ๓๕ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๓๑ นี้ ตีความจาก Part Six : Assessing Learning Outcomes มี ๕ บท ตอนที่ ๓๑ ตีความจากบทที่ 30. Preparing Students for Tests

สรุปได้ว่า การเตรียมพร้อมนักศึกษาเพื่อการสอบ ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตามปกติ ของนักศึกษา เป็นเครื่องมือช่วยให้นักศึกษาเรียนรู้แบบรู้จริง และช่วยให้อาจารย์ได้ประเมิน ความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของศิษย์

ไม่ว่านักศึกษาไทยหรือนักศึกษาฝรั่ง มีความเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือจะเรียนตามที่สอบ การช่วยเตรียมนักศึกษาให้พร้อมต่อการสอบ ก็คือการช่วยการเรียนรู้นั่นเอง


เตรียมความพร้อมของนักศึกษาต่อการสอบ


การอ่านทบทวน

การเตรียมพร้อมต่อการสอบเริ่มตั้งแต่วันแรกของการเรียน ที่อาจารย์ช่วยฝึกการจดบันทึกที่ดี (ดูตอนที่ ๑๓) และฝึกวิธีอ่านเอกสารวิชาการ (ตอนที่ ๒๔) ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาทบทวนความรู้ก่อนสอบได้ดีขึ้น

ในตอนที่ ๒๔ ได้แนะวิธี 3R (Read – Recite – Review) คืออ่านแล้วปิดสมุด พูดสาระออกมาดังๆ แล้วอ่านตอนนั้นใหม่ จะช่วยความเข้าใจและความจำ


จับกลุ่มทบทวน

มีผลการวิจัยยืนยันว่าการที่นักศึกษาจับกลุ่มกันทบทวนวิชาความรู้ ช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้น อาจารย์จึงควรช่วยอำนวยความสะดวกในการจับกลุ่ม ตั้งแต่ตอนต้นๆ เทอม ให้มีรายชื่อกลุ่ม รับสมัครสมาชิก และมีรายชื่อสมาชิกของแต่ละกลุ่ม รวมทั้งข้อมูลอำนวยความสะดวกในการติดต่อ


เอกสารทบทวนสิ่งที่เรียน (Review Sheet)

มีได้หลายแบบ ได้แก่เอกสารบอกรายชื่อหัวข้อสำคัญ ที่อาจารย์ย้ำ ตัวอย่างข้อสอบ รายการคำถามสำคัญ ซึ่งกินแรงอาจารย์ไม่น้อย เพราะตัวอย่างเหล่านี้ไม่ควรซ้ำกับข้อสอบจริง

เขาแนะนำเครื่องมือ test blueprint ที่เป็นแนวทางให้อาจารย์เขียนน้ำหนักผลลัพธ์ของการเรียนรู้ ตามวัตถุประสงค์ของการเรียนวิชานั้น แล้วใช้อธิบายให้นักศึกษาทราบแนวทางออกข้อสอบของอาจารย์ เพื่อเป็นแนวทางทบทวนความรู้ของนักศึกษา โปรดดูตัวอย่างของ test blueprint ที่ให้ไว้ในลิ้งค์ข้างบน


จัดเวลาทบทวน

นักศึกษาส่วนใหญ่บอกว่า การที่อาจารย์ช่วยทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา มีประโยชน์ คำแนะนำคือ ไม่ใช่ทบทวนแบบอาจารย์เป็นผู้บอก แต่นักศึกษาต้องเตรียมตั้งคำถามมาล่วงหน้า และเตรียมมาตอบคำถาม กันเอง แล้วอาจารย์จึงให้ความเห็นทีหลัง

อาจใช้วิธีให้นักศึกษาจัดกลุ่มร่วมกันตอบคำถาม แล้วนำเสนอต่อชั้น ให้นักศึกษากลุ่มอื่นประเมิน ผลงาน ตามด้วยอาจารย์ให้ความเห็น วิธีการที่ให้นักศึกษาเป็นผู้ปฏิบัติการนี้ มีวิธีการหลากหลายแบบ อยู่ใน ตอนที่ ๑๓ หัวข้อ สอดใส่กิจกรรมที่นักศึกษาเป็นผู้ปฏิบัติ


คลินิกประจำวิชา

อาจจัดทุกสัปดาห์ นัดเวลาที่จำเพาะ ๑ ชั่วโมง หรือครึ่งชั่วโมง ที่อาจารย์หรือผู้ช่วยอยู่ที่ "คลินิก" ให้นักศึกษาที่มีปัญหมามาถามคำถาม หรือขอคำแนะนำได้


นิยามคำในข้อสอบ

มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้นักศึกษามือใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ที่มักทำข้อสอบไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจข้อสอบ โดยเฉพาะคำกริยาที่ใช้ อาจารย์จึงควรช่วยให้นักศึกษาเตรียมพร้อมต่อการสอบโดย เตรียมความเข้าใจคำต่อไปนี้ วิเคราะห์ (analyze), ประเมิน/วิพากษ์ (assess/criticize/critique/evaluate), จัดหมวดหมู่ (categorize/classify), เปรียบเทียบ/บอกความแตกต่าง (compare/contrast), สร้าง (create/devise), ปกป้อง/บอกเหตุผลสนับสนุน (defend/justify), นิยาม (define/identify), อธิบาย (describe), พัฒนา (develop), อภิปราย (discuss/examine), อธิบาย/ให้เหตุผล (explain/justify), สร้าง (generate), สรุปประเด็น (infer), แปลความ/อธิบาย (interpret/explain)


มาตรการลดความเครียด

อาจารย์สามารถช่วยลดความเครียดที่เกิดจากการสอบได้โดย ช่วยเตรียมพร้อมนักศึกษาต่อการสอบ ตามวิธีการที่กล่าวข้างต้น ช่วยสร้างความมั่นใจตนเองให้แก่นักศึกษา และอย่าให้มีการขัดจังหวะใดๆ ในระหว่างการสอบ รวมทั้ง

  • กำหนดตารางวันสอบไว้ในเอกสารรายข้อกำหนดรายวิชา (course syllabus) และปฏิบัติตามนั้น
  • ในข้อกำหนดรายวิชา บอกระบบการให้คะแนน และข้อปฏิบัติในการขาดสอบหรือมาสอบสาย
  • พิจารณาไม่รวมคะแนนการสอบที่ได้คะแนนต่ำสุดเข้าในผลคะแนนของรายวิชา เพราะผลการทดสอบนั้นอาจเกิดจากเหตุบังเอิญที่ไม่คาดคิด
  • สอบบ่อยๆ เพื่อลดน้ำหนักของแต่ละการทดสอบ ช่วยลดความเครียดของนักศึกษา
  • อาจารย์ต้องลองทำข้อสอบด้วยตนเองเสมอ และให้เวลาทำข้อสอบ ๓ เท่าของเวลาที่อาจารย์ใช้ การที่นักศึกษาทำข้อสอบไม่ทัน จะทำให้เครียดมาก
  • สอนเทคนิคลดความเครียดให้แก่นักศึกษา เช่นเทคนิคหายใจเข้าออกยาวๆ เทคนิคนับหนึ่งถึงสิบ

ในกรณีที่มีนักศึกษาที่มีความกังวลต่อการสอบอย่างรุนแรง อาจารย์อาจพิจารณาส่งไปหานักจิตวิทยา หรือนักแนะแนว เพื่อหาทางช่วยเหลือปัดเป่า


คุณค่าของความพยายาม

คุณค่าของความพยายามของอาจารย์ตามที่ระบุในบทนี้ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ศิษย์สอบผ่าน แต่หากดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสม จะเป็นมาตรการที่ช่วยให้ศิษย์เรียนรู้แบบรู้จริง จดจำความรู้เหล่านี้ไปนาน รวมทั้งได้เรียนรู้วิธีเรียนรู้ที่ถูกต้อง (learning how to learn) และเรียนรู้เรื่องความสัตย์ซื่อในการสอบและในกิจการอื่นๆ เป็นการสร้างนิสัยที่ดี

และอาจารย์ก็ได้ใช้เป็นเครื่องวัด ประสิทธิผลของการสอนของตน



วิจารณ์ พานิช

๒๓ ธ.ค. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 585720เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2015 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2015 16:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบคุณอาจารย์ ที่ชี้ให้เห็นวิธีการเตรียมความพร้อมในการสอบให้นักศึกษา ในบางครั้งอาจารยผู้สอนมักมองข้ามจุดนี้ไปค่ะ โดยเฉพาะ ทำให้มองเห็น

คุณค่าของความพยายาม

คุณค่าของความพยายามของอาจารย์ตามที่ระบุในบทนี้ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ศิษย์สอบผ่าน แต่หากดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสม จะเป็นมาตรการที่ช่วยให้ศิษย์เรียนรู้แบบรู้จริง จดจำความรู้เหล่านี้ไปนาน รวมทั้งได้เรียนรู้วิธีเรียนรู้ที่ถูกต้อง (learning how to learn) และเรียนรู้เรื่องความสัตย์ซื่อในการสอบและในกิจการอื่นๆ เป็นการสร้างนิสัยที่ดี

จะนำแนวทางนี้ไปปฏิบัติค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท