สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

อัพเดทความเคลื่อนไหว >>> ค่าย "ปลูกใจ...รักษ์โลก" ปี 3 เสริมพลังวัยมันส์ พัฒนาโครงการเยียวยาปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน


“Well begun is half done.” การเริ่มต้นที่ดีเท่ากับทำสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง สำนวนอมตะนี้ยังคงเป็นความจริงไม่เปลี่ยนแปลง เปรียบได้กับการติดกระดุมเม็ดแรก หากติดกระดุมเม็ดแรกได้ถูกต้องก็จะช่วยให้เราติดกระดุมเม็ดอื่นๆ ต่อไปได้อย่างง่ายดาย แต่หากติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรกแล้ว ยิ่งดึงดันติดกระดุมมากขึ้นไปเท่าไหร่ก็ยิ่งผิดพลาดมากขึ้นไปเท่านั้น การทำงานภาคสังคมก็เช่นเดียวกัน หากขาดการเริ่มต้นที่ดีพอ นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังอาจกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาเดิมให้หนักขึ้นก็ได้ ...


เป็นที่มาของค่าย 5 วัน กับการอบรมเชิงปฏิบัติการ "เปิดประตูสู่การเรียนรู้...พัฒนาโครงการและสร้างสรรค์กระบวนการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม" โครงการ "ปลูกใจ...รักษ์โลก" กองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเยาวชน ปีที่ 3 ดำเนินการโดยมูลนิธิกองทุนไทย ในการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากทางโครงการฯ ได้คัดเลือก 27 กลุ่มเยาวชนจากทั่วประเทศซึ่งมองเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน และขันอาสาใช้ความรู้ความสามารถเข้าแก้ไข ทั้งนี้เพราะการทำงานพัฒนาชุมชนจะอาศัยเพียงความตั้งใจของเยาวชนอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ แต่ต้องได้รับการหนุนเสริม เติมทักษะ และการให้คำปรึกษาแนะนำจากผู้ใหญ่ที่มีความรู้และประสบการณ์มากกว่าด้วย เพื่อให้เยาวชนมองเห็นปัญหาของชุมชนได้อย่างชัดเจน ทั้งมีความรู้ ทักษะ และแผนการทำงานอย่างถูกต้องแม่นยำ




คุณกรรชิต สุขใจมิตร ผู้อำนวยการมูลนิธิกองทุนไทย กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป คนจึงมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมาเยาวชนเริ่มให้ความสนใจและเข้ามามีบทบาทในการดูแล รักษา ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เยาวชนจึงถือได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนาเยาวชนให้มีคุณภาพพร้อมๆ กันไปด้วย


"ทางโครงการฯ อยากให้เยาวชนแต่ละทีมคิดไว้เสมอว่าเราเข้ามาในโครงการนี้ เราไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับใคร แต่ขอให้แข่งขันกับตัวเอง ทำงานและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หวังว่าแต่ละทีมจะได้เรียนรู้ นำความรู้ไปพัฒนาโครงการตัวเองให้มีความชัดเจน และลงมือทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้" ผู้อำนวยการมูลนิธิกองทุนไทยกล่าว




สำหรับกิจกรรมเพิ่มพูนความรู้และทักษะในค่ายครั้งนี้ประกอบด้วย กิจกรรมจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจ ชวนกันดูคลิปวิดีโอของ อ.ศศิน เฉลิมลาภ และคุณโจน จันได, วงพูดคุยกับบุคคลสำคัญถึงแรงบันดาลใจที่ลุกขึ้นมาดูแลสิ่งแวดล้อมกับลุงชวน ชูจันทร์ ผู้นำชุมชนคลองลัดมะยม และคุณเกรียง ฤทธิ์เจริญ ประธานกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ กิจกรรมเปิดโลกทัศน์ คิดสร้างสรรค์ (Design Thinking) ให้เครื่องมือคิดเพื่อน้องๆ จะได้นำกลับไปใช้ออกแบบกิจกรรมในโครงการ กิจกรรมพัฒนาโครงการเพื่อร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน ร่วมกันขบคิดค้นหาโจทย์ที่อยากทำ วางเป้าหมาย กำหนดวัตถุประสงค์ ระบุสาเหตุของปัญหา ต้นทุน พื้นที่ และผลที่อยากเห็นซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งกับตัวเอง ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ภายใต้เงื่อนไขของทุนที่มี ระยะเวลา 7 เดือนของโครงการ และศักยภาพของกลุ่ม สุดท้ายที่ กิจกรรมเรียนรู้และปรับข้อเสนอโครงการ เพื่อนำข้อเสนอโครงการที่ปรับแล้วมานำเสนอต่อผู้ใหญ่ใจดีได้ช่วยให้ข้อเสนอแนะเติมเต็มโครงการให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น




คำแนะนำจากผู้ใหญ่ใจดีเช่น เราต้องรู้จัก และรู้สถานการณ์ของกลุ่มเป้าหมาย เราไม่ได้รู้ทุกเรื่องในสิ่งที่เราทำ ถ้าเราไม่รู้ หรือรู้ไม่พอ หลายพื้นที่มีปราชญ์หรือศูนย์เรียนรู้อยู่แล้ว เราสามารถเข้าไปขอความช่วยเหลือได้, สิ่งที่เราไปชักชวนกลุ่มเป้าหมายทำ เราต้องเริ่มทำที่ตัวเราเองก่อน อย่าลืมว่าเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน หลายกลุ่มเน้นกิจกรรมให้ความรู้ เมื่อเราพาชาวบ้านไปเรียนรู้ เราเองก็ต้องเปิดใจพร้อมเรียนรู้ด้วย, ความยั่งยืนของโครงการไม่ได้อยู่ที่ตัวเยาวชน แต่อยู่ที่การทำงานของเยาวชนเพื่อชักชวนให้ชุมชนทำต่อเนื่อง,การจดบันทึกจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ, และความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อชุมชนและวิถีของชุมชนจะเป็นเสน่ห์ให้แก่ตัวเยาวชนทำงานกับชุมชนจนประสบความสำเร็จ



ภายหลังจบกิจกรรมก็เรียกได้ว่าน้องๆ ต่างได้รับความรู้ ทักษะ และเครื่องมือกลับไปทำงานมากมาย เริ่มจาก น้องๆ กลุ่มเยาวชนรักษ์สายน้ำ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ จ.นนทบุรี กับ โครงการคืนน้ำใสให้ลำคลอง น้องแทน กิตติโชติ มะลิทอง และเพื่อนๆ สะท้อนว่า มาค่ายครั้งนี้แล้วทำให้มั่นใจในการทำโครงการสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะได้ฝึกคิดและได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อนำกลับไปปรับใช้กับการรักษาความสะอาดให้แก่คลองอ้อมนนท์ ซึ่งเป็นทางน้ำใกล้โรงเรียน ทั้งยังได้รับคำแนะนำจากพี่ๆ ให้เริ่มทำจากจุดเล็กๆ ก่อน แทนที่จะต้องการทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน ซึ่งอาจไม่บรรลุผลสำเร็จภายในระยะเวลาอันจำกัด เริ่มจากการดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยใช้นิทรรศการภาพถ่ายสร้างจุดสนใจ รวมถึงการให้ความรู้ สร้างจิตสำนึกร่วมกันดูแลรักษาคลองแก่ชาวชุมชน หากทำได้สำเร็จก็จะขยายผลไปสู่การพัฒนาคุณภาพทางน้ำให้สะอาดขึ้น มีคุณภาพน้ำที่ดีขึ้น โดยใช้กังหันน้ำชัยพัฒนา และ EM Ball



อ.ภิรมย์ เตียงกูล อ.ปรึกษาของกลุ่มเยาวชนรักษ์สายน้ำ กล่าวว่า ส่วนตัวมองเห็นศักยภาพของนักเรียนกลุ่มนี้อยู่แล้วว่าเขาสามารถทำได้ และค่อนข้างมีความเป็นผู้นำ แต่ยังขาดความกล้าแสดงออก เมื่อเข้ามาร่วมค่ายครั้งนี้แล้วก็สังเกตได้ว่าเด็กๆ กล้าแสดงออกมากขึ้น ได้ทักษะและความรู้เพิ่มเติม เมื่อกลับไปก็เชื่อว่าเขาจะสามารถเป็นแกนนำขยายผลที่โรงเรียนได้ด้วย


"ในบริบทของโรงเรียนเตรียมอุดมฯ เด็กๆ เขาก็จะเป็นเด็กเรียนและเรียนเก่ง แต่เขาจะไม่มีทักษะที่เรียกว่าทักษะชีวิต รู้จักคิด รู้จักทำ และแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งในศตวรรษนี้ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก การสนับสนุนให้เด็กๆ ได้มาทำจึงเป็นการพาเขามารู้จักสังคม รู้จักการใช้ชีวิต มารู้จักทักษะกระบวนการคิดต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาในอนาคต สิ่งที่ครูจะมอบให้แก่เขาได้คือความมั่นใจและความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถทำได้"



ด้านเยาวชนจากภาคเหนือ โครงการช่วยกั่นฮักษาป่าต้นน้ำบ้านเฮา กลุ่มเยาวชนละอ่อนอาสาพัฒนาสังคม โรงเรียนทาขุมเงินวิทยาคาร จ.ลำพูน นำโดย น้องคอม ชัชวาล ขนาดขจี และเพื่อนๆ เล่าว่าโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและสืบทอดพิธีป่าสะดือของชาวปกาเกอะญอเพื่อเป็นมาตรการอนุรักษ์และรักษาป่าต้นน้ำ ผ่านกิจกรรมสำรวจป่าและทำแผนที่ป่าต้นน้ำ การทำพิธีอนุรักษ์ป่าสายสะดือ และการปลูกป่าเพิ่ม สิ่งที่ได้รับจากการมาเข้าค่ายครั้งนี้ทำให้รู้จักการเขียนโครงการที่ชัดเจนและทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ทั้งยังได้รับคำแนะนำจากพี่ๆ ให้สืบค้นข้อมูลมากขึ้นและศึกษาความเป็นไปได้ก่อนลงมือทำ เช่น กิจกรรมปลูกป่าและสร้างฝายแม้วที่จะต้องผลัดออกไปก่อนเพราะย่างเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว จึงไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยเปลี่ยนเป็นการทำกิจกรรมสืบค้นข้อมูลพันธุ์ไม้และข้อมูลเกี่ยวกับการทำป่าสะดือแทน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปลูกป่า สร้างฝายแม้วในฤดูฝนปีหน้า



เช่นเดียวกับ โครงการพลิกฟื้นผืนป่าอียอ (สำโรง) ของกลุ่มแกนนำเยาวชนตำบลหนองอียอ จ.สุรินทร์ น้องเอิร์น จันทิมา งามสง่า และเพื่อนๆ จากโรงเรียนหนองอียอวิทยา บอกว่าโครงการต้องการชวนเด็กๆ และชาวชุมชนหนองอียอมาร่วมด้วยช่วยกันพลิกฟื้นป่าชุมชนให้กลับมาสมบูรณ์และสวยงามอีกครั้ง หลังจากเสื่อมโทรมลงจากการตัดไม้มาใช้สอยภายในชุมชน ที่สำคัญคือปัญหาการลักลอบนำขยะมาทิ้งในพื้นที่ป่า ซึ่งในอดีตถือว่าป่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นที่ฝังศพบรรพบุรุษและเคยเป็นที่ตั้งวัดป่า แต่ระยะหลังถูกหลงลืมไป โดยจะใช้กิจกรรมภาพถ่ายรณรงค์ส่งเสริมการอนุรักษ์ การจัดเวทีพูดคุยกับชุมชนเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาขยะในป่า การใช้สื่อสมัยใหม่อย่างอินโฟกราฟฟิคให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะนำไปติดทุกบ้านพร้อมพูดคุยกับชุมชน ต่อด้วยกิจกรรม Big Cleaning จัดการกับขยะในป่า และพาเยาวชนเรียนรู้ป่า ก่อนตบท้ายที่เวทีสรุปงาน นำวีดีโอกระบวนการทำงานและกิจกรรมตั้งแต่เริ่มทำโครงการมาฉายให้ชาวชุมชนร่วมรับรู้และเรียนรู้ไปกับเยาวชน


"ทีแรก เราก็กลัวว่าปัญหาของเราจะไม่มีทางออก พอมาเข้าค่ายแล้วพี่ๆ ก็ให้คำแนะนำก็ช่วยให้เราอุ่นใจขึ้นมากค่ะ หากไม่ได้มาเข้าค่ายครั้งนี้ งานก็คงมีปัญหา เราอาจทำงานโดยไม่มีการวางแผนไว้ก่อน พอมาที่นี่เราได้วางแผน และได้รู้จักวิธีการทำงานกับชุมชน ก็มั่นใจมากขึ้นว่ากลับไปแล้วเราจะช่วยกันทำให้ป่าหนองอียอกลับมาสมบูรณ์เหมือนเก่าได้" เยาวชนหัวใจสีเขียวจากชุมชนหนองอียอกล่าว



โดยภายหลังจากกิจกรรมค่ายครั้งนี้ เยาวชนทั้ง 27 กลุ่มจะได้ลงพื้นที่ทำโครงการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 ถึงพฤษภาคม 2558 เป็นระยะเวลา 7 เดือน โดยมีพี่เลี้ยงโครงการติดตามลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำ และกลับมาพบกันอีกครั้งในค่ายอบรมครั้งที่ 2 ช่วงเดือนมกราคม พี่เลี้ยงให้คำแนะนำและช่วยเติมเต็มความรู้ที่เยาวชนยังขาดเป็นรายโครงการ รวมถึงเยาวชนจะได้นำประสบการณ์การทำงานจริงมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนต่างกลุ่ม และกิจกรรมค่ายอบรมครั้งที่ 3 ช่วงเดือนมีนาคม เพื่อติดตามและสรุปบทเรียนการทำโครงการเป็นการปิดท้าย



จึงถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจ และร่วมติดตามให้กำลังใจเยาวชนกลุ่มนี้ได้ทำงานสิ่งแวดล้อมเพื่อ "ชุมชนบ้านเกิด" ต่อไป #


>>> ทำความรู้จักมูลนิธิสยามกัมมาจล เพิ่มเติมได้ที่ www.scbfoundation.com

หมายเลขบันทึก: 580744เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2014 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2014 11:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีร่วมสนับสนุนเยาวชนในโครงการดีๆเช่นนี้ค่ะ...

เป็นโครงการที่ดีมาก

มีกิจกรรมสม่ำเสมอ

ชอบใจการทำงาน

มาเขียนเรื่องดีๆแบบนี้บ่อยๆนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท