สอนอย่างมือชั้นครู :๒๖. สอนให้เข้ากับหลายสไตล์การเรียนรู้



บันทึกชุด "สอนอย่างมือชั้นครู" ๓๕ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๒๖ นี้ ตีความจาก Part Five : Making Learning Easier มี ๕ บท ตอนที่ ๒๖ ตีความจากบทที่ 25. Accommodating Different Learning Styles

สรุปได้ว่า นักศึกษามีสไตล์การเรียนรู้แตกต่างกัน มีวิธีทำความเข้าใจสไตล์การเรียนรู้ได้หลายแนว ในหนังสือนี้ให้ไว้ ๓ แนว ช่วยให้อาจารย์เข้าใจความแตกต่างในวิธีการหรือความถนัดในการเรียนของนักศึกษา และเป็นพื้นความรู้สำหรับการออกแบบการเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาบางแบบ อย่างไรก็ตาม หลักการที่สำคัญคือ อาจารย์ต้องใช้วิธีสอนหลายวิธีผสมผสานกัน

คนเราเรียนรู้ด้วยหลายวิธีการ และแต่ละคนมีสไตล์การเรียนแตกต่างกัน อาจารย์ต้องเข้าใจสไตล์ การเรียนรู้ที่หลากหลายของศิษย์ ซึ่งมีผู้เสนอว่ามีถึง ๗๑ แบบ ซึ่งแม้ว่าอาจารย์จะไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ลงไปใน รายละเอียดขนาดนั้น อาจารย์ก็พึงทำความเข้าใจความแตกต่างของศิษย์ ในด้านการประมวลสารสนเทศ ประสาทการรับรู้และเรียนรู้ สมองซีกเด่น ชอบไตร่ตรองภายใน หรือชอบสัมผัสภายนอก ฯลฯ

หนังสือบทที่ ๒๕ สรุปสไตล์การเรียนรู้มาเพียง ๓ แนวทฤษฎี ที่น่าจะเพียงพอสำหรับอาจารย์ โดยทั่วไป หลีกเลี่ยงความซับซ้อนที่ไม่จำเป็น


ทฤษฎีสไตล์การเรียนรู้แบบลงมือทำของ Kolb

Kolb (1984) แบ่งกลุ่มสไตล์การเรียนรู้ออกเป็น ๔ กลุ่มตามไดอะแกรม



วงจรการเรียนรู้ของ Kolb

Kolb แบ่งขั้นตอนการเรียนรู้ออกเป็น ๔ ขั้นตอนตาม ความรู้สึก (feeling) การรับรู้ (perceiving) การคิด (thinking) และการกระทำ (acting)

เมื่อคนเราปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะเกิดการเรียนรู้ขั้นตอนแรก ที่เรียกว่า concrete experience (ประสบการณ์ตรง) เมื่อคิดทบทวนประสบการณ์ของตนเอง และสังเกตคนอื่น ก็จะเข้าสู่ขั้นตอน reflective observation ซึ่งใช้การ "คิดแบบไม่คิด" หรือปัญญาญาณ (intuitive thinking) เกิดความเข้าใจคุณค่าหรือ ความหมายของกิจกรรมนั้นๆ แล้วเข้าสู่ขั้นตอน abstract conceptualization คือสร้างทฤษฎีขึ้นในใจ เมื่อนำทฤษฎีนั้นไปใช้ตัดสินใจหรือแก้ปัญหา ก็จะเข้าสู่ขั้นสุดท้ายของวงจร คือ active experimentation


สี่สไตล์การเรียนรู้

Accommodator เรียนจากประสบการณ์ตรง (concrete experience) และจากการจับต้อง ทดลองด้วยตนเอง (active experimentation) เรียนรู้จากความรู้สึกสัมผัสตรง มากกว่าจากการคิด เรียนรู้จากผลที่เกิดขึ้น จากการลองถูกลองผิด หรือกล่าวได้ว่า เป็นการเรียนของนักปฏิบัติ คนแบบนี้เหมาะต่ออาชีพนักปฏิบัติ เช่นนักการตลาด นักขาย

Diverger เรียนจากประสบการณ์ตรง ร่วมกับปัญญาญาณ (reflective observation) ที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสโดยตรงกับสิ่งนั้นหรือเหตุการณ์นั้นๆ เกิดความเข้าใจเชิงคุณค่าต่อตนเอง เป็นคนไม่ชอบแข่งขัน เหมาะกับการทำงานบริการ ศิลปะ และสังคมศาสตร์

Converger เรียนจากการคิดเชิงนามธรรม (abstract conceptualization) ร่วมกับการจับต้องทดลอง เป็นคนไม่สังคม ไม่มีอารมณ์ สนใจทำงานกับสิ่งของมากกว่าทำงานกับคน สนใจเรียนรู้กลไกการทำงาน ของสิ่งของ สนใจทำงานที่มีผลงานหรือคำตอบที่ชัดเจนจับต้องได้ เหมาะที่จะเป็นวิศวกร หรือนักคอมพิวเตอร์

Assimilator เรียนจากการคิดเชิงนามธรรม และการใช้ปัญญาญาณ ทำให้เกิดการคิดเชิงระบบ และบูรณาการหรือสังเคราะห์ เก่งด้านการสังเคราะห์ หรือจัดหมวดหมู่ข้อมูลที่ซับซ้อน เป็นแบบแผน เสนอเป็นทฤษฎี สนใจเรื่องหลักการและนามธรรม มากกว่ารูปธรรมหรือการปฏิบัติจริง เหมาะที่จะเป็นนักวิชาการ หรือนักวิทยาศาสตร์


วิ ธีสอนที่เหมาะต่อแต่ละสไตล์การเรียนรู้

วิธีเรียนที่เหมาะต่อ accommodator ได้แก่ การเรียนเป็นทีม การอภิปรายและระดมความคิด การทำโครงงาน การแก้ปัญหาปลายเปิด การฝึกเขียนเรียงความ กิจกรรมที่นำโดยการตั้งคำถาม การนำเสนอ การปฏิบัติ ได้แก่ ทัศนศึกษา การสวมบท การแสดงบทบาทจำลอง การเรียนจากกรณีศึกษา การเรียนแก้ปัญหา และการเรียนโดยให้บริการ

วิธีเรียนที่เหมาะต่อ diverger ได้แก่ การอภิปรายทุกรูปแบบ (ทั้งชั้น กลุ่มย่อย สองต่อสอง) โครงงานกลุ่ม การเขียนเรียงความ การบรรยายแบบมีปฏิสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีตัวอย่างเรื่องราวที่กินใจ หรือสะเทือนอารมณ์ การปฏิบัติ เช่นเดียวกันกับใน accommodator

วิธีเรียนที่เหมาะต่อ converger ได้แก่ การสาธิต ปฏิบัติการทดลองที่นำโดยคำถาม การบ้านให้แก้ปัญหา บทเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน มอบงานให้คิดโมเดล ทัศนศึกษา และกรณีศึกษา

วิธีเรียนที่เหมาะต่อ assimilator ได้แก่ การบรรยายที่บอกเหตุผลข้อเท็จจริง อาจารย์สาธิตวิธีการแก้ปัญหา (สดหรือวีดิทัศน์) มอบหมายให้อ่านตำรา มอบงานวิจัยเก็บข้อมูลภาคสนาม หรือเก็บข้อมูลจากการค้นในห้องสมุด และวิเคราะห์ข้อมูล

โปรดสังเกตว่า ๓ กลุ่มแรกชอบการเรียนโดยการปฏิบัติ เฉพาะกลุ่มหลังเท่านั้น ที่ชอบเรียนจากการอ่านและฟัง


สไตล์การเรียนรู้แบบเน้นผัสสะ ของ Fleming และ Mills

Flemming and Mills (1992) เสนอสไตล์การเรียนรู้จากผัสสะ ๔ แบบ ที่ใช้คำย่อ VARK (visual – auditory – read-write – kinesthetic) ซึ่งมี เว็บไซต์ที่ www.vark-learn.com /English/


อ่าน/เขียน (read-write)

นักเรียนที่มีสไตล์การเรียนรู้แบบนี้ จะเรียนได้ดีเมื่อได้รับมอบหมายให้อ่านและเขียน เกี่ยวกับเรื่องใด เรื่องหนึ่ง เป็นคนที่มีความสามารถเข้าใจเหตุผล (logic) มองเห็นแบบแผน (pattern) ของความรู้ในหนังสือ หรือในคำบรรยาย มองเห็นเหตุผล/ความสัมพันธ์เชิงนิรนัย (deductive relationship) นี่คือนักเรียนที่มีความสามารถเรียนได้ดีในห้องเรียนแบบจารีต


โสตสัมผัส (auditory)

นักเรียนที่มีสไตล์การเรียนรู้แบบโสตสัมผัส เรียนได้ดีจากการรับความรู้ผ่านทางหู ได้แก่ การบรรยาย การอภิปราย การโต้วาที และการนำเสนอด้วยวาจารูปแบบต่างๆ เป็นคนที่เรียนรู้ได้จากวิธีการสอนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสอนแบบนักศึกษาลงมือปฏิบัติ เป็นคนเรียนวิชาที่ต้องจดจำเรื่องราวได้ดี และบางคนหูดีเป็นพิเศษ เป็นพรสวรรค์ด้านดนตรี


จักษุสัมผัส (visual)

นักศึกษาสองกลุ่มหลัง คือกลุ่มที่เรียนจากสายตา กับเรียนด้วยการเคลื่อนไหว เป็นกลุ่มที่มีปัญหา ในชั้นเรียนที่สอนแบบจารีต

นักศึกษากลุ่มเรียนจากจักษุสัมผัสจะจำรูปร่าง แผนผัง หน้าคน เก่ง เพราะเขาจัดระบบความรู้ ตามมิติสัมพันธ์ ที่อาจเป็นเสมือนภาพนิ่ง หรือเป็นภาพเคลื่อนไหว บางคนจำเป็นภาพ ที่เรียกว่ามี photographic memory

ที่จริงในยุคปัจจุบัน แนะนำกันว่า อาจารย์ต้องสอนโดยใช้ภาพหรือกราฟิกให้มาก เพราะคนรุ่นใหม่ถนัดเรียนจากสื่อภาพหรือแผนผัง และเครื่องช่วยการผลิตสื่อแบบนี้ก็มีมากมาย เครื่องมือที่สำคัญยิ่งคือ mind map และ concept map


การเคลื่อนไหว (kinesthetic)

นักเรียนกลุ่มนี้เรียนจากการทำงานประสานกันระหว่าง ตา-มือ-สมอง ถือเป็นพรสวรรค์ที่ได้มา แต่โชคร้าย ระบบการศึกษาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มนี้ อาจารย์ต้องสอนโดยให้ลงมือทำ ได้สัมผัส และมีเครื่องช่วยการเรียนรู้เป็นภาพ แผนผัง และสอนด้วยวิธีอุปนัย เช่น การสวมบท ทัศนศึกษา การเรียนโดยให้บริการสังคม กรณีศึกษา การทำกิจกรรมเพื่อตอบคำถาม

หนังสือให้ตัวอย่างนักศึกษาที่มีสไตล์การเรียนรู้แบบ kenesthetic อย่างแรง และไม่เข้าใจคำอธิบายวิธี จัดโครงสร้างของการเขียนทบทวนวรรณกรรม (literature review) อาจารย์ประสบความสำเร็จในการอธิบายโดย เปรียบเทียบกับสิ่งที่เคลื่อนไหว


สไตล์การเรียนรู้ของ Felder และ Silverman

ทฤษฎีนี้เริ่มปี ค.ศ. ๑๙๘๘ เริ่มใช้ในนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งต่อมาพบว่าใช้ได้ทุกสาขาวิชา เป็นการมองสไตล์การเรียนรู้ใน ๔ มิติ แต่ละมิติมีลักษณะแตกต่างกันจากขั้วหนึ่งไปสู่อีกขั้วหนึ่ง ได้แก่มิติ actively – reflectively, มิติ verbally – visually, มิติ intuitively – sensory, และมิติ sequentially – globally

คนที่เรียนเก่ง คิดเก่ง แก้ปัญหาเก่งมักอยู่ตรงกลางๆ ของแต่ละมิติ คือมีทักษะทั้งสองด้าน ที่เป็นขั้วตรงกันข้าม


ตื่นตัว กับ สะท้อนคิด (Active versus Reflective)

คนเรียนแบบตื่นตัว (Active Learner) เรียนจากการเข้าไปร่วมกิจกรรมหรือลงมือปฏิบัติ เช่นอธิบาย อภิปราย ประยุกต์ ทดลองทำ เข้าไปแก้ปัญหา เรียนได้ดีที่สุดจากการเรียนเป็นกลุ่ม อาจารย์ช่วยได้โดยมอบหมายกิจกรรมให้ทำเพื่อการเรียนรู้ เช่น ให้ทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อตอบปัญหา หลังอ่านหนังสือ ให้จับกลุ่มกันเพื่อผลัดกันอธิบายสาระสำคัญแก่สมาชิกกลุ่ม เป็นต้น

ตรงกันข้าม คนถนัดเรียนแบบสะท้อนคิด (Reflective Learner) ชอบเรียนคนเดียวเงียบๆ มีเวลาคิดไตร่ตรองด้วยตนเอง อาจารย์จะช่วยได้โดยในช่วงกลางของการบรรยาย อาจารย์หยุดบรรยายชั่วครู่ ให้เวลาคิด หรืออาจารย์โยนคำถามแบบกระตุ้นความคิดไตร่ตรอง (reflective question) เช่น เรื่องที่เราเรียนกันในชั่วโมงนี้มีคุณค่า หรือมีความหมายอย่างไร


ถ้อยคำ กับเห็นด้วยตา (Verbal versus Visual)

คนทุกคนเรียนได้ดีที่สุดเมื่อรับสารทั้งทางถ้อยคำและทางตา และคนส่วนใหญ่เรียนรู้ได้ดีทั้งจาก การฟัง และการดู แต่มีนักศึกษาบางคนเรียนจากถ้อยคำได้ดีกว่าจากการดู หรือบางคนตรงกันข้าม

ประเด็นที่อาจารย์พึงตระหนักก็คือ การสอนตามจารีตในมหาวิทยาลัยเอื้อต่อนักศึกษาที่ถนัดเรียน จากการฟัง ในขณะที่นักศึกษาส่วนใหญ่ถนัดเรียนจากการดู


ปัญญาญาณ กับ ผัสสะ (Intuitive versus Sensing)

การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยสอดคล้องกับคนที่ถนัดเรียนแบบใช้ปัญญาญาณ เพราะสามารถจับหลักการ ความสัมพันธ์ แบบแผน วางหลักการที่ครอบคลุม (generalize) ได้เก่ง

ในขณะที่นักศึกษาที่ถนัดเรียนแบบใช้ผัสสะของตนเอง จะใช้วิธีเรียนแบบท่องจำสาระ สังเกตเหตุการณ์ต่างๆ ลงรายละเอียด ขยันทำการบ้าน นักศึกษาจะจดจำสาระได้ดีขึ้นหากเข้าใจ ความเชื่อมโยงกับโลกแห่งความเป็นจริง หากไม่ได้รับการฝึกให้คิดในระดับสูง นักศึกษาจะตอบข้อสอบ ได้เฉพาะส่วนที่ถามความจำเท่านั้น


เรียนเป็นขั้นตอน กับ เรียนความซับซ้อน (Sequential versus Global)

นักศึกษาส่วนใหญ่เรียนเป็นขั้นตอน เริ่มที่ขั้นตอนแรก ตามด้วยขั้นตอนหลัง โดยมีเหตุผลสนับสนุน หากอาจารย์สอนข้ามบางขั้นตอน ก็จะไม่เข้าใจ อาจารย์จะช่วยนักศึกษากลุ่มนี้มาก หากอาจารย์มีแผนผังขั้นตอน ของความรู้ชุดนั้น ให้นักศึกษา หรือให้นักศึกษาฝึกทำแผนผังความสัมพันธ์ของความรู้แต่ละตอนด้วยตนเอง ก็จะช่วยให้เข้าใจภาพรวมทั้งหมด

นักศึกษากลุ่ม global learner เรียนโดยการซึมซับความรู้แต่ละส่วนไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งก้จะบรรลุ ความเข้าใจภาพรวม และความสัมพันธ์ของแต่ละส่วนได้ด้วยตนเอง อาจารย์สามารถช่วยนักศึกษากลุ่มนี้ แบบเดียวกันกับช่วยกลุ่ม sequential learner คือให้ทำแผนผังความสัมพันธ์ของความรู้ นักศึกษากลุ่มนี้ควรได้เรียนวิชาเดียวเป็นเวลานาน ติดต่อกัน แทนที่จะเรียนเป็นช่วงสั้นๆ แยกๆ กัน

นักศึกษากลุ่ม global learner จะได้ประโยชน์มากจาก กราฟิก ของวิชา


สไตล์การเรียนรู้แบบเรียนความซับซ้อน

ผมมีความเห็นว่า ความเข้าใจทฤษฎีว่าด้วยสไตล์การเรียนรู้ทั้งสามแนว ช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน คือเป็นทฤษฎีที่มีส่วนทับซ้อนกันบ้าง มองต่างมุมบ้าง เมื่อทำความเข้าใจทุกมุม อาจารย์ก็จะช่วยจัด กระบวนการเรียนรู้ให้เอื้อต่อนักศึกษาได้ดียิ่งขึ้น โดยหลักการสำคัญที่สุดคือ ต้องใช้หลากหลายวิธีการ ประกอบกัน หรือผสมผสานกัน


สอนแบบหลายผัสสะ หลายวิธีการ

นักศึกษาทุกคนเรียนด้วยหลายผัสสะ และเรียนได้ดีกว่า หากอาจารย์ใช้วิธีสอนหลายวิธี และผมมีความเห็นว่า การจัดการเรียนรู้ให้นักศึกษาให้ได้รับประโยชน์ถ้วนทั่วทั้งชั้น โดยที่นักศึกษา มีความแตกต่างกันมาก เป็นความท้าทาย และการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ของอาจารย์ รวมทั้งเป็นโจทย์วิจัย ที่โจทย์ไม่มีวันหมด


วิจารณ์ พานิช

๑๕ ก.ย. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 583526เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2015 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2015 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท