ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน


หวังว่า จะมีการ ดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่กลัวความเจ็บปวดในระยะแรก โดยกระผมเชื่อว่าการดำเนินการปฏิรูปอย่างได้ผล นอกจากจะก่อคุณูปการต่อคุณภาพผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาแล้ว ยังจะเรียกเกียรติภูมิของวงการศึกษาไทย กลับคืนมาด้วย

ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน[*]

วิจารณ์ พานิช

…………..

ขอแสดงความชื่นชมและให้กำลังใจสมาชิกของ สพฐ. ที่ดำเนินการเพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่เรียกว่าการปฏิรูประบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ จากระบบแห่งศตวรรษที่ ๒๐ (หรือ ๑๙) มาเป็นระบบแห่งศตวรรษที่ ๒๑

เพื่อร่วมให้ข้อคิดเห็น สำหรับ กพฐ./สพฐ. นำไปพิจารณาดำเนินการปรับปรุงวิธีการทำงานของ สพฐ. เพื่อบรรลุเป้าหมาย การยกระดับคุณภาพการศึกษาระดับพื้นฐานของประเทศ ขอเสนอแนะใน ๘ ประเด็น ดังต่อไปนี้

  • 1.ชัดเจนแน่วแน่ในเป้าหมาย และยุทธศาสตร์
  • 2.ลดขนาดของหน่วยงานกลาง
  • 3.สพฐ. ลดการควบคุมสั่งการ เปลี่ยนไปทำงานแบบเอื้ออำนาจ (empowerment)
  • 4.มอบความเป็นอิสระ และความรับผิดรับชอบให้แก่โรงเรียน
  • 5.พัฒนารูปแบบการเรียนรู้ และรูปแบบการประเมินแนวใหม่จากห้องเรียนไทย
  • 6.พัฒนาครู และระบบตอบแทนครูแนวใหม่
  • 7.การวิจัยระบบการศึกษา
  • 8.ระบบสารสนเทศการศึกษาที่สนองการใช้ประโยชน์สาธารณะ

เป้าหมายและยุทธศาสตร์ของการจัดการระบบการศึกษา

ต้องแน่วแน่ว่าเป้าหมายคือผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ ไม่เฉไฉอย่างที่ผ่านมา ๑๖ ปี และยุทธศาสตร์ ในการบรรลุเป้าหมายคือ การเรียนรู้แบบที่ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือทำและคิด (active learning & reflection) ไม่ใช่การสอนแบบถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปอย่างที่ทำกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ต้องเป็นการเรียนรู้และพัฒนาการรอบด้าน ที่เรียกว่า 21st Century Skills หรือ multiple intelligence หรือ Chickering's 7 vectors ไม่ใช่ผลสัมฤทธิ์เฉพาะด้านเรียนรู้วิชา และต้องไม่ใช่สอน เพื่อสอบ แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการครบด้านของผู้เรียน

พัฒนาการที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ทักษะและฉันทะในการเรียนรู้ (learning skills) ที่จะสามารถเรียนรู้ได้ ในทุกกิจกรรมในการดำเนินชีวิต ซึ่งก็คือมิติของการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั่นเอง

ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ต้องบรรลุในระดับ "รู้จริง" (mastery learning) ของผู้เรียนทุกคน รวมทั้งนักเรียนที่สมองช้าด้วย ครูและผู้บริหารการศึกษาไทยต้องไม่หลงเอาใจใส่เฉพาะเด็กเก่งจำนวนน้อย อย่างในปัจจุบัน ต้องไม่ละทิ้งเด็กส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง ต้องมีความเชื่อว่า เด็กที่สมองธรรมดาๆ สามารถเรียนแล้วบรรลุสภาพรู้จริงได้ทุกคน และดำเนินการให้เด็กเหล่านี้บรรลุผลสัมฤทธิ์ การเรียนรู้ แบบรู้จริงทุกคน (ย้ำคำว่าทุกคน) มีตัวอย่างที่ประเทศฟินแลนด์ เป็นต้น

ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ในทุกระดับ ต้องบรรลุ Transformative Learning ซึ่งหมายถึง (๑) เกิดการพัฒนา มิติด้านภาวะผู้นำ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ร่วมกับคนอื่น กล้าคิดนอกกรอบ (๒) บรรลุผลการเรียนรู้ในระดับ เปลี่ยนแปลงตนเอง เปลี่ยนกรอบความคิด/กระบวนทัศน์ ซึ่งส่วนหนึ่งคือ เปลี่ยนจากสัญชาตญาณสัตว์ ไปสู่ มนุษย์ผู้มีจิตใจประเสริฐ ซึ่งก็โยงไปสู่ผลลัพธ์ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ในมิติทักษะชีวิต

เป้าหมายและยุทธศาสตร์ นอกจากมุ่งที่ผู้เรียนแล้ว ควรมุ่งที่ตัวระบบเองด้วย ที่ต้องเป็น "ระบบที่เรียนรู้" (Learning Systems) มีการสร้างข้อมูล/สารสนเทศ/ความรู้ เพื่อการเปลี่ยนแปลงตัวระบบเอง ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน ขาดมิติด้าน Learning Systems ซึ่งส่วนหนึ่งคือ สถาบันวิจัยระบบการศึกษา

ลดขนาดของหน่วยงานกลาง

นี่คือความเจ็บปวด (pain) ที่ต้องเผชิญและยอมรับ หากหลีกเลี่ยงหรือไม่อดทนต่อความเจ็บปวด ก็จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้

หน่วยงานกลางต้องเปลี่ยนไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายจัดการ/บริหารการศึกษา ของประเทศ เปลี่ยนจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจสั่งการ ไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเครือข่าย ที่มีการเชื่อมโยงสื่อสาร สองทาง/หลายทาง อย่างซับซ้อน เป็นความสัมพันธ์แนวราบ เกิดการปรับตัวด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีใครมาสั่ง คือทุกส่วนของเครือข่าย ต้องมีความรับผิดรับชอบ (Accountability) และมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ ด้วยตนเอง (Autonomy) เพื่อเป้าหมายในหัวข้อแรก

นั่นคือ หน่วยงานกลางต้องไม่เพียงลดขนาด ต้องเปลี่ยนบทบาทด้วย ซึ่งหมายความว่า ต้องพัฒนาทักษะใหม่สำหรับใช้ในการทำงานตามบทบาทใหม่นี้ เรื่องนี้ยืดยาวและซับซ้อนเกินกว่าจะเขียน ลงในพื้นที่ ๓ หน้ากระดาษ

ระบบการศึกษา มีธรรมชาติเป็นระบบที่เรียนรู้และปรับตัว (Complex-Adaptive Systems) ต้องไม่บริหารหรือจัดการแบบ Simple, Command and Control System อย่างที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

ลดการทำงานแบบควบคุมสั่งการ เปลี่ยนเป็นทำงานแบบเอื้ออำนาจ

การทำงานแบบควบคุมสั่งการเป็นระบบแห่งอดีต (ศตวรรษที่ ๒๐ - ๑๘) และเป็นระบบที่ปิดกั้น ความริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติตามปกติของมนุษย์ ทำให้ครูไม่มีโอกาสฝึกความริเริ่มสร้างสรรค์ กลายเป็นคนที่ทำงานแบบรอรับคำสั่ง ขาดภาวะผู้นำ นานเข้ากลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร และวัฒนธรรมวิชาชีพ เป็นโรคระบาดไปสู่นักเรียน ที่ไม่ได้ฝึกฝนภาวะผู้นำ

ต้องขจัดระบบการทำงานที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของครูโดยเร่งด่วน ซึ่งจะช่วยให้ครูพัฒนา คุณสมบัติความริเริ่มสร้างสรรค์ และภาวะผู้นำ ของตนเอง สำหรับนำไปใช้ปลูกฝังความริเริ่มสร้างสรรค์ และภาวะผู้นำ ให้แก่ศิษย์

การทำงานแบบอำนาจรวมศูนย์ เป็นบ่อเกิดของความฉ้อฉลชั่วร้าย ที่วงการศึกษาไทยกำลังเผชิญอยู่

มอบความเป็นอิสระและความรับผิดรับชอบให้แก่โรงเรียน

ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันใช้เงินมาก แต่ผลสัมฤทธิ์น้อย เป็นความล้มเหลวของระบบ แต่ไม่มีใครรับผิดชอบ สภาพเช่นนี้รังแต่จะก่อหายนะแก่ประเทศ และนำมาซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียง ของคนในวงการศึกษา หมดศักดิ์ศรี ผู้คนไม่ให้ความยอมรับนับถือ มีหลักฐานมากมายที่คนมีเงิน ส่งลูกเข้าเรียนในต่างประเทศ หรือในโรงเรียนที่ไม่ใช่ของรัฐบาล

ทางแก้คือต้องให้โรงเรียนมีอำนาจตัดสินใจในการดำเนินการเพื่อผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ของนักเรียน ของตนเอง (Autonomy) รวมทั้งให้ต้องรับผิดรับชอบ (Accountability) โดยความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่/ชุมชน และในประเทศ ซึ่งอาจรวมทั้งความร่วมมือต่างประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลที่ผลลัพธ์และ ความโปร่งใส

ในระยะแรก ควรกำหนดเกณฑ์โรงเรียนที่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะสมัครเข้ารับการคัดเลือกให้เป็น โรงเรียนนิติบุคคล รวมทั้งกำหนดเกณฑ์ในการกำกับดูแลแบบเอื้ออำนาจ (Empowerment) ซึ่ง สพฐ. เองก็ต้องเรียนรู้ทักษะนี้

โรงเรียนนิติบุคคล ต้องสามารถตัดสินใจเรื่องการบริหารงานบุคคล (hire and fire, promotion) การบริหารการเงิน การพัสดุ และการจัดการเรียนการสอน ทั้งนี้ ภายใต้ระบบกำกับดูแลโดยคณะกรรมการ โรงเรียน และกำกับดูแลแบบเอื้ออำนาจ โดย สพฐ.

พัฒนารูปแบบการเรียนรู้ และรูปแบบการประเมินแนวใหม่จากห้องเรียนไทย

ห้องเรียน และโรงเรียน ต้องไม่ใช่เป็นแค่ที่จัดการเรียนรู้ตามรูปแบบในตำรา หรือที่เอาตัวอย่างมาจาก ต่างประเทศ แต่ต้องเป็นที่พัฒนารูปแบบการเรียนรู้ และรูปแบบการประเมินแนวใหม่จากการปฏิบัติของครู ที่มีการริเริ่มสร้างสรรค์ทดลองรูปแบบวิธีการใหม่ๆ จนในที่สุดอาจเกิดทฤษฎีใหม่ ด้านการเรียนรู้ ในบริบทไทย

นั่นคือ ห้องเรียนต้องเป็นที่เรียนรู้ห้าระดับ คือระดับนักเรียน ระดับครู ระดับโรงเรียน ระดับวงการ ศึกษาของประเทศ และระดับทฤษฎีว่าด้วยการเรียนรู้ (รวมทั้งการประเมิน)

นั่นคือ ระบบการศึกษาไทย ไม่ใช่แค่ผลิตนักเรียนที่เรียนผ่าน ได้รับประกาศนียบัตร/ปริญญา ได้รับผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่กล่าวในหัวข้อแรกเท่านั้น ต้องเป็นที่พัฒนาครู พัฒนาตัวโรงเรียน และพัฒนาบทบาทของฝ่ายต่างๆ ที่เป็นภาคีของระบบการศึกษาด้วย

หากถือตามคุณมีชัย วีระไวทยะ โรงเรียนต้องเป็นแหล่งพัฒนาทักษะการทำมาหากิน (ธุรกิจ) ทั้งของนักเรียน ครู และประชาชนในพื้นที่โดยรอบ ถือเป็นส่วนหนึ่งของทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

การประเมินผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ควรเป็นความรับผิดชอบของครู และโรงเรียน ไม่ใช่ยกไปให้หน่วยประเมินกลางอย่างในปัจจุบัน โดย สพฐ. ทำหน้าที่ส่งเสริมช่วยเหลือให้ครู และโรงเรียนประเมินได้แม่นยำ และซื่อสัตย์

พัฒนาครู และระบบตอบแทนครูแนวใหม่

ระบบการพัฒนาครูประจำการ และการตอบแทนครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการเลื่อนวิทยฐานะครู ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นเหตุสู่ความเสื่อมของศักดิ์ศรีครู และของวงการศึกษาไทย

เพราะเป็นระบบที่ไม่นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีคุณภาพ และนำไปสู่ความฉ้อฉล เสื่อมโทรมศีลธรรมในวงการศึกษา

ระบบที่ต้องจัดใหม่ คือการพัฒนาครูจากการปฏิบัติงานเป็นตัวหลัก ให้การทำงานโค้ชการเรียนรู้ ของศิษย์ เป็นกระบวนการเรียนรู้ของครูด้วย ให้ครูได้เรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นกิจวัตรประจำวัน และถือเวลาเรียนรู้ร่วมกันของครูเป็นเวลาปฏิบัติงาน รวมทั้งครูใหญ่หรือผู้อำนวยการต้องเป็นหัวหน้าหรือ ผู้นำการเรียนรู้นี้ ที่เรียกว่า PLC (Professional Learning Community) ผมได้เขียนเรื่องนี้ไว้โดยละเอียดใน บล็อก ชุด บันเทิงชีวิตครูสู่ชุมชนการเรียนรู้

ย้ำว่า การพัฒนาครูประจำการ ต้องเน้นการพัฒนาแบบ Learning หรือ School-based ไม่ใช่เน้น Training หรือ Hotel-based อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยอาจจะจัดสรรทรัพยากรสนับสนุนการพัฒนาครูทั้งสองแบบ ในสัดส่วน ๘๐ : ๒๐ หรือ ๙๐ : ๑๐

การพัฒนาครูประจำการแบบ School-based ดังกล่าวจะมีผลดีโดยตรงต่อผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ ของนักเรียน และมีผลดีต่อการสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ตามหัวข้อที่แล้ว

การวิจัยระบบการศึกษา

นี่คืออาวุธสำคัญสำหรับ สพฐ. ในรูปแบบใหม่จะใช้ในการทำหน้าที่ ผมมีความเห็นว่า ประเทศไทยควรออกพระราชบัญญัติจัดตั้งหน่วยงานใหม่ที่เป็นหน่วยงานอิสระของรัฐ ทำหน้าที่ จัดการงานวิจัยระบบการศึกษา สำหรับใช้สร้างความรู้เชิงระบบ เพื่อนำมาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง หรือการพัฒนา ของระบบการศึกษา ผมจะขอเรียกชื่อย่อว่า สวรศ. (สถาบันวิจัยระบบการศึกษา)

สพฐ. ใหม่ จะต้องเป็นภาคีที่แนบแน่นกับ สวรศ. โดย สพฐ. เป็นทั้ง "ผู้ใช้" ผลงานวิจัย และเป็นผู้ตั้งโจทย์วิจัย รวมทั้งจัดหาทุนวิจัยมาให้ สวรศ. ดำเนินการ หรือหาทีมนักวิจัยที่มีฝีมือสูงมาดำเนินการ

การวิจัยระบบการศึกษา จะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้ระบบการศึกษาเป็นระบบที่เรียนรู้ และปรับตัว

ระบบสารสนเทศการศึกษาที่สนองการใช้ประโยชน์สาธารณะ

ระบบสารสนเทศในปัจจุบันมีพลังมาก และจะยิ่งทรงพลังยิ่งขึ้นในอนาคต แต่ระบบการศึกษาไทย ยังไม่ได้นำมาใช้อย่างจริงจัง และอย่างเป็นระบบ มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่

เป้าหมายของระบบสารสนเทศทางการศึกษา ต้องใช้เพื่อ (๑) อำนวยความสะดวกการเรียนรู้ ทั้งในห้องเรียนและในการฝึกฝน หรือทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ทั้งของนักเรียน และของครู (๒) การบริหารทรัพยากรเพื่อการศึกษา (๓) การเรียนรู้เชิงระบบ หรือการวิจัยระบบการศึกษา และ (๔) การเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชน ให้มีโอกาสเลือกเรียนในสถานศึกษาที่มีคุณภาพเป็นที่พอใจ รวมทั้งเป็นกลไกกำกับระบบการศึกษาโดยสาธารณชน คือทำให้ระบบการศึกษาเป็นระบบที่โปร่งใส ตรวจสอบได้โดยสาธารณชน ซึ่งจะเป็นการสร้างเกียรติภูมิให้แก่วงการศึกษาในระยะยาว

กระผมขอแสดงความชื่นชมอีกครั้งหนึ่ง ต่อ กพฐ./สพฐ. ในการริเริ่มจัดการประชุมระดมความคิด เพื่อการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานในครั้งนี้ กระผมเสียดายมาก ที่ไม่สามารถเข้าร่วมได้ เพราะติดภารกิจของ การประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จึงเร่งเขียนข้อเสนอนี้มาร่วม ด้วยความหวังว่า จะมีการ ดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่กลัวความเจ็บปวดในระยะแรก โดยกระผมเชื่อว่าการดำเนินการปฏิรูปอย่างได้ผล นอกจากจะก่อคุณูปการต่อคุณภาพผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาแล้ว ยังจะเรียกเกียรติภูมิของวงการศึกษาไทย กลับคืนมาด้วย

…………………………………………


[*] เสนอในการประชุมเสวนาระดมความคิด เรื่องการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดโดย สพฐ. วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 584476เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2015 06:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2015 06:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาสนับสนุนการทำ School- based ครับ

อยากเห็นการแก้ไขโดยเอางานวิจัยเป็นตัวตั้ง

เช่นในนี้

จาก 200 วัน ที่โรงเรียนเปิดสอน ครูต้องใช้เวลาถึง 84 วัน หรือคิดเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งหมด เพื่อเจียดให้กับกิจกรรมภาคบังคับตามระบบการศึกษา ในการสำรวจ "กิจกรรมภายนอกชั้นเรียนที่กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนของครู" พบว่า "ครูที่ได้รับรางวัลครูสอนดี" จำนวน 427 ตัวอย่าง ต้องรับภาระนอกเหนือจากการสอนไปกับกิจกรรม ดังต่อไปนี้

อันดับ 1) ทำประเมินหน่วยงานภายนอกคิดเป็น 43 วันต่อปีการศึกษา มีทั้งประเมินโรงเรียน ประเมินครู และประเมินนักเรียนวุ่นวายไปหมด

อันดับ 2) จัดแข่งขันทางวิชาการคิดเป็น 29 วันต่อปีการศึกษา

อันดับ 3) จัดอบรมเกี่ยวกับหน่วยงานภายนอก คิดเป็น 10 วันต่อปีการศึกษา

(ที่มา : http://www.kruthai.info/view.php?article_id=9167)

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/583952

การประเมินของ สมศ ปรับการประเมินให้ดีกว่านี้ได้ไหม ครูใช้เวลามากถึง 43 วัน ทำเอกสาร เตรียมการประเมินแบบไม่จริง ไม่ใช่โรงเรียนเล็กๆก็ประเมินด้วยตัวชี้วัดเดียวกันทั้งหมด

เลิกการจัดกิจกรรมแข่งทักษะทางวิชาการหรือแข่งให้น้อยลงได้ไหม เอาแต่แข่งขัน นักเรียนในห้องถูกทิ้งไว้จำนวนมาก มีการเตรียมเด็กที่ไปแข่งทักษะเพียง 2-3 คน แต่ทิ้งเด็กที่ไม่ได้แข่งไว้ชั้นเรียนทั้งห้อง

ขอบคุณมากๆครับ

อันนี้เป็นข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตเยาวชน(สสค.) .

ขอสนับสนุน การปฏิรูปการศึกษาไทย ที่มีความตระหนัก ตามที่อาจารย์ชี้ให้เห็นกรณีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

"ครูและผู้บริหารการศึกษาไทยต้องไม่หลงเอาใจใส่เฉพาะเด็กเก่งจำนวนน้อย อย่างในปัจจุบัน

ต้องไม่ละทิ้งเด็กส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง

ต้องมีความเชื่อว่า เด็กที่สมองธรรมดาๆ สามารถเรียนแล้วบรรลุสภาพรู้จริงได้ทุกคน

และดำเนินการให้เด็กเหล่านี้บรรลุผลสัมฤทธิ์ การเรียนรู้ แบบรู้จริงทุกคน (ย้ำคำว่าทุกคน) ....."

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท