ชีวิตที่พอเพียง : 2255. เยี่ยมชมหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม


          วันอาทิตย์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผมไปเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้ของหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม สถาบันอาศรมศิลป์ ที่โรงเรียนวัดโบสถ์บน  อ. บางกรวย  จ. นนทบุรี ซึ่งไปทางถนนนครอินทร์

          กว่าจะไปถึงผมก็หลงทางไปหลายตลบตามธรรมเนียมต้องถามทางหลายครั้งคนตอบมีทั้งตอบถูก และตอบผิดบริเวณนี้เป็นชุมชนที่มีมาแต่โบราณ มีวัดอยู่ติดๆ กัน วัดโบสถ์บนอยู่ริมแม่น้ำอ้อม หรือคลองบางกอกน้อย ที่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ที่เวลานี้แคบลงไปมากสองฝั่งคลองมีบ้านเรือนเต็ม

          ผมไปเห็นนักศึกษาของศูนย์วัดโบสถ์นนทบุรี ๑๑ คน (จากจำนวนทั้งหมด ๓๐ คน) มาเล่าเรื่องการ ไปเรียนรู้กิจการของผู้ประกอบการเพื่อสังคมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักศึกษาของศูนย์วัดโบสถ์ ของจังหวัด ปทุมธานี จำนวนสิบกว่าคนมีศิลปาจารย์เกือบสิบคน และผู้อำนวยการหลักสูตรของสถาบันอาศรมศิลป์ คือ ดร. ศักดิ์ ประสานดี ไปร่วมเยี่ยมชื่นชมด้วย

          ความท้าทายของหลักสูตรการเรียนรู้ของผู้ใหญ่แบบนี้ คือเรียนเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์และเรียนจาก การปฏิบัติ จะได้ความรู้ตามมาตรฐานของหลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือไม่ ผมไปเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้นี้ ก็เพื่อไปสัมผัสสภาพจริงของสถานที่ และกิจกรรมเพื่อตอบคำถามนี้

          ได้ไปเห็นว่า กิจกรรมของหลักสูตรนี้เข้าใช้ (ยึดครอง?) อาคารหนึ่งของโรงเรียนทั้งอาคารเพราะทาง โรงเรียนไม่ได้ใช้ แต่ก็เห็นมีการสร้างอาคารใหม่อีกหลังหนึ่ง

          ที่ชั้นสองของอาคารมีกิจกรรมการสอนเสียดายที่ผมไม่ได้ขอเข้าไปนั่งสังเกตการณ์สักครู่เพราะเขา มาเชิญขึ้นไปชั้นสามทันทีสถานที่กว้างขวาง เป็นชั้นโล่งนักศึกษากำลังนำเสนอผลงานการไปเรียนรู้กิจกรรม การประกอบการทางสังคม ให้เพื่อนนักศึกษาฟังผมฟังไม่ค่อยได้ยินนัก เพราะไปนั่งด้านหลัง

          มีโปสเตอร์แสดง Mind Map ของผลงานค้นคว้า ศึกษากิจการธุรกิจที่เป็นการประกอบการทางสังคม (Social Enterprise) ของหลายกิจการผมไม่มีเวลาซักถามรายละเอียด แต่ได้ถ่ายรูปเอามาศึกษาต่อที่บ้านทาง “นักศึกษา” คือคุณชาญณรงค์ พูนพาณิชย์ (อายุ ๖๐ ปี เป็นมุสลิม) เข้ามาอธิบายเรื่องของขนมจีน พศช. ที่ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕มีตลาดกว้างขวางมาก โปรดอ่านรายละเอียดจากรูปที่ ๓ นอกจากนั้น ยังมี Mind Map ผู้ประกอบการชุมชนวัดสวนแก้วผู้ประกอบการชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม บ้านบางนายไกรหมู่ ๔ ต. บางขุนกองอ. บางกรวบจ. นนทบุรี เป็นต้น

          ผมตั้งคำถามกับตนเองว่า ศิลปาจารย์ของศูนย์การศึกษามีหลักการ และทักษะในการประเมิน และ feedback ให้นักศึกษาได้ปรับปรุงพัฒนาตนเอง จากการทำงานชิ้นนี้อย่างไรบ้าง ผู้บริหารหลักสูตรมีแนวทาง ใช้การทำชิ้นงาน เพื่อสร้างการเรียนรู้ ให้นักศึกษาได้ higher order thinking / higher order learning outcome อย่างไร

          ไม่ทราบว่า เพราะผมไปเยี่ยมชมหรือเปล่า จึงมีการจัดนิทรรศการซึ่งนิทรรศการที่น่าสนใจคือ สืบสานตำนานอาหารมุสลิมบ้านตลาดแก้ว ที่มีสินค้าออกสู่ตลาด คือ โรตีสำเร็จรูป (Decem Roti)และ เครื่องแกงกะหรี่สำเร็จรูป (Decem Yellow Curry Powder)ผลิตจำหน่ายโดย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตำนานอาหารมุสลิมบ้านตลาดแก้ว๖๙/๑๐ พิบูลสงคราม ๑สวนใหญ่อ. เมืองนนทบุรี ๑๑๐๐๐โทร ๐๘๑ ๐๖๗ ๑๓๒๔กลุ่มนี้ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจาก มทร. พระนครคุณชาญณรงค์ พูนพาณิชย์ บอกว่า ทาง มทร. มีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน อยู่เสมอ ทางมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระนคร ถึงกับมอบเครื่องเคบับ (เข้าใจว่าเป็นเครื่องทำโรตี) ให้แก่กลุ่ม (ดูรูปที่ ๗)

          เรากินอาหารเที่ยงเวลาเกือบบ่ายโมงแล้วออกเดินทางไปชมกิจการวิสาหกิจชุมชนของนักศึกษา คนหนึ่ง ชื่อ คุณสุที่ทำกิจการดอกไม้ประดิษฐ์ทั้งดอกไม้จันทน์ ใช้ในงานศพและดอกไม้กลัดอกเสื้อในงานและอื่นๆโดยสอนคนแก่ในชุมชนให้ทำ ให้ค่าแรงดอกละ ๑.๕๐ บาทเป็นอาชีพเสริมสำหรับคนไม่มีอาชีพ ในยามว่างสามารถมีรายได้สัปดาห์ละ ๕๐๐ บาทได้สบายๆ

          บ้านคุณสุ เป็นบ้านคนเก่าแก่ในพื้นที่ ที่ยังเป็นเจ้าของที่ดินดั้งเดิมอยู่พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสวนผัก /ไม้ประดับอีกส่วนหนึ่งยังเป็นคล้ายๆ สวนป่าเราได้ไปเดินชมด้วยผมได้ไปสัมผัสวิถีชีวิตของคนที่ยัง ดำเนินชีวิตในวิถีเดิม ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสู่วิถีใหม่ ความคิดใหม่ที่เป็นวิถีตลาดนิยมบริโภคนิยม

          ก่อนจากกัน ที่โรงเรียนวัดโบสถ์ นักศึกษาเอา “มะพร้าวแก้วนุ่มนวล” ใส่กระเช้ามาให้ ๓ ถุงพร้อมบอกว่า ทำจากมะพร้าวหอม ไม่มีขายทั่วไปต้องสั่งจึงจะได้กินเอามากินที่บ้านพบว่าอร่อยและหอม เนื้อมะพร้าวจริงๆเป็นสินค้าของกลุ่ม ชุมชนวัดโบสถ์จึงขอโฆษณาว่าติดต่อสั่งได้ที่ 086 907 1093, 089 774 5877

          ผมกลับมา AAR ที่บ้าน ว่าผมทำผิดที่เดินทางไปยังสถานที่คือโรงเรียนวัดโบสถ์ตามเวลาที่ ดร. ศักดิ์บอก (๑๐.๐๐ - ๑๑.๐๐ น.) แล้วไปหลงอยู่นาน จนไปถึงเวลาประมาณ ๑๑.๒๐ น.ทำให้ไม่ได้อ่านและซักถามโปสเตอร์ นิทรรศการ ต่อไปหากมีการนัดหมายเช่นนี้อีกผมจะไปก่อนเวลา เพื่อให้มีเวลาสนทนา และสังเกตการณ์ นอกรอบ

          ผมไตร่ตรองว่า กิจกรรมของหลักสูตรนี้ เหมาะมากต่อชุมชน ที่ผู้คนมีการรวมตัวกันสร้างความเข้มแข็ง ของชุมชนหลักสูตรจะเข้าไปเติมส่วนของกระบวนการทางวิชาการเสริมกระบวนการรวมกลุ่มทำให้การ เรียนรู้เป็นกลุ่มและเรียนรู้จากการปฏิบัติยกระดับขึ้นโดยการเอาความรู้เชิงทฤษฎีเข้าไปเสริม

          วิธีเสริมความรู้ทฤษฎี โดยไม่เข้าไปครอบงำ จึงน่าจะเป็นวิธีการที่สำคัญยิ่งผมจึงคิดว่า ศิลปาจารย์ น่าจะเป็นกลไกหรือบุคคลสำคัญศิลปาจารย์ต้องมีทักษะในการเอาความรู้ทฤษฎีเข้าไปทำ AAR/ Reflection ต่อกิจกรรมภาคปฏิบัติเพื่อยกระดับการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ เข้าสู่ higher order learningคือให้ได้ผลลัพธ์ การเรียนรู้ระดับ analysis, synthesis, evaluation, cognitive development, และ mindset change

          จึงน่าจะมีการประชุมอบรม (workshop) ฝึกปฏิบัติให้แก่ศิลปาจารย์ เพื่อเสริมสร้างทักษะการเป็น “คุณอำนวย” ของกิจกรรม AARให้ชวนนักศึกษาเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้จากการปฏิบัติ เข้าสู่การเรียนรู้ระดับ higher order ได้

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ส.ค. ๕๗

 

 


อาคารนี้ทั้งอาคารใช้ในกิจการของหลักสูตรผู้ประกอบการทางสังคม
 
 

บรรยากาศของวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดร. ศักดิ์ นั่งหันหลังให้กล้อง
 
 

เรื่องขนมจีน พศช.
 
 

ผู้ประกอบการสังคมด้านสิ่งแวดล้อม
 
 

นศ. ที่อายุน้อยที่สุด ๒๓ ปี บอกว่าเคยเลิกเรียนไปช่วงหนึ่ง แต่ทนคิดถึงเพื่อนๆ (ที่เป็นรุ่นแม่) ไม่ไหว จึงกลับมาเรียน
 
 

การวิเคราะห์ชุมชนและทุนทางสังคม บ้านตลาดแก้ว
 
 

นิทรรศการสินค้าของชุมชนบ้านตลาดแก้ว
 
 

เครื่องเคบับ
 
 

คลองบางกอกน้อย หรือแม่น้ำเจ้าพระยาเก่า ถ่ายจากชั้น ๓ ของอาคาร
 
 

ดอกไม้จันทน์งานศพ
 
 

ดอกไม้กลัดหน้าอกเสื้อ
 
 

คุณสุกับเพื่อนนักศึกษา
 
 
หมายเลขบันทึก: 577372เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2014 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2014 10:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สถาบันอาศรมศิลป์ สร้างสรรค์การศึกษาคุณค่าแท้
ไว้เป็นตัวอย่างให้สังคมการศึกษาไทย ได้เรียนรู้มากมาย
น่าชื่นชมและน่าสนใจมากครับอาจารย์ ขอบพระคุณครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท