สถานการณ์การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ค้าเด็ก ค้าผู้หญิง (ตอนที่ 2)


สถานการณ์การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ค้าเด็ก ค้าผู้หญิง (ตอนที่ 2)

สถานการณ์การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ค้าเด็ก ค้าผู้หญิง

4 มกราคม 2558

นับตั้งแต่ปี 2557 ที่ประเทศไทยถูกสหรัฐอเมริกาปรับอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี หรือ Trafficking in Persons Report หรือ TIP Report ให้อยู่ในระดับ Tier 3 ซึ่งเป็นระดับเลวร้ายที่สุด โดยในปี 2558 นี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อการแก้ไขปัญหานี้ขึ้น 5 คณะ คือ [1] (1) คณะอนุกรรมการเรื่องค้ามนุษย์ (2) คณะอนุกรรมการเรื่องประมง และ IUU (3) คณะอนุกรรมการเรื่องแรงงานเด็ก แรงงานบังคับและแรงงานต่างชาติ (4) คณะอนุกรรมการสตรี และ (5) คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์ ด้วยหวังว่าจะสามารถปรับระดับให้มาอยู่ที่ Tier 2 โดยเร็ว ข้อกังขาที่ถูกลดอันดับลงมาอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 จึงมีคำถามว่า ข้อเท็จจริงในสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยได้ตกต่ำลดลงจริงหรือไม่ในสายตาของสาธารณชนและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ลองมาตรวจสอบข้อมูลการดำเนินการในรอบก่อนปี 2554 และในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (2554 - 2557)

หลังจากมีการประกาศใช้บังคับ พรบ.การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2551 ดูเหมืนว่าสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยน่าจะดีขึ้น เพราะในปี 2553 ประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ในระดับ Tier 2 Watch list ที่น่า "จับตามอง" ด้วยเงื่อนไขพิเศษจำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์มีสูงมากหรือกำลังเพิ่มสูง สถานการณ์คงตัวมาตลอดปี 2554 2555 2556 และในปี 2557 ได้ถูกปรับลดมาที่ระดับสุดท้าย Tier 3

สถานการณ์ก่อนปี 2553 และก่อนการบังคับใช้กฎหมาย

ข้อมูลปี 2550 จังหวัดนครราชสีมามีเด็กถูกทอดทิ้งประมาณ 300 กว่าคน ที่ร้ายแรงก็คือนำลูกชายวัย 3 ขวบมาทิ้งที่ บขส. ข้อมูลทั้งประเทศเด็กไทยอายุ 6-14 ปีจำนวนกว่า 600 คนถูกขโมยหายไปอย่างไร่ร่องรอย และมีรูปแบบการค้ามนุษย์จากรายงานขององค์การระหว่างประเทศมีถึงปีละ 600,000-800,000 คนมีทั้งในรูปขายแรงงานทุกรูปแบบ ค้าบริการทางเพศทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะหญิงขายบริการถูกทารุณกรรมจนเสียชีวิตอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน [2]

ช่วงที่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว มีรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในรอบปี 2551 ที่น่าสนใจจากมูลนิธิกระจกเงา [3] คือ การลักพาตัวเด็ก 7 ราย ขบวนการซื้อขายเด็กทารก 2 ราย การค้ามนุษย์แรงงานประมงกว่า 28 กรณี เด็กในธุรกิจขอทานกว่า 1,000 คน เด็กในธุรกิจเพศพาณิชย์กว่า 10 ราย

จากข้อมูลของมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือLabour Rights Promotion Network Foundation(LPN) [4] จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2551 เดิมชื่อ"เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน"ก่อตั้งขึ้นปลายปี2547 ดำเนินการเป็นภายใต้คณะบุคคลเพื่อการทำงานภาคประชาสังคมและเน้นการทำงานประเด็นแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาครเป็นหลัก ในแรงงานข้ามชาติจากสามสัญชาติคือ พม่าลาว และกัมพูชา แต่มีแรงงานพม่ามากที่สุดกว่าร้อยละ 90 จากแรงงานข้ามชาติโดยการประมาณการณ์จำนวนไม่น้อยกว่า 300,000 คน ซึ่งแรงงานข้ามชาติเป็นหนึ่งกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงมาก ต่อการถูกคุกคามต่างๆนานา ถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ถูกค้ามนุษย์จากกระบวนการค้ามนุษย์เป็นต้น

ปลายปี 2551 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดโครงการรณรงค์ป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ในกลุ่มแรงงานเด็ก คุ้มครองคนถูกค้า ขจัด "ฅนค้าฅน" โดยมีกิจกรรมโครงการ [5] ที่สำคัญคือ (1) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ โดยเชิญ ผู้แทนกรมการขนส่งทางบกผู้แทนสำนักงานขนส่งในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัดผู้แทนสถานีขนส่งจำกัด จังหวัดผู้แทนบริษัทขนส่งจำกัดในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ผู้แทนบริษัทรถทัวร์เอกชนเข้าร่วมประชุมและได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในการป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และได้ให้ความร่วมมือในการเผยแพร่ชุดสื่อ (2) รณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองแรงงานเด็กและกลุ่มเสี่ยงตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ บริเวณพื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต (3) จัดแถลงข่าวความร่วมมือรณรงค์ป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ในกลุ่มแรงงานเด็ก ระหว่าง กรมการขนส่งทางบกบริษัทขนส่ง สถานีขนส่งบริษัทรถทัวร์เอกชนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)

รอบปี 2552 มูลนิธิกระจกเงาได้รวบรวมสถานการณ์ การค้ามนุษย์น่าสนใจ ดังนี้
(1) การค้ามนุษย์แรงงานภาคประมง ถูกละเมิดสิทธิ กว่า 103 กรณี โดยถือว่ามากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่า มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงและประมงต่อเนื่องกว่า 1 แสนอัตรา ทำให้เกิดขบวนการนายหน้าในการจัดหาแรงงานเข้าสู่สถานประกอบการ จังหวัดท่าเรือประมงที่มีปัญหาการค้ามนุษย์รุนแรง ได้แก่ 1.จังหวัดสงขลา 2.จังหวัดชลบุรี (ท่าเรือแสมสาร อำเภอสัตหีบ) 3.จังหวัดสมุทรสาคร 4.จังหวัดสมุทรปราการ ช่วยเหลือแรงงานที่ถูกค้ามนุษย์ได้กว่าครึ่งร้อยราย โดยทั้งหมดเป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า
(2) ขอทานเด็ก มีการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทาน ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ถูกนำพามาจากประเทศกัมพูชาและพม่า ทั้งนี้จำนวนเด็กขอทานในประเทศไทยที่แน่นอนยังไม่มีหน่วยงานใดทำการสำรวจข้อมูลเชิงปริมาณอย่างชัดเจน พื้นที่สำคัญที่มีการลักลอบนำพาเด็กจากประเทศกัมพูชาเข้ามาขอทานในประเทศไทย คือ ด้านอำเภออรัญประเทศ และเมื่อปลายปี 2552 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เสนอร่าง พระราชบัญญัติควบคุมคนขอทาน ฉบับใหม่ ต่อคณะรัฐมนตรี
(3) การลักพาตัวเด็ก เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปี 2552 มีเด็กถูกลักพาตัวทั้งสิ้น 7 ราย มีจำนวนเท่ากับเมื่อปี 2551 โดยเด็กที่ถูกลักพาตัวมีอายุเฉลี่ยเพียง 6 ขวบเท่านั้น ลักษณะการลักพาตัวเด็กส่วนใหญ่เพื่อวัตถุประสงค์ในการนำเด็กไปกระทำทางเพศและบังคับใช้แรงงาน
(4) ขบวนการซื้อขายเด็กทารก ในรอบปี 2551 มีข่าวขบวนการซื้อขายเด็กทารกทางชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่นายหน้าจะเข้าไปติดต่อเพื่อขอซื้อเด็กนั้น จะเป็นกลุ่มหญิงขายบริการที่ตั้งครรภ์โดยไม่พึ่งประสงค์หรือครอบครัวที่มีฐานะยากจนตามแนวชายแดน โดยนายหน้าชาวไทยจะเข้าไปหว่านล้อมให้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์เก็บเด็กไว้จนคลอดไม่ต้องทำแท้ง เพราะเมื่อเด็กคลอดจะมีคนมารับซื้อเด็กในทันที วัตถุประสงค์ในการซื้อเด็กไปนั้นยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่านำไปเพื่อการใด แต่จากการสันนิษฐานพอสรุปได้ว่า อาจจะนำเด็กไปขายต่อให้กับครอบครัวชาวต่างชาติที่ไม่สามารถมีบุตรได้ หรือ นำเด็กไปเป็นเครื่องมือในการขอทาน
มีการประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์ ในปี 2553 คาดว่าจะมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้นในแรงงานภาคประมง เนื่องจากเกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก ส่วนสถานการณ์การค้ามนุษย์ด้านอื่นๆ อาจจะทรงตัว แต่ไม่ได้ลดขนาดของปัญหาลง

สถานการณ์ปี 2553

องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็ก สตรี แรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ ได้ผนึกองค์กรร่วมกัน จัดตั้งเป็นเครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดังนี้ [6] (1) หากพบว่าคดีค้ามนุษย์นั้นเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เช่น การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ พรากผู้เยาว์ กระทำชำเราเด็ก/ผู้เสียหาย รับเงินจากสถานประกอบการ/สถานบริการ สนับสนุนการทำเอกสารปลอม มีส่วนร่วมการเป็นธุระจัดหา การบังคับกักขังหน่วงเหนี่ยว (2) รัฐบาลต้องเพิ่มมาตรการ กระตุ้นจิตสำนึก ศีลธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องภายใต้ พรบ.การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 2551 เพราะในหลายพื้นที่ พบว่า นอกจากการแสวงหาประโยชน์แล้วข้าราชการบางคนยังขาดจิตวิญญาณของการเป็นข้าราชการที่ดี ขาดจิตสำนึกในการนำนโยบายของรัฐบาลสู่การทำงานที่มีผลต่อการปกป้องเด็ก ผู้หญิง แรงงานข้ามชาติจากกระบวนการค้ามนุษย์ รวมทั้ง ปัญหาของประชาชนและประเทศชาติ ในภาพรวม (3) ในฐานะที่ท่านนายก เป็นประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระดับชาติ คณะทำงานขอให้ท่านนายก มีกลไกในการติดตาม และรายงานความก้าวหน้า คดีที่เกี่ยวข้อง กับการค้ามนุษย์ เพื่อแสดงถึงสถิติที่สะท้อนสถานการณ์จริง และความโปร่งใสให้ประชาชนรับทราบ โดยการจัดเวทีประชุมกับเครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ /เครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น

สถานการณ์การค้าหญิงและเด็กหญิงเข้าสู่ธุรกิจการค้าประเวณี ทั้งการบังคับ ล่อลวง หลอกลวง กักขัง เอารัดเอาเปรียบ ยังเป็นสถานการณ์ที่รุนแรง ประเทศไทยถูกประเมินเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ รัฐบาลไทยถูกเตือนว่ายังไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลขั้นต่ำว่าด้วยการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ เพราะการจับกุมคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ยังเป็นปัญหาหนักหน่วงอยู่ ประเทศไทยจึงถูกจัดไว้ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองในเรื่องนี้เป็นพิเศษมาสามปีติดต่อกัน คือ ตั้งแต่ปี 2553, 2554 และ 2555 ถ้าไทยยังไม่ขึงขังกับปัญหาการค้ามนุษย์ คาดว่าอาจจะถูกลดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศ Tier 3 นั่นหมายความว่า เราอาจเป็นประเทศที่ถูกมาตรการกีดกันด้านการค้าจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ตามรายงานสถิติการจับกุมคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ที่รายงานไว้ใน Trafficking in Persons Report 2012 มีดังนี้ ปี 2553 ตำรวจจับกุมสอบสวนไว้ 70 คดี มีการพิพากษาผู้กระทำความผิดจริงฐานการค้ามนุษย์จำนวน 79 ราย ส่วนปี 2554 มีจำนวนคดีค้ามนุษย์ที่ตำรวจจับกุมสอบสวนทั้งสิ้น 83 คดี ในจำนวนนี้ 67 คดี เป็นคดีค้าหญิงเพื่อธุรกิจทางเพศ ส่วน 16 คดี เป็นคดีค้ามนุษย์ด้านแรงงาน แต่มีผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการค้ามนุษย์ในชั้นศาลจำนวน 67 ราย ผู้ที่กระทำความผิดส่วนใหญ่เป็นคนสัญชาติไทย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริงมาก [7]

สถานการณ์ปี 2554

จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ พ.ศ. 2554 [8] มีคดีค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 จำนวน 83 คดี มีรูปแบบจากการแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณีสูงสุด 67 คดี รองลงมาเป็นการบังคับใช้แรงงาน หรือบริการ 13 คดี และการนำคนมาขอทาน 3 คดี แม้ว่าคดีค้ามนุษย์มีจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับคดีอาญาประเภทอื่น แต่ปัญหาการค้ามนุษย์มีความรุนแรง ซับซ้อน เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ ทำกันเป็นเครือข่าย รูปแบบการค้ามนุษย์และวิธีการหลอกลวงปรับเปลี่ยนตลอดเวลา มีความเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล

สถานการณ์ปี 2555

ปี 2555 มีข้อวิตกเกี่ยวกับเด็ก ตาม "อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก" ซึ่งประเทศไทยก็ได้ให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญานี้มาตั้งแต่ปี 2535 ได้แก่ กรณีทารุณเด็กบังคับขอทาน การลักพาเด็ก หรือการขายเด็ก หรือการลักลอบค้าเด็ก การแสวงหาประโยชน์ทุกรูปแบบที่เป็นผลร้ายต่อสวัสดิภาพของเด็ก รวมถึงการกระทำอันมิชอบทางเพศทุกรูปแบบ ซึ่งรัฐภาคีต้องใส่ใจดูแล [9]

รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดงาน "วันต่อต้านค้ามนุษย์" ประจำปี 2555 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2555 [10] พร้อมประกาศ 6 มาตรการต้านค้ามนุษย์ หวังเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ในไทย ดังนี้ (1) รวมพลังป้องกันประชาชนและกลุ่มเสี่ยงมิให้ตกเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ (2) เร่งรัดแก้ไขปัญหาแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ และจัดการกับนายหน้าที่ผิดกฎหมาย (3) จับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและอาชญากรอย่างรวดเร็วเด็ดขาด (4) เพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยก และให้การคุ้มครองผู้เสียหายอย่างรวดเร็วทันท่วงที (5) จัดสรรงบประมาณเพื่อปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ และ (6) ประสานความร่วมมือกับประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางในทุกรูปแบบ

ในสถานการณ์โลกปี 2555 [11] จากรายงานสิทธิมนุษยชนและการค้ามนุษย์ประจำปีของสหรัฐอเมริกา พบว่า 27 ล้านคนจาก 185 ประเทศทั่วโลก ตกเป็นเหยื่อถูกทารุณและใช้งานเยี่ยงทาส ประเทศที่มีพัฒนาการในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ และละเมิดสิทธิมนุษยชนในปีที่ผ่านมามี 2 ชาติ ได้แก่ พม่าและเวเนซุเอลา ขณะที่สถิติการจับกุมผู้กระทำความผิดในข้อหาค้ามนุษย์ มีจำนวนทั้งหมด 42,291 รายทั่วโลก หรือเพิ่มขึ้น 28 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับสถิติที่สำรวจได้เมื่อปี 2553 แต่มีผู้ต้องหา 3,969 รายเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2555 ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ประสานขอความร่วมมือกรมการปกครองในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองจากสำนักการสอบสวนและนิติการ นำโดย นายรณรงค์ ทิพย์ศิริจพง.ปค.ชำนาญการพิเศษ และพนักงานฝ่ายปกครอง อ.หาดใหญ่ นำโดยนายเสรี พาณิชย์กุล นายอำเภอหาดใหญ่ได้บูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ DSI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการตรวจค้นจับกุมกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ในการหลอกลวงและลักลอบนำหญิงสาวจากประเทศพม่าและหญิงสาวไทยใหญ่จำนวนมากเข้ามาบังคับให้ค้าประเวณี ซึ่งสามารถช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ได้จำนวน 8 ราย เหตุเกิดที่ร้านปารีสและร้านไนซ์ เลดี้อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา [12]

สถานการณ์ปี 2556

วิกานดา ให้ทัศนะว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทยจำนวนมากนั้นเสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์มาก ไม่ว่าแรงงานเหล่านั้นจะเข้ามาโดยสมัครใจหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้การลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมายนั้นยังเลี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาเรื่องสวัสดิการการทำงานของแรงงานข้ามชาตินั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากทุกวันนี้มีแรงงงานข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง [13]

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 ศาลมีคำพิพากษาในคดีเด็กชายแสง ครอบครัวของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ และตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้นางโมมีความผิดข้อหาค้ามนุษย์ บังคับขู่เข็ญให้กระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็กตามมาตรา6(2) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และความผิดฐานข่มขืนใจให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัว และโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา แต่การที่นางโมได้ให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา4 ปี [14]

เมื่อวันที่ 15-16 มกราคม 2556 คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ สหรัฐฯ (Trade and Investment Framework Agreement : TIFA JC) ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 2 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ฝ่ายไทยโต้สหรัฐฯ กรณีกล่าวหาไทยใช้แรงงานเด็กและค้ามนุษย์ใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ยืนยันไทยไม่เคยมีปัญหาในเรื่องนี้ ในจำนวน 5 รายการ ได้แก่ สิ่งทอ กุ้ง สื่อลามก อ้อย และปลา ฝ่ายไทยได้ชี้แจงแผนปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำปี 2555-2556 รวมทั้งการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมสภาพการทำงานที่ดีในอุตสาหกรรมประมง [15]

จากที่ไทยถูกจัดอยู่ในระดับ Tier 2 Watch List ในปี 2556 ทางการสหรัฐฯได้กล่าวหาสินค้าไทยจำนวน 5 รายการ ได้แก่ กุ้ง ปลา อ้อย เสื้อผ้า และสื่อลามก ว่ามีปัญหาเรื่องแรงงาน และการค้ามนุษย์ ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เชื่อว่าผลิตโดยใช้แรงงานเด็ก และการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งขัดกับมาตรฐานสากล และกล่าวหาไทยว่า มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการค้ามนุษย์ การปกป้องแรงงาน แต่ไม่บังคับใช้ และสิ่งที่สหรัฐฯต้องการเห็น คือ ไทยได้ใช้กฎหมายจับกุมจนนำไปสู่การดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดต่อแรงงานมนุษย์ ดังนั้น ในปีต่อไปสหรัฐฯ มีสัญญาณที่จะนำไทยไปสู่การถูกปรับลดอันดับลง สินค้าที่ถูกสหรัฐฯ จับขึ้นบัญชีตามกฎหมายนี้ทั้งสิ้น 134 สินค้า จาก 74 ประเทศ โดยมีสินค้าไทย 5 รายการ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มสินค้าที่เชื่อว่าใช้แรงงานเด็กและบังคับใช้แรงงานมนุษย์ ได้แก่ กุ้ง และเสื้อผ้า (2) กลุ่มสินค้าที่เชื่อว่าผลิตจากแรงงานเด็ก ได้แก่ อ้อย และสื่อลามก ทั้งที่สินค้าสื่อลามกนี้ ตามกฎหมายไทยห้ามไม่ให้มี (3) กลุ่มสินค้าที่ผลิตโดยบังคับใช้แรงงานมนุษย์ คือ ปลา เป็นสินค้าล่าสุดที่สหรัฐฯ เพิ่มเข้าไป เมื่อเดือน ก.ย. 2555 โดยสินค้าทั้ง 5 กลุ่มแยกเป็น (1) สิ่งทอมากกว่า 37,000 ล้านบาท (2) กุ้ง 15,000 ล้านบาท (3) น้ำตาลทรายและกากน้ำตาลประมาณ 700 ล้านบาท และ (4) ปลาประมาณ 2,000 ล้านบาท รวมประมาณ 54,700 ล้านบาท ซึ่งหวังเป็นแต้มต่อให้สหรัฐฯ เชื่อถือในการแก้ปัญหาแรงงานของไทยเป็นไปในทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังได้ส่งรายงานความคืบหน้าการแก้ปัญหาด้านแรงงานในประเทศไทยให้สหรัฐฯรับทราบล่วงหน้า โดยชี้ให้เห็นว่าไทยมีพัฒนาการในการแก้ปัญหา เช่น ไทยได้จัดทำการขึ้นทะเบียนแรงงานประมงและขณะนี้มีแรงงานมาขึ้นทะเบียนแล้วว่า 5,000 คน สำหรับประเด็นที่สำคัญในการแก้ปัญหาและสหรัฐฯ ให้ความสนใจมากที่สุด คือ การบังคับใช้กฎหมาย ไทยได้ดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับแรงงานในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2555 ผ่านมาถึง 46 คดี ในจำนวนนี้ศาลตัดสินไปแล้ว 10 คดี นอกจากนี้ยังได้ปฏิเสธการเข้าเมืองของชาวต่างชาติที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับเพศพาณิชย์แล้ว 137 ราย ส่วนรายที่อยู่ในไทยอยู่แล้วก็ได้ถอนใบอนุญาตการเข้าราชอาณาจักรแล้ว 17 ราย [16]

สถานการณ์ปี 2557

ข่าวดัง เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ศาลเพชรบุรีพิพากษาหมายเลขคดีดำที่ 0473/2556 จำคุก น.พ. สุพัฒน์ เลาหะวัฒนะ อดีตอายุรแพทย์ โรงพยาบาลตำรวจ ถูกศาลเพชรบุรีพิพากษาจำคุก 8 ปี 42 เดือน ในข้อหารับคนงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน, ให้ที่พักพิงซ่อนเร้นแก่คนงานต่างด้าวเพื่อให้พ้นการจับกุม และข้อหาค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พร้อมชดใช้สินไหมทดแทน 1 ล้านบาท [17]

บรรณานุกรม

ธัญวลี อุณหเสรี."ค้ามนุษย์."24 เมษายน 2554. [Online]., Available URL : http://www.learners.in.th/blog/thunvalee/465699

นฤตรา ประเสริฐศิลป์ , "การค้ามนุษย์", 23 มีนาคม 2557, https://www.gotoknow.org/journals/134479

พงศภัค ใจธัญ. "การจัดการประชากรกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์." 1 กรกฎาคม 2552.

http://www.learners.in.th/blog/pongsapak/275570

วรณัฐ วรชาติเดชา,พันตำรวจเอกหญิง. "การค้ามนุษย์ โดยการแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อเด็กและสตรี." ภาควิชากฎหมาย กลุ่มงานวิชาการสถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ.

วรุณ พนธารา, "บทวิจารณ์ พรบ.การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551", นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตอุทัยธานี รุ่นที่ 2, 20 มีนาคม 2554, ใน gotoknow.org เมื่อ 29 สิงหาคม 2554, https://www.gotoknow.org/posts/456714 &www.nitiramuthai.com/picture/news/SG1602.doc

ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จังหวัดลพบุรี. "ความหมายของการค้ามนุษย์." http://www.lopburi.m-society.go.th/human/human_1.htm

พยง พุ่มสุข, รพ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท, "การประชุมเชิงปฏิบัติการทีมสหสาขาวิชาชีพด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์", โรงแรมชัยนาทธานี,16 กันยายน 2552 ใน gotoknow.org 21 กันยายน 2552, https://www.gotoknow.org/posts/299496

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข, รายงาน "สถานการณ์การค้ามนุษย์ในรอบปี 2552", โดยศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา, http://www.notforsale.in.th/autopagev4/show_page.php?topic_id=773&auto_id%20=7&TopicPk=

[1] ข่าวสนุกดอทคอมและINN, 26 ธันวาคม 2557, อ้างแล้ว.

[2] วรนันท์ บุนนาค, "การขโมยเด็กไทยกับการค้ามนุษย์", 2 มีนาคม 2550, https://www.gotoknow.org/posts/81593

[3] เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข, มูลนิธิ กระจกเงา, รายงาน "สถานการณ์การค้ามนุษย์ในรอบปี 2551", ใน gotoknow.org โดยพระ ศิริอาริยะ ฌานพุทธ พัฒนาศรัทธาพร, 12 มกราคม 2552, https://www.gotoknow.org/posts/234877

[4] สมพงค์ สระแก้ว, "มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน Labour Rights Promotion Network Foundation (LPN)", 10 ตุลาคม 2556, https://www.gotoknow.org/posts/550654 &มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN), http://www.lpnfoundation.com/เกี่ยวกับเรา.html

[5] Mr. Chettha Mankhong, "การรณรงค์ป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์", 26 พฤศจิกายน 2551,

https://www.gotoknow.org/posts/225604

[6] รงค์รบ (ปืน) น้อยสกุล, "เครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ พบนายก พร้อมข้อเสนอ 3 ข้อ", 17 ธันวาคม 2553, https://www.gotoknow.org/posts/414491

[7] สุชาดา ทวีสิทธิ์, "สถานะของประเทศไทยเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์", จดหมายข่าวประชากรและการพัฒนา, ปีที่ 33 ฉบับที่ 3 ปีที่ 33 ฉบับที่ 3 เดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2556, [email protected] , http://www2.ipsr.mahidol.ac.th/newsletter/index.php/2012-11-08-03-49-15/mnu-vol33-no4/86-vol33-no3/99-vol33-no3-03.html

[8] "พม.ประกาศ 6 มาตรการต้านค้ามนุษย์", ไทยรัฐออนไลน์, 5 มิถุนายน 2555,

http://www.thairath.co.th/content/edu/265976

[9] "'น่าชื่นชม'คนใส่ใจ 'ปกป้องเด็ก' เฉื่อยชา'น่าผิดหวัง'", เดลินิวส์, 24 มีนาคม 2555, http://www.dailynews.co.th/article/223/18608

[10] "พม.ประกาศ 6 มาตรการต้านค้ามนุษย์", อ้างแล้ว.

[11] "มะกันเผยรายงานค้ามนุษย์ 27 ล้านคนทำงานเยี่ยงทาส", ไทยรัฐออนไลน์, 21 มิถุนายน 2555,

http://www.thairath.co.th/content/oversea/269929

[12] "ส่วนการสอบสวนคดีอาญา (สสอ.)", http://ilab.dopa.go.th/oldwebsite/internal/criminal/index.php

[13] วิกานดา พัติบูรณ์, "ปัญหาสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญในสังคมไทย", 27 มีนาคม 2556, https://www.gotoknow.org/posts/531430

[14] ศิวนุช สร้อยทอง, "กรณีศึกษา : ครอบครัวเด็กชายแสง ครอบครัวของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ และตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์", 13 เมษายน 2556, https://www.gotoknow.org/posts/532816

[15] "ไทยโต้สหรัฐฯ กล่าวหาใช้แรงงานเด็ก ค้ามนุษย์ใน 5 อุตสาหกรรม", มกราคม 2556,

http://www.thai-frozen.or.th/news_31.php

[16] "จับตาอุปสรรคใหม่ซ้ำ 'ส่งออกไทย57' 'ค้ามนุษย์-แรงงานเด็ก'ตามหลอน", ไทยรัฐ, 23 ธันวาคม 2556, http://www.thairath.co.th/content/390975

[17] "หมอสุพัฒน์ ถูกศาลสั่งจำคุก 8 ปี 42 เดือน ข้อหาค้ามนุษย์-ผิด พ.ร.บ.ต่างด้าว", ไอเอ็นเอ็น, 26 ธันวาคม 2557, http://hilight.kapook.com/view/113306

หมายเลขบันทึก: 583435เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2015 02:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2015 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท