สอนรายวิชามนุษย์กับการเรียนรู้ ครั้งที่ ๒ : กระบวนทัศน์แบบองค์รวม


วันอังคารที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๘ ถือเป็นสัปดาน์ที่สองของการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไป ชื่อ "มนุษย์กับการเรียนรู้" มีผู้เข้าเรียนยังไม่ครบตามจำนวน นิสิตมักเข้าใจเอาเองว่า "ไม่เป็นไรเพราะเป็นช่วงต้นเทอม" แต่ผมพยายามย้ำทวนว่า หากขาดเรียนในรายวิชาที่เน้นกิจกรรมกระบวนการแบบรายวิชานี้ จะเสียคะแนนไปทันทีครั้งละ ๒.๕๐ คะแนน ....

เตรียมสติ เตรียมภาชนะ

เราเริ่มกิจกรรม "ทำสติ" แบบที่นิสิตเองอาจจะยังไม่รู้ตัวแม้ว่ากำลังอ่านบันทึกนี้อยู่ เพราะกิจกรรมเราจะเรียนตัวอย่างวิธีการ "scan body" ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีรวมใจ รวมสติ และตั้งสมาธิก่อนจะทำอะไรๆ เราเพียงหลับตา ผมบอกว่า "...โดยปกติ คนหลับตา ปากจะปิดโดยอัตโนมัติ..." วินาทีนั้นผมสังเกตได้ว่ามีคนฟังอยู่เกือบทั้งหมด เพราะเสียงในห้องเงียบลงเกือบจะทันทีหลังจากผมพูดประโยคนี้ แม้จะยังมีคนพูดกันอยู่ ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะเขาไม่ได้ฟัง หรือที่เราจะเรียกต่อไปว่า "ฟังแต่ไม่ได้ยิน" แต่เมื่อผมพูดย้ำอีกครั้ง คราวนี้ทั้งห้องก็เงียบฟังด้วยสติ เปรียบเหมือน "ภาชนะ" ที่เตรียมพร้อมแล้ว สำหรับการเรียนรู้

ร้อยเรียงความรู้เดิม

การเรียนการสอนในห้องเรียนขนาดใหญ่ตั้งแต่ ๕๐ คนขึ้นไป ยิ่งเป็นห้องเรียนของเราขนาดนี้เกือบ ๑๒๐ คน ผมใช้วิธีที่ต่างๆ จากการสอนห้องขนาดเล็ก นั่นคือ "การเดินไปทั่วห้อง" และใช้อาจารย์ผู้ช่วยสอน ซึ่งต่อไปจะมีบทบาทมากขึ้น

ความรู้ทางด้านการศึกษา บอกว่ามนุษย์เราเรียนรู้จากความรู้และประสบการณ์เดิมเป็นหลัก การเรียนรู้ของปุถุชนทั่วไปเกิดขึ้นแบบเป็นแบบ "งอกใหม่" ไม่ใช่จะรับเอามาไว้เหมือน "จับใส่ตระกล้า" ยกเว้นแต่ว่าจะมีสมาธิญาณหยั่งรู้ ที่อยู่ๆ องค์ความรู้นั้นอาจ "ผุดเกิด" ขึ้นมาเช่น "การตรัสรู้" ซึ่งมีอยู่แต่หาผู้รู้แบบนี้น้อยนัก ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้จะต้องทำให้นิสิตเห็นภาพรวมและข้อจำกัดของความรู้เดิม ก่อนจะร้อยเรียงและเชื่อมโยงไปสู่ "การเติมเสริมความรู้ใหม่" โดยต้องไม่ขัดกับหลักสำคัญคือ ต้องให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างองค์ความรู้นั้นด้วยตนเอง

สาระสำคัญของการเรียนรู้ในวันนี้คือ "กระบวนทัศน์ใหม่แบบองค์รวม" ซึ่งนิสิตจำเป็นต้องมีในตนเพื่อจะได้สามารถดำเนินชีวิตได้ดีในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งแตกต่างไปโดยสิ้นเชิงกับ "กระบวนทัศน์เก่าแบบแยกส่วน" ผมตั้งใจว่าจะถามนิสิตอีกครั้งตอนที่เราจะถอดบทเรียน (After Learning Reflection : ALR) ว่ากระบวนนทัศน์หรือ ความเชื่อ+วิธีคิดของพวกเขาเปลี่ยนไปบ้างหรือไม่อย่างไร

การเรียนการสอนครั้งที่ ๒ นี้ ไม่สามารถเรียนรู้ด้วยการอภิปรายได้เลย เพราะนิสิตเองยังติดอยู่กับการเรียนแบบ "กระบวนทัศน์เก่า" ที่มุ่งเข้ามาฟังบรรยาย และมีคำถามในใจว่า ฉันต้องจำอะไร ฉันต้องได้อะไร หรือต้องทำการบ้านอะไรถึงจะได้เกรด A ประเด็นนี้ก็เช่นกัน ที่ต้องสะท้อนกันตอนท้ายเทอมว่า วิธีเรียนของนิสิตเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร อีกส่วนหนึ่งยังคงเขินอาย ไม่กล้าแสดงความเห็น เพราะยังไม่รู้จักกัน คนที่ยังไม่รู้จักกัน หรือแม้แต่รู้จักกัน "พื้นที่ปลอดภัย"ร่วมกันยังไม่มี จึงยากที่จะกล้าถกเถียงกัน แต่สิ่งนี้ไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือ "ความมั่นใจในตนเอง" ที่เป็นปัจจัยสำคัญของการเรียนรู้

ตัวอย่าง สาระที่ควรนำมาอธิปราย ได้แก่

  • กระบวนทัศน์คืออะไรกันแน่? กระบวนทัศน์ของเธอเรื่อง........ เป็นแบบไหน? กระบวนทัศน์ของผู้หญิงกับผู้ชายต่างกันไหม? กระบวนทัศน์ของนิสิตต่างคณะต่างกันไหม? อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดกระบวนทัศน์ที่ต่างไป? ฯลฯ
  • ถ้ากระบวนทัศน์ใหม่เป็นแบบ "องค์รวม" แล้วกระบวนทัศน์เก่าจะเป็นแบบใด? กระบวนทัศน์แบบองค์รวมคืออะไร
  • ทำไมเอาเรื่อง "กระบวนทัศน์แบบองค์รวม" มาสอน?
  • ฉันมีกระบวนทัศน์แบบองค์รวมหรือยัง?

ประเด็นเหล่านี้ สักวันที่เราเรียนกันแบบอธิปรายได้ จะนำมาตั้งถกเถียงกันใหม่ เพื่อให้แต่ละคนยกระดับความเข้าใจตนเองมากขึ้น

ผมเลือกใช้ "หลักสูตรการศึกษาไทย" มาอธิปรายว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไทยคิดแยกส่วน โดยใช้แผนภาพด้านล่าง



ความจริงของการศึกษาไทย คือการมุ่งเรียนแบบท่องจำ "เน้นวิชา" "เน้นเนื้อหา" คนที่จำไม่ได้ คนที่ไม่มีวิชาหลายครั้งที่ถูกบอกว่า "โง่" ในกระบวนทัศน์ใหม่นั้น "ไม่มีใครโง่" คำว่า "โง่" เป็นหลักฐานชิ้นโตที่แสดงถึงระดับความเคารพในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่ต่ำของคนพูด ในศตวรรษใหม่องความรู้มากล้น ไม่มีทางที่แค่เพียงช่วงชีวิตของคนจะเรียนรู้ได้หมด ดังนั้นการเรียนรู้สมัยใหม่ ต้องให้ความสำคัญกับการ "ฝึกทักษะ" โดยเฉพาะ "ทักษะในการเรียนรู้" และ "ทักษะในการสร้างสรรค์นวัตกรรม"

สาเหตุที่เรา "เน้นวิชา" น่าจะเป็นผลจากหลักสูตรส่วนหนึ่ง สังเกตว่า เราเรียนแบบแยกรายวิชามาตั้งแต่ระดับประถม และแบ่งแยกชัดเจนจำเพาะขึ้นเรื่อย วิทยาศาสตร์แยกเป็นฟิสิกส์ เคมี ชีวะ จากนั้นยิ่งแยกต่อไปในระดับที่สูงขึ้น... ความจริงน่าจะเป็นเรื่องดีที่เชี่ยวชาญเฉพาะเจาะลึก แต่ปัญหาคือ วิธีการเรียนแบบไม่สนใจศาสตร์ทางด้านอื่นๆ เลย เช่น นิสิตสายวิทย์แทบจะไม่ได้เรียนวิชาสายศิลป์ เป็นต้น การเรียนในลักษณะแยกส่วนแบบนี้ ส่งผลต่อวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ที่คับแคบ แตกต่าง ก่อให้เกิดความขัดแยัง หักล้างกันในที่สุด

เหตุใดทำไมหลักสูตรการศึกษาในกระบวนทัศน์แบบเก่าจึงต้อง "เน้นวิชา" ผมขอตอบว่า เพราะกระบวนทัศน์เก่าแบบแยกส่วนมองคนเหมือนเครื่องจักร มองคนเหมือนหุ่นยนต์ สมมติจะสร้างรถยนต์ เจ้าของบริษัทต้องจ้างคนที่เชี่ยวชาญแต่ละส่วนแต่ละด้านของรถยนต์ มีสถาปนิก มีวิศวกร มีช่างทำล้อ ฯลฯ จึงต้องมีคนมีช่างที่จบมาจากหลากหลายสาขา ที่ต้องเข้ามาทำแต่ละส่วนและรวมกันเป็นรถยนต์ สำหรับพนักงานเหตุที่ต้องมารับจ้างก็เพราะต้องการ "เงิน" ต้องการค่าตอบแทน เมื่อต้องการมาก จึงต้องทำงานให้หนัก เจ้าของบริษัทก็ทำจำนวนให้มาก บริษัทจึงเหมือนหุ่นยนต์ตัวใหญ่ที่มองคนงานเหมือนอะไหล่ชิ้นเล็ก ไม่ได้มองว่าคนมีชีวิตจิตใจ เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ๆ ในโลก มองทรัพยากรเป็นของที่ต้องตักตวง เห็นแก่ความร่ำรวยของตน ไม่สนใจว่าธรรมชาติจะถูกทำลายมากน้อยเพียงใด การบริโภคที่เกินประมาณ ทำให้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย จนเกิดความเสียหายตามมาอย่างที่เห็นทุกวันนี้


เพิ่มเติมความรู้ใหม่ โดยให้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง

มีหลากลายวิธีที่จำให้นิสิตได้ฝึกคิดแบบองค์รวม แต่ทุกวิธีนิสิตจะต้องตอบกับตนเองให้ได้ว่า อะไรคือความเชื่อมโยงระหว่างสรรพสิ่งที่เป็น "ความจริง" ที่ตนเห็น

ฝึกมองภาพรวมเป็นเรื่องราว

วิธีหนึ่งที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนของเราคือ การเรียนรู้ความคิดและความรู้สึกของตน เมื่อมองเห็นภาพ ๕ ภาพ ดังนี้


คำตอบของนิสิตแทบไม่มี ไม่มีใครตอบ ผมพยายามตั้งคำถามให้นิสิตเห็น "ความคิดสงสัย" ของตนเอง ใจจะพยายามหาคำตอบว่านี่คือ "อะไร"



ภาพนี้นิสิตตอบตรงกันว่า นี่คือเจดีย์ อัฐิธาตุ นิสิตตอบว่า น่ากลัว วังเวง เศร้าหมอง สะเทือนใจ แตกต่างกันไปตามระดับความละเอียดอ่อนของใจ และประสบการณ์เดิม และ "วิถีคิด" ของแต่ละคน ผมพยายามจะกระตุ้นให้นิสิตสังเกตความรู้สึก และความคิด ในขณะที่ดูภาพนี้ ... สักวันนิสิตจะเห็นด้วยตนเองว่า ความรู้สึกกับความคิดนั้นเป็นคนละอัน หลายครั้งที่ความคิดสร้างความรู้สึก ...

คำสอนที่ถูกนำมาเล่าต่อบ่อยมากๆ ของท่านพุทธทาสภิกขุ บทหนึ่งเกี่ยวกับเรื่อง ความกลัวของคนเลี้ยงควายขี่อยู่บนหลังควาย กลัวผีแทบตาย ในขณะที่ควายกินหญ้าสบายเฉย...แสดงว่า คนแย่กว่าควาย... นิสิตลองนำไปพิจารณาดูนะครับ


ภาพนี้ มีนิสิตหลายคนตอบตรงกันว่า สิ่งที่เห็นคือ หมีแพนด้ากำลังผสมพันธุ์กัน...ฮา บางคนบอกว่าหมีแพนดาแม่ลูกกำลังหยอกล้อกัน ... ภาพนี้ผมตั้งคำถามเกี่ยวกับ "เรื่องราว" เมื่อเห็นภาพแล้ว "นึกถึงเรื่องราว" อะไรในสังคมบ้าง .... มีนิสิตหญิงคนหนึ่งตอบได้ถูกต้องทันที...

ภาพนี้มีมีการนำเสนอความคิดเห็นยาวขึ้น ชั้นเรียนเริ่มสนุกมากขึ้น นิสิตคนหนึ่งเชื่อมโยงเรื่องหมีแพนด้ากับช้างซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้างคู่เมือง และสะท้อนสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจมาก ... ผมคิดว่า เธอเริ่ม "สนุกกับการเรียนรู้" บ้างแล้ว.... หากฝึกต่อไปๆ นิสิตจะรู้ว่า การเรียนรู้นั้นนำความสุขสนุกมาให้ได้จริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่น่าเบื่อทั้งหมด


ต่อไปเป็นภาพสุดท้าย


ผมสุ่มนิสิต ให้แสดงความคิดเห็นกับภาพ ทุกคนเล่าเรื่องราวสะท้อนเสียดสีสังคมอันเป็นวัตถุประสงค์ของศิลปินได้อย่างถูกต้อง (ขออภัยที่ไม่ได้ให้ที่มาของภาพนะครับ แต่เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง)


ฝึกมองภาพรวมด้วยการคิดแบบ อิทัปปัจยตา หรือคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย

กิจกรรมนี้ให้นิสิตเขียนแผนผังความคิดในประเด็นว่า "อะไรที่ทำให้ชีวิตฉันมีความสุข" ให้นิสิตวาดรูปตนเองและชื่อเล่นไว้กลางหน้ากระดาษ แล้วพิจารณาว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้ชีวิตมีความสุข ถัดจากนั้น ให้กากบาททับสิ่งใดที่คิดว่า "ไม่จำเป็น" ตัดออกไปก็ยังไม่ทำให้ฉันทุกข์ และทำเครื่องหมายถูกทับสิ่งที่คิดว่า "จำเป็นปลานกลาง" แต่หากไม่มีจริงๆ ก็พอได้ ส่วนสิ่งที่ไม่ได้ทำเครื่องหมายใดๆ ทับ ถือว่า "จำเป็นที่สุด" ถ้าไม่มีแล้วจะทุกข์เอามากๆ มีตัวอย่างผลดังนี้







หากอยากเห็นทั้งหมด ดาวโหลดได้จาก ที่นี่ และ ที่นี่ครับ

บันทึกต่อไป มาดูผลการสำรวจเชิงความเห็นในการดูตนเองนี้ครับ น่าสนใจมาก

หมายเลขบันทึก: 584475เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2015 03:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2015 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท