สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

"วิชาพลเมือง" ม.ธรรมศาสตร์ : ไม่ท่องตามตำรา แต่เน้นให้เด็ก "ลงมือทำ"


ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปในแวดวงการศึกษา ซึ่งเป็นระบบหลักในการบ่มเพาะทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ได้รับการเรียกร้องให้มีการบรรจุวิชาหน้าที่พลเมืองไว้ในหลักสูตร เพื่อสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองที่ดีให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งโดยหลักการแล้วทุกฝ่ายต่างก็เห็นพ้องกัน อย่างไรก็ตามประเด็นที่มีการถกเถียงกันอยู่คือรูปแบบของหลักสูตรว่าควรเป็นแบบไหน จึงจะตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง เพราะสำนึกความเป็นพลเมือง ที่มีความเข้าใจในสิทธิ และหน้าที่ของการเป็นผู้สนับสนุนให้กับบ้านเมืองของตัวเองนั้นต้องเกิดจากจิตสำนึกภายใน การดำเนินการหรือการเรียนการสอนในวิชาหน้าที่พลเมือง จึงไม่ใช่วิธีการเรียนเนื้อหาหรือการท่องจำเนื้อหาตามตำราแต่ต้องเป็นกระบวนการการเรียนรู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง (Transformational Learning) การปฏิรูปนั้นจึงจะเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน


มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นำวิชา"พลเมือง" กับความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ วิชา TU100 ซึ่งบรรจุเป็นรายวิชาบังคับในหมวดวิชาพื้นฐานให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ไว้ในหลักสูตรตั้งแต่ปี 2554 เป็นตัวอย่างหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษาที่ "ปรับเปลี่ยน" รูปแบบการเรียนการสอน เกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าว ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ได้มาเผยถึงที่มาของมหาวิทยาลัยว่าทำไมถึงมีการปรับเปลี่ยนและมีความคาดหวังอย่างไร



"เรามาเริ่มต้นที่วิชาศึกษาทั่วไป สกอ.(สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) เขามีหลักสูตรของปริญญาตรีทุกมหาวิทยาลัย จะเรียนคณะใดก็แล้วแต่ต้องมีศึกษาทั่วไป 30 หน่วยกิต เราก็ไปเอาวิชาหนึ่งในนี้ เอามาทดลองทำให้เป็น Service Education ปี 2552 ปรากฏว่าทำแล้วดีมากก็เลยทำให้เป็นทั้งวิชา และมาเป็นวิชาบังคับ มันคือการเรียนที่มาเรียนรู้เป็นพละของเมือง หรือ กำลังของเมือง สำหรับความคาดหวังของวิชา TU 100 ต้องการให้นักศึกษาเป็นพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ให้เขามีสิทธิเสรีภาพโดยคู่กับความรับผิดชอบในการเป็นพลเมืองของประเทศต่อไป ประการที่สองหวังว่าจะเป็นตัวอย่างให้กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ และก็ระดับอุดมศึกษาทั้งประเทศต่อไป


หัวใจสำคัญของวิชาพลเมือง TU 100 มีหลักคิด คือ นักศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบต่อตนเองและสังคมด้วยตัวของนักศึกษาเอง อาจารย์เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) ปรับการเรียนรู้จากแนวดิ่งมาเป็นแนวระนาบ คือนักศึกษามีเสรีภาพในการเลือกปัญหาที่อยากแก้ไข เลือกโครงการที่อยากทำด้วยตนเอง อีกทั้งนักศึกษาได้เรียนรู้แบบ Problem – Based Learningและ Project – Based Learningเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างไร สำหรับวิชานี้มีจำนวน 3 หน่วยกิต จัดการเรียนการสอน 48 ชั่วโมง/เทอม จะทำการคละนักศึกษาจากทุกคณะ ทั้งภาคภาษาไทย ภาคภาษาอังกฤษ โดยมีเนื้อหาวิชาที่เรียนในห้องและลงชุมชนที่อยู่รอบ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อ สัมผัสปัญหาที่แท้จริง



สำหรับบทบาทของครูผู้สอนที่มีวิธีคิดและวิธีสอนแบบใหม่ในวิชา TU 100 ได้มาร่วมสะท้อนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เริ่มจากอาจารย์ ศ.ดร. ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ จากภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร (ICT) "ผมมาเริ่มสอนวิชานี้ตั้งแต่มีโครงการ เพราะอยากได้วิธีสอนแบบใหม่ๆ ตอนแรกไม่มั่นใจว่าจะสามารถสอนแบบนี้ได้ไหม แต่อาจารย์ปริญญาก็บอกไม่ต้องกังวลเพราะมีคลาสเทรนให้ แต่ที่ยากของวิชานี้คือขั้นตอนการเตรียมกิจกรรมให้กับนักศึกษา คนออกแบบต้องมีความรู้ดีมากๆ เพราะต้องออกแบบกิจกรรมใหม่ๆ ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้นักศึกษาเกิดความเบื่อหน่าย มีให้นักศึกษาไปดูโรงแยกขยะลงพื้นที่ ซึ่งการให้คะแนนของวิชานี้แบ่งเป็นสามส่วน ผลสำเร็จของโครงงานเราให้ส่วนหนึ่ง ถ้าโครงงานไม่สำเร็จเราก็ให้คะแนนครึ่งหนึ่งถือว่านักศึกษาได้เรียนรู้ 2.คะแนนจากการเข้าร่วมกิจกรรม และ 3. การชวนคนมามีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน เดิมผมมองนักศึกษาเป็นผู้รับ อาจารย์เป็นผู้ให้ แต่ตอนนี้เราเหมือนผู้กำกับห้องละครเวที คอย facilitator ทำให้เกิดกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ นักศึกษาเป็นเซ็นเตอร์ อาจารย์ยังคงมีบทบาทในการเป็นผู้ขมวดรูปแบบการเรียนรู้ ผมคิดว่ามีความสำคัญมากครับ และวิชานี้ยังมีผลต่อมหาวิทยาลัยคือทำให้ธรรมศาสตร์และชุมชนโดยรอบมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้นมากขึ้นเพราะการลงไปช่วยชุมชนของนักศึกษา"



ผศ.ดร.รัชนีวรรณ อุ่นแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ สะท้อนว่า"วิชานี้ทำให้ต้องเปลี่ยนตัวเองเยอะ ใช้พลังงานสูง สอนเสร็จทุกคนจะเหนื่อยมาก เพราะว่าอย่างที่บอกเราเป็นวิทยากรกระบวนการ คือเราจะต้องแบบคุมทุกอย่างให้อยู่ เราจะต้องพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ด้านอื่นๆ ด้วย ต้องมีความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย รู้เหตุการณ์บ้านเมือง สามารถเชื่อมสิ่งที่เราต้องการพูด การสอนเราต้องแอคทีฟมากๆ เราต้องทำให้บรรยากาศภายในห้องมันเป็นบรรยากาศแห่งการเรียนรู้จริงๆ เพราะว่าถ้าเราเนือยทุกอย่างก็จะเนือยได้ เราก็ต้องเป็นตัวกระตุ้น และเราก็รู้สึกว่าเราก็เป็นตัวปัญหาเช่นเดียวกัน เช่นขยะ เมื่อก่อนเราก็ทิ้ง ที่บ้านเราก็ไม่เคยแยกขยะเปียกขยะแห้งเราก็ทิ้งไปมา หลังจากสอนวิชานี้เวลาเราทิ้งขยะ เราก็จะเริ่มคิดนะ เราต้องแยกแล้ว คนในบ้านพอเขาไม่แยกเราก็เริ่มว่า ที่บ้านเริ่มต้นทำถังขยะอย่างที่นักศึกษาทำ เราก็ได้ระดับหนึ่ง เราก็เริ่มมองตัวเองว่าจริงๆ เราก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วยหรือเปล่า"



เสียงสะท้อนจากนักศึกษา นายเจษฏา พรหมสูงวงษ์ หรือ เจษชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี เจ้าของโครงาน Bright bike ซ่อมรถจักรยานที่ถูกน้ำท่วมและถูกทิ้งไว้ นำไปให้น้องๆ โรงเรียนบ้านบึง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ได้ใช้จำนวน 7 คัน "วิชานี้อาจารย์จะสอนความรับผิดชอบต่อสาธารณะ หน้าที่พลเมือง สอนออกแนวให้ปฏิบัติด้วยครับ ตอนแรกผมไม่ได้ชอบทำกิจกรรมเท่าไร แต่พอเรียนไปเรียนมากลับชอบ ชอบตอนที่ลงไปทำกิจกรรม ได้ลงมือทำงาน สอนเรื่องทีมเวิร์ค ได้ปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่ม ตอนนี้ก็ยังสนิทกันอยู่ มีมิตติ้งกินโน้นกินนี่ด้วย สิ่งที่ได้จากวิชานี้น่าจะเป็นการเปลี่ยนเรื่องบางอย่างที่ทำจนเป็นความเคยชินอย่างผมเคยเดินบนเลนจักรยานแบบไม่สนใจ ตอนนี้ผมก็ไม่เดินเลนของเขาแล้วและคอยเตือนเพื่อนๆด้วย ตอนที่ผมเอาจักรยานไปให้น้องๆ รู้สึกแฮปปี้มาก เหมือนไปทำอะไรให้ใครสักอย่างก็รู้สึกดี ก็คิดว่าติดตัวมาอย่างตอนนี้ผมขับรถไปเจอคนข้ามทางม้าลายก็หยุดให้เขาเลย ก่อนหน้านี้เฉยๆ แล้วแต่จังหวะถ้าข้ามมาแล้วก็ต้องหยุดให้เขา ตอนนี้จังหวะ 50-50 เราให้เขาไปก่อนดีกว่า วิชานี้จะสนุกต้องวิธีการสอนของอาจารย์เป็นหลัก อันดับ 2 คือเด็กที่มาอยู่ด้วยกันจะเข้ากันได้แค่ไหน"



นายอภิวัฒน์ สกุลรุ่งเจริญหรือ โอม ชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ ได้ทำโครงงานชุมชนชื่อโครงการลานFUN สู่ล้านฝัน ปรับปรุงลานอเนกประสงค์ กลางชุมชนคลองสาม หมู่ 1 อำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี"ผมคิดว่าจิตอาสาไม่ใช่การที่คนหลายๆคนแค่มาช่วยกันออกแรงเยอะๆ เท่านั้น อาจารย์จะบอกว่าให้มองว่าปัญหาทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวเรา ถ้าเราแก้ไขทุกอย่างก็จะดีขึ้น ตรงนี้ผมได้นำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน เช่นวันไหนมาเรียนสายก็จะไม่ไปโทษว่ารถติด เราก็รู้ว่าเพราะเราออกสาย ผมคิดว่าวิชานี้มีประโยชน์กับนักศึกษาที่จะให้มุมมองความคิดต่างๆครับ"



สำหรับผู้ได้รับผลประโยชน์ อาทิ นายสมชาย นารี ผู้จัดการบริษัทเอสเอ็นไฮ-สปีด ผู้ให้บริการรถเอ็นจีวีในม.ธรรมศาสตร์สะท้อนว่า"นักศึกษามาทำให้แล้วหลายอย่างที่ช่วยให้การเดินรถดีขึ้นเช่น กลุ่มหนึ่งทำราวจับให้ กลุ่มหนึ่งทำป้ายบอกสายรถ แบ่งสีใหม่ทำให้มองเห็นชัดเจน อีกกลุ่มทำป้ายบอกสถานีที่หลังเบาะคนนั่ง ทำให้นักศึกษาดูได้ง่ายทำให้นั่งไม่หลงสายครับ" ส่วน "ประหยัด สุภาพ" รปภ.ประจำอาคารหอพัก C1 ได้มายืนชี้รั้วเหล็กที่คล้องรถจักรยานให้ชมว่านี่คือผลงานที่นักศึกษาวิชานี้ได้มาทำประโยชน์ให้ จากที่เก่าๆ เป็นสนิทเขรอะ ถูกทาสีเสียใหม่ "เด็กๆที่หอดีใจว่าได้รั้วใหม่สวยงามน่าใช้ค่ะ"



อ.ปริญญาขยายความวิชาพลเมืองฯ ทิ้งท้ายว่า "เป็นการเรียนรู้แบบการเรียนรู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง(Transformational Learning) เป็นการปลูกฝังความเป็นพลเมืองให้กับนักศึกษา ติดเครื่องมือเพื่อให้นักศึกษา และอาจเกิดสำนึกความเป็นพลเมืองขึ้นในเวลาใดก็ได้ อาจต้องใช้เวลาเรียนรู้สี่ปีหรือมากกว่านั้นได้เรื่องของกระบวนการคิดและความรู้สึก ซึ่งอาจมีผลต่อการปรับพฤติกรรม วิชาพลเมือง "จึงไม่ใช่เพียงวิชาที่สอนให้นักศึกษารับใช้สังคมเท่านั้น แต่เป็นการฝึกให้คนอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นพลเมืองระบอบประชาธิปไตยที่เคารพกติกา เคารพสิทธิผู้อื่น และเคารพความแตกต่างด้วย"


สำหรับวิชาพลเมืองจะมีรูปแบบใดบ้างยังไม่มีคำตอบชัดเจน นี่คือตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างสำนึกพลเมือง ในสถาบันระดับอุดมศึกษา ซึ่งในชีวิตจริงในการบ่มเพาะนั้น มิได้จำกัดอยู่ในรั้วสถาบัน หรือเป็นความรับผิดชอบของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง วิชาชีพใด วิชาชีพหนึ่งเท่านั้น ผู้ที่อยู่รายล้อมตัวเด็กไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน นักพัฒนา หรือองค์กรต่างๆ ควรจะต้องร่วมมือร่วมใจกัน ร่วมคิดและร่วมทำภายใต้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง ความเป็นพลเมืองของชาติจึงจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน #


ผู้สนใจสามารถทำความรู้จักกับวิชาพลเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพิ่มเติมได้ที่

https://www.scbfoundation.com/project/ศูนย์อาสาสมัครมธ

https://www.scbfoundation.com/activity_detail.php?project_id=292&content_id=8613

หมายเลขบันทึก: 581641เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2014 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ธันวาคม 2014 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาให้กำลังใจเยาวชนคนดี และผู้สนับสนุนค่ะ...

ชอบใจโครงการแบบนี้

นักศึกษาได้เรียนรู้จริง

ไปที่มหาสารคามมา

มีหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน

เอามาฝากครับ

https://www.gotoknow.org/posts/581329

อันนี้ที่ ม เกษตร กำแพงแสนครับ

https://www.gotoknow.org/posts/515670

จักรยานให้น้อง

https://www.gotoknow.org/posts/516254

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท