"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

ลองมาเปรียบเทียบหนูดู


๒๓/๑/๒๕๕๘

***************

ลองมาเปรียบเทียบหนูดู

อาหารยอดฮิตของชาวนาอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในช่วงฤดูหนาวคือ "หนู" วันนี้คุณแม่ยายห่อข้าวหนูย่างพร้อมกับแกงผักกาดกวางตุ้งใส่ไก่ ๒ ใส่ปิ่นโตให้ตั้งสองชั้น(ต๊อง) แบ่งกินเช้าบ้าง เอาไว้กลางวันบ้าง สิ่งที่สะดุดตาคือ "หนูย่าง" คุณแม่ตัวซื้อของญาติข้างบ้านที่ไปรับหนูนามาจากบ้านแฟนเขาที่นครสวรรค์ เขาบอกปีนี้ชาวบ้านไม่ได้ทำนาปรัง เลยพากันจับหนูนาขาย ได้หนูที่ลอกหนังครัวล้างสะอาดแล้วมาตั้งหลายกิโล เขานำมาขายให้โลละ ๑๐๐ บาท นำมาย่างเอง คุณแม่ตัวย่างหนึ่งวัน๒ เตา เหมาไป ๖ กิโล เป็นหนูรุ่นลูกตัวไม่ใหญ่นัก

สายนี้พอได้กินหนูเลยนึกถึงพระสูตรที่เคยผ่านตามาสมัยเมื่อเรียนอยู่ ชือสูตรว่า มูสิกาสูตร เป็นการอุปมาเปรียบเทียบบุคคลดั่งหนูหนูเป็นนะครับ ไม่ใช่หนูย่างดั่งภาพ พระพุทธองค์ทรงสอนและกำหนดหนูไว้ ๔ จำพวก คือ

หนูขุดรู แต่ไม่อยู่จำพวก ๑

หนูอยู่ แต่ไม่ขุดรูจำพวก ๑

หนูไม่ขุดรู ไม่อยู่จำพวก ๑

หนูขุดรูด้วย อยู่ด้วยจำพวก ๑

จำพวกแรก เปรียบเข้ากับบุคคลดั่งหนูขุดรู แต่ไม่อยู่ คือ บุคคลที่เล่าเรียนธรรม* แต่ไม่เข้าใจรู้เห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งนี้เป็นทุกข์ สิ่งนี้เหตุให้เกิดทุกข์ สิ่งนี้ความดับทุกข์ และสิ่งนี้คือทางให้ถึงความดับทุกข์

จำพวกที่ ๒ เปรียบเข้ากับบุคคลดั่งหนูอยู่แต่ไม่ขุดรูคือ บุคคลที่รู้เข้าใจและเห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งนี้เป็นทุกข์ สิ่งนี้เหตุให้เกิดทุกข์ สิ่งนี้ความดับทุกข์ และสิ่งนี้คือทางให้ถึงความดับทุกข์ แต่เขาไม่ได้เล่าเรียนธรรม(รู้ด้วยประสบการณ์ชีวิตจริง)

จำพวกที่ ๓เปรียบเข้ากับบุคคลดั่งหนูไม่ขุดรู ไม่อยู่ คือ บุคคลที่ไม่ได้เล่าเรียนธรรม และไม่เข้าใจรู้เห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งนี้เป็นทุกข์ สิ่งนี้เหตุให้เกิดทุกข์ สิ่งนี้ความดับทุกข์ และสิ่งนี้คือทางให้ถึงความดับทุกข์

จำพวกที่ ๔ เปรียบเข้ากับบุคคลดั่งหนูขุดรูด้วย อยู่ด้วยคือ บุคคลที่เล่าเรียนธรรมด้วย ทั้งเข้าใจรู้เห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งนี้เป็นทุกข์ สิ่งนี้เหตุให้เกิดทุกข์ สิ่งนี้ความดับทุกข์ และสิ่งนี้คือทางให้ถึงความดับทุกข์ด้วย

หันกลับมาพิจารณาตนเองอยู่ว่า เราอยู่ในจำพวกไหนนะ น่าจะอยู่ในหนูพวกแรก ที่ชอบศึกษาเรียนรู้ธรรม แต่ไม่เข้าใจโลกเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริงว่าสิ่งนี้คือทุกข์ สิ่งนี้คือเหตุให้เกิดทุกข์ สิ่งนี้เป็นความดับทุกข์ และสิ่งนี้คือทางให้ถึงความดับทุกข์ รู้ เข้าใจแต่ทฤษฏี(ปริยัติ) แต่ไม่รู้นำมาปฏิบัติ มักจะปล่อยหรือไหลไปตามกระแสสังคม กระแสกิเลสเสียมาก ไม่สามารถยืนหยัดขัดขืน ฝืนความชอบใจในอารมณ์ ความโกรธ และความหลงได้สักเท่าไหร่เลย ดั่งเพลง ทั้งทั้งที่รู้ นั่นแหละ

การรู้ทันจิตไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องฝึกสติอยู่ตลอด ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ทิ้งหลักยึดคือ "หนอ" เวลายืนก็ "ยืนหนอ ๆ" สติกำหนดที่รูปยืน เวลาเดินก็ "ขวาย่างหนอ" "ซ้ายย่างหนอ" สติอยู่ที่ "เท้า" เวลานั่งก็ "ยุบหนอ พองหนอ" สติอยู่ที่ท้องหรือลมหายใจเข้า-ออก เวลานอนก็ "นอนหนอ ๆ" สติกำหนดรูปนอน นอนแบบพระปางปรินิพพาน แบบนี้สืบเนื่องกันตลอดถึงจะพอรู้เท่าทัน "จิต" บ้าง ต้องทำบ่อย ๆ ฝึกบ่อย ๆ พอเราห่างเหินการปฏิบัติการฝึกก็จะเข้ารูปแบบ "อัตโนมัติ" ของปุถุชนคนธรรมดาตามเดิมอีก...

ว่าแล้วก็ขอตัวไป "ย่างหนู" ก่อน เอ๊ย!! ไม่ใช่ "ย่างหนอ" ที่วัดสักหน่อยก่อน ไปย่างดูว่า เขาทำกุฏิ ตีแบบชั้นบนกันไปถึงไหนแล้ว พอจะเริ่มโม่ปูนผสมปูนใหม่ได้อีกรึยัง

...

หมายเหตุ

ธรรม* แสดงไว้คือนวังคสัตถุศาสน์(คำสอนของพระศาสดามีองค์เก้า) ประกอบด้วย สุตตะ เคยยะ ไวยากรณ์ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ


ขอบคุณทุกท่านที่สนใจ ขอบคุณโกทูโนว์

หมายเลขบันทึก: 584404เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2015 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2015 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อั๊ยยะ!!! คนในครอบครัวเขาทานกัน มีแต่พี่...ไม่รู้สิ มันทานไม่ได้ค่ะ...อยากลอง แต่กลืนไม่ได้สักที แปลก!!! เขาบอกว่าอร่อยกันค่ะ...ขอดูเขาทานกันดีกว่านะคะ

ตัวกระผมเองก็น่าจะเป็นหนูจำพวกแรกล่ะ ที่สำคัญน่าจะเคยโดนย่างหนู เอ้ย ย่างหนอไปแล้วด้วยล่ะมั้ง 555....

ชอบบันทึกนี้จัง อ่นแล้วสนุกได้ความรู้ สะกิดต่อมสติด้วย

ขอบคุณครับหนาน

นั่นสิ....คุณมะเดื่อก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นหนูประเภทไหนเนาะ...! คง...ประเภทแรกคือกันแหละ 5555 แต่...ไม่เคยย่างหนู และกินหนูย่างจ้ะ....แถว ๆ ตลาดบ้านคุณมะเดื่อก็มีหนูนา ทั้งย่าง และไม่ย่างขายเหมือนกันจ้ะ

เรียน แต่ไม่รู้ - ไม่เรียน แต่รู้ - ไม่เรียน ไม่รู้ - เรียน รู้

ชอบจังค่ะ ทำให้เอาไปคิดเทียบเคียงกับความหมายของคำว่า "การเรียนรู้" คือ ความสามารถในการนำสิ่งที่ได้เรียนไปแล้วมาใช้เมื่อเวลาต้องใช้

ในชีวิตจริงของเรา มีสิ่งที่ได้เรียนไปตั้งมากมาย ที่เมื่อถึงเวลาไม่ได้เอามาใช้ หรือ ใช้ไม่เป็น จะเพราะอะไรก็แล้วแต่ พี่เป็นกลุ่มนี้บ่อยๆ แต่ถ้า "มีสติ" กำกับก็ช่วยได้จริงๆ คนที่จะมีสติกำกับตลอดเวลาได้ก็ต้องผ่าน "การฝึกสติ" จนเป็นอัตโนมัติ

พี่พยายามอ่านและสรุปความจากบันทึกของพี่หนานเพื่อเอาไปใช้ค่ะ ขอบคุณนะคะที่นำธรรมมาเล่าเพื่อให้ผู้อ่านเอาไปประยุกต์ใช้ ได้ข้อคิดดีๆ ค่ะ

ขอขอบคุณอาจารย์

บุษยมาศ


ที่แสดงความเห็นเพิ่มให้บันทึกนี้ดูดี มีสีสรรค์ ทั้งที่มันดูจะเอียนๆ เอาะๆ เสียด้วยซ้ำไป ๕๕๕...

ถ้าไม่ลูกทุ่งแท้โดยกำเนิดแล้ว ก็ยากที่จะกินได้ลง(คอ)นะครับ (ฮา)</a>

ขอบคุณคุณ

พ.แจ่มจำรัส

อีกท่านที่ร่วมแสดงความคิดเห็นในบันทึกนี้ัมาก ความจริงก็คงถูกกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง ไม่พอใจ เศร้าหมอง เครียด ย่างหรือเผากันมาแล้วทั้งนั้นแหละครับ...

เพียงแต่ว่าใครหรือท่านใดจะระงับยับยั้งอารมณ์ได้ทัน ได้เร็ว หรือมีสติเฉียบคม สามารถตัดอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะจิตนั้นได้ดีกว่ากัน แต่ก็คงน้อยมากครับที่รู้เท่าทันความเป็นจริงได้ เพราะคนเรามีทิฏฐิ มีความยึดมั่นถือมั่น มีมานะถือตัวถือตนมาข้ามภพ ข้ามชาติ การจะมาตัดทำลายสิ่งเหล่านี้ได้ ไม่ใช่เรื่องงายๆ หรอกนะครับ...

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านและแสดงความเห็นร่วมมากเช่นกันครับผม

ขอบคุณคุณครู คุณมะเดื่อ อีกท่านมากครับ

ที่กรุณาให้ความเห็น ให้ดอกไม้มาลัยน้ำใจทุกครั้ง เรื่องของหนูนี่ก็มีอยู่ทั่วทุกหนแห่งนะครับ ประเทศไทยนี่่มี "หนูๆ" มากจริงๆ เลย แถมยังมีประโยชน์กว่าร่างกายของคนอีกด้วยนะครับ...คนตายฝังหรือเผา...หนูตาย คั่วหรือย่าง...หนูได้บุญกับตัวของมันเมื่อคราวที่ตายไปแล้ว...คนถ้าไม่เป็นอาจารย์ใหญ่ ก็ตายเปล่า...ใช่ไหมครับ...

ขอบคุณมากครับครูที่แวะมาเยี่ยมเยียนเสมอมิได้ขาด...ไหว้สาๆ

ขอขอบคุณคุณหมอ

nui

อีกท่านที่กรุณามาอ่าน ให้กำลังใจหรือให้ดอกไม้ พร้อมกับแสดงความเห็นที่เกิดประโยชน์ ช่วยสรุปหรือขมวดประเด็นให้กระชับขึ้น ง่ายต่อการจดจำและนำไปเป็นหลักการปรับประยุกต์ใช้ได้กับเรื่องอื่นๆ...เช่น "การเรียนรู้" ได้เป็นอย่างดี หรือเรื่องการปฏิบัติที่ "จิต" เราอยู่กับปัจจุบัน พระท่านก็แนะก็สอนให้เราอยู่กับปัจจุบัน มากกว่า "อดีต" และ "อนาคต" เพราะถ้าปัจจุบันเราทำดี อดีตของเราก็จะเป็นอดีตที่ดี โดยไม่ต้องพูดถึงอนาคตเลย...ใช่ไหมครับ

ขอบคุณและไหว้สาคุณพี่หมอนุ้ยอีกครั้งครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท