​AAR การประชุมหารือแนวทางพัฒนาศิลปาจารย์ : ศิลปาจารย์ทำและไม่ทำอะไร



ในการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาศิลปาจารย์ ใน หลักสูตร ศศ.บ. สาขาผู้ประกอบการสังคมของสถาบันอาศรมศิลป์ บ่ายวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๗ ผมได้เรียนรู้มากจริงๆ

นักศึกษาในหลักสูตรนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในการประกอบสัมมาชีพและการดำรงชีวิต หลักสูตรกำหนดให้ต้องมีผลงานของธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งสบายมาก นักศึกษาส่วนหนึ่งทำอยู่แล้วโดยหลักสูตรตั้งความหวังว่า การทำงานเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมนี่แหละ จะเป็นเครื่องมือให้เกิดการเรียนรู้ นักศึกษาได้เพิ่มพูนความรู้จากการปฏิบัติ จนมีความรู้เพียงพอสำหรับสภาสถาบันอาศรมศิลป์จะอนุมัติปริญญา (ตรี) ให้

ความท้าทายอยู่ตรงนี้แหละครับ ทำอย่างไร การปฏิบัติงานเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม จะนำไปสู่การเรียนรู้ ความรู้เชิงทฤษฎีตามรายวิชาที่ระบุไว้ในหลักสูตร ที่สภาสถาบันอาศรมศิลป์ และ สกอ. อนุมัติ ซึ่งประกอบด้วย ๓ กลุ่มวิชาคือ (๑) กลุ่มวิชาเพื่อการพัฒนาตนเองตามแนวทางมงคลชีวิต จิตปัญญาสิกขา และการพัฒนาสุขภาวะแบบองค์รวม (๒) กลุ่มวิชาฝึกปฏิบัติการเป็นผู้ประกอบการสังคม และ (๓) กลุ่มวิชาว่าด้วยองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการสังคม

กลุ่มที่ ๓ มี ๖ โมดูลคือ (๑) การวิเคราะห์ชุมชนและทุนทางสังคม (๒) ความรู้และทักษะการเป็นผู้ประกอบการสังคม (๓) การจัดทำแผนพัฒนาชุมชนเพื่อการประกอบการสังคม (๔) ระบบสังคมและโลกาภิวัตน์ (๕) นวัตกรรมการสื่อสาร เพื่อการเปลี่ยนแปลง (๖) นวัตกรรมการจัดการความรู้เพื่อการประกอบการสังคมที่ยั่งยืน

ผมชี้ให้ที่ประชุมตระหนักในธรรมชาติของการเรียนรู้ในหลักสูตรนี้ ที่สวนทางกับการเรียนรู้ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป การเรียนรู้โดยทั่วไปเริ่มจากการเรียนทฤษฎี เมื่อเข้าใจดีแล้วจึงนำไปใช้หรือปฏิบัติ ส่วนในหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม การเรียนรู้เริ่มจากการปฏิบัตินักศึกษามีความรู้ปฏิบัติอยู่แล้ว ต้องการโยงไปทำความเข้าใจความรู้เชิงทฤษฎี ตามที่ระบุไว้ ในรายวิชาต่างๆ ในหลักสูตรการศึกษาแบบนี้ผมให้ชื่อว่า การศึกษาแนวสวนกระแส และได้บันทึกความเห็นไว้ ที่นี่

ศิลปาจารย์ต้องทำอะไร และไม่ทำอะไร เพื่อช่วยให้นักศึกษา "ถึงฝั่ง" คือสามารถโยงความรู้ปฏิบัติไปสู่ความรู้เชิงหลักการ หรือทฤษฎี ได้

เราคุยกันว่า ศิลปาจารย์ต้องทำความเข้าใจเป้าหมายการเรียนรู้ของนักศึกษา มีทักษะในการชวนนักศึกษาตั้งเป้าหมาย การเรียนรู้ ให้ชัดเจน ทั้งศิลปาจารย์และนักศึกษาต้องรู้วิธีวัดหรือประเมินผลการเรียนรู้ ตามที่ตั้งเป้าไว้ รู้ว่า "เกณฑ์บอกระดับ การเรียนรู้" เป็นอย่างไร คือรู้จักแยกแยะผลงานการเรียนรู้ขั้นดีมาก ดี พอใช้ และตกหรือยังใช้ไม่ได้

ทั้งศิลปาจารย์และนักศึกษา ต้องรู้จักวิธีฝึกฝน ให้ผลการเรียนรู้พัฒนาขึ้นไปอยู่ในขั้น "ดี" โดยศิลปาจารย์ ต้องรู้วิธีออกแบบกระบวนการฝึกฝน มีทักษะในการประเมินทักษะและความรู้ของนักศึกษา ทั้งจากการนำเสนอด้วยวาจา และจากการนำเสนอด้วยการเขียน รวมทั้งมีทักษะในการให้คำแนะนำป้อนกลับแบบสร้างสรรค์ (constructive feedback) แก่นักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาเกิดกำลังใจ มุมานะในการเรียน

ตามที่ตกลงกันไว้ เวลาเรียนโดยการมาพบปะกัน และมีศิลปาจารย์ช่วยเหลือ มีเพียงสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละเพียง ๒ - ๔ ชั่วโมง จึงต้องใช้เวลาช่วงนี้ให้เกิดคุณค่าสูงสุด ผมตีความว่า เป็นช่วงเวลา "ลับเครื่องมือให้คม" สำหรับนักศึกษาเอาไปใช้ฝึกฝน ตนเอง

"เครื่องมือ" คือ ทักษะการเรียนรู้

"เวลาเรียน" ส่วนใหญ่ของนักศึกษา จึงเป็นการเรียนด้วยตนเอง หรือที่เรียกว่า "self study" ที่จะต้องมีทั้ง Learning by Doing (ภาวนามยปัญญา) และ Learning by Reflecting (จินตมยปัญญา) โดยที่ตอน Learning by Reflecting นั้น ต้องเอาทฤษฎีมาเป็นตัวสะท้อนคิดด้วย (สุตมยปัญญา)

เวลาเรียนในห้องเรียน ที่มาพบกัน และมีศิลปาจารย์ทำหน้าที่โค้ช จึงน่าจะเน้นที่การเตรียมความพร้อม และยกระดับ พัฒนาการของวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง และเรียนรู้ร่วมกัน (Team Learning) ในหมู่นักศึกษา โดยที่นักศึกษาจัดกันเอง โค้ชกันเอง

ศิลปาจารย์ ทำหน้าที่ โค้ช ฝึกวิธีการเรียนรู้ ให้แก่นักศึกษา ให้นักศึกษาบรรลุการเรียนรู้ในระดับ Mastery Learning ด้วยตนเอง และช่วยเหลือกันเอง

ในที่ประชุม มีการพูดกันว่า หน้าที่ในการเป็นโค้ช เน้นการตั้งคำถาม มากกว่าการให้คำตอบ/ให้คำแนะนำ ศิลปาจารย์ต้องฝึกทักษะในการตั้งคำถาม ที่ช่วยให้นักศึกษา "เอ๊ะ" และ "อ๋อ" เอง ไม่ใช่ทำหน้าที่บอกคำตอบสำเร็จรูป รวมทั้งช่วยส่งเสริม/เชียร์ ให้นักศึกษา "อ๋อ" หลายๆ แบบ คือหนึ่งคำถามมีหลายคำตอบ โดยมีคำอธิบายหรือเหตุผล และข้อมูลหลักฐานสนับสนุน

ในที่ประชุม มีการพูดกันถึงการโค้ช เพื่อให้โครงการธุรกิจเพื่อสังคมประสบผลสำเร็จ ผมได้ชี้ให้เห็นว่า นั่นไม่ใช่หน้าที่หลักของศิลปาจารย์ เพราะนักศึกษาในหลักสูตรส่วนใหญ่ทำโครงการได้รับผลสำเร็จอยู่แล้ว หน้าที่หลักของศิลปาจารย์คือ โค้ชความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ปฏิบัติ ที่ได้จากการทำโครงการธุรกิจเพื่อสังคม กับความรู้เชิงทฤษฎีที่มีอยู่แล้วในตำรา ให้นักศึกษามีทักษะในการนำความรู้ทฤษฎีมาอธิบายความสำเร็จ หรือ ความล้มเหลวของโครงการได้

ย้ำว่า หน้าที่หลักของศิลปาจารย์ คือ โค้ชให้นักศึกษาฝึกเชื่อมโยงความรู้ปฏิบัติ เข้ากับความรู้ทฤษฎี หรือที่ ดร. เอนก นาคะบุตร ใช้คำว่า "สะกัดความรู้" จากการปฏิบัติได้ ท่านอธิบายว่า ฐานการเรียนรู้ของนักศึกษาในหลักสูตรอยู่ที่การปฏิบัติ ดังนั้น ศิลปาจารย์ต้องช่วย โค้ช วิธีสะกัดความรู้จากการปฏิบัติให้ได้ ซึ่งผมอธิบายว่า กระบวนการดังกล่าว เป็นการอธิบายตอบคำถาม "why" ไม่ใช่คำถาม "what" และ "how" ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ

ในที่ประชุม มีการพูดกันว่า ต้องการให้บัณฑิตมีสมรรถนะอะไรก็ตาม ศิลปาจารย์ต้องฝึกฝนตนให้มีสมรรถนะ เหล่านั้นด้วย โดยเฉพาะด้านการจัดการ และการเคลื่อนไหวสังคม รวมทั้งต้องแม่นทฤษฎี ในรายวิชาที่ตนทำหน้าที่ศิลปาจารย์

ผมกลับมา AAR ที่บ้าน ว่านักศึกษาในหลักสูตรนี้ น่าจะแบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ

๑.กลุ่มผู้ใหญ่ที่มีงานทำ และทำธุรกิจเพื่อสังคมอยู่แล้ว กลุ่มนี้ตรงกับข้อวิเคราะห์ข้างบนมากที่สุด

๒.กลุ่มผู้ใหญ่ที่มีงานทำเป็นหลักเป็นฐานแล้ว แต่ยังไม่มีธุรกิจเพื่อสังคม กลุ่มนี้จะต้องทำงาน ๒ เท่าของกลุ่มแรก คือต้องคิดและดำเนินการธุรกิจเพื่อสังคมด้วย และสะกัดความรู้จากกิจกรรมธุรกิจด้วย

๓.กลุ่มที่ยังเป็นเยาวชน ยังไม่ได้ตั้งตัวในการประกอบสัมมาชีพ หรือยังเพิ่งตั้งตัว กลุ่มนี้ต้องทำงานสองเท่า แบบกลุ่มที่สอง และมีจุดอ่อนและจุดแข็งเพิ่มจาก ๒ กลุ่มแรก คือยังขาดประสบการณ์ในการทำงาน แต่ในขณะเดียวกัน การขาดประสบการณ์อาจมีข้อดีในแง่ที่สามารถมองเห็นลู่ทางใหม่ๆ ในการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม รวมทั้งน่าจะยังมีพื้นความรู้ระดับ ม. ๖ หรืออาชีวศึกษา ที่ยังสดอยู่ สามารถนำมาใช้ประกอบการ "สะกัดความรู้" จากการปฏิบัติได้ง่ายขึ้น


ศิลปาจารย์ น่าจะมีทักษะในการทำให้นักศึกษา ๓ กลุ่มนี้ ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ (synergy) ซึ่งกันและกัน โดยกลุ่มที่ ๓ น่าจะช่วยฝึกกลุ่มที่ ๑ และ ๒ ให้มีความรู้และทักษะด้าน ไอที ให้มีเครื่องมือค้นคว้าจาก อินเทอร์เน็ต ง่ายขึ้น และใช้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ในหมู่นักศึกษาสะดวกขึ้นด้วย รวมทั้งอาจตั้งคำถามแบบผู้อ่อนเยาว์ ให้นักศึกษากลุ่มที่ ๑ และ ๒ ได้ "เอ๊ะ" และ "อ๋อ" ในเรื่องที่มองข้ามไปหลายเรื่อง

โดยสรุป ผมคิดว่าศิลปาจารย์ต้องมีทักษะการทำหน้าที่โค้ช เพื่อฝึกทักษะการเรียนรู้แบบเชื่อมโยงความรู้ปฏิบัติ กับความรู้ ทฤษฎี ให้แก่นักศึกษา ให้นักศึกษาเรียนรู้ในระดับ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินผล ได้ เขียนรายงานการทำ กิจกรรมธุรกิจเพื่อสังคม ในลักษณะที่ไม่ใช่แค่รายงานเชิงบรรยาย (descriptive) แต่เขียนได้ลึกในระดับ วิเคราะห์ (analytic) สังเคราะห์ (synthetic) และประเมินผล (evaluative) ได้

ศิลปาจารย์ ต้องมีทักษะในการโค้ช ให้นักศึกษาเกิดทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเอง และในการเรียนรู้เป็นทีม ร่วมกับ เพื่อนนักศึกษา เนื่องจากเวลาเรียนที่ไปรวมตัวพบปะกับศิลปาจารย์ ซึ่งมีเวลาน้อยมาก เมื่อเทียบกับนักศึกษาในหลักสูตร ปริญญาตรีตามปกติ

ศิลปาจารย์ ต้องมีทักษะในการ ประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้ (Formative Assessment) ของนักศึกษา และมีทักษะในการนำผลการประเมิน มาให้คำแนะนำป้อนกลับเชิงสร้างสรรค์ (Constructive Feedback) แก่นักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาปรับตัวในการเรียนรู้ เพื่อบรรลุการเรียนรู้ในระดับดี (ถึงขั้นวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมิน ไม่ใช่อยู่แค่รู้ และ เข้าใจ)

นอกจากนั้น ศิลปาจารย์ต้องมีทักษะในการโค้ชให้นักศึกษามีทักษะในการประเมินการเรียนรู้ของตนเอง (self-assessment) และแก่เพื่อนนักศึกษา (peer assessment) และให้คำแนะนำป้อนกลับแก่ตนเอง (self feedback) และแก่เพื่อนนักศึกษา (peer feedback) ได้


วิจารณ์ พานิช

๑ ต.ค. ๕๗


หมายเลขบันทึก: 580228เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2014 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2014 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท