ปฏิรูปมหาวิทยาลัย



ผมขอนำบทความเรื่อง ปฏิรูปมหาวิทยาลัย เขียนโดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี มาเผยแพร่ต่อ ดังต่อไปนี้


(ปฏิรูปประเทศไทย)

ปฏิรูปมหาวิทยาลัย


๑.ปฏิรูปประเทศไทยเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ ประเทศไทยติดอยู่ในกับสภาวะวิกฤตเรื้อรังอย่างไม่มีทางออก จนเกิดเจตนารมณ์ร่วมกันว่า ต้องมีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในทุกด้านที่เรียกว่าปฏิรูปประเทศไทย การปฏิรูปประเทศไทยกลายเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ ที่ทุกภาคส่วนกำลังเข้ามาขับเคลื่อน มหาวิทยาลัยเป็นภาคส่วนที่สำคัญในการปฏิรูปประเทศไทย


๒. โจทย์ของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมีทรัพยากรมหาศาล ทั้งทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณ และทรัพยากรทางบารมี คำถามก็คือ มหาวิทยาลัยจะบริหารจัดการอย่างไรให้ทรัพยากรอันมหาศาลของมหาวิทยาลัย รวมทั้งที่อาจหาเพิ่มเติมได้อีก จะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติอย่างเต็มที่
๓.ข้อจำกัดเก่าของมหาวิทยาลัย ข้อจำกัดของมหาวิทยาลัยที่ดำรงอยู่มี ๓ ประการคือ
๓.๑ การศึกษาที่เน้นการสอนถ่ายทอดวิชามากกว่าการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง คำโบราณว่า
“สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ” มนุษย์เรียนรู้ได้ดีที่สุดจากการปฏิบัติ แต่การศึกษาไทยกลับใช้ “สิบปากว่า” ซึ่งมีความสูญเปล่าสูง มหาวิทยาลัยได้ทุ่มกำลังไปหมดทั้งเนื้อทั้งตัวกับการสอนที่มีความสูญเปล่าสูง ทำให้ไม่รู้ความจริงของประเทศไทย ทำให้การศึกษาไม่มีผลิตผลทางการพัฒนา ทำให้อ่อนแอทางการวิจัย มหาวิทยาลัยจึงไม่สามารถเป็นหัวจักรทางปัญญาที่พาชาติออกจากวิกฤต
๓.๒ เอาเทคนิคเป็นตัวตั้ง (Technic-driven) ไม่ได้เอาระบบ และความต้องการของสังคมเป็นตัวตั้ง กล่าวคือใครมีเทคนิคอะไรก็ทำการสอนหรือวิจัยโดยเอาเทคนิคของตนๆเป็นตัวตั้ง แบบของใครของมัน โดยไม่สามารถคิดเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ ทำให้จำกัดประโยชน์และจำกัดศักยภาพของมหาวิทยาลัย ที่จริงมหาวิทยาลัยมีความรู้ความชำนาญที่มีประโยชน์อยู่มากหลาย ถ้าสามารถตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไรสิ่งที่เราชำนาญจะเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งมวล” คำถามนี้จะต้องทำให้คิดเชิงระบบ เชิงนโยบาย และเชิงยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นปัญญาที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อคนทั้งมวล
การเอาเทคนิคเป็นตัวตั้งทำให้มองไม่ออกว่าเราจะทำประโยชน์อะไรได้บ้าง แต่ถ้ามองจากความต้องการของสังคมเข้ามา แบบที่เรียกว่า Outside in จะเห็นมีเรื่องน่าทำมากมาย และมหาวิทยาลัยสามารถทำได้ ความรู้ทางเทคนิคต่างๆมีประโยชน์ที่จำไปแก้ปัญหาของประเทศชาติได้
๓.๓ ใช้การบริหาร (Administration) มากกว่าการจัดการ (Management) มหาวิทยาลัยเติบโตในระบบราชการ ซึ่งเป็นระบบบริหารที่บริหารกฎหมาย กฎ ระเบียบ มากกว่าการจัดการให้ได้ผลสำเร็จ (Result oriented)
การบริหารกับการจัดการต่างกันมาก
การบริหารคือการใช้อำนาจ การจัดการคือการใช้ความรู้เพื่อสร้างความรู้เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วม
(Peter Drucker ปรมาจารย์ทางการจัดการกล่าวว่า “Management is utilization of knowledge to generate knowledge)
เนื่องจากการจัดการใช้ความรู้และการวิจัยทุกขั้นตอนในการทำให้เกิดผลสำเร็จจึงเป็นอิทธิปัญญา หรือปัญญาที่ทรงพลังมากในการทำให้สำเร็จ จนกระทั่งมีคำกล่าวว่า “การจัดการทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้” (Management makes the impossible possible)
ฉะนั้น มหาวิทยาลัยสมัยใหม่จึงควรปรับตัวจากการบริหาร (Administration) สู่การจัดการ (Management)
๔.การก้าวข้ามข้อจำกัดสู่ศักยภาพใหม่ของมหาวิทยาลัย คือการก้าวข้ามข้อจำกัดที่กล่าวถึงในข้อ ๓ นั่นคือ
๔.๑ ปฏิรูปการศึกษาจากการเน้นการสอนถ่ายทอดวิชาไปสู่การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงได้ผลจริง เปลี่ยนจากการสอนที่มีความสูญเปล่าสูงไปสู่ความสร้างสรรค์
๔.๒ ปฏิรูปจากการเอาเทคนิคเป็นตัวตั้งเป็นเอาระบบและความต้องการของสังคมเป็นตัวตั้ง โดยผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไรเรื่องที่เราเชี่ยวชาญจะเกิดประโยชน์ต่อคนทั้งมวล” แล้วพยายามเข้าใจระบบ แล้วใช้ความรู้ทางเทคนิคเข้าไปพัฒนาคนและพัฒนาวิชาการที่เหมาะสมกับระบบทำให้ระบบเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งมวล การปรับจาก Technic – driven เป็น System – oriented เช่นนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลต่อทั้งประโยชน์สุขของมหาชน และต่อสติปัญญาของมหาวิทยาลัยเอง
การศึกษาให้เข้าใจสภาพของสังคมและความต้องการของสังคม จะทำให้มหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์ (Vision) วิสัยทัศน์เป็นปัญญาใหญ่ที่เห็นทั้งหมด การมีแต่เทคนิคแต่ไม่มีวิสัยทัศน์เราก็เป็นปัญญาของแผ่นดินไม่ได้ จะเป็นไปได้อย่างไรที่มหาวิทยาลัยจะมีแต่เทคนิค แต่ไม่เข้าใจสภาพของสังคมและความต้องการของสังคม
การเป็นผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์และการเป็นผู้บริหารที่ดี ต้องสามารถโยง Vision ไปสู่ Action
มหาวิทยาลัยต้องสร้างผู้นำในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง นั่นคือสร้างการมีวิสัยทัศน์ เมื่อมีวิสัยทัศน์แล้ว และมีการบริหารจัดการที่ดี จะสามารถใช้ทรัพยากรอันมหาศาลของมหาวิทยาลัยไปทำประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างเต็มที่
๔.๓ ปรับการบริหารไปสู่การจัดการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยล้วนเติบโตมาจากนักวิชาการสาขาใดสาขาหนึ่งไม่ชำนาญเรื่องการจัดการ เมื่อมาเป็นผู้บริหารก็จะบริหารกฎระเบียบเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่สามารถจัดการใช้ทรัพยากรให้ได้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า (Cost - effective) ขณะนี้มีภาคธุรกิจใหญ่ๆที่ประสบความสำเร็จมากขึ้น การจะประสบความสำเร็จจะต้องมีการจัดการอย่างดีเยี่ยม ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรไปศึกษาดูงานเรื่องการจัดการกับภาคธุรกิจ เพื่อพัฒนาสมรรถนะในการจัดการ
๕.ยกตัวอย่างความต้องการของสังคม ๕ ประการ
๕.๑ ประเทศไทยติดอยู่ในสภาวะวิกฤตอย่างเรื้อรัง ทำอย่างไรๆก้อออกไปสู่ความเจริญอย่างแท้จริงไม่ได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจสูงสุดทางการเมืองอย่างไรๆก็ตาม จนเกิดความรุนแรงก็หลายครั้งและปริ่มๆจะเกิดมิคสัญญีกลียุค ถ้าดูให้ลึกแล้วเป็นเพราะจิตสำนึกของผู้คนและโครงสร้างเป็นแบบโบราณที่จิตเล็กและโครงสร้างอำนาจไม่เข้ากับสังคมสมัยใหม่ ซึ่งเป็นสังคมใหญ่ เชื่อมโยงและสลับซับซ้อน ซึ่งต้องการคนที่มีจิตใหญ่ และการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย ต้องการความเป็นพลเมืองสูง การศึกษาต้องสร้างบุคลิกของคนไทยที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมใหญ่ คือคนที่มีจิตสาธารณะคิดถึงคนอื่น สุจริต รับผิดชอบ เห็นคุณค่างาน ใฝ่เรียนรู้ สามารถรวมตัวร่วมคิดร่วมทำเป็นสังคมเข้มแข็ง นั่นคือมีความเป็นพลเมือง พลเมืองเข้มแข็งเป็นปัจจัยชี้ขาดอนาคตของประเทศ ที่แล้วมาการศึกษาไม่ได้มุ่งสร้างบุคลิกคนไทยที่พึงปรารถนาเลย เพราะเอาแต่ท่องวิชา ถ้าระบบการศึกษาทั้งหมดสร้างพลเมือง ความเป็นสังคมเข้มแข็งจะเกิดขึ้นได้เร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจดี การเมืองดี และศีลธรรมดี
๕.๒ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ปัญหาใหญ่ของโลกและของไทย คือการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งเกิดจากการเสียสมดุล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ คือแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน การพัฒนาอย่างยั่งยืนเกิดจากการพัฒนาอย่างบูรณาการและสมดุล การพัฒนาอย่างบูรณาการ ต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เอาหน่วยงานเป็นตัวตั้งไม่ได้ มหาวิทยาลัยควรมีบทบาทในการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงควรทำงานโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง พื้นที่ ๑ จังหวัด ควรมีอย่างน้อย ๑ มหาวิทยาลัย ที่ทำงานสนับสนุนการพัฒนาอย่างบูรณาการในจังหวัด การทำงานโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งจะทำให้มหาวิทยาลัยเข้าใจภูมิสังคม การทำงานเชิงระบบ เชิงนโยบาย และเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนทั้งของประเทศไทยและของมหาวิทยาลัย
๕.๓ มหาวิทยาลัยกับการสร้างสุขภาวะของคนทั้งมวล (Health For All) สุขภาวะของคนทั้งมวลเป็นสิ่งสูงสุด เรามีทรัพยากรต่างๆในพื้นที่มาก มหาวิทยาลัยมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆจำนวนมาก ถ้าทำงานเชิงระบบมหาวิทยาลัยจะมีส่วนสำคัญในการสร้างสุขภาวะของคนทั้งมวล
๕.๔ มหาวิทยาลัยกับการสร้างเสริมความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ขณะนี้ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทยถดถอยไปเรื่อยๆ เพราะฝีมือแรงงานขาดคุณภาพ และขาดการวิจัยและพัฒนาทางภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมีนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีอยู่อย่างน้อยจำนวนหนึ่ง แต่ถูกใช้ไปในการสอนที่มีความสูญเปล่าสูงดังกล่าวข้างต้น ถ้าปรับการศึกษาไปสู่การเรียนรู้จากการปฏิบัติจะสามารถจัดการให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจทุกด้าน ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการบริการ เพื่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม
๕.๕ การวิจัยทางนโยบายสาธารณะ นโยบายเป็นเรื่องที่มีผลกระทบทุกองคาพยพของสังคม นโยบายที่ดีต้องอาศัยข้อมูล ความรู้ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และการเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชน เป็นกระบวนการทางปัญญาและจริยธรรมที่สูงยิ่ง แต่มหาวิทยาลัยทำน้อยมาก ปล่อยให้เป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ซึ่งบ่อนเซาะประเทศไทยและก่อความทุกข์ยากให้ประชาชนอย่างเหลือหลาย มีประเด็นทางนโยบายสาธารณะมากมาย เช่น นโยบายการกระจายอำนาจ นโยบายพลังงาน นโยบายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ นโยบายสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ นโยบายการศึกษา นโยบายสุขภาพ นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่าปัญญาเชิงนโยบายเป็นสุดยอดเพราะต้องใช้ความรู้นานาชนิด ความสามารถในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และจริยธรรมที่หนักแน่นที่ยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง ถ้ามหาวิทยาลัยจะเป็นปัญญาของแผ่นดิน จะต้องไปให้ถึงสุดยอดทางปัญญา คือปัญญาที่จะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางประการที่มองมาจากความต้องการของสังคม และมหาวิทยาลัยควรมีศักยภาพที่จะตอบสนอง


๖.การปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย
เรื่องนี้สำคัญที่สุดและยากที่สุด แต่ถ้าไม่ทำมหาวิทยาลัยก็จะไม่สามารถใช้ศักยภาพทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้เต็มที่ มหาวิทยาลัยเป็นทรัพยากรอันมโหฬารของประเทศ และเป็นของคนไทยทุกคน ไม่ได้เป็นของอาจารย์เท่านั้น สังคมควรเข้ามามีส่วนร่วมในการทำความเข้าใจระบบมหาวิทยาลัย และช่วยให้มหาวิทยาลัยปฏิรูปการบริหารจัดการได้
ก่อนอื่นควรทราบว่าการจัดองค์กรของมหาวิทยาลัยนั้นเหมือนการจัดองค์กรในระบบราชการพลเรือน ซึ่งมีข้อด้อยกว่าการจัดองค์กรของกองทัพ และการจัดองค์กรของภาคธุรกิจมาก กองทัพถ้าจัดองค์กรไม่ได้จะแพ้สงคราม ภาคธุรกิจจะขาดทุนถึงล้มละลาย ความร้ายแรงของผลของการจัดองค์กรไม่ดี บังคับให้กองทัพและภาคธุรกิจต้องจัดองค์กรที่จะทำให้บรรลุพันธกิจได้ จึงควรไปศึกษาเปรียบเทียบดู
จะยกปัญหาในมหาวิทยาลัยให้ดู ๒ อย่าง
หนึ่ง เอานักวิชาการไปเป็นผู้บริหารจำนวนมาก แล้วก็บริหารไม่เป็นหรือไม่เก่ง ทำให้เสีย ทั้งการบริหาร และเสียทั้งนักวิชาการที่ไปเป็นผู้บริหาร
สอง อาจารย์มหาวิทยาลัยขัดแย้งกันสูง ทำให้ขาดความสุขและความสำเร็จในการทำงาน ร่วมกัน เรื่องที่ขัดแย้งเป็นอันมากที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหาร และการสรรหาผู้บริหาร
บริหารวิชาการหรือบริหารกฎระเบียบ เนื่องจากมหาวิทยาลัยอยู่ในระบบราชการจึงอยู่ภายใต้กฎหมาย กฎ ระเบียบ จำนวนมากที่เข้ามาควบคุม ผู้บริหาร เช่น หัวหน้าภาควิชา หรือคณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ต้องใช้เวลาไปบริหารตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ซึ่งตนก็ไม่ชำนาญ แต่การทำผิดระเบียบเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ผู้บริหารทุกคนกลัว จึงตกอยู่ในความเครียด นี้เป็นการบริหารอำนาจมากกว่าบริหารวิชาการ ซึ่งจะขัดแย้งกับธรรมชาติของอาจารย์ ซึ่งต้องการอิสรภาพและความคล่องตัวในการทำงานวิชาการ จึงเกิดความระแวงว่าใครจะมามีอำนาจ เป็นพวกไหน กลุ่มไหน อันนำไปสู่ความขัดแย้งสูง
รถยนต์ที่ประกอบเครื่องสมบูรณ์สามารถวิ่งไปได้อย่างราบเรียบ รถยนต์มีส่วนประกอบประมาณ ๑๐,๐๐๐ ชิ้น ถ้าส่วนประกอบทั้งหมดประกอบกันเข้าอย่างถูกต้องสมบูรณ์ ส่วนต่างๆก็จะสัมพันธ์และควบคุมกันเอง ทำให้รถยนต์ทำงานได้อย่างราบเรียบโดยไม่ลำบากอะไร เพียงแต่สตาร์ทเครื่องก็ขับไปสู่เป้าหมายได้ แต่ถ้าเครื่องหลุดหรือไม่ประกอบกัน ถึงจะเร่งเครื่องรถก็วิ่งไม่ได้ นั่นแหละระบบราชการไทย เสมือนเครื่องหลุด
ในระบบกองทัพผู้บังคับกองทัพ หรือกองพล หรือแม่ทัพ เขาไม่ต้องมากังวลว่า ฝ่ายสารบรรณ ฝ่ายบัญชี ฝ่ายการเงิน ฝ่ายกฎหมาย ฯลฯ ของเขาจะทำผิด เพราะจะมีกรมสารบรรณทหารบก กรมบัญชี กรมการเงิน กรมพระธรรมนูญ ฯลฯ มาดูแลให้องคาพยพเหล่านั้นสามารถทำงานได้ถูกต้อง ผู้บังคับบัญชาบริหารยุทธศาสตร์
ในบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่บางแห่งจัดระบบที่ส่วนต่างๆขององค์กรเชื่อมโยงสัมพันธ์ควบคุมซึ่งกันและกัน และดำเนินไปได้เอง จนกระทั่งประธานเจ้าหน้าที่มีเวลามาทำงานเพื่อสังคม (ประธานเจ้าหน้าที่บริษัทธุรกิจแบบนี้แหละที่มหาวิทยาลัยควรชวนมาช่วยงานมหาวิทยาลัย)
การบริหารมหาวิทยาลัยที่ควรจะเป็น คือ
(๑) การบริหารองคาพยพของมหาวิทยาลัย (๒) การบริหารนโยบาย
(๓) การบริหารพันธกิจ (๔) กลุ่มปฏิบัติการและเครือข่ายวิชาการ
เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์แล้วจะเข้าใจง่าย ว่ารถยนต์คือองคาพยพของมหาวิทยาลัย
(๑.)การบริหารองคาพยพของมหาวิทยาลัย ที่เรามักเรียกว่างานธุรการ แล้วไม่ค่อยให้ความสำคัญ ที่จริงสำคัญมาก ถ้าบริหารให้ทุกส่วนขององค์กรเชื่อมโยงกันอย่างถูกต้อง จะทำให้สามารถขับรถคันนี้ไปสู่เป้าหมาย ในการปฏิรูปการบริหาร







มหาวิทยาลัยจึงต้องให้ความสำคัญกับส่วนนี้ และสามารถเรียนรู้การจัดองค์กรในกองทัพได้มาก
(๒.)สภามหาวิทยาลัย ทำหน้าที่บริหารทิศทางนโยบายและเป้าหมาย ว่าต้องการให้รถมหาวิทยาลัยคันนี้ไปในทิศทางใดและทำภารกิจอะไร ตลอดจนติดตามสนับสนุนตรวจสอบให้ฝ่ายบริหารสามารถบรรลุพันธกิจได้
(๓.)ฝ่ายบริหารพันธกิจ ได้แก่ อธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน หัวหน้าภาควิชา คณาจารย์ นักวิชาการ บริหารพัธกิจตามทิศทางนโยบาย และเป้าหมายที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด โดยบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ต้องไปบริหารงานธุรการเพราะมีระบบบริหารองคาพยพที่เข้มแข็งตาม (๑) ช่วยดูแล
(๔.)กลุ่มปฏิบัติการและเครือข่ายวิชาการ ขณะนี้มีวิชาการใหม่ๆแยกย่อยออกไปมากมาย เหลือความสามารถของผู้บริหารเช่นคณบดี หรือหัวหน้าภาควิชาจะเข้าใจได้หมด โครงสร้างบริหารทางดิ่งอย่างเดียว คือ จากคณบดีลงไปถึงหัวหน้าภาควิชามีข้อจำกัดและก่อให้เกิดความขัดแย้ง คือความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้บริหารกับคณาจารย์ที่มีความรู้ความชำนาญในด้านต่างๆที่ผู้บริหารไม่มี ฉะนั้น








นอกเหนือไปจากโครงสร้างทางดิ่ง ควรมี โครงสร้างทางราบ ในมหาวิทยาลัยด้วย คือ กลุ่มปฏิบัติการ (Community of practice) กับเครือข่ายวิชาการ คือการรวมตัวของผู้ปฏิบัติในเรื่องเดียวกัน หรือเครือข่ายวิชาการในเรื่องเดียวกัน ข้ามภาควิชา ข้ามคณะ แม้ข้ามมหาวิทยาลัย เช่น
กลุ่มวิจัยและพัฒนาชุมชน
เครือข่ายปฏิรูปการเรียนรู้
เครือข่ายวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์
ฯลฯ
โปรดสังเกตว่าโครงสร้างทางดิ่งเน้นการควบคุมแยกส่วน แต่โครงสร้างทางราบเน้นการเชื่อมโยงข้ามภาควิชา ข้ามคณะ แม้ข้ามมหาวิทยาลัย เพื่อรวมกำลังกันทำงานให้สำเร็จในกลุ่มและเครือข่ายเขาจะพูดจากันรู้เรื่องมากกว่าพูดกับผู้บริหารหน่วยงานทางดิ่ง คณาจารย์และนักวิชาการในกลุ่มปฏิบัติการหรือเครือข่ายวิชาการจะมีความสุขมากกว่าอยู่ในโครงสร้างทางดิ่งอย่างเดียว เพราะมีอิสระที่จะคิดที่จะทำกับคนที่เข้าใจกัน ความขัดแย้งกับผู้บริหารและเรื่องสรรหาผู้บริหารจะลดลง
มหาวิทยาลัยควรส่งเสริมและรับรองฐานะของโครงสร้างทางราบในมหาวิทยาลัย โดยโครงสร้างทางราบสามารถได้รับการอุดหนุนงบประมาณและบริหารงบประมาณของตนเอง
๗.ขับเคลื่อนด้วยการสร้างวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมทุกระดับของมหาวิทยาลัย
การสร้างวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมทุกระดับของมหาวิทยาลัย คือ เครื่องมือที่ทรงพลังยิ่ง นั่นคือทั้งระดับสภามหาวิทยาลัย ฝ่ายบริหารระดับมหาวิทยาลัย คณะ สถาบัน วิทยาลัย ภาควิชา ทั้งหมดจะรวมพลังประดุจแสงเลเซอร์ที่จูนคลื่นเข้ามาหากัน เกิดเป็นลำแสงที่มีอำนาจทะลุทะลวง ยุทธศาสตร์การสร้างวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมทุกระดับ จึงเปรียบประดุจยุทธศาสตร์แสงเลเซอร์
ฉะนั้นทุกระดับของมหาวิทยาลัยควรสนใจเป็นพิเศษถึงกระบวนการสร้างวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วม ถ้าคณะวิชาและภาควิชา สามารถรวมคนทั้งคณะและทั้งภาควิชามาร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมของคณะและของภาควิชา จะเกิดพลังความสามัคคีและพลังทางปัญญาเป็นอย่างยิ่ง
อธิการบดี ต้องเป็นผู้นำในการสร้างวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมทั่วทั้งองค์กร อธิการบดีต้องเป็นนักสื่อสารที่ยิ่งใหญ่ (Great communicator) ที่สื่อสารอย่างทั่วถึงทั้งองค์กร
รองอธิการบดีไม่ควรไปทำหน้าที่คุมกองในสำนักงานอธิการบดี แต่พัฒนาไปเป็นนักบริหารยุทธศาสตร์ เพื่อให้ทั้งมหาวิทยาลัยร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนา
๘.วิสัยทัศน์โลก – วิสัยทัศน์ประเทศไทย – วิสัยทัศน์มหาวิทยาลัย
วิสัยทัศน์ไม่ใช่สิ่งที่คิดขึ้นเองอย่างแยกส่วนโดยปราศจากข้อมูลสภาพความเป็นจริง วิสัยทัศน์จะเกิดจากการรู้สภาพความเป็นจริงของโลกและความเป็นจริงของประเทศไทย ซึ่งเชื่อมโยงกัน วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยจึงต้องเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์โลกและวิสัยทัศน์ประเทศไทย ไม่ใช่เป็นวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยโดดๆ
สภามหาวิทยาลัยจึงควรมีกลไกให้ได้มาซึ่งวิสัยทัศน์โลก วิสัยทัศน์ประเทศไทยและวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัย
ในการสรรหากรรมการสภามหาวิทายาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิจึงควรมีความพิถีพิถันในการให้ได้มาซึ่งกรรมการที่มีวิสัยทัศน์ และมีความรู้ความชำนาญในด้านบริหารจัดการในด้านต่างๆ ที่จะช่วยงานของสภามหาวิทายาลัย
สภามหาวิทยาลัยควรตั้ง คณะกรรมการศึกษาอนาคตและวิสัยทัศน์ ประกอบด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง ผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัย รองอธิการบดีทั้งหมดและบุคคลอื่นที่มีความสามารถ ศึกษาสภาพความเป็นจริงของโลกและของประเทศไทยกับทิศทางที่กำลังดำเนินไป มาประกอบการสร้างวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัย กระบวนการนี้ควรทำอย่างต่อเนื่อง ถ้าทำได้ดีจะเป็นดุจประทีปทางปัญญาที่ส่องทางให้มหาวิทยาลัยพัฒนาศักยภาพเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ หรือถึงของมนุษย์ชาติด้วยก็ได้
สภามหาวิทยาลัยควรตั้งคณะกรรมการนโยบายการบริหารมหาวิทยาลัยโดยมีกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้เป็นประธานและกรรมการ กรรมการสภาประเภทอื่น ผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัย รองอธิการบดีทั้งหมด และบุคคลอื่นตามความจำเป็น เมื่อดำเนินงานไปคณะกรรมการนโยบายการบริหารมหาวิทยาลัยคณะนี้ จะพบว่าต้องมีคณะกรรมการนโยบายการบริหารมหาวิทยาลัยเฉพาะเรื่องที่แยกย่อยออกไป เช่น เกี่ยวกับการเงิน เกี่ยวกับบุคลากร ฯลฯ แต่ทั้งหมดจะเชื่อมโยงด้วยวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วม
๙.การพัฒนานโยบายแบบมีส่วนร่วม
การพัฒนานโยบายควรเป็นกระบวนการต่อเนื่องแบบมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
ข้อสำคัญอยู่ที่มีผู้ประสานงานที่มีความสามารถและทำงานเต็มเวลาซึ่งน่าจะเป็นผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัย กับรองอธิการบดีจำนวนหนึ่ง อาจมีอาจารย์หรือนักวิชาการที่มีฉันทะและความสามารถทางนี้จำนวนหนึ่งที่ขอตัวมาช่วยงานที่สำนักงานสภามหาวิทยาลัย โดยถือเป็นการทำงานทางวิชาการ ถ้ามีการหมุนเวียนกันเข้ามาทำหน้าที่แบบ fellowship โดยมีค่าตอบแทนตามสมควร จะเป็นการฝึกคนในมหาวิทยาลัยให้มีความสามารถในการพัฒนานโยบายเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีจำนวนมากพอ ทำให้มหาวิทยาลัยอยู่ในฐานะที่จะตั้ง สถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะ ซึ่งเป็นการทำงานทางปัญญาสูงสุดที่มีประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง รองอธิการบดีทั้งหมดควรเข้าร่วมในกระบวนการพัฒนานโยบาย เมื่อร่วมทำก็จะเข้าใจ และเมื่อเข้าใจแล้วก็อยู่ในฐานะที่จะบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อนำนโยบายไปสู่ความสำเร็จ
การพัฒนานโยบายทำได้หลายอย่างตามสภาพของเรื่องนั้นๆ เช่น
(๑.)สิ่งที่มีการพูดกันในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่ยังไม่มีรายละเอียดถึงขั้นปฏิบัติได้ เอาไปแสวงหาข้อมูล ระดมความคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ จนเกิดความชัดเจนถึงขั้นตัดสินใจได้ แล้วนำเสนอสภามหาวิทยาลัย
(๒.)สำนักงานสภามหาวิทยาลัย เปิดให้ทุกภาคส่วนในมหาวิทยาลัย เสนอข้อคิดเห็นเชิงนโยบาย อาจทำจดหมายข่าวนโยบาย (Policy Newsletter) รายปักษ์หรือรายเดือน ทั้งแบบสิ่งพิมพ์และออนไลน์ เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารเรื่องนโยบายโดยทั่วถึง ข้อเสนอที่ดีๆนำมาศึกษาเพิ่มเติมเช่นเดียวกับ (๑) แล้วนำเสนอสภามหาวิทยาลัย
(๓.)จัดให้มีเวทีนโยบาย (Policy Forum) เป็นประจำที่ผู้ที่สนใจเชิงนโยบายมาสนทนาแลกเปลี่ยนกัน จะเกิดความคิดดีๆที่สามารถเอาไปศึกษาเพิ่มเติมจนสังเคราะห์เป็นนโยบาย แล้วนำเสนอสภามหาวิทยาลัย
(๔.)ฝ่ายบริหารทั้งระดับมหาวิทยาลัย คณะ ภาควิชา สาขาวิชา กลุ่ม หรือ เครือข่าย นักวิชาการ หรือผู้ปฏิบัติงาน อาจเสนอนโยบายที่มีความสำคัญ ถ้าทำมาดีพร้อมที่จะเสนอสภามหาวิทยาลัยให้นำเสนอสภามหาวิทยาลัย ถ้าดีแต่ยังไม่พร้อมให้ทำแบบข้อ (๑) นโยบายไม่ว่าจะมาจากแหล่งใด เมื่อสภามหาวิทยาลัยมีมติให้ความเห็นชอบถือเป็นนโยบายของสภามหาวิทยาลัย
(๕.)บางเรื่องที่มีความสำคัญไม่ว่าจะปรากฏขึ้นมาทางใด แต่ยังขาดข้อมูลสถานภาพในเรื่องนั้น ควรขอให้ผู้ที่มีความเหมาะสม ทบทวนสถานภาพเรื่องนั้นพร้อมทั้งข้อเสนอแนะ (Situation Review and Recommendation) โดยมีค่าตอบแทนให้ผู้ที่ทำงานเช่นนี้ การมีการทบทวนสถานภาพและข้อเสนอแนะที่มีคุณภาพ จะช่วยให้ทุกฝ่ายเกิดความสว่างไสวและง่ายต่อการตัดสินใจ
กระบวนการพัฒนานโยบายนี้ เมื่อทำไปก็จะค้นพบวิธีใหม่ๆแปลกๆขึ้นมาเอง
กระบวนการนี้สามารทำได้ในทุกระดับของมหาวิทยาลัย และจะเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย การทำนโยบายไม่ได้กระทบกระเทือนความเป็นเลิศทางเทคนิค ตรงข้าม กระบวนการทำนโยบายจะทำให้ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆมีความสุขขึ้น เพราะทำให้เห็นทะลุปุโปร่งว่าสิ่งที่ตนชำนาญจะไปเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งมวลได้อย่างไร และจะกระตุ้นให้ต้องทำวิจัยและพัฒนามากขึ้น หลายๆกรณีจะต้องย้อนกลับไปวิจัยความรู้ขั้นพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ในการที่จะพัฒนานโยบายไปสู่ความสำเร็จ ความสว่างไสวทางปัญญาและความที่จะเกิดประโยชน์ต่อคนทั้งมวลเมื่อมีนโยบายที่ดี จะก่อให้เกิดความปีติอิ่มอกอิ่มใจ แก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทีเดียว
กระบวนการพัฒนานโยบายของมหาวิทยาลัยจึงสำคัญยิ่งนัก ควบคู่ไปกับการบริหารเชิงยุทธศาสตร์
๑๐. กุญแจอยู่ที่กระบวนการพัฒนานโยบายกับการบริหารเชิงยุทธศาสตร์
ที่กล่าวมาข้างต้นว่ามหาวิทยาลัยมีทรัพยากรมหาศาล ถ้ามหาวิทยาลัยสามารถปฏิรูปแนวคิดและปฏิรูปการบริหารจัดการ จะสามารถใช้ทรัพยากรอันมหาศาลให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างเต็มที่
ที่กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษา และการปรับจากการเอาเทคนิคเป็นตัวตั้งไปเป็นเอาระบบและความต้องการของสังคมเป็นตัวตั้งนั้น ดูจะยากเต็มทน เพราะเป็นการปรับใหญ่
แต่กุญแจอยู่ที่ ๒ อย่าง คือ กระบวนการพัฒนานโยบายดังกล่าวแล้วในข้อ ๙ กับ การบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ถ้าทำ ๒ อย่างนี้ ความสำเร็จจะเกิดขึ้นเป็นลำดับๆไป เรื่องที่ว่ายากก็จะกลายเป็นง่ายและจะพบว่ามหาวิทยาลัยมีศักยภาพมากกว่าที่คิด
การบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ต่างจากการบริหารไปตามโครงสร้าง คือ ของคณะ ภาควิชา และสาขาวิชา เมื่อมีนโยบายอะไรหรือแม้แต่สิ่งที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ถ้าปล่อยให้เดินไปตามโครงสร้างตามปรกติก็มักจะไม่เกิดการปฏิบัติตามนโยบายหรือยุทธศาสตร์
นโยบายและยุทธศาสตร์เป็นเรื่องที่ข้ามโครงสร้าง
แต่โครงสร้างของการบริหารแยกย่อยเป็นเรื่องๆ และแต่ละส่วนมีภารกิจ ยุ่งและคุ้นเคยกับการทำงานของตนๆไปอย่างเคย
เพราะฉะนั้นนโยบายที่ออกมาจากระดับสูงไม่ว่าจะเป็น ครม. หรือกระทรวง หรือมหาวิทยาลัย ถ้าลงไปตามโครงสร้างการบริหารตามปรกติ มักจะไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องการการบริหารเชิงยุทธศาสตร์
ต้องมีนักบริหารเชิงยุทธศาสตร์ที่ทำงานเต็มเวลา โดย
(๑.)สร้างวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมทุกระดับให้เป็นไปตามนโยบาย คือระดับสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย คณะ ภาควิชา สาขาวิชา บุคลากรทั้งหมด การสร้างความเข้าใจให้ตรงกันหมดทั่วทั้งองค์กรเป็นงานที่ใหญ่มากแต่สำคัญยิ่ง จึงต้องการผู้บริหารยุทธศาสตร์ที่ทำงานเต็มเวลา
(๒.)คอยดูแลช่วยให้หน่วยปฏิบัติทุกระดับทำแผนปฏิบัติ (Plan of action) ตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วม
(๓.) มีการติดตามช่วยเหลือแก้ไขข้อติดขัดของผู้ปฏิบัติ ข้อติดขัดของผู้ปฏิบัติมีได้สารพัด เช่น ยังขาดความเข้าใจที่ตรงกัน ติดขัดในข้อกฎระเบียบ ติดขัดในการยังขาดวิชาการ ติดขัดในเรื่องการขาดทรัพยากรผู้บริหารเชิงยุทธศาสตร์ต้องช่วยแก้ไขข้อติดขัดประการต่างๆ บางครั้งต้องย้อนกลับมาที่สภามหาวิทยาลัยเพื่อมีนโยบายเพิ่มเติมให้ปฏิบัติได้
(๔.) ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายนโยบาย ฝ่ายบริหาร ฝ่ายปฏิบัติ บางครั้งต้องเลยไปถึงสังคมด้วย การที่สังคมร่วมเรียนรู้ร่วมชื่นชมมีความสำคัญยิ่ง เพราะฉะนั้นผู้บริหารยุทธศาสตร์ต้องสื่อสารกับสังคมด้วย
(๕.)จัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติ และนำมาสู่การปรับตัว อาจจะปรับนโยบาย ปรับการบริหาร ปรับการปฏิบัติ ให้ในรอบต่อไปได้ผลดียิ่งขึ้นเรื่อยๆไป
การบริหารเชิงยุทธศาสตร์อาจมีอย่างอื่นๆอีกตามความจำเป็น แต่โดยสรุป คือการบริหารจัดการก้าวข้าม (Transcend) ข้อจำกัดทุกชนิด ไปสู่ความสำเร็จ
ต้องมีนักบริหารยุทธศาสตร์ที่ทำงานเต็มเวลาจึงจะสำเร็จ ถ้ามีแต่คนทำงานบางเวลา (once in a while) จะไม่สำเร็จ เรื่องอะไรจะประสบความสำเร็จต้องมีนักบริหารจัดการชนิดนี้อย่างน้อย ๑ คน ซึ่งบางทีก็เรียกกันว่าเป็น champion ในเรื่องนั้นๆ
ถ้ารองอธิการบดีทั้งหมดทำงานในกระบวนการพัฒนานโยบายและบริหารเชิงยุทธศาสตร์จะเป็นเรื่องที่ดี มากการมีคนอื่นๆอีกที่เข้ามาร่วมทำงานพัฒนานโยบายและบริหารยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่องจะเป็นการสร้างผู้นำให้มหาวิทยาลัยอย่างสำคัญ ซึ่งควรจะมีทั้งคนรุ่นอาวุโส รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ ทำงานร่วมกัน มหาวิทยาลัยก็จะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ และสามารถทำเรื่องสำคัญๆที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้
ถ้าทำตามนี้ทุกมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจะเป็นหัวรถจักรทางปัญญา พาชาติออกจากวิกฤต

ประเวศ วะสี
๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
ดูรูปประกอบบทความได้ ที่นี่



</span></u>

หมายเลขบันทึก: 582640เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2014 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2014 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท