​สอนอย่างมือชั้นครู :๑๕. เทคนิคการตั้งคำถามเพื่อการอภิปรายและประเมิน


          บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู” ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

          ตอนที่ ๑๕ นี้ ตีความจาก Part Three : Choosing and Using the Right Tools for Teaching and Learning มี ๗ บท ตอนที่ ๑๕ ตีความจากบทที่ 14. Questioning Techniques for Discussion and Assessment

          สรุปได้ว่า ในการสอนโดยการตั้งคำถาม อาจารย์ต้องมีทั้งทฤษฎี ทักษะ และศิลปะในการตั้งคำถาม เพื่อชวนนักศึกษาฝึกไต่บันไดความคิดจากขั้นที่ง่ายไปสู่ขั้นที่ยาก ให้น่าสนใจร่วมกิจกรรม และให้เกิดการฝึกฝน การคิดในระดับสูง

          การตั้งคำถามนำ เป็นทักษะการสอนมาเป็นเวลาหลายพันปี ปราชญ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในการสอนด้วย คำถามคือ โซกราตีส จนเราเรียกวิธีนี้ว่า วิธีของโซกราตีส เป็นเทคนิคของการสอนแบบนักศึกษาตื่นตัว (student active) ทำให้นักศึกษาได้ฝึกใช้คำศัพท์ทางวิชาการ หลักการ ขั้นตอนวิธี (algorithm) และจารีตประเพณี ของ สาขาวิชานั้น

          นอกจากนั้น ยังกระตุ้นการค้นคว้า การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

          เมื่อตั้งคำถามเพื่อประเมินการเรียนรู้ของชั้นเรียน จะช่วยให้อาจารย์ตัดสินใจว่า จะทบทวนบทเรียน เสียก่อน หรือจะเคลื่อนเข้าสู่บทเรียนต่อไปได้แล้ว

          คำถามเป็นวิธีการสู่การให้เกรดแก่นักศึกษา ยิ่งเป็นคำถามที่สะท้อนผลลัพธ์ของการเรียนรู้ที่ตั้งไว้ เพียงใด ก็จะยิ่งเป็นการให้เกรดที่แม่นยำและยุติธรรมเพียงนั้น

          ตำราด้านการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยจัดประเภทคำถามออกเป็น ๒ ประเภท หรือ ๒ เป้าหมาย คือเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ กับเพื่อการประเมิน


การตั้งคำถามในฐานะเป็นกระบวนการสืบค้น

          การตั้งคำถามที่ดีต้องถามเป็นชุดที่มีความต่อเนื่อง นำนักศึกษาสู่การคิดที่ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ


ใช้วิธีของ โซกราตีส

          เป็นวิธีสุนทรียสนทนา (dialogue) เริ่มจากคำถามที่วางแผนไว้ล่วงหน้า หลังจากนั้นตั้งคำถามสืบต่อ จากคำตอบของนักศึกษา คือมีกรอบใหญ่ของชุดคำถาม แต่ถามให้ต่อเนื่องจากคำตอบของนักศึกษา

          นักศึกษาตอบคำถามแรก ด้วยการแสดงจุดยืนหรือแนวความคิดอย่างหนึ่ง อาจารย์ถามต่อ ด้วยการบอกบอกจุดอ่อนหรือข้อยกเว้น ต่อแนวความคิดนั้น ให้นักศึกษาให้ความเห็นตอบโต้

          นักศึกษาอาจเลือกตอบเป็นสองทาง ทางแรกให้เหตุผลและข้อมูลหลักฐานยืนยันจุดยืนเดิม ทางที่สอง เสนอจุดยืนใหม่ อาจารย์ก็ถามในแนวเดิม คือบอกจุดอ่อน หรือข้อยกเว้นของแนวความคิดนั้นๆ แล้วให้นักศึกษาให้ความเห็นตอบโต้ ดำเนินการไประยะหนึ่ง

          การตั้งคำถามแบบ โซกราตีส นี้ ช่วยฝึกการคิดอย่างมีเหตุผล ความยืนหยัด และการเรียนรู้แบบแผน (pattern recognition) ปรากฏการณ์ หรือเรื่องราว

          อาจารย์ที่จะใช้เทคนิคนี้ต้องฝึกภาษาท่าทางของการตั้งคำถามที่แสดงความอ่อนโยน เป็นมิตร ไม่ทำให้นักศึกษารู้สึกว่าถูกรุกให้จน หรือทำให้ดูเป็นคนจนปัญญา อาจารย์ต้องคอยย้ำบ่อยๆ ว่าเป็นการฝึก เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ อีกวิธีหนึ่งคือ ให้นักศึกษาทั้งกลุ่มเป็นฝ่ายตอบคำถามของอาจารย์

          อาจารย์ที่ใช้เทคนิค “พูดแทนปีศาจ” (devil’s advocate) คือมองด้านลบหรือมองแย้ง เป็นการใช้วิธีของ โซกราตีส นั่นเอง


วางแผนถอยหลังจากผลลัพธ์การเรียนรู้

         ที่จริงวิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐานของการออกแบบการเรียนรู้ ที่เรียกว่า “ออกแบบถอยหลัง” (backward design) โดยใช้ผลลัพธ์การเรียนรู้เป็นตัวตั้งต้น

          เริ่มด้วยตัวอาจารย์เขียนผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในตัวนักศึกษา เมื่อจบชั้นเรียน เขียนเป็นข้อๆ ต่อผลลัพธ์แต่ละข้อ เขียนคำถามเพื่อตรวจสอบผลลัพธ์นั้น ๑ - ๒คำถาม แล้วเขียนอีกหนึ่ง ชุดคำถามสำหรับแต่ละผลลัพธ์ ประกอบด้วย ๒ - ๓ คำถาม ที่จะนำนักศึกษาไปสู่ความสามารถในการตอบ คำถามชุดแรกได้

          ในชั้นเรียน อาจารย์ถามคำถามด้วยคำถามที่เตรียมมาชุดหลังสุด ไปหาชุดหน้า โดยอาจเรียงคำถาม เสียใหม่ ขึ้นต้นด้วยคำถามชุดหลัง ตามด้วยคำถามชุดหน้า พิมพ์แล้วฉายขึ้นจอ สำหรับเป็นโครงสร้าง ของการอภิปราย


นำทางนักศึกษาไต่บันไดของ บลูม

          บันไดของบลูม หมายถึงระดับการเรียนรู้ที่เสนอโดย บลูม (Bloom’s Taxonomy) ได้แก่ รู้, เข้าใจ, ใช้เป็น, วิเคราะห์ได้, สังเคราะห์ได้, และประเมินได้

          อาจารย์เริ่มด้วยคำถามในระดับความรู้เพียงสองสามคำถาม เพื่อเป็นการ warm up และช่วยให้นักศึกษา เชื่อมต่อความรู้เดิมเข้ากับความรู้ชุดใหม่ที่จะเรียนรู้ แล้วจึงพานักศึกษา “ไต่บันได” ด้วยคำถามในระดับ “เข้าใจ” และระดับต่อๆ ไปตามลำดับ

          ตัวอย่างคำถาม แสดงในตาราง

          กระบวนการที่เรียกว่า debriefing (บทที่ ๑๙)หรือ reflection/ AAR จะช่วยให้นักศึกษาได้ฝึก ตอบคำถามหลายระดับปนๆ กัน          การตั้งคำถามตามลำดับความยากง่ายของการคิดเช่นนี้ จะช่วยฝึกให้นักศึกษาบรรลุขั้นสูง ของการคิดได้ ปัญหาสำคัญของการศึกษาไทยคือ นักศึกษาได้ฝึกอยู่เฉพาะการคิดระดับล่างๆ เท่านั้น ทำให้ระบบการศึกษาไทยถูกตำหนิว่า ทำให้คนไทยคิดไม่เป็น


คำถามที่ดี สำหรับการเรียนโดยการอภิปราย

           คำถามที่ดี เป็นคำถามปลายเปิด ที่มีคำตอบถูกหลายคำตอบ นำไปสู่การโต้แย้ง ซึ่งจะช่วยให้เกิด การเรียนรู้มาก มีผู้จัดระบบหรือกลุ่มคำถาม เพื่อให้เข้าใจว่าคำถามที่ดี ที่กระตุ้นการคิด และส่งเสริมการเรียนรู้ อย่างมีพลัง เป็นอย่างไร


การจัดกลุ่มโดย McKeachie

          แบ่งคำถามที่ท้าทายออกเป็น ๔ กลุ่ม มีความคล้ายกับความคิดระดับวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมิน ของ บลูม

  • คำถามเปรียบเทียบ
  • คำถามเชิงประเมิน เป็นการต่อยอดการเปรียบเทียบสู่การตัดสิน
  • คำถามเชื่อมโยง หรือหาสาเหตุ เป็นการฝึกเชื่อมโยง ข้อเท็จจริง หลักการ ความสัมพันธ์ ผู้เขียน ทฤษฎี เข้าหากัน อาจให้เชื่อมโยงสู่ประสบการร์ของนักศึกษาเอง
  • คำถามเจาะลึก (critical) เช่นให้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อค้นพบ หรือหลักฐาน (evidence) ที่มีผู้เสนอ หรือให้วิพากษ์ข้อคิดเห็นของผู้พูดคนก่อนหน้า


คำถามที่มีโมเมนตั้ม

          แยกแยะคำถามออกเป็น ๗ ประเภท ได้แก่

  • ขอหลักฐานเพิ่ม
  • ขอให้ทำให้คำถามหรือประเด็นชัดเจนขึ้น
  • คำถามเชิง เหตุ - ผล
  • คำถามเชิงสมมติฐาน
  • คำถามเปิด
  • คำถามที่เชื่อมโยงกับเรื่องเดิม
  • คำถามเชิงสังเคราะห์หรือสรุป


คำถามชนิดบินไกล

         เป็นคำถามที่ก่อผลให้เกิดการเรียนรู้มาก ได้แก่คำถามประเภทต่อไปนี้

  • คำถามเพื่อระดมความคิด
  • คำถามให้เลือกและปกป้องตัวเลือก เป็นคำถามที่ให้ตัวเลือกคำตอบหลายตัวเลือก ให้นักศึกษาเลือกคำตอบหนึ่งคำตอบ พร้อมทั้งให้หลักฐาน (evidence) เพื่อสนับสนุน และปกป้องตัวเลือกนั้น
  • คำถามสนามประลอง เป็นคำถามต่อข้อความในใบงาน ให้นักศึกษาเลือกประเด็น เพื่อค้นคว้า วิเคราะห์ ตีความ ตามประเด็นที่ตนเลือก ตัวอย่างชุดคำถาม เช่น คุณคิดว่าผู้เขียนต้องการบอกอะไร ผู้เขียนใช้สมมติฐานอะไรเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ จะเกิดอะไรขึ้นหาก ..... (ระบุสิ่งที่เป็นไปไม่ได้)


คำถามที่เลว

          เพื่อให้เข้าใจคำถามที่ดีชัดเจนขึ้น ต้องทำความเข้าใจคำถามที่ไม่ดีด้วย คำถามที่เลวเป็นคำถามที่ ไม่ชวนให้นักศึกษาสนใจเข้าร่วมอภิปราย และไม่ทำให้เกิดการคิดในระดับสูง (higher order thinking)


ถามเพื่อทวนความจำ

           ในการอภิปราย จะมีคำถามเพื่อทวนความจำเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ซึ่ง ณ จุดที่เหมาะสมก็เป็นคำถาม ที่มีประโยชน์ แต่จะเป็นโทษหากอาจารย์และนักศึกษาวนเวียนอยู่กับคำถามประเภทนี้เท่านั้น ตัวอย่างของคำถามประเภทนี้ ได้แก่

  • คำถามที่มีคำตอบถูกคำตอบเดียว
  • คำถามที่มีคำตอบคำเดียว หรือคำตอบสั้นๆ เช่น ชื่อคน สถานที่ วันที่


คำถามที่ไร้ประโยชน์

           คำถามที่ไร้ประโยชน์คือคำถามที่เป้าหมายไม่ชัด และตัวคำถามไม่ชัดหรือสับสน ก่อความสับสน แก่นักศึกษา เป็นโทษต่อการเรียนรู้ มากกว่าก่อผลดี ตัวอย่างเช่น

  • คำถามที่ไม่ชัดเจน
  • คำถามที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างไร้แบบแผนทิศทาง
  • คำถามที่อาจารย์หวังได้คำตอบเดียว
  • คำถามเพื่อโชว์ลวดลาย (อัจฉริยะ) ของผู้ถาม หรือของผู้ตอบ
  • คำถามที่ต้องการคำตอบถูก - ผิด


กลับด้าน “คุณอำนวย

          แทนที่อาจารย์จะทำหน้าที่ ออกแบบกระบวนการอภิปราย อาจจัดกลุ่มให้นักศึกษา ทำงานออกแบบกิจกรรมการอภิปราย รวมทั้งการออกข้อสอบเพื่อการทดสอบ และการเลือกข้อเขียน ให้ไปอ่านเป็นการบ้านก่อนมาเข้าชั้นอภิปราย แล้วเลือกผลงานที่ดีเอามาใช้ในชั้นเรียน

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ส.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 579189เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2014 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2014 10:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท