จิตตปัญญาเวชศึกษา 212: "สอน" หรือ "ปลูกฝัง" จริยธรรม ภาค 1


"สอน" หรือ "ปลูกฝัง" จริยธรรม? ภาค ๑

ในแพทยศาสตรศึกษา (การศึกษาเพื่อเป็นแพทย์) มีรายวิชาหนึ่งที่สำคัญมากคือ "จริยศาสตร์" อาจจะเป็นการยากนิดนึงหากจะต้องพรรณนาว่าสำคัญอย่างไร แต่ถ้าเราลองจินตนาการว่าหากเป็นแพทย์ที่ไม่มีคุณธรรม จริยธรรม จะดีหรือไม่ คงจะพอนึกภาพออกว่าทำไมสาระนี้จึงสำคัญในการประกอบอาชีพนี้

สิ่งที่ท้าทายสำหรับสาระวิชานี้ก็คือ เราไม่ได้ต้องการให้นักศึกษาแพทย์ "รู้" วิชานี้ หรือแค่ "เข้าใจ"วิชานี้ ไม่ได้ต้องการจะสร้างนักปรัชญา หรือนักการศึกษาจริยศาสตร์ แต่ต้องการให้ "คุณค่า" ของเนื้อหานี้ซึมซับเข้าไปในเนื้อในตัวของว่าที่บัณฑิตแพทย์จึงจะเป็น วัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุด และทำให้ "การจัดประสบการการเรียนจริยธรรม" ต้องปรับให้เข้ากับวัตถุประสงค์นี้ด้วย เนื่องจากการ "สอนให้รู้ ให้จำได้" นั้นไม่ยากเลย ระดับมันสมองของนักศึกษาแพทย์ที่จะท่องนิยามสั้นๆแค่นี้ ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็ท่องได้ แต่การ "เรียนให้ซึมลึก ให้ถือปฏิบัติเป็นวัตร" นั้น เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ซับซ้อนขึ้นอีกมาก

ในฐานะที่ทำหน้าที่สองวิชานี้มานานพอสมควร พอจะ share อะไรบางอย่างทั้งสำเร็จ (ไม่มาก) และล้มเหลว (มากพอควร) ในเรื่องนี้

@ จริยศาสตร์เป็น "ความดีต่อสังคม"
หากจะมีอะไรที่จำแนกจริยศาสตร์ออกจาก "มิติจิตวิญญาณ" ก็อาจจะเป็นทางเลี้ยวเล็กๆตรงนี้ ในมิติจิตวิญญาณนั้น เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลเป็นสำคัญ ที่ปัญญาของบุคคลนั้นๆเติบโต งอกงาม และพัฒนา (evolve) แต่ส่วนของจริยศาสตร์ เป็นเรื่องที่ออกมาเป็น "พฤติกรรมต่อสังคม" เป็นเรื่องสำคัญ แน่นอนที่สุด values ต่อสังคมจะเกิดขึ้นมาก็เริ่มต้นจาก "ตนเอง" ก่อน มีความเข้าใจและเรียนรู้เรื่องความสุข ความทุกข์ ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากตนเองทั้งสิ้น และสุดท้าย "นัยยะสำคัญ" ของความเข้าใจเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก ความสุข ความทุกข์นี้เองที่จะ "ต้อง" ขยายกลายเป็นบทบาทและหน้าที่ต่อผู้อื่น ต่อสังคม ต่อประเทศ หรือต่อโลกใบนี้
ความเชื่อมโยงตนเองกับสังคมเป็นห่วงโซ่ที่สำคัญมากของจริยศาสตร์ หากห่วงโซ่นี้หลุดขาดจากกัน การไม่สามารถเชื่อมโยง "ตนเอง" กับความสุข ความทุกข์ อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น ของคนในสังคม จะทำให้การพัฒนาจริยศาสตร์ล้มครืนลงมาทั้งหมด
การเรียนจริยศาสตร์ จึงไม่ได้เป็นเพียงการนั่งภาวนาแต่เพียงลำพัง เพราะที่สุดแล้วเมื่อเราอยู่ในสังคม "การไม่กระทำ" ก็เป็นการกระทำชนิดหนึ่ง การทำจิตใจนิ่งเฉย สงบ ไม่ทุกข์ไม่ร้อนต่อเหตุการณ์เบื้องหน้า เป็นการ "วางเฉยต่อหน้าที่" ประการหนึ่ง เมื่อสฬายตนะเรารับรู้แล้ว อะไรที่เราพิจารณาว่าเป็น "สิ่งที่พึงกระทำ" เป็นทักษะทางจริยศาสตร์แบบหนึ่ง

@จริยศาสตร์เป็น "ทักษะ" ต้องฝึกฝนให้ชำนาญ
ชำนาญในที่นี้ ไม่เพียงแค่ "ใช้เก่ง" เท่านั้น แต่หมายถึงการหลอมรวมเข้ากับตัวตนเองอย่างแท้จริงด้วย Mahatma Khandhi (มหาตมะ คานธี) เคยกล่าวว่า "The True happiness is when what you think, what you say and what you do are in harmony ความสุขที่แท้จริงจะบังเกิดต่อเมื่อสิ่งที่ท่านคิด ท่านพูด และท่านกระทำ เป็นเนื้อนาเดียวกัน" การเรียนเพื่อพัฒนาจริยศาสตร์ ไม่ใช่เพียงเพื่อสร้าง "นักแสดงที่แสดงว่าตนเป็นคนดี" สำเร็จเท่านั้น เพราะนั่นจะเป็นเพียง what you say and what you do" ไม่ได้หลอมรวมกับ what you think
ในสังคมนี้ มีคนที่คิดว่าเอาแค่สิ่งที่พูด สิ่งที่ทำ ออกมา OK น่าจะดี ซึ่งดูเผินๆก็เป็นเช่นนั้นจริง แต่ทว่าการ "ไม่ได้เชื่อ" ในสิ่งที่ตนเองพูดหรือในสิ่งที่ตนเองทำนั้น เป็นวัชพืชในการบ่อนทำลายรากฐานจริยธรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะหากทำหรือพูดเพียงเพื่อให้สอบผ่าน ให้ดูดี ลึกๆก็คือตนเอง "ไม่ได้อยากทำ ไม่ได้อยากพูด" เช่นนั้น พอไม่จำเป็นต้องสอบ หรือคิดว่าไม่มีใครเห็น ไม่มีใครทราบ ก็จะเลิกทำ เลิกพูด เพราะไม่เชื่อว่าตนเองจะได้อะไรขึ้นมา

@การพัฒนาจริยศาสตร์ของนักศึกษา "เป็นหน้าที่สำคัญ" ของครู
การให้ความหมายของสิ่งที่กำลังทำ เป็นรากฐานของ "ฉันทาคติ" การสอนจริยศาสตร์นั้นไม่ง่ายนัก ต้องทุ่มเท ต้องใช้สมาธิ จึงต้องใช้อิทธิบาท๔ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา มาเป็นกำลังพื้นฐาน ครูแพทย์ไม่ได้มีหน้าที่สอนแค่วิชาชีพแพทย์หรือวิทยาศาสตร์การแพทย์เท่านั้น หากแต่ต้องสำนึกถึง "หน้าที่ในการปลูกฝัง" คุณงามความดีอันเป็นสิ่งจำเป็นในการเป็นแพทย์ด้วย
นัยยะของ "การปลูกฝัง" ก็คือ มันจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่หย่อนเมล็ดปุ๊บมันจะงอกปุบปับ มันจะต้องมีเวลาตระเตรียมตั้งแต่ "ดินอันอุดม" และ อาหาร อากาศ น้ำ บางทีอาจจะต้องถึงกับร้องเพลงให้ฟัง หาหนังให้ดู ฯลฯ การเร่งรัดให้เห็นผลจะเปรียบเสมือนการใจร้อน ไม่รอมะม่วงสุกที่ต้น หากจะเอาไปอบแก๊สให้สุกเร็วๆ บางทีก็สุกก่อนที่มันจะห่าม การเร่งมากๆมันจะได้ "สุกเทียม" สอนๆไปเพื่อให้เอาไปกา choices ในข้อสอบได้ถือว่าผ่านอะไรแบบนั้น พอจะใช้งานจริงๆเมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาไปเป็นแพทย์ มันก็จืดชืด จางไปหมดแล้ว
ครูที่ไม่ได้นับว่าการสอนจริยศาสตร์เป็นหน้าที่สำคัญ จะลดหย่อนประสิทธิภาพในการสอนไปเยอะมาก เพราะว่าการตอบรับของนักศึกษาในเรื่องนี้จะหลากหลาย ยิ่งเป็นปัญหาจริยธรรม จะทำให้เกิดความกลัว ความไม่กล้า ความไม่แน่ใจ อันเป็นองค์ประกอบจำเป็นในการที่หล่อหลอมสิ่งเหล่านี้เข้ากับตัวตนของ นักศึกษาในอนาคต แต่หากคุณครูมีความเชื่อว่ากำลังทำหน้าที่อันสำคัญยิ่ง จะเกิดบรรยากาศอีกแบบหนึ่งในการเรียนการสอน เป็น bi-directional learning ที่มีการเรียนรู้เกิดขึ้นทั้งผู้เรียนและผู้สอนในเวลาเดียวกัน

ดูเหมือนจะเขียนไม่หมดในตอนเดียว น่าจะยาวไป ขอแบ่งภาค

นพ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล รพ.สงขลานครินทร์
เวลา ๑๐ นาฬิกา ๔๒ นาที วันจันทร์ที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๗
วันแรม ๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเมีย

หมายเลขบันทึก: 581877เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2014 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ธันวาคม 2014 10:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท