กรณีศึกษา : ครอบครัวเด็กชายแสง ครอบครัวของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ และตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์


การสรุปข้อเท็จจริงของเจ้าของปัญหาและประเด็นที่ต้องพิจารณา

: กรณีครอบครัวเด็กชายแสง ครอบครัวของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ และตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

โดยนางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักศึกษาปริญญาโท สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2556

(บันทึกนี้ใช้ชื่อบุคคลสมมติและสถานที่สมมติ เพื่อรักษาข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของปัญหา)

---------------------------------

“กรณีศึกษามาจากเรื่องจริงซึ่งมาจากการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายภายใต้ความร่วมมือขององค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวคือ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิศุภนิมิต รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ กล่าวคือ กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และสำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก, 2555

---------------------------------

เด็กชายแสง (นามสมมติ) เด็กชายมุสลิมเชื้อสายพม่า เกิดประมาณปี พ.ศ. 2548 เป็นเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ เนื่องจากไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรทั้งของประเทศพม่า ไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของประเทศไทย และไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก ซึ่งคนในครอบครัวของเด็กชายแสง และคนส่วนใหญ่ในชุมชนซึ่งอพยพหนีความอดอยากมาจากประเทศพม่าก็ตกอยู่ในสภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติเช่นเดียวกัน

เนื่องจากบิดาเสียชีวิต ปัจจุบันน้องแสงจึงอาศัยอยู่กับมารดา และพี่น้องอีก 5 คน ในบริเวณชุมชนอิสลามบำรุง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แม่ของเด็กชายแสงอพยพหนีความอดอยากมาจากประเทศพม่า โดยเดินเท้ามาพร้อมกับกลุ่มนายหน้าเข้ามาในประเทศไทยผ่านตะเข็บชายแดนไทย-พม่าบริเวณด่านแม่สอด เมื่อเดินทางเข้ามาถึงอำเภอแม่สอดครั้งแรกปรากฏว่ายังไม่มีที่อยู่อาศัย จึงไปขอพักอาศัยอยู่กับกลุ่มคนมุสลิมที่อพยพมาจากประเทศพม่าที่เข้ามาอาศัยอยู่ก่อน 

ทั้งนี้ มารดาของเด็กชายแสงไม่มีเอกสารระบุตนใด ๆ จากประเทศพม่า จึงยังคงตกอยู่ในสถานะไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งเด็กชายแสง และพี่น้องทั้ง 5 คน ก็ไม่มีไม่มีเอกสารระบุตนใด ๆ จากประเทศพม่าเช่นเดียวกับมารดา รวมทั้งเมื่อมาถึงประเทศไทยครอบครัวนี้ก็ไม่เคยได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย จึงตกอยู่ในสถานะไร้รัฐไร้สัญชาติ กล่าวคือ ตกอยู่ในปัญหาสถานะบุคคลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ในบริเวณชุมชนอิสลามบำรุงจะมีพื้นที่อยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแรก พื้นที่ของกลุ่มคนมุสลิมเชื้อสายพม่าที่เข้ามาอยู่นานแล้วกว่า 25 ปี กล่าวคือ เป็นคนกลุ่มที่เข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2530 – 2532 ซึ่งปัจจุบันคนกลุ่มนี้ได้ก่อตั้งบ้านเรือน จัดสรรที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วน มีระบบประปาไฟฟ้า มีการจัดทำทะเบียนคนอยู่โดยชุมชนเอง และมีผู้นำศาสนาเป็นผู้นำที่คอยดูแลชุมชน

ส่วนที่สอง พื้นที่ของกลุ่มคนมุสลิมเชื้อสายพม่าที่เข้ามาใหม่ คนกลุ่มนี้จะตั้งครอบครัวอาศัยอยู่บริเวณข้าง ๆ ชุมชนเก่าข้างต้น แต่สภาพความเป็นอยู่ของคนกลุ่มนี้แตกต่างจากชุมชนเก่าอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากบ้านเรือนที่คนกลุ่มนี้อาศัยนั้นเป็นเพียงเพิงไม้อัด กับหลังคาสังกะสี ซึ่งวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาสร้างได้มาจากเศษไม้ที่เหลือจากงานก่อสร้าง หากมีไม้ไม่พอทำผนังบ้านด้านใด ก็จะนำป้ายพลาสติกโฆษณามาขึงทำเป็นฝาบ้านส่วนนั้น  ส่วนตัวบ้าน(เพิงไม้)ต้องยกพื้นสูง เนื่องจากเวลาฝนตกหนักน้ำจะขังท่วมบริเวณบ้าน จนต้องหายางรถเก่า ๆ มาทำเป็นทางเดินเข้าบ้าน  

ครอบครัวของเด็กชายแสง อาศัยอยู่ในชุมชนใหม่นี้ และมีสภาพความเป็นอยู่เหมือนครอบครัวอื่น ๆ กล่าวคือ แต่ละครอบครัวจะมีบุตรประมาณ 5-6 คน เนื่องจากเชื่อว่าการคุมกำเนิดเป็นบาป และเชื่อว่าการมีลูกมาก ๆ จะมีคนช่วยทำงานช่วยเลี้ยงดูครอบครัว แต่ในความเป็นจริงแล้วด้วยความยากจน และการไม่มีทักษะการทำงานใด ๆ ของบุพการี ครอบครัวในชุมชนนี้ จึงหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการเก็บขยะขาย มีรายได้ตกวันละ 50 - 60 บาท ส่วนบุตรที่เกิดมาก็ต้องมาทำงานช่วยครอบครัวเก็บขยะขายเช่นกัน สภาพแวดล้อมที่น่าหดหู่ของชุมชน คือ บริเวณพื้นที่ว่างถัดไปไม่ไกล กลายเป็นที่นำขยะกองใหญ่วางรวมไว้รอคัดแยก อย่างไรก็ดี รายได้จากการเก็บและคัดขยะขายก็ไม่เพียงพอกับการเลี้ยงดูครอบครัวที่มีสมาชิกกว่า  10   คน จึงเกิดขบวนการหลอกลวงและนำพาเด็กในชุมชนวัยประมาณ 6-10 ขวบ บังคับให้ไปเดินขายดอกไม้ในกรุงเทพมหานคร โดยการทำงานเป็นเครือข่ายระหว่างนายหน้าในชุมชน และนายหน้าในกรุงเทพมหานคร

ครอบครับของเด็กชายแสง ก็เป็นหนึ่งในเหยื่อของขบวนการค้าเด็กไปขายดอกไม้เช่นกัน กล่าวคือ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2553 นางลา นายหน้าค้าเด็กชาวพม่าซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนได้ติดต่อมารดาของเด็กชายแสง และพูดคุยว่ามารดาของเด็กชายแสงมีบุตรหลายคน น่าจะส่งบุตรไปทำงานที่กรุงเทพ เพราะงานที่กรุงเทพรายได้ดี นายหน้าคนนี้อ้างว่าตนรู้จักนางโม เป็นคนพม่าอยู่ที่กรุงเทพ กำลังหาเด็กไปช่วยขายดอกไม้ และคนที่กรุงเทพจะคอยดูแลบุตรให้ โดยมีบ้านให้อยู่ มีข้าวให้ทาน ระหว่างที่ไม่ได้ออกไปทำงานก็ไปโรงเรียนได้ มารดาของเด็กชายแสงได้ยินเช่นนั้นจึงโทรติดต่อพูดคุยกับนางโม

นางโม พูดคุยผ่านโทรศัพท์โดยชักจูงและหลอกลวงมารดาของเด็กชายแสงว่า มารดาของเด็กชายแสงมีลูกหลายคนคงจะต้องเหนื่อยและลำบากมาก รายได้ต่อวันจากการเก็บขยะขายก็น้อยและไม่แน่นอน น่าจะลองส่งลูกให้มาอยู่และทำงานกับตน ซึ่งเป็นงานไม่ลำบากและรายได้ดี เพราะแค่เดินขายดอกไม้ตามร้านอาหาร ระหว่างที่ไม่ได้ออกไปทำงานตนจะส่งให้ไปเรียนหนังสือ เรื่องค่าตอบแทนนางโมจะส่งกลับมาให้เดือนละ 1,500 – 2,000 บาท มารดาของเด็กชายแสงจึงตกลงส่งเด็กชายแสงไปทำงานขายดอกไม้กับนางโม โดยมารดาตกลงให้เด็กชายแสงไปทำงานเพียง 6 เดือน เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 6 เดือนแล้ว นางโมต้องส่งเด็กชายแสงกลับมาคืนตน

ต่อมานางโมโทรมาแจ้งมารดาของเด็กชายแสงว่า จะส่งน้องชายของตนมารับเด็กชายแสงที่บ้าน ในวันตามนัดหมายดังกล่าวน้องชายของนางโมมารับเด็กชายแสงไปส่งที่บ้านของนางลา นายหน้าค้าเด็กชาวพม่าซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชน ซึ่งขณะนั้นในบ้านของนางลา มีเด็กชายมุสลิมเชื้อสายพม่า อายุไล่เลี่ยกับเด็กชายแสงรอมาอยู่แล้ว 1 คน

เมื่อเด็กชายแสงถูกส่งไปทำงานไปได้ประมาณ  2 สัปดาห์ นางโมก็ได้โทรติดต่อมารดาของเด็กชายแสงอีกครั้ง เพื่อชักชวนให้ส่งพี่ชายของเด็กชายแสงมาทำงานด้วยกันกับตน มารดาของเด็กชายแสงเห็นว่าในตอนนั้นเด็กชายแสงไปอยู่ก็มีนางโมคอยดูแลตามที่กล่าวไว้ และการส่งบุตรชายไปอีกคนจะทำให้ครอบครัวมีรายได้มากขึ้น มารดาของเด็กชายแสงจึงตกลงส่งพี่ชายของเด็กชายแสงไปทำงานกับนางโมอีกคนหนึ่ง โดยมีข้อตกลงเช่นเดียวกับกรณีเด็กชายแสง กล่าวคือ นางโมจะส่งเงินกลับมาให้เดือนละ 1,500 – 2,000 บาท และมารดาตกลงไปทำงานเพียง 6 เดือน เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 6 เดือนแล้ว นางโมต้องส่งพี่ชายของเด็กชายแสงกลับมาคืนตน

ต่อมาอีกประมาณ  2-3 วัน น้องชายของนางโมก็มารับพี่ชายของเด็กชายแสงมาส่งที่ตลอด และให้เดินทางไปพร้อมกับกลุ่มของนายหน้า ซึ่งพี่ชายของเด็กชายแสงต้องนั่งรถตู่เข้าไปในป่า จากนั้นเดินเท้า 1 วัน เพื่อไปขึ้นรถพ่วง 18 ล้อ มีผ้ายางคลุม ซึ่งในรถดังกล่าวมีคนประมาณ 7 คน เป็นผู้ชาย 2 คน ผู้หญิง 4 คน และพี่ชายของเด็กชายแสง รถพ่วงดังกล่าวมาจอดที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นนายหน้าจึงพาพี่ชายของเด็กชายแสงขึ้นรถแท็กซี่ไปที่พักบริเวณเขตพัฒนาการ กรุงเทพมหานคร

เมื่อพี่ชายของเด็กชายแสงไปถึง พบว่า นางโมมีบ้าน 2 หลัง นางโมพักอยู่กับหลานในบ้านห้องแถวชั้นเดียว ซึ่งพี่ชายของเด็กชายแสงพักในบ้านอีกหลังหนึ่งเป็นบ้าน 2 ชั้น โดยพักที่ชั้นบน มีเด็กที่อยู่ด้วยกัน 4 คน ซึ่งมีอายุไล่เลี่ยกัน ส่วนเด็กชายแสงอยู่บ้านหลังเดียวกับครอบครัวของนางโม

ในแต่ละวันที่เด็กชายแสง พี่ชาย และกลุ่มเด็กอีกประมาณ 10 คน อาศัยอยู่กับนางโม เวลาประมาณ 09.00-10.00 น. เด็ก ๆ ต้องทำงานบ้าน หลังจากนั้นก็เตรียมดอกไม้สำหรับนำไปขาย โดยออกไปขายดอกไม้เวลาประมาณ 19.00 – 02.00 น. โดยมีสามีของนางโมเป็นคนควบคุมการจัดดอกไม้ การนับเงินจากการขายดอกไม้ และตรวจดูว่าแต่ละคนขายดอกไม้หมดหรือไม่

เมื่อถึงเวลาหัวค่ำ เด็ก ๆ จะถูกส่งไปขายดอกไม้ตามพื้นที่ร้านอาหาร สถานบริการ โดยเดินตามถนนต่าง ๆ ซึ่งคนในครอบครัวของนางโมจะเป็นคนขับรถนำเด็กมาส่งตามสถานที่ และคอยจับตามองควบคุมเด็กตลอดการทำงาน ทั้งนี้ เด็กทุกคนต้องถือดอกไม้ไปขายทีละ 2 มัด แต่ละมัดมี 20 ดอก ราคาดอกละ 20 บาท เมื่อขายหมด 2 มัดแล้ว ลูกสาวของนางโมก็ขับรถกลับไปเอาให้ที่บ้าน ในแต่ละวันต้องขายให้ได้ 5-6 มัด รวมทั้งขายลูกอมด้วย ถุงละ 10 บาท มี 6 เม็ด ซึ่งหากเด็กคนใดขายไม่หมดก็จะถูกทำร้ายทุบตีบริเวณหลัง ก้น และขา การทุบตีบางครั้งก็ใช้มือ แต่บางครั้งก็ตีด้วยเข็มขัด ทั้งนี้ เมื่อมาทำงานอยู่ได้ประมาณ 3 เดือน เด็กชายแสงและพี่ชายถูกนางโม และสามีของนางโม ทำร้ายทุบตีหลายครั้งเนื่องจากขายดอกไม้ และลูกอมได้ไม่หมด

 ในช่วง 3 เดือนแรก มารดาของเด็กชายแสงได้รับเงินส่งกลับมาจากนางโมตามสัญญา และมีโอกาสได้คุยโทรศัพท์กับบุตรชายบ้าง แต่ช่วง 3 เดือนหลังมารดาของเด็กชายแสงไม่ได้รับเงินจากนางโม และไม่มีโอกาสได้คุยโทรศัพท์กับบุตร จึงได้รับฟังเรื่องราวผ่านนางโมว่าบุตรทั้งสองคนอยู่สุขสบายดี  และนางโมได้หลอกลวงว่ากำลังจะส่งลูกชายทั้งสองคนกลับคืนให้ พร้อมเงินที่สะสมเป็นก้อนให้ในคราวเดียวกัน อย่างไรก็ดี เมื่อครบกำหนด 6 เดือน นางโมไม่ยอมส่งเด็กชายแสง และพี่ชาย กลับคืนตามที่ได้สัญญาไว้กับมารดาของเด็กชายแสง เมื่อมารดาของเด็กชายแสงจึงเป็นห่วงบุตรชายอย่างมาก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร

หลังจากนั้นไม่นาน ในระหว่างที่ออกไปขายดอกไม้ พี่ชายของเด็กชายแสงและเพื่อนอีก 2 คน ซึ่งถูกส่งมาขายดอกไม้พร้อมกัน ใช้จังหวะที่คนคุมเดินไปเอาดอกไม้มาให้เพิ่ม จึงแอบโทรติดต่อให้ลุงของเพื่อนซึ่งอยู่อำเภอมหาชัยมาช่วยเหลือตน ลุงคนดังกล่าวจึงเหมารถแท็กซี่จากอำเภอมหาชัยมารับเด็กทั้งสามคน และพามาอยู่ที่มหาชัยกับตน หลังจากนั้นจึงส่งพี่ชายของเด็กชายแสงกลับคืนบ้านที่แม่สอด

เมื่อมารดาได้พบกับพี่ชายของเด็กชายแสง และได้ทราบเรื่องราวทารุณโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับบุตรของตน จึงโทรไปหานางโม และยืนยันให้ส่งเด็กชายแสงคืนกลับมาให้ตน แต่นางโมกลับข่มขู่ว่าจะไม่ยอมส่งเด็กชายแสงคืนให้ และหากต้องการบุตรกลับคืนมารดาของเด็กชายแสงต้องไปหาเด็กอีก 2 คนมาทดแทนลูกชายทั้งสองของตน

ประเด็นในกรณีศึกษานี้ คือ จะมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือกับครอบครัวของเด็กชายแสงอย่างไร

ประการแรก การให้ความช่วยเหลือกับสิทธิในสถานะบุคคล กล่าวคือ การขจัดความไร้รัฐไร้สัญชาติของครอบครัวของเด็กชายแสง และ

ประการที่สอง การให้ความช่วยเหลือกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กล่าวคือ การคุ้มครองและเยียวยาเด็กชายแสงกับพี่ชายในฐานะของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์


---------------------------------

การให้ความช่วยเหลือจากทีมสหวิชาชีพ

---------------------------------

มารดาของเด็กชายแสงจึงร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตในพื้นที่อำเภอแม่สอด เพื่อให้ช่วยเหลือเด็กชายแสง ลูกชายของคนที่ถูกควบคุมตัวไว้ เจ้าหน้าที่มูลนิธิศุภนิมิตจึงประสานขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา จากนั้นจึงมีการประสานของความร่วมมือจากมูลนิธิกระจกเงา และร่วมกันลงพื้นที่เพื่อสอบข้อเท็จจริง เมื่อได้ข้อมูลว่าเป็นกรณีเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยแสวงหาประโยชน์จากเด็กจากการบังคับให้ขายดอกไม้ ทีมงานจึงประสานขอความช่วยเหลือจากพนักงานตำรวจ กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์(ปคม.)

เมื่อวันที่  21 เมษายน 2555  พนักงานตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ สามารถช่วยเหลือแก่เด็กชายแสง ออกมาจาขบวนการแสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานเด็กกรณีดังกล่าวได้ ซึ่งหลังจากได้รับความช่วยเหลือเด็กชายแสงได้เข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพในสถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด (บ้านภูมิเวท)

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 เวลา 09.00 น.ศาลมีคำพิพากษาให้นางโมมีความผิดข้อหาค้ามนุษย์ บังคับขู่เข็ญให้กระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็กตามมาตรา  6(2) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และความผิดฐานข่มขืนใจให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัว และโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

ทั้งนี้ เนื่องจากการกระทำของนายหน้าเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษบทหนัก คือ ความผิดฐานความผิดค้ามนุษย์ บังคับขู่เข็ญให้กระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็กตามมาตรา 6(2) ประกอบมาตรา  52 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551แต่การที่นางโมได้ให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา  4 ปี

ปัจจุบัน เด็กชายแสง และพี่ชาย ได้รับการส่งกลับไปอยู่ที่บ้านกับมารดาในอำเภอแม่สอดดังเดิม แต่เนื่องด้วยความยากจน เด็กทั้งสองคนจึงต้องช่วยมารดาเก็บขยะขายเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว

 


หมายเลขบันทึก: 532816เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2013 01:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2013 06:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีปีใหม่ไทยครับ     ขอบคุณในสาระดี ๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท