นักศึกษาของหลักสูตร ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาผู้ประกอบการสังคม ควรเรียนอย่างไร


เป้าหมายในการเขียนบันทึกนี้คือ ช่วยกันหาทางส่งเสริมให้นักศึกษามีวิธีเรียนที่ถูกต้อง และบรรลุผลสัมฤทธิ์ที่ตั้งไว้


วันอาทิตย์ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ผมไปเยี่ยมชื่นชมกิจกรรมของ มหาวิชชาลัยชุมชนปฐมนคร ที่กำแพงแสน ซึ่งเป็นศูนย์การศึกษาหนึ่ง ของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาผู้ประกอบการสังคม ของสถาบันอาศรมศิลป์

ผมเดาจากการไปเยี่ยมศูนย์นนทบุรี ตาม บันทึกนี้ ว่าคณะผู้จัดการประชุมคงจะจัดนิทรรศการผลงาน/โครงการ ตั้งแต่เช้า ผมจึงเตรียมไปถึงสถานที่นัดประชุม คือศูนย์ฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ ที่สวนแสนปาล์ม กำแพงแสน ก่อนเวลา ๘.๓๐ น. โดยที่ทีมอาศรมศิลป์บอกว่าจะไปถึงเวลา ๑๑.๐๐ น. เขาเชิญกรรมการสภาสถาบันไปร่วมด้วย เอาเข้าจริงมีกรรมการสภาฯ ไปคนเดียวคือผม และไปเยี่ยมชื่นชมผลงานและโปสเตอร์โครงการตั้งแต่เวลา ๘.๓๐ น. ถึงกระนั้น ก็ยังไปฟังการนำเสนอได้ไม่ทั่ว

และที่สำคัญ ไม่สามารถไปเยี่ยมกิจกรรมโครงงานที่บ้านของนักศึกษา ตามที่กำหนดไว้ได้ เพราะผมต้องกลับเวลา ๑๔.๐๐ น. เพื่อให้ไปถึงบ้านเวลา ๑๖.๐๐ น. เพื่อเตรียมตัวควงสาวน้อย ไปงานแต่งงานของ ดร. แป้ง และคุณพจน์ ที่โรงแรม พลาซ่า แอทธินี

ผมได้บันทึกความเห็นเรื่องบทบาทของศิลปาจารย์ของหลักสูตรนี้ไว้ ที่นี่ บัดนี้ ขอเสนอความเห็นเรื่องบทบาทของนักศึกษาในหลักสูตรนี้ ว่าควร/ไม่ควร ทำอะไร เพื่อพัฒนาสมรรถนะ (Competencies) ของตนเอง เพื่อพิสูจน์ตนว่ามีคุณสมบัติเพียงพอที่คณะกรรมการหลักสูตรฯ จะเสนอต่อสภาสถาบันอาศรมศิลป์ ให้ประสิทธิ์ประสาทปริญญาแก่ตนได้

พิจารณาจาก การไปเยี่ยมศูนย์นนทบุรี ที่โรงเรียนวัดโบสถ์บน เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๗ และไปเยี่ยมศูนย์นครปฐมที่กำแพงแสน ผมตีความว่านักศึกษาในหลักสูตรนี้ประมาณครึ่งหนึ่งเข้มแข็งด้าน ความรู้ปฏิบัติ (Tacit Knowledge) แต่ยังไม่เข้มแข็งด้าน ความรู้ทฤษฎี (Explicit Knowledge) ดังนั้น นักศึกษาควรฝึกปฏิบัติ จัดการความรู้ (Knowledge Management) คือฝึกเอาความรู้ปฏิบัติไปอธิบายความรู้ทฤษฎี

โดยฝึกอธิบายความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติโครงงานประกอบการสังคม/ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม โดยที่คำอธิบายต้องไม่ใช่แค่บอกว่าทำอะไร (what) อย่างไร (how) ต้องอธิบายเหตุผลว่าทำไม (why) จึงเกิดผลเช่นนั้น โดยอ้างอิงความรู้เชิงทฤษฎี และมีข้อมูล (ทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ) สนับสนุน

นั่นคือ นักศึกษาต้องฝึก reflective learning โดยเขียนบันทึกสะท้อนความคิดของตนจากการปฏิบัติ หากเขียนทุกวันหรือเกือบทุกวันก็จะเป็นการฝึกฝนที่ดีมาก เขียนลงไปใน social media ของนักศึกษาและศิลปาจารย์ในกลุ่มเดียวกัน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปในตัว

การเขียนนี้ต้องไม่เขียนเปะปะตามใจ แต่เขียนตอบคำถามที่ศิลปาจารย์ตั้งขึ้น เพื่อให้นักศึกษาได้สะท้อนคิดกลับทาง จากสัมผัสที่ได้จากการปฏิบัติ ย้อนกลับไปทำความเข้าใจทฤษฎี

ดังนั้น ศิลปาจารย์ต้องฝึกตั้งคำถาม เพื่อเอื้ออำนวยให้ศิษย์ได้เรียนทฤษฎีจากการปฏิบัติ ผมได้เขียนบันทึกเทคนิคการตั้งคำถามไว้ ที่นี่ ที่อาจใช้เป็นแนวทางได้บ้าง โดยศิลปาจารย์ต้องเน้นคำถามที่ชักจูงให้นักศึกษาไตร่ตรองทำความเข้าใจทฤษฎีจากการปฏิบัติ

เมื่อนักศึกษาเขียนสะท้อนความคิด อธิบายความรู้ทฤษฎีจากประสบการณ์ของการปฏิบัติของตน เขียนเข้าไปใน social media เพื่อนๆ ก็จะได้อ่านด้วย และอาจช่วยตั้งคำถาม หรือแลกเปลี่ยนการตีความ ทำให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกขึ้น มีการมองหลายมุม ทำให้ความรู้ความเข้าใจแตกฉาน

ที่สำคัญ ศิลปาจารย์ต้องหมั่นเข้าไปอ่าน และตั้งคำถามเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ให้ลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น โดยต้องไม่ลืมว่า ต้องการเน้นการเรียนทฤษฎีจากการปฏิบัติ

ดังนั้น ผู้บริหารหลักสูตรนี้ต้องจัดระบบ ICT ให้นักศึกษาและศิลปาจารย์ในกลุ่ม สามารถเขียนบันทึกของตน อ่านบันทึกของเพื่อน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และศิลปาจารย์เข้าไปอ่าน ตั้งคำถามกระตุ้น และประเมิน ว่านักศึกษาคนใดที่มีผลการเรียนรู้ในระดับที่ลึกและเชื่อมโยงถึงขนาด นักศึกษาคนใดยังอ่อนแอ ศิลปาจารย์ก็จะนำมาปรึกษาหารือ หาวิธีออกแบบการเรียนรู้เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้นักศึกษาได้ปรับวิธีเรียนของตน เพื่อพัฒนาทักษะในการเขียนปัญญานิพนธ์ ที่แสดงความมี "ปัญญา" ในระดับที่ยอมรับได้ หรือที่เรียกว่าได้มาตรฐานขั้นต่ำ

วิธีการที่เสนอ จะเป็นเครื่องมือให้ศิลปาจารย์ได้ทำหน้าที่ "ประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนรู้" ตามที่ผมได้เขียนบันทึกไว้ ที่นี่

จากการไปเยี่ยม ๒ ศูนย์การเรียนของหลักสูตรนี้ และผู้จัดการหลักสูตร ผู้อำนวยการศูนย์ และนักศึกษา พร้อมใจกันจัดนิทรรศการ แสดงตัวกิจกรรมประกอบการสังคม ทั้งสองครั้ง ทำให้ผมเดาว่า อาจมีความเข้าใจผิดแฝงอยู่ (แต่อาจเป็นไปได้ว่า ผมอาจเข้าใจผิดเอง)

หัวใจสำคัญที่สุดของ "การเรียน" (ตามความเชื่อของผม ซึ่งอาจผิด) คือ การมุ่งปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมการเรียนรู้ส่วนที่ตนยังอ่อน ไม่ใช่การเอาส่วนที่ตนทำได้ดีแล้วไปอวดใครต่อใคร ซึ่งหากความเข้าใจส่วนนี้ของผมถูกต้อง วงการศึกษาไทยก็ทำผิดกันอยู่ตลอดเวลา และการที่ผู้เกี่ยวข้องกับหลักสูตรผู้ประกอบการสังคมจัดนิทรรศการแสดงผลงานให้กรรมการสภาสถาบันชม ก็สะท้อนว่าผู้เกี่ยวข้องกับหลักสูตรนี้ หลงตกหลุมพรางนี้ด้วย

นิทรรศการที่ผมอยากเห็น คือนิทรรศการแสดงความพยายามแก้ไขปรับปรุง และเพิ่มเติมการเรียนรู้ส่วนที่ตนยังอ่อน ซึ่งเห็นร่วมกันแล้วว่า คือส่วนของการนำความรู้ปฏิบัติไปตีความ เชื่อมโยงหรืออธิบายความรู้ทฤษฎี แสดงนิทรรศการให้เห็นว่า เหล่านักศึกษาและศิลปาจารย์กำลังมุ่งมั่นดำเนินการเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เพื่อให้บรรลุสมรรถนะ (competencies) ที่กำหนดไว้อย่างไร

ผมอยากเห็นนิทรรศการ ที่แสดงวิธีเรียนที่สอดคล้องกับ หลักการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ (adult learning) ซึ่งประกอบด้วย ๔ ส่วน ตามใน บันทึกนี้ และใน รูปนี้

ผมขออภัยที่แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา และไม่ยืนยันว่าข้อคิดเห็นนี้จะถูกต้อง เสนอมาเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเอาไปคิดไตร่ตรอง และหาทางปรับปรุงการเรียนรู้ของนักศึกษาในหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม

เป้าหมายในการเขียนบันทึกนี้คือ ช่วยกันหาทางส่งเสริมให้นักศึกษามีวิธีเรียนที่ถูกต้อง และบรรลุผลสัมฤทธิ์ที่ตั้งไว้

ที่จริง นิทรรศการที่ผมไปเห็น ก็แสดงว่านักศึกษาได้ฝึกทำ mindmap กิจกรรมของตนออกมาเป็นผังความคิด ซึ่งเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง แต่ยังไม่เป็นการเรียนรู้ที่ลึกและเชื่อมโยงไปสู่ความรู้เชิงทฤษฎี



นศ. และศิลปาจารย์ กับผลงานยาขัดรองเท้า


Mindmap ครีมขัดรองเท้า


Mindmap ของ นศ. อีกคนหนึ่ง


โครงงานที่ดี แต่ไม่เห็นการยกระดับความรู้


ขนมอร่อย แต่ไม่เห็นการยกระดับความรู้


นำเสนอ PBL อย่างไรจึงจะเห็น ความรู้เชิงทฤษฎี


แนะนำ นศ. จากศูนย์ต่างๆ


คณาจารย์จากสถาบันอาศรมศิลป์


รศ. ดร. ชัชรี นฤทุม ผอ. มหาวิชชาลัยปฐมนคร


ถ่ายรูปหมู่JPG








วิจารณ์ พานิช

๒๑ พ.ย. ๕๗



หมายเลขบันทึก: 581987เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2014 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2014 11:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมขออนุญาตเสริมว่า ClassStart.org มีระบบ "บันทึกการเรียนรู้" สำหรับชั้นเรียนไว้เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนแบบ reflective learning ด้วยครับ ความสามารถของระบบตรงกับที่อาจารย์หมอวิจารณ์เขียนในบันทึกนี้โดยส่วนใหญ่ครับ

ทีมพัฒนาเห็นความสำคัญของ reflective learning และอยากสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนในรูปแบบนี้กันมากขึ้นในประเทศไทยของเราครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท