บันทึก Story Telling ที่ได้จากการฟัง


Story telling

เรื่อง การเสริมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

ชื่อผู้เล่า นางสาวอุไรวรรณ ภูจ่าพล

ตำแหน่ง ครูคศ.1

ชื่อเรื่อง การเสริมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับ เด็กนักเรียนที่เพิ่งย้ายมาใหม่มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในชั้นเรียน

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556

สถานที่ โรงเรียนระดมวิทยานุสรณ์ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

เนื้อเรื่องย่อ

เด็กชายก.ไก่ ย้ายมาจากโรงเรียนแห่งหนึ่ง เข้ามาอยู่ในชั้นป.5 ของโรงเรียนนี้ในภาคเรียนที่ 2

ปี 2556 เด็กชายก.ไก่มักจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในชั้นเรียนอยู่เสมอๆ เช่น แต่งกายไม่เรียบร้อย แสดงมารยาทที่ไม่ดีในห้องเรียน ไม่ทำการบ้าน ขาดส่งงานเป็นประจำ ไม่ตั้งใจเรียนจนคุณครูที่เข้าสอนทุกคนเอือมระอา ครูอุไรวรรณก็เช่นเดียวกัน เมื่อเด็กชายก.ไก่ ไม่ส่งงานวิชาวิทยาศาสตร์ ครูอุไรวรรณก็จะทำโทษและตำหนิ แต่พฤติกรรมของเด็กชายก.ไก่ ก็ไม่ดีขึ้น ครั้งหนึ่งโรงเรียนได้แข่งขันฟุตบอลกับต่างโรงเรียนเด็กชายก.ไก่ก็เป็นนักกีฬาเช่นกัน โดยมีครูอุไรวรรณและครูสอนพละเป็นโค้ช เมื่อทีมฟุตบอลชนะการแข่งขัน ด้วยความดีใจหรืออะไรบางอย่างทำให้เด็กชายก.ไก่วิ่งเข้ามาหาครูอุไรวรรณด้วยความดีใจพร้อมทั้งบอกผลการแข่งขันว่าเขาชนะ ครูอุไรวรรณเริ่มมีความรู้สึกชิงบวกกับเด็กชายก.ไก่ขึ้นมาเล็กน้อย จนกระทั่งเปลี่ยนปีการศึกษาใหม่ เด็กชายก.ไก่เลื่อนชั้นมาเรียนในชั้นป.6 ซึ่งมีครูอุไรวรรณเป็นครูประจำชั้น ครูอุไรวรรณได้ออกเยี่ยมบ้านนักเรียนรวมทั้งบ้านของเด็กชายก.ไก่ด้วย จากการเยี่ยมบ้านพบว่าเด็กชายก.ไก่อาศัยอยู่กับตายาย ในบ้านยังมีหลานและเด็กอีกหลายคนที่ตาและยายจะต้องดูแล เมื่อถามถึงเด็กชายก.ไก่ตาและยายก็บ่นถึงพฤติกรรมของหลานเช่นกัน เด็กชายก.ไก่ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือที่โรงเรียนเขาไม่เคยได้รับความอบอุ่น ความเอาใจใส่หรือแม้กระทั่งการให้การยอมรับ เมื่อพบปัญหานี้ครูอุไรวรรณจึงเริ่มคิดหาวิธีการต่างๆเพื่อที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กชายก.ไก่ โดยเริ่มจากการให้คำชมเชยเมื่อเขาทำเรื่องเล็กๆน้อยๆได้สำเร็จ ชมเขาต่อหน้าเพื่อนๆเวลาที่เด็กชายก.ไก่แต่งกายเรียบร้อย จากนั้นก็ลองมอบหมายงานสำคัญให้ทำ ก็คือ ให้เด็กชายก.ไก่ทำหน้าที่ตรวจการทำเวรของเพื่อนๆ เด็กชายก.ไก่สามารถทำหน้าที่ที่มอบหมายให้ได้ดีเกินความคาดหมาย หลังจากนั้นการเรียนและพฤติกรรมในชั้นเรียนของเด็กชายก.ไก่ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนคุณครูท่านอื่นต่างพากันชมเด็กชายก.ไก่ว่าเขาน่ารักขึ้นและน่าเอ็นดูมากขึ้น

ขุมความรู้จากเรื่องที่เล่า

ปัญหาเด็กนักเรียนที่เพิ่งย้ายมาใหม่มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในชั้นเรียน เนื่องจากนักเรียนมีปัญหาครอบครัว ขาดความอบอุ่น และต้องการการยอมรับจากคนรอบข้าง

วิธีการแก้ปัญหาคุณครูใช้การเสริมแรงด้วยการให้คำชมเชยเมื่อนักเรียนแต่งกายเรียบร้อย ตั้งใจทำงาน ทำการบ้าน หรือแสดงพฤติกรรมอันพึงประสงค์อื่นๆ มอบหมายงานสำคัญให้รับผิดชอบจนนักเรียนรู้สึกว่าได้รับการยอมรับจากครู

ผลที่เกิดขึ้นนักเรียนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น การเรียนดีขึ้น ตั้งใจทำงานในชั้นเรียน การแต่งกายก็เรียบร้อย รับผิดชอบงานที่ครูมอบหมายให้โดยที่ครูไม่ต้องกำกับควบคุมได้อย่างเรียบร้อย

แก่นความรู้ที่ได้รับ การที่ครูศึกษาผู้เรียนเป็นรายบุคคลจะช่วยให้ครูสามารถจัดการและบริหารชั้น

เรียนได้ดีขึ้น นักเรียนที่มักจะแสดงพฤติกรรมไม่ดีในชั้นเรียน บางครั้งเขาอาจจะไม่ใช่คนเกเรหรือคนนิสัยไม่ดี แต่อาจเป็นเพราะต้องการความสนใจและการยอมรับจากสังคม/คนรอบข้าง ดังนั้นการเสริมแรงทางบวกจึงเป็นสิ่งที่ครูสามารถหยิบขึ้นมาใช้ในการจัดการและการบริหารชั้นเรียนได้

กลยุทธ์ในการทำงาน นอกจากวิธีการลงโทษแล้วยังมีอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถ

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้คือการใช้คำชม แสดงความชื่นชมเมื่อนักเรียนทำดีเป็นการเสริมแรงทางบวก

นางสาวโชติรส เจษฎาสิริ ผู้บันทึก

*****************************************************************

Story telling

เรื่อง เล่นกีฬาช่วยสร้างวินัย

ชื่อผู้เล่า นายวัชระ เทียนทิพย์การุณย์

ตำแหน่ง ครูผู้สอน

ชื่อเรื่อง เล่นกีฬาช่วยสร้างวินัย

เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับ นักกีฬาฟุตบอลไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง เล่นแล้วไม่เก็บอุปกรณ์

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556

สถานที่ โรงเรียนอนุบาลบัณฑิตน้อย 2 อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

เนื้อเรื่องย่อ

ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 คุณครูวัชระได้รับมอบหมายให้เป็นโค้ชดูแลการฝึกซ้อมนักกีฬาทีมฟุตบอลของโรงเรียนอนุบาลบัณฑิตน้อย 2 เพื่อทำการแข่งขันกับโรงเรียนต่างๆ นักกีฬาในทีมส่วนใหญ่จะมีฐานะทางบ้านอยู่ในเกณฑ์ดี ผู้ปกครองมีกำลังสนับสนุนในด้านของทุนทรัพย์ ทำให้นักกีฬาในทีมส่วนใหญ่จะถูกเลี้ยงดูในลักษณะเหมือนไข่ในหิน หากจะพูดแบบภาษาชาวบ้านคงจะกล่าวได้ว่าเลี้ยงแบบลูกคุณหนู ทำอะไรเองไม่เป็น ช่วยเหลือตัวเองในเรื่องเล็กๆน้อยๆไม่ได้ โค้ชจึงต้องทำหน้าที่ดูแลลูกทีมในหลายๆด้าน ในการฝึกซ้อมพบว่านักกีฬาจะไม่ค่อยมีความรับผิดชอบ ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง เมื่อซ้อมฟุตบอลเสร็จมักจะไม่เก็บอุปกรณ์ที่ตนเองใช้ จะทิ้งอุปกรณืไว้ให้ครูเก็บ ในการฝึกซ้อมก็มักจะไม่เชื่อฟังสิ่งที่โค้ชให้คำแนะนำ มักจะแสดงตัวว่าตนเองนั้นเก่งและรอบรู้เรื่องกีฬาฟุตบอลมากกว่าโค้ช มีครั้งหนึ่งที่โรงเรียนได้นำทีมฟุตบอลไปทำการแข่งขัน นักกีฬาในทีมนั้นทานขนมและทานอาหารก่อนที่จะลงแข่งขันทั้งๆที่โค้ชได้กล่าวห้ามแล้วแต่นักกีฬาก็ยังทำเช่นนั้นอยู่ หลังการแข่งขันผลปรากฏว่าทีมโรงเรียนอนุบาลบัณฑิตน้อย 2 แพ้ทีมโรงเรียนคู่แข่ง เนื่องจากนักกีฬาจุกเสียดแน่นท้องจากการทานอาหาร ทำให้ไม่มีแรงวิ่งในสนามจนแพ้ในที่สุด จากเหตุการณ์นี้คุณครูวัชระจึงได้หยิบยกขึ้นมาเพื่อข้อเตือนใจ เป็นบทเรียนสอนใจและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเชื่อฟังโค้ชประจำทีม คุณครูวัชระเปรียบเทียบลูกทีมของโรงเรียนอนุบาลบัณฑิตน้อย 2 กับลูกทีมโรงเรียนอื่นให้นักกีฬาได้เห็นถึงพฤติกรรมที่ต่างกัน นักกีฬาโรงเรียนอื่นเชื่อฟังสิ่งที่โค้ชสอน ขยันฝึกซ้อม มีระเบียบวินัยในการซ้อมและมีความสามัคคีกันจึงสามารถชนะในการแข่งขันได้ คุณครูวัชระยังหยิบยกเอาข้อดีข้อเด่นของทีมอื่นซึ่งเป็นตัวอย่างที่นักเรียนเห็นได้ชัดเจนมาบอกและสอนลูกทีมของตนเอง

ผลที่เกิดขึ้นหลังจากการแข่งขันฟุตบอลในครั้งนี้ทำให้นักกีฬาในทีมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ให้ความสำคัญกับการฝึกซ้อม มีความรับผิดชอบและรู้จักหน้าที่ของตนมากขึ้น

ขุมความรู้จากเรื่องที่เล่า

ปัญหา นักกีฬาฟุตบอลไม่เชื่อฟังโค้ช ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง เล่นแล้วไม่เก็บอุปกรณ์

วิธีการแก้ปัญหา หยิบเอาผลของการไม่เชื่อฟังโค้ชที่นักเรียนประสบด้วยตัวเองมาเป็นตัวอย่าง

พร้อมทั้งเปรียบเทียบถึงความสำเร็จของทีมที่เชื่อฟังโค้ช

ผลที่เกิดขึ้น นักกีฬาในทีมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ให้ความสำคัญกับการฝึกซ้อม

มีความรับผิดชอบและรู้จักหน้าที่ของตนมากขึ้น

แก่นความรู้ที่ได้รับบางครั้งคำสอนของครูอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอให้นักเรียนได้เรียนรู้ แต่

ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรงกับผู้เรียนจะเป็นบทเรียนให้แก่นักเรียนเอง

กลยุทธ์ในการทำงาน นอกจากการบอกสอน อธิบายและยกตัวอย่างแล้ว ครูควรให้นักเรียนได้เผชิญ

กับสถานการณ์ปัญหาที่นักเรียนจะต้องใช้ความรู้ความสามารถในการแก้ไข

ปัญหานั้นๆด้วย เมื่อใดที่นักเรียนต้องแก้ปัญหาแล้วไม่มีทางแก้ เมื่อนั้นคำแนะนำและคำสอนของครูจึงจะมีความหมายมากที่สุด

นางสาวโชติรส เจษฎาสิริ ผู้บันทึก

*****************************************************************

Story telling

เรื่อง เด็กห้องคิง

ชื่อผู้เล่า นางสาวธันยพร พงศ์จันทร์

ตำแหน่ง ครูอัตราจ้างโรงเรียนหนองแห้วปรางค์กู่ อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ

ชื่อเรื่อง เด็กห้องคิง

เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับ นักเรียนที่เรียนเก่งมีผลการเรียนดีมักจะมีความมั่นใจในตนเองเกินไป

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555

สถานที่ -

เนื้อเรื่องย่อ

ในปีการศึกษา 2555 คุณครูธันยพรได้ไปปฏิบัติหน้าที่นักศึกษาฝึกสอนในโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตพื้นที่ฯกรุงเทพมหานคร โดยชั้นเรียนที่ทำการสอนเป็นห้องเรียนที่นักเรียนมีผลการเรียนดีหรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า "ห้องคิง" ลักษณะส่วนใหญ่ของนักเรียนห้องนี้นอกเหนือจากผลการเรียนที่สูงแล้ว นักเรียนห้องนี้มักจะมีความมั่นใจในตนเองสูงอีกด้วย เวลาที่คุณครูธันยพรเข้าสอนนักเรียนมักจะไม่สนใจฟังเนื่องด้วยเหตุผลที่คุณครูธันยพรเป็นคุณครูฝึกสอน นักเรียนมักจะนำงานอื่นหรือนำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนขึ้นมาขีดเขียนเล่นในชั้น ไม่ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมในชั้นเรียนเท่าที่ควร

เนื่องจากนักเรียนในชั้นนี้ไม่ได้มีเฉพาะนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเท่านั้น แต่ยังมีนักเรียนกลุ่มที่เรียนอยู่ในกลุ่มอ่อนรวมอยู่ด้วย คุณครูธันยพรจึงได้นำเทคนิควิธีเพื่อนช่วยเพื่อนมาทดลองใช้ โดยให้นักเรียนจับคู่ระหว่างเด็กเก่งกับเด็กอ่อนทำกิจกรรมร่วมกันในชั้นเรียน คะแนนที่ได้จากการทำกิจกรรมแต่ละครั้งจะนำมาใช้เป็นคะแนนของนักเรียนทั้งคู่ ทำให้เด็กเก่งหันมาตั้งใจเรียนและทำกิจกรรมในชั้นเรียนมากขึ้น มีน้ำใจกับเพื่อนในชั้น ปรับเปลี่ยนพฤตกรรมไปในทางที่ดีขึ้น

ขุมความรู้จากเรื่องที่เล่า

ปัญหานักเรียนที่เรียนเก่งมีผลการเรียนดีมักจะมีความมั่นใจในตนเองเกินไป ไม่ทำ

กิจกรรมในชั้นเรียน

วิธีการแก้ปัญหา ให้นักเรียนจับคู่ระหว่างเด็กเก่งกับเด็กอ่อนทำกิจกรรมร่วมกันในชั้นเรียน

คะแนนที่ได้จากการทำกิจกรรมแต่ละครั้งจะนำมาใช้เป็นคะแนนของนักเรียนทั้งคู่

ผลที่เกิดขึ้น เด็กเก่งหันมาตั้งใจเรียนและทำกิจกรรมในชั้นเรียนมากขึ้น เนื่องจากตนเอง

ต้องคอยช่วยเหลือเพื่อนและอธิบายให้เพื่อนในคู่ของตนเข้าใจ นอกจากนี้

นักเรียนยังมีน้ำใจกับเพื่อนในชั้นและปรับเปลี่ยนพฤตกรรมไปในทางที่เหมาะสม

แก่นความรู้ที่ได้รับการเพิ่มเงื่อนไขในการเรียนรู้ให้กับเด็กกลุ่มที่มีความมั่นใจในตนเองสูง มี

ความสามารถสูงเป็นการสร้างความท้าทายในการเรียนให้แก่ผู้เรียน

กลยุทธ์ในการทำงาน สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับนักเรียนที่ยังขาดทักษะการทำงานกลุ่ม ไม่ยอมรับ

ฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและมีความมั่นใจในตนเองสูงได้

นางสาวโชติรส เจษฎาสิริ ผู้บันทึก

หมายเลขบันทึก: 580516เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2014 06:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2014 06:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท